7 ชุมชนรสเด็ด ‘เพชรบุรี’
เปิดประสบการณ์การเดินทางแสนอร่อยของ 7 ชุมชนใน ‘เพชรบุรี’ จังหวัดที่มีดีครบทุกรสชาติ
ไม่ได้มีแค่ขนมหม้อแกงหรือน้ำตาลสด แต่ เพชรบุรี มีหมดทั้งคาวหวาน หลากหลายประสบการณ์ท่องเที่ยวเชิงอาหารที่ยิ่งลงลึกก็ยิ่งน่าลิ้มรส แต่จะไปหมดทั้งจังหวัดรวดเดียวคงไม่ได้ “กรุงเทพธุรกิจ Explore” ขออาสาพากินเที่ยวและเฟี้ยวไปพร้อมกันกับ 7 ชุมชนที่ดีและเด็ดแห่ง “เพชรบุรี” การันตีโดยองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) และสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) ผู้สรรสร้างเส้นทาง “Delicious Destinations”
- ชุมชนบ้านน้ำทรัพย์
ที่อำเภอแก่งกระจาน หลายคนจะนึกถึงผืนป่าอุดมสมบูรณ์ หรือไม่ก็เขื่อนแก่งกระจาน ทว่ามีชุมชนหนึ่งมีวิถีชีวิตเป็นเอกลักษณ์มาก ชุมชนนี้มีชื่อว่า ชุมชนบ้านน้ำทรัพย์ ที่บอกว่ามีเอกลักษณ์เพราะชาวบ้านมีวิถีแบบ “คาวบอย”
ชุมชนนี้เป็นหมู่บ้านต้นแบบที่ได้รับรางวัลมากมาย ทั้งยังได้รับรางวัลพระราชทานหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้วย แต่กว่าที่ “ชุมชนบ้านน้ำทรัพย์” จะมาถึงจุดนี้ได้เคยผ่านวิกฤตมานักต่อนัก ทั้งปัญหาการบุกรุกป่า, ปัญหายาเสพติด, ประชาชนตกงาน จนต่อมาในปี 2540 คนในชุมชนได้ร่วมกันพลิกฟื้นให้กลายเป็นชุมชนที่ดีขึ้น ด้วยการใช้ “ม้า” เป็นจุดเด่น
ชาวชุมชน “บ้านน้ำทรัพย์” ขี่ม้าเป็นกิจวัตรตั้งแต่สมัยโบร่ำโบราณ ทั้งเพื่อเดินทาง ต้อนฝูงสัตว์ จนกระทั่งความเจริญทำให้ถนนหนทางสะดวกมากขึ้น รถยนต์จึงมาแทนที่ม้าจนเคยเกือบจะหมดไปจากชุมชน แต่ในที่สุด “วิถีคนขี่ม้า” ก็ได้รับการฟื้นฟู สู่การท่องเที่ยวสไตล์คาวบอยแห่งแก่งกระจาน
นอกจากนักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสวิถีชีวิตคาวบอย และชมการแสดงทั้งขี่ม้า, ฟาดแซ่, เต้นระบำสไตล์คาวบอย ที่นี่ยังมีอาหารขึ้นชื่อลือชาเพราะว่าอยู่ติดกับเขื่อนแก่งกระจาน นั่นคือ ปลาส้ม
“ปลาส้ม” ของบ้านน้ำทรัพย์ ทำจากปลาที่ชาวบ้านจับได้ในเขื่อนแก่งกระจาน โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อถนอมอาหารแล้วพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ ทั้งปลาส้มทั้งตัว และต่อยอดเป็นเมนูอื่นๆ ด้วย เช่น ปลาส้มนักเก็ต และที่พลาดไม่ได้คือ “ปลาส้มคั่วกลิ้ง” รสจัดจ้าน หอมกลิ่นเครื่องแกงเต็มๆ เป็นการพัฒนาต่อยอดจากปลาส้มธรรมดามาเพิ่มเติมรสชาติและทำให้รับประทานง่ายยิ่งขึ้น มาในบรรจุภัณฑ์ที่สะดวกพกพา
และที่ขาดไม่ได้ด้วยความเป็นคาวบอยเพชรบุรี ดินแดนที่ลือเลื่องเรื่องขนม ที่บ้านน้ำทรัพย์ก็มี ขนมทองพับ หรือทองม้วนนั่นเอง ความโดดเด่นคือกลิ่นหอมหวานของน้ำตาลโตนด มีให้เลือกทั้งรสเค็มและรสหวาน จะชิมสดๆ จากเตาหรือซื้อกลับบ้านก็ดี แถมยังมีให้ลองทำทองพับทองม้วน ทำเสร็จปุ๊บ ชิมปั๊บ อร่อยเวอร์!
- ชุมชนบ้านถ้ำเสือ
อีกชุมชนในพื้นที่แก่งกระจาน เป็นชุมชนริมแม่น้ำ เขียวครึ้มด้วยแมกไม้นานาพันธุ์ ความร่มรื่นของ ชุมชนบ้านถ้ำเสือ เกิดจากความร่วมแรงร่วมใจกันปลูกต้นไม้เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของทุกคนในหมู่บ้าน จนกลายเป็น “ธนาคารต้นไม้” ที่เกิดจากการปลูกต้นไม้ต้นแรกในปี 2548 จากวันนั้นจนวันนี้ธนาคารต้นไม้ได้เจริญงอกงามกระทั่งมีสมาชิกในชุมชนกว่า 70 หลังคาเรือน
หากยังนึกไม่ออกว่าต้นไม้และธนาคารต้นไม้สร้างประโยชน์แก่ชาวบ้านอย่างไรนอกจากให้ความร่มรื่นและอากาศที่สดชื่น ให้ดูความสำเร็จเป็นรูปธรรม อาทิ การนำต้นไม้เป็นหลักประกันเงินกู้ให้สมาชิกในกลุ่มในนำไปต่อยอดทำประโยชน์ รวมถึงได้รับคาร์บอนเครดิตในฐานะชุมชนที่ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย
ด้วยเสน่ห์ของ “ชุมชนบ้านถ้ำเสือ” ทำให้เกิดเป็นการท่องเที่ยวได้ไม่ยาก เพราะฐานทรัพยากรที่ชาวบ้านร่วมกันสร้างไว้มีมากมายเพียงพอ ทั้งบรรยากาศ อาหาร สถานที่ และยังมีของดีเป็นผลิตภัณฑ์และกิจกรรมอย่างดี ยกตัวอย่าง การทำ “ไข่เค็มสมุนไพร” ที่ริเริ่มจากการเพิ่มมูลค่าไข่เป็ดโดยนำสูตรไข่เค็มดินสอพองของลพบุรีมาดัดแปลง แต่เสริมสมุนไพรและใบเตยเข้าไปสร้างรสชาติและกลิ่นเป็นเอกลักษณ์
สำหรับ “ไข่เค็มสมุนไพร” บ้านถ้ำเสือ เมื่อทำเสร็จแล้วหากเก็บไว้ 7 วัน จะเหมาะกับทำไข่ดาวเค็ม และ 15 วัน จะเหมาะทำไข่ต้ม
และที่พลาดไม่ได้คือ “ทองม้วนกรอบ” ถึงจะเป็นทองม้วนเหมือนกันกับบ้านน้ำทรัพย์ แต่บอกเลยว่าไม่เหมือนกัน เพราะเอกลักษณ์ของ “ทองม้วนบ้านถ้ำเสือ” คือมีผักชีเป็นส่วนผสม ทำให้นอกจากความหอมหวานของน้ำตาลโตนด ยังมีกลิ่นและรสผักชีติดปลายลิ้น
อธิบายถึงรสชาติของทองม้วนอาจไม่เข้าใจ เอาเป็นว่าเวลา “ทองม้วนบ้านถ้ำเสือ” ไปออกงานแสดงสินค้าต่างๆ ยอดขายจะถล่มทลาย มีเท่าไรก็ขายหมด
- ชุมชนบ้านไร่กร่าง
คำว่า “ทุ่งนา ป่าตาล” น่าจะเป็นคำนิยามถึง ชุมชนบ้านไร่กร่าง ได้อย่างชัดเจนที่สุด เพราะที่นี่มีท้องนากว้างใหญ่ และมีต้นตาลเรียงราย และมี ยายเชื้อ – เชื้อ มีนุช เซเลบนักขึ้นต้นตาลแห่งเมืองเพชรบุรี
สำหรับ “ยายเชื้อ” เป็นผู้หญิงในไม่กี่คนที่ประกอบอาชีพปีนต้นตาลและทำน้ำตาล จนอายุอานามก็ล่วงสู่วัยชรา การขึ้นต้นตาลก็ต้องยุติลง แต่ชีวิตแต่ละวันของยายเชื้อยังคงวนเวียนอยู่กับต้นตาล ทั้งในฐานะวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านตาลโตนด และอยู่ในวิถีคล้ายๆ กับคนเพชรบุรีหลายคนนั่นเอง
ชาวบ้านไร่กร่างใช้ประโยชน์จากต้นตาลได้ครบทุกส่วน แม้กระทั่งส่วนขั้วของลูกตาลอ่อนที่เรียกเป็นภาษาถิ่นว่า หัวโหนด ก็นำมาทำอาหารได้ มีที่มาจากคนรุ่นปู่รุ่นย่าเมื่อขึ้นต้นตาลเสร็จ ชาวบ้านกินข้าวเย็นร่วมกัน พบปะสังสรรค์ โดยมี “ยำหัวโหนด” เป็นอาหารกับแกล้ม นำหัวโหนดมาคลุกเคล้ากับส่วนผสมต่างๆ จากภายในชุมชน เช่น กะเพรา กระเทียมเจียว น้ำมันเจียว หอมแดง มะพร้าวคั่ว ถั่วป่น พริก กุ้งแห้ง น้ำมะนาว ตะไคร้ ใบมะกรูด กะทิ หมูย่าง เป็นต้น โดยรสชาติของ “ยำหัวโหนด” จะรู้สึกถึงเครื่องสมุนไพรต่างๆ กินกับข้าวสวยร้อนๆ อร่อยเหาะ
- ชุมชนบ้านถ้ำรงค์
ยิ่งรู้จัก “เพชรบุรี” มากเท่าไร ก็ยิ่งเข้าถึงวัตถุดิบหลักใน “อาหารเพชรบุรี” อย่าง “ตาลโตนด” มากเท่านั้น ในทางกลับกัน ยิ่งรู้จักตาลโตนดมากเท่าไรก็ยิ่งรู้จักเพชรบุรีมากเหมือนกัน การมาเที่ยวเพชรบุรีจึงควรมี “สวนตาล” บรรจุเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้วย
และสวนตาลที่ค่อนข้างป็อปปูล่ามาช้านาน คงไม่พ้น สวนตาลลุงถนอม ใน ชุมชนบ้านถ้ำรงค์ แหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาตาลโตนด และน่าจะเป็นไม่กี่แห่งที่เปิดให้บุคคลภายนอกเข้ามาศึกษาเรียนรู้วิธีการปลูกตาล
ปัจจุบัน “สวนตาลลุงถนอม” ตกทอดมาถึงรุ่นลูกแล้ว แต่ยังคงรักษาไว้ซึ่งการเป็นแหล่งเรียนรู้ โดยมี อำนาจ ภู่เงิน ลูกชายของลุงถนอม เป็นวิทยากรแนะนำ สาธิต และให้ผู้เข้าเยี่ยมชมได้ทดลองทำด้วยตัวเอง
กระบวนการผลิตน้ำตาลสดของที่นี่เริ่มจากการปีนขึ้นไปเก็บ “น้ำตาลสด” จากงวงต้นตาลที่ไหลลงกระบอกไม้ไผ่ นำลงมาเทผ่านผ้าขาวบาง กรองให้สะอาดใส่ในกระทะใบบัว จากนั้นเคี่ยวด้วยความร้อนจนน้ำค่อยๆ ระเหยทีละน้อย เคี่ยวไปชิมไปจนได้ระดับความหวานที่ต้องการ แล้วกรอกลงขวดนำไปนึ่งอีกราวครึ่งชั่วโมงเป็นอันเสร็จ
หากเคี่ยว “น้ำตาลสด” นั้นต่ออีกราว 2 ชั่วโมง ก็จะได้ “น้ำตาลโตนด” หอมมันแบบที่เรียกว่า “น้ำตาลเมืองเพชร” ที่นี่จึงมีทั้งน้ำตาลสด น้ำตาลโตนด ลูกตาลเฉาะสดใหม่ รวมถึงลูกตาลลอยแก้วและขนมตาล ให้ชม ให้ชิม และให้ช้อปกลับบ้าน
นอกจากนี้ “ชุมชนถ้ำรงค์” ยังมีกิจกรรมที่หลายคนเคยเห็นแต่ปลายทางที่สำเร็จแล้วเป็น “ขนมตาล” แต่ต้นทางคือ “การทำขนมตาล” แท้ๆ นั้นน้อยคนจะเคยเห็น การทำขนมตาลต้องมีการ “ยีโตนด” หรือการนำเอาลูกตาลมาปอกเปลือกเอาส่วนสีเหลืองๆ มายีกับน้ำ ยีเอาเนื้อออกมาละลายในน้ำแล้วเอาไปกรอง จากนั้นเอาน้ำไปเคี่ยวให้เหมือนแป้งเอาไปนึ่งทำขนมตาล และลูกตาลที่จะมายีได้ต้องเป็นตาลแก่ที่ร่วงลงมาเองเท่านั้น หลังจากที่ขนมตาลนึ่งสุกใหม่ๆ ทั้งกลิ่นหอมและความหวานกำลังดี เป็นรสชาติที่หาไม่ได้จากขนมตาลผสมแป้งแบบที่เคยกินกัน
- ชุมชนเก่าริมแม่น้ำเพชรบุรี
เมืองเก่าริมแม่น้ำเพชรบุรี มีความโดดเด่นของการใช้ชีวิตริมแม่น้ำที่มีวัฒนธรรม วิถีชีวิต ที่แตกต่าง และหลากหลายของคนริมแม่น้ำเพชรบุรี ทั้ง 3 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนวัดเกาะ ชุมชนซอยตลาดริมน้ำเพชรบุรี และชุมชนคลองกระแชง
“ชุมชนวัดเกาะ” เป็นชุมชนเก่าแก่ ที่นี่จึงมีเรื่องราว และวัฒนธรรมหลากหลายให้ค้นหา ทั้งวัฒนธรรมของไทยและจีน พบได้ในชุมชนนี้ผ่านวัดวาอาราม ศาลเจ้า โรงเจ รวมไปถึงบ้านเรือนเก่าที่ยังหลงเหลือให้เห็นอยู่มากทั้งบ้านไม้ และบ้านตึก นับเป็นสถาปัตยกรรมเก่าแก่หลายยุคหลายสมัย
ถัดมา “ชุมชนซอยตลาดริมน้ำเพชรบุรี” เป็นเรือนแถวแบบเก่า ขายขนมเก่าปนใหม่ ขนมไทยโบราณหายาก มาที่นี่มีหมด ระหว่างทางเดินในตลาดมีภาพ Street Art ฝีมือศิลปินท้องถิ่น กลายเป็นจุดถ่ายรูปเก๋ๆ กลางตลาด
และชุมชนสุดท้ายคือ “ชุมชนคลองกระแชง” เป็นย่านเก่าที่มีความโมเดิร์นผสมปนเปเข้าไปด้วย ร้านอาหาร คาเฟ่น่ารักๆ ที่มีกลิ่นอายความเป็นดั้งเดิม
หากจะเดินเที่ยวในชุมชนเหล่านี้ อาจเริ่มที่ “วัดเกาะ” หรือ “วัดเกาะแก้วสุทธาราม” ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเขียนด้วยสีฝุ่น ภาพอลังการทุกด้านของอุโบสถ ไม่ว่าจะเป็นภาพจักรวาลตามคติโบราณ ภาพพุทธประวัติตอนมารผจญ ภาพพุทธประวัติตอนสำคัญต่างๆ สวยและหาดูยากมากๆ แล้วไปนั่งพักผ่อนกิน “ข้าวแช่แม่อร” ข้าวแช่ตำรับเมืองเพชรดั้งเดิม ถือว่าเป็นร้านอร่อยประจำเมือง ควรค่าแก่การมาลองมากๆ แถมยังคุ้มค่าเกินราคา
ต่อด้วย “วัดพลับพลาชัย” วัดพลับพลาชัยเป็นวัดเก่าแก่ที่มีความโดดเด่น คือมีงานปูนปั้นที่มีความสวยงามของสกุลช่างเมืองเพชร และที่พิเศษอีกอย่างคือ ที่นี่เป็นแหล่งเก็บรวบรวม “หนังใหญ่” เก่าแก่สมัยของหลวงพ่อฤทธิ์ ผู้ที่ริเริ่มทำหนังใหญ่ที่หลงเหลือให้เราได้เห็นจนถึงทุกวันนี้ ชื่อว่า “พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดพลับพลาชัย” วัดแห่งนี้เป็นเสมือนแหล่งข้อมูลของชุมชนที่ได้รวบรวมเรื่องราวของเมืองเพชร ประวัติศาสตร์ และยังเป็นสถานที่ทำกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์อย่าง “การตอกกระดาษลายหนังใหญ่”
ด้วยความที่เป็นศูนย์กลางของเพชรบุรี ทำให้ชุมชนเก่าริมแม่น้ำเพชรบุรีเต็มไปด้วยร้านอาหารทั้งคาวและหวาน มีตั้งแต่ร้านเป็นกิจจะลักษณะไปจนถึงสตรีทฟู้ดบ้านๆ แต่รสชาติไม่แพ้อาหารเหลา เช่น ก๋วยเตี๋ยวน้ำแดงในตลาด ร้านขนมหวานป้าอิมตรงข้ามศาลเจ้าต้นโพธิ์ ฯลฯ
- ชุมชนนาพันสาม
พูดถึง “ขนมเพชรบุรี” แล้วนึกถึงอะไร ขนมหม้อแกง, ทองหยิบ, ทองหยอด, ฝอยทอง ฯลฯ เชื่อได้เลยว่านอกจากจะนึกถึงขนมเหล่านี้แล้ว หลายคนยังนึกถึงร้านขนม “แม่” ต่างๆ ที่เป็นร้านของทั้งขนมและของฝากเมืองเพชร
แต่ใครจะรู้ว่าขนมอร่อยๆ ที่ขายตามร้านดังๆ เหล่านั้น แทบทั้งสิ้นมาจาก ชุมชนนาพันสาม
ที่นี่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “นครขนมหวาน” เรียกได้ว่าเป็นแก่นของคำว่าขนมหวานเมืองเพชรอีกทีหนึ่ง เพราะเกือบทั้งชุมชนทำขนมหวานขาย โดยแบ่งทำกันบ้านละอย่างสองอย่าง เช่น “ร้านขนมหม้อแกงทวีศรี” ที่เน้นทำขนมหม้อแกงทั้งแบบเผือกและไข่
หากใครไม่เคยเห็นเบื้องหลังการทำขนมหวานระดับโปร ที่นี่จะได้เห็นทุกขั้นตอน ตั้งแต่เตรียมวัตถุดิบไปจนถึงการผลิตที่มีมาตรฐาน แต่อาจเสียสมาธิขณะชมเพราะกลิ่นหอมของขนมหม้อแกงสดใหม่ที่มีน้ำตาลโตนดแท้เป็นส่วนประกอบสำคัญช่างเย้ายวนใจ
หรือจะเป็นที่ “บ้านทองหยิบนาพันสาม” ก็สมชื่อคือโดดเด่นด้วยการทำ “ทองหยิบ” ขนมหวานตระกูลทองที่ใครได้ลองต้องติดใจในความหวานฉ่ำและรสสัมผัสละมุนลิ้น
- ชุมชนแพปลาแหลมผักเบี้ย
ชุมชนแหลมผักเบี้ย เป็นชุมชนที่ประสบความสำเร็จค่อนข้างมากแล้วในด้านการท่องเที่ยว มีการต่อยอดเรื่องอาชีพและการท่องเที่ยว โดยชูจุดเด่นว่าเป็นสถานที่ตั้งของ “ทรายเม็ดแรก” จุดเชื่อมต่อของ “ทะเลโคลน” และ “ทะเลพื้นทราย” อันแปลกตา ซึ่งคนในพื้นที่เล่าว่าทัศนียภาพของที่นี่จะเปลี่ยนแปลงไปในทุกวันไม่ซ้ำกัน
ที่นี่มีทั้งวิถีของชาวประมง ความอุดมสมบูรณ์ของป่าโกงกาง เป็นแหล่งชมค้างคาวแม่ไก่ และนกหลากหลายสายพันธุ์ ส่วนในชุมชนมี “แหล่งเรียนรู้ธนาคารปูม้า” แหล่งอนุบาลปูม้า และการอนุรักษ์ปูม้า รวมถึงร่วมปล่อยลูกปูม้ากลับสู่ทะเลที่ “จุดทรายเม็ดแรก”
และแน่นอนว่า “ปูม้าสดๆ” ของที่นี่ก็อร่อยมากด้วย
ภาพประกอบ : ชาธร โชคภัทระ