ส่องเทรนด์ธุรกิจกาแฟ 5 เซ็กเมนท์มาแรงปี 2021

ส่องเทรนด์ธุรกิจกาแฟ 5 เซ็กเมนท์มาแรงปี 2021

ทำนาย "ธุรกิจกาแฟ" ในปีนี้ 2564 อะไรดีอะไรเด่น หรือจะเป็นม้ามืดของวงการกาแฟ

สถานการณ์การระบาดของไวรัส “โควิด-19” ในปีค.ศ. 2020 ทำให้โลกต่างออกไปจากเดิม วิถีชีวิตของผู้คนก็เปลี่ยนไปอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการเดินทาง การทำงาน การดื่มการกิน และการใช้ชีวิตประจำวัน จนถึงเวลานี้ก็ยังไม่มีใครให้ความมั่นใจได้ว่าสถานการณ์จะกลับมาเป็นปกติเมื่อไร เหตุการณ์จะเป็นเช่นใดต่อไปในปีค.ศ. 2021 หลังจากไวรัสโควิดเริ่มกลับมาระบาดอีกครั้งในหลายประเทศ ขณะที่ยังไม่สามารถผลิตวัคซีนมาใช้ได้อย่างทั่วถึง

อย่างไรก็ตาม มีภาคธุรกิจจำนวนไม่น้อยได้รับความเสียหายรุนแรงและต่อเนื่อง แต่สำหรับ “ธุรกิจกาแฟโลก” โดยภาพรวมตลอดปีค.ศ. 2020 กลับไม่ได้รับกระทบมากนัก ที่โดนหนักหน่อยก็เห็นจะเป็นร้านกาแฟ แต่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกัน โดยเฉพาะอุปกรณ์ชงกาแฟและเมล็ดกาแฟคั่วบด กลับเติบโตสวนกระแส ตามพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เข้าร้านกาแฟน้อยลง หันไปชงดื่มเองที่บ้าน

ช่วงต้นปีค.ศ.2020 อันเป็นช่วงที่ไวรัส “โควิด-19” เริ่มแพร่กระจายออกไปทั่วโลก ส่งผลให้เกิดการชะลอตัวในส่วนการผลิตและความต้องการบริโภคกาแฟ จนกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานทั้งระบบ จนเข้าสู่ช่วงกลางปี ธุรกิจกาแฟเริ่มตั้งหลักได้ พร้อมกับมองหาทิศทางใหม่ๆ เปิดตลาดเซกเมนท์ใหม่ๆ เพื่อชดเชยรายได้แทนส่วนที่ขาดหายไป

ลองมาติดตามแนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภคในอุตสาหกรรมกาแฟในปีค.ศ. 2021 กันครับว่ามีเซกเมนท์ใดที่คาดว่าจะเดินหน้าไปได้ต่อ โดยผู้เขียนรวบรวมข้อมูลมาจากหลายเว็บไซต์ด้วยกันมากำนัลให้ท่านผู้อ่านโดยเฉพาะ

  • กาแฟพร้อมดื่ม ปักหมุดบนจุดสูงสุด

ตลาดกาแฟพร้อมดื่ม (ready-to-drink coffee) ในยุโรป เป็นอีกเซกเมนท์ของธุรกิจเครื่องดื่มกาแฟที่มีอัตราเติบโตสูงมากในช่วง 2-3 ปีหลัง แม้แต่ศูนย์ส่งเสริมสินค้านำเข้าของยุโรป (CBI) เองก็เคยคาดการณ์ว่าแนวโน้มดังกล่าวจะยังคงเกิดขึ้นต่อไปในปีค.ศ.2020 โดยมีปัจจัยบวกจากการระบาดของไวรัส “โควิด-19” ที่ทำให้คนเข้าร้านกาแฟน้อยลง หันมาซื้อกาแฟพร้อมดื่มตามซูเปอร์มาร์เก็ตมากขึ้น

ในตลาดสหรัฐอเมริกานั้น เซกเมนท์นี้ได้รับแรงกระตุ้นจากเครื่องดื่มกาแฟที่ท็อปฟอร์ม และได้รับความนิยมอย่างสูง 2 ตัว คือ กาแฟสกัดเย็น (cold brew) และกาแฟไนโตร (nitro coffee) ซึ่งตัวแรกนั้นมีการนำมาบรรจุขวดขายอย่างกว้างไปทั่วโลก ส่วนตัวหลังนิยมนำมาใส่กระป๋องจำหน่าย

จุดเด่นของกาแฟพร้อมดื่มที่นอกจากจะมีเมนูใหม่ๆ เข้ามาดึงดูดลูกค้าแล้ว ยังได้แรงจูงใจจากความเป็นเครื่องดื่มเย็นที่หาซื้อได้ง่ายมาก กาแฟพร้อมดื่มทั้งแบบบรรจุขวด กระป๋อง หรือกระทั่งแบบใส่ถุงพลาสติกหนา ซื้อหาได้สะดวกง่ายดาย ไม่ว่าจะเป็นตามร้านสะดวกซื้อในปั๊มน้ำมัน, ซูเปอร์มาร์เก็ต, ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ, ร้านรวงคาเฟ่ทั่วไป หรือแม้แต่เว็บค้าปลีกออนไลน์

รายงานที่ตีพิมพ์เมื่อเดือนพฤศจิกายนในฟอร์จูน บิสซิเนส อินไซต์ส ระบุว่า ตลาดกาแฟพร้อมดื่มหรือ RTD มีแนวโน้มเติบโตขึ้นจนมีมูลค่าตลาด 42,360 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี ค.ศ. 2027 จากมูลค่าตลาด 22,440 ล้านดอลลาร์ในปีค.ศ. 2019  สอดรับกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เร่งรีบและรวดเร็วทั่วโลก

160921915440

กาแฟ Cold Brew แบบบรรจุขวดได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อยๆ

  • กาแฟชนิดพิเศษ...ยิ่งพิเศษขึ้นเรื่อยๆ

ขณะที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังคงนิยมซื้อหาเครื่องดื่มในตลาดหลักอย่างพวกกาแฟพร้อมดื่ม อย่างไรก็ตาม กระแสความชื่นชอบคลั่งไคล้ใน ตลาดกาแฟชนิดพิเศษ (Specialty Coffee) ที่มีเสน่ห์ตรงกลิ่นรสอันเป็นเอกลักษณ์ ยังคงมีอัตราเติบโตอย่างโดดเด่น เนื่องจากวิถีของผู้บริโภคยังคงอยู่ในเทรนด์ในยุคที่พร้อมควักเงินในกระเป๋าจำนวนมากเพื่อซื้อสินค้าดีมีคุณภาพ แล้วกาแฟชนิดพิเศษก็เป็นกาแฟมีคะแนนจากการ ทดสอบกลิ่นและรสชาติ (cupping score) มากกว่า 80 ขึ้นไป จาก 100 คะแนน มาตรฐานที่กำหนดไว้โดยของสมาคมกาแฟพิเศษ

ศูนย์ส่งเสริมสินค้านำเข้ายุโรป ตั้งข้อสังเกตในประเด็นนี้เอาไว้ว่า ผู้บริโภคยินดีจ่ายเงินซื้อกาแฟจากไร่หรือฟาร์มที่มีเรื่องราวหรือแง่มุมเกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย...ปรากฏการณ์นี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเหตุที่กาแฟชนิดพิเศษยังไม่มี "คำจำกัดความ" อันเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ และก็มีคนในวงการให้ "คำนิยาม" ที่แตกต่างกันออกไปซึ่งถกเถียงกันยังไม่จบสิ้น ทำให้หลักๆ แล้ว เมื่อเอ่ยถึงกาแฟพิเศษแล้ว เจ้าของธุรกิจกาแฟและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง จึงให้ความสำคัญกับไร่หรือฟาร์มที่มีกาแฟได้คะแนนการทดสอบกลิ่นและรสชาติสูงๆ และก็เอาใจใส่ต่อสิ่งแวดล้อมเป็นพื้นฐาน

จากการสำรวจของสมาคมกาแฟแห่งสหรัฐ (NCA) พบว่า ผู้ดื่มกาแฟในเมืองลุงแซมจำนวน 53 เปอร์เซ็นต์ ต้องการซื้อกาแฟจากแหล่งผลิตหรือแหล่งปลูกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสนใจเรื่องราวของเกษตรกรเจ้าของไร่กาแฟและชุมชนโดยรอบๆ ด้วย ทำให้กาแฟพิเศษยิ่งพิเศษขึ้นไปเรื่อยๆ โดยปริยาย

160921920666

Specialty Coffee นิยมใช้กับอุปกรณ์กาแฟดริป / ภาพ : Tyler Nix on Unsplash

  • มาแรง...อุปกรณ์ชงกาแฟแบบแก้วเดียว

เมื่อ “สถานการณ์โควิด-19” ทำให้การชงกาแฟดื่มเองที่บ้านเปลี่ยนรูปแบบไป ผู้บริโภคยินยอมจ่ายเงินซื้อ “อุปกรณ์ชงกาแฟ” ในราคาที่สูงขึ้นเพื่อคำเดียวคือ "คุณภาพ" ...คุณภาพของกาแฟในแต่ละแก้วที่ต้องมาพร้อมกลิ่นและรสชาติที่ใกล้เคียงกับกาแฟชงจากฝีมือบาริสต้าประจำร้านรวงคาเฟ่ที่เคยเข้าไปใช้บริการเป็นประจำ และจากปัจจัยเรื่องการเว้นระยะห่างและไม่ใช้สิ่งของร่วมกันโดยเฉพาะในสำนักงานออฟฟิศ ทำให้ ตลาดอุปกรณ์ชงกาแฟแบบแก้วเดียว (single-cup coffee) มีอัตราการเติบโคค่อนข้างสูงทีเดียว

สมาคมกาแฟแห่งสหรัฐ เปิดเผยข้อมูลเมื่อเร็วๆ นี้ว่า อุปกรณ์ชงกาแฟแบบแก้วเดียว มียอดจำหน่วยเพิ่มขึ้นถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 ตามมาด้วยอุปกรณ์ชง กาแฟดริป ที่มีตัวเลขเพิ่มขึ้นประมาณ 24 เปอร์เซ็นต์

อีกประเภทของอุปกรณ์ชงกาแฟแบบแก้วเดียวที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ได้แก่ กาแฟแคปซูล และ กาแฟพ็อด ขณะที่บริษัทวิจัยทางการตลาดชั้นแนวหน้าอย่าง ฟิออร์ มาร์เก็ตส์ คาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดโลกของอุปกรณ์ทั้ง 2 แบบนี้จะเติบโตถึงเกือบ 2 เท่า เป็น 29,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปีค.ศ. 2025   จาก 15,230 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีค.ศ. 2017

ตลาดอุปกรณ์ชงกาแฟแบบแก้วเดียวเริ่มร้อนแรงขึ้นมาเรื่อยๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในสหรัฐถือเป็นตลาดหลักและตลาดแรกๆ ที่เครื่องชงกาแฟสไตล์นี้ได้รับการผลิตออกจำหน่าย เนื่องจากชงง่ายและสะดวกสบาย แม้จะชงได้ครั้งละหนึ่งแก้วก็ตามแต่ ต่อมาความนิยมเริ่มแพร่ขยายเข้าสู่ในยุโรปและเอเชีย ในบ้านเราก็มีเห็นจำหน่ายกันตามเว็บไซต์ค้าปลีกต่างๆ

จุดที่น่าสังเกตก็คือ ในตลาดสหรัฐนั้น อุปกรณ์กาแฟแบบแก้วเดียวที่ว่ากันตามจริงก็มีให้เลือกหลากหลายรูปแบบ ปกติจะเป็นอันดับสองรองจากอุปกรณ์ชงกาแฟดริปในเรื่องยอดจำหน่าย แต่เพิ่งเริ่มแซงขึ้นหน้า มาเป็นตัวเลือกอันดับแรกก็ในปีค.ศ. 2020 ที่เกิดสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาดนั่นเอง

160921925376

กาแฟแคปซูลมาแรงในช่วงสถานการณ์โควิด-19 / ภาพ : Crema Joe on Unsplash

  • เพิ่มศักยภาพ...ไร่กาแฟน่าเที่ยว

ธุรกิจกาแฟที่เกี่ยวข้องกับการปลูก การขาย และการชงดื่มนั้น อาจจะไม่ใช่ปัจจัยที่ "กำหนด" หรือ "ผูกขาด" อนาคตของไร่กาแฟอีกต่อไป หลังจากที่ การท่องเที่ยวเชิงเกษตร (Agro-tourism) เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา และความนิยมนั้นก็โฟกัสมายังไร่กาแฟที่มีความพร้อมจะส่งเสริมและผลักดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติ รวมทั้งการเก็บเกี่ยว การแปรรูป และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรชาวไร่

นอกจากส่งขายสารกาแฟหรือเมล็ดกาแฟ ไร่กาแฟในฐานะแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร  จะเป็นอีกช่องทางที่เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรและชุมชนโดยรอบ ไม่ต่างไปจาก อุตสาหกรรมไวน์ ในหลายๆ ประเทศที่เปิดไร่องุ่นต้อนรับนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชม

แน่นอนในจังหวะวิถีที่กาแฟชนิดพิเศษได้รับความสนใจอย่างล้นหลามจากคอกาแฟทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ การได้เดินทางออกไปสัมผัส “ต้นทาง” ของการผลิตอย่างไร่กาแฟ เก็บผลกาแฟสุกสีแดงปลั่ง พร้อมดื่มด่ำกาแฟสดจากไร่ รสชาติละมุนละไม ในบรรยากาศแห่งสายหมอกและอ้อมกอดแห่งขุนเขา ถือเป็น “ประสบการณ์ตรง” ที่น่าตื่นตาตื่นใจไม่น้อยเลยทีเดียว

ในบรรดาแหล่งปลูกกาแฟที่มีชื่อเสียงของโลกนั้น มีอยู่จำนวนไม่น้อยที่เปิดไร่หรือฟาร์มรับนักท่องเที่ยว เช่น ในโคลอมเบีย, เกาะฮาวาย และปานามา มีไกด์ทัวร์พาแขกมาเยี่ยมเยียนมิได้ว่างเว้น ทำธุรกิจกันอย่างเป็นระบบ นอกจากไร่กาแฟที่เป็นไฮไลท์แล้ว ยังครอบคลุมไปถึงแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและเชิงวัฒนธรรมของชุมชนอีกด้วย 

ขณะที่ในเมืองไทยเราเอง ก็มีไร่กาแฟน่าเที่ยวอยู่หลายแห่งด้วยกันที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามารับรู้ถึงกระบวนการผลิต ทั้งยังได้จิบกาแฟอร่อยๆ มีทั้งไร่ที่ปลูกกาแฟสายพันธุ์ อาราบิก้า และสายพันธุ์ โรบัสต้า เชื่อว่าหลังวิกฤติการณ์โควิด-19 คลี่คลายลงไป ไร่กาแฟน่าเที่ยวจะเป็นอีกหนึ่ง “จุดเช็กอิน” ที่คอกาแฟไม่ควรพลาดโดยประการทั้งปวง

160921933066

ไร่กาแฟ เป็นอีกตัวเลือกในภาคท่องเที่ยวเชิงเกษตร / ภาพ : Katya Austin on Unsplash

  • เมื่อกาแฟ เข้าสู่ยุคระบบ"สมัครสมาชิก"

ในช่วงที่โลกถูกคุกคามจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบไม่มากก็น้อยต่อธุรกิจร้านกาแฟ เพราะคนเก็บกักตัวเองและทำงานอยู่กับบ้าน ทำให้จำนวนคนเข้าร้านลดน้อยลง แต่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอย่างเมล็ดกาแฟและอุปกรณ์ชงกาแฟกลับได้รับประโยชน์ มียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากธุรกรรมบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ค้าปลีก โฆษณาตามโซเชียลมีเดีย และระบบ Coffee Subscription หรือการสมัครสมาชิกเพื่อจ่ายเงินซื้อกาแฟออนไลน์เป็นรายเดือน ตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป  

วิกกี้ ฮอดจ์ ผู้อำนวยการโรงคั่วกาแฟชั้นนำในเมืองกลอเซสเตอร์เชียร์ของอังกฤษที่ชื่อ Rave Coffee  บอกว่า บริการสั่งกาแฟรายเดือนทางออนไลน์เป็นเทรนด์ใหม่ที่กำลังมาแรงของธุรกิจกาแฟพิเศษในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

ข้อดีมากๆ ก็คือบริการรูปแบบนี้ทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์ไปเต็มๆ เพราะนอกจากไม่ต้องออกนอกบ้านไปซื้อกาแฟแล้ว ยังได้เรียนรู้หลายๆ อย่างจากเว็บไซต์ เช่น ข้อมูลสายพันธุ์กาแฟทั่วโลก และเทคนิคการใช้อุปกรณ์ชงกาแฟแบบต่างๆ ช่วยทำให้ยอดขายเมล็ดกาแฟชนิดพิเศษเพิ่มขึ้นมากทีเดียว คาดว่าแนวโน้มเช่นนี้จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต

ในเว็บไซต์ที่ให้บริการ Coffee Subscription มักดำเนินการโดยโรงคั่วกาแฟ ส่วนใหญ่จะให้ข้อมูลพื้นฐานแทบทุกมิติ เพื่อให้ลูกค้าได้พิจารณาตัดสินใจเลือกซื้อ ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ แหล่งปลูก, เกษตรกรหรือเจ้าของไร่,วิธีแปรรูป และเทคนิคคั่วกาแฟเบื้องต้น คล้ายๆ กับธรรมเนียมในการเลือกซื้อไวน์หรือเบียร์นั่นเอง

โรงคั่วกาแฟ Rave Coffee มีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 100 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสมรณะ

160921930810

บริการแบบ Coffee Subscription บูมมากในสหรัฐ / ภาพ : Sara Dubler on Unsplash

ทั้งนี้ ทั้ง 5 เซกเมนท์ เป็นธุรกิจที่มีอัตราเติบโตสูงในปีค.ศ.2020 สวนกระแสธุรกิจอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 คาดการณ์กันว่าจะเติบโตต่อไปในปีค.ศ.2021 มีก็แต่ไร่กาแฟในฐานะแหล่งท่องเที่ยวที่ถูกมองว่าจะเป็นธุรกิจแห่งอนาคต  มีศักยภาพมากพอที่จะสร้างเสริมเติมมูลค่าให้กับเกษตรกรชาวไร่ได้

 

หมายเหตุ : ข้อมูลและการคาดการณ์ดังกล่าวนี้ ผู้เขียนรวบรวมมาจากเว็บไซต์   www.unleashedsoftware.com ,www.bevindustry.com, www.globenewswire.com และ https://perfectdailygrind.com เพื่อนำมาเผยแพร่ต่อ