‘ศ.ดร. พนา ทองมีอาคม’ ชวนสร้างนิเวศน์สื่อดี ขอแค่มีอุดมการณ์เดียวกัน
‘กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์’ คืออะไร? คนที่คิดอยากจะขอทุนจากกองทุนฯ เพื่อทำสื่อสร้างสรรค์ต้องทำอย่างไรถึงจะได้รับการอนุมัติ? ฟังคำตอบจาก ศ.ดร. พนา ทองมีอาคม หนึ่งในคณะกรรมการกองทุนฯ ในการสัมภาษณ์แบบเอ็กซ์คลูซีฟ
‘กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์’ ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน 5 ภูมิภาค เพื่อขยายเครือข่ายการทำงานด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ให้ประชาชนรู้เท่าทันสื่อ รู้จักใช้หลัก ‘คิด วิเคราะห์ แยกแยะ’ เพื่อให้ตัวเองไม่ตกเป็นเหยื่อของ ‘เฟคนิวส์’ ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในสังคมยุคโซเชียลมีเดียเบ่งบานเช่นในปัจจุบันนี้
ระหว่างการสัญจรไปจัดกิจกรรม ‘TMF Power Fusion กองทุนสร้างสรรค์สื่อ’ ยังภาคอีสาน ณ โรงแรมสุนีย์แกรนด์ จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ศ.ดร. พนา ทองมีอาคม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสื่อมวลชน ประธานอนุกรรมการเกี่ยวกับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ในคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษถึงเจตนารมณ์ของการจัดตั้งกองทุนฯ ตลอดจนให้คำชี้แนะในเรื่องที่ว่า ‘ขอทุนแบบไหนถึงจะได้’ เอาไว้ดังนี้
- อยากทราบวัตถุประสงค์ของการจัดสัญจรไปรับฟังคนอยากผลิตสื่อ 5 ภูมิภาค?
รศ.ดร.พนา ทองมีอาคม เผยแนวคิดในการจัดสัญจรไปรับฟังคนอยากผลิตสื่อทั้ง 5 ภาคทั่วประเทศว่าปัจจุบันประชาชนได้รับผลกระทบจากการรับสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์อย่างมหาศาล การจัดเวทีส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและประชาทุกภาคส่วน มาร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิด ‘นิเวศสื่อ’ ที่ดี ที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ การจัดเวที 5 ภาค เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ดังกล่าว โดยเป้าหมายของกองทุนฯ เราต้องการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด เป็นพันธกิจหลักเลยคือต้องขยายความมีส่วนร่วม คือจุดที่เราออกมาวันนี้
“การมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ปัจจุบันนี้ผมชอบใช้คำว่า สังคมเครือข่าย หรือ สังคมโครงข่าย เพราะไม่ใช่สังคมที่ใครทำอะไรได้คนเดียว แล้วก็ไม่ใช่สังคมที่เรียก Top Down ข้างบนบอกลงมาแล้วให้ทุกคนทำตามให้เรียบร้อย เดี๋ยวนี้ไม่ใช่แล้ว ถ้าเกิดใครยังคิดอย่างนั้น ทำอย่างนั้นจะไม่ได้ผล ทุกอย่างสมัยนี้กระจายออกไปหมด คนที่มีความรู้ก็มีหลาย ๆ คน หลาย ๆ จุด บางทีก็เรียกว่าเป็นศูนย์รวมย่อย ๆ เยอะแยะ การที่จะทำงานให้ได้ผลดีต้องทำให้ศูนย์รวมย่อย ๆ ได้แลกเปลี่ยนกัน แบบไม่ใช่การสั่งการ ซึ่งการเข้าไปร่วมมือนี้มีข้อดีคือจะได้รับฟัง แลกเปลี่ยน ได้พัฒนาความรู้ แล้วก็กระจายออกไป ทุกคนร่วมแรงร่วมใจ สังคมก็จะดีขึ้น”
- ผลตอบรับจากกิจกรรมเปิดเวที 5 ภาค เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้?
กิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้นมาเพื่อให้ทุกคนรู้จัก ได้รู้ว่ากองทุนคืออะไร แน่นอน ทุกคนคิดแต่ว่าเรามีตังค์ เราก็มีตังค์ แต่ว่าตังค์นี้เป็นเงินหลวงนะครับ แล้วก็มันก็มีจำกัด มันจะใช้ยังไงให้เกิดประโยชน์
ที่ผ่านมากองทุนเองเพิ่งมีอายุประมาณ 3 ปี ช่วงที่ผ่านมาเราปรับเรื่องภายในเยอะ ณ จุดนี้เราคิดว่าเราพร้อมเรื่องภายในแล้ว เราจะออกมาข้างนอก นั่นหมายความว่าเราอยากจะออกมาสัมผัสประชาชน ให้ประชาชนได้มีโอกาสสัมผัส ได้รู้จักเรา แล้วมาดูว่าเราจะทำอะไรร่วมกันได้ ในแง่สื่อ เราทำประโยชน์อะไรให้กับสังคมได้ ทุกวันนี้สื่อมีอยู่ทั่วไปหมด ปริมาณข้อมูลข่าวสารในสังคมมันเยอะมาก ดูแลกันไม่ไหว ต้องช่วยกันดูแล เราจะช่วยกันยังไงตรงนี้ เพื่อสังคมที่ดีขึ้น”
- ในฐานะที่อยู่กองทุนสื่อ อยากขอคำแนะนำจากท่านว่าทำอย่างไรถึงจะได้รับทุน?
อันหนึ่งที่สำคัญคือ คนที่จะมาขอทุนต้องมีความเข้าใจตัวคุณเองก่อนว่าตัวคุณมีศักยภาพ เด่นทางไหน ดีทางไหน อันที่สองคือ คุณต้องเข้าใจว่าทางกองทุนเองมีภารกิจ มีความต้องการของตัวเอง อันที่สาม คุณต้องรู้ว่าประเทศชาติ รัฐบาล หรือเจตนาที่เกิดกองทุนขึ้นมานั้นคืออะไร ถ้าคุณเข้าใจ 3 อันนี้ ล้วคุณผูก 3 อันนี้เข้าไปด้วยกันได้ อันนี้ประโยชน์เกิดละ
ผมจะยกตัวอย่างว่าเวลาคุณอยากทำโครงการคุณมีความรู้สึกดี๊ดี แต่คุณรู้สึกดีของคุณคนเดียว มันไม่ได้สอดคล้องกับกองทุน แล้วกองทุนรับเงินมาเพื่อทำอะไรบางอย่าง บางทีเขาก็ให้คุณไม่ได้ ผมเห็นโครงการดีๆ เยอะเลยที่ไม่ได้รับทุน โครงการส่วนใหญ่เป็นโครงการดีทั้งนั้น เพราะเขาก็คิดกันมาดีแล้ว แต่ว่าบางครั้งมันไม่สอดคล้อง หรือว่ามีลำดับความสำคัญต่ำมากในกองทุน บางทีก็อาจถูกเลื่อนออกไป และถ้ามันไม่สอดคล้องก็อาจจะไม่ได้ อย่างนี้เป็นต้น
นอกจากกองทุนแล้ว คุณต้องดูว่าเจตนารมณ์เขาตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่ออะไร ถ้าคุณสามารถผูกเรื่องนี้เข้ามาโดยที่มองสังคมและกองทุนเป็นหลัก ถ้าสังคมได้กองทุนได้ คุณจะไม่ได้ไม่มีทาง แต่ถ้าคุณมองแต่ตัวเอง อันนี้จะเป็นจุดอ่อน
ที่ผมพูดตรงนี้เพื่อชี้ว่า 'ให้ผูกวัตถุประสงค์คุณให้เข้ากับวัตถุประสงค์กองทุน' สมมุติเรากำลังจะทำสื่อเพื่อส่งเสริมการศึกษาของเด็ก เราก็ต้องดูว่าคุณทำตรงนี้ขึ้นมาแต่โครงการนี้มันไม่ได้เข้ากับคนอื่นเลยมันก็ไม่ได้ แต่ถ้าคุณทำโครงการขึ้นมา คุณอย่าเพิ่งไปคิดว่าจะได้อะไร คุณคิดแค่ว่ากองทุนได้อะไร กองทุนก็ได้โครงการสำหรับสอนเด็กขึ้นมาหนึ่งโครงการ อันนี้เป็นโอกาส ถ้ามองอีกรูปแบบหนึ่งนี่คือผลผลิต แต่ถ้าเรามองในรูปผลลัพธ์สิ่งที่กองทุนได้ โครงการนี้ไม่เกิดขึ้นมาลอยๆ โครงการนี้เอาไว้สอนเด็ก มันทำให้เด็กรู้เท่าทันสื่อ รู้จักใช้สื่ออย่างปลอดภัยและสร้างสรรค อันนี้มันก็มีผลลัพธ์ขึ้นมา
ถ้าเรามองถึงระดับชาติ ถึงระดับประเทศ เรามีสังคม มีนิเวศน์สื่อที่ดี มีสิ่งแวดล้อมสื่อที่ดี คนอยู่อย่างมีความสุข สื่อไม่ได้ทำร้ายคน แต่สื่อมีประโยชน์ อันนี้เป็นผลสัมฤทธิ์ แต่ถ้าคุณมองแค่โครงการเดียว คุณไม่ได้ดูเลยว่าโครงการนี้เอาไปทำอะไรได้ เป็นประโยชน์อะไร แล้วคุณก็ไม่ได้ดูเลยว่าสังคมจะได้อะไร แต่ถ้าคุณทำโครงการออกมาแล้วมันเกิดประโยชน์ผลสัมฤทธิ์ที่ดี ตอนนั้นคุณจะเกิดความภาคภูมิใจ ในแง่คนรับทุน คุณก็ได้ขึ้นบัญชีว่าเป็นคนรับทุนที่มีศักยภาพมีขีดความสามารถสูง และโดยตัวคุณเองคุณก็ต้องได้รับการตอบแทนที่ดี ถ้าตังค์ไม่พอก็มีเหตุมีผลที่จะขอเพิ่มเพราะโครงการคุณดี ไม่ใช่ดีในสายตาคุณ แต่ดีในแง่ทำประโยชน์ให้ประเทศชาติ นี่คือสิ่งที่ผมเรียกว่า ‘ผูกเป้าหมายของตัวเองให้เข้ากับเป้าหมายของกองทุน’ ซึ่งตรงนี้เป็นจุดอ่อนที่ผมเห็น
- สื่อที่ดีที่สร้างสรรค์...ในทัศนะของอาจารย์คืออะไร?
จริงๆ แล้วผมเป็นคนเคารพสิทธิ์ของสื่อมากนะ เพราะเราเป็นครูสอนนิเทศน์มา ผมเชื่อในเสรีภาพสื่อ และเชื่อในการรับผิดชอบสื่อ เมื่อพูดตรงนี้แล้ว คุณจะเข้าใจว่าในสายตาผมมันไม่ได้มีความหมายอะไรเลย สื่อที่ดีในสายตาผม เพราะว่าสื่อที่ดีมันมีได้หลายแบบ สื่อที่ดีคือสื่อที่มีความรับผิดชอบ ถ้าเป็นสายข่าวก็นำเสนอสื่อที่เป็นวิชาชีพและมีจรรยาบรรณ อันนี้ผมก็ถือว่าเป็นสื่อที่ดีแล้ว ส่วนใครจะตัดสินว่าดีไม่ดี ผมเคารพวิจารณญาณของสื่อและผมก็เคารพวิจารณญาณของคนรับ และคนตัดสิน ในโลกนี้ มันไม่ควรจะมีใครมาชี้ว่าอันนี้ใช่ อันนี้ไม่ใช่
- เรารู้ต้นทาง ระหว่างทาง ปลายทางที่ทำ แล้วเยาวชนสดับรู้มากแค่ไหนตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา
ผมว่าเด็กรู้นะ เพียงแต่ว่าเราให้โอกาสเขาแค่ไหน แล้วเรารับรู้ความสามารถของเด็กแค่ไหน ส่วนมากเรามักจะคิดว่าเด็กไม่รู้ ถามว่าเราเข้าไปอยู่ในหัวเด็กหรือเปล่า เราไม่ได้เข้าไปอยู่ในหัวเด็กแล้วรู้ได้อย่างไรว่าเด็กไม่รู้ เพราะในขณะที่เราคิดว่าเด็กไม่รู้ เด็กก็คิดว่าเราไม่รู้ เพราะผมเป็นมนุษย์ลุง ไม่ใช่ว่าผมมีปริญญาเอกแล้วผมรู้ ปริญญาเอกไม่ได้บอกอะไรผม ปริญาเอกบอกเพียงว่าผมตอบได้ ผมรู้หรือไม่รู้นี่อีกเรื่องหนึ่งอันนี้คือสิ่งสำคัญ