ธรรมะข้ามภพข้ามชาติของ ‘ถวัลย์ ดัชนี’ ช่างวาดรูป
ต้อนรับปีใหม่พ.ศ.2564 ด้วยเรื่องราว "ถวัลย์ ดัชนี" ช่างวาดรูปที่จากโลกนี้ไปแล้ว กับข้อคิดดีๆ อาทิ "ผมไม่ใช่คนที่เสาะแสวงหา แต่ผมเป็นผู้พบ"
หลายปีที่แล้วตอนที่ไปเยือน พิพิธภัณฑ์บ้านดำต.นางแล อ.เมือง จ.เชียงราย ช่วงที่อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ยังมีชีวิตอยู่ เขาเรียกตัวเองว่า นักวาดรูป
“เวลาวาดรูป ใจต้องว่าง ไม่มีตัวเรา ไม่มีรูป ไม่มีอะไร ถ้าอยากให้เป็นนั่น เป็นนี่ อย่าเขียนรูปเลย ไปเป็นพนักงานดูดส้วมดีกว่า” อาจารย์ถวัลย์ เคยเล่าให้ฟัง
และไม่แปลกใจเลยที่ทุกถ้อยคำแฝงไว้ด้วยสัจธรรมที่พานพบด้วยตัวเองและเคยรำ่เรียนปริญญาเอก สาขาอภิปรัชญาและสุนทรียศาสตร์ ที่ราชวิทยาลัยศิลปะ อัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์
“เรามีปลาร้า ข้าวสาร เนื้อเค็มผูกไว้ให้เห็น เพื่อให้รู้อยู่เสมอว่า งานศิลปะเป็นมายา ข้าวปลาเป็นของจริง” อาจารย์ถวัลย์ เคยบอกไว้เพื่อให้เห็นว่า งานศิลปะบางชิ้น ที่พวกเราเห็นเป็นแค่หนังกำพร้าที่ทำ ไม่ใช่กิจของนักวาดรูป
“ผมไม่ใช่ศิลปิน ถ้าเป็นศิลปิน ต้องมีค่าย มีอัลบั้ม ผมไม่มีค่าย ดังนั้นจึงเป็นได้แค่ช่างวาดรูป”
เขาเคยบอกว่า "ผมไม่มีธรรมะ" แต่สิ่งที่อยู่ในวิถีชีวิตของเขา กลับมีธรรมะทุกลมหายใจ ไม่เว้นแม้กระทั่งการวาดรูป
เคยมีคนถามว่า เวลาวาดรูปรู้สึกอย่างไร
“ตอนผมวาดรูป ผมไม่มีความรู้สึก ถ้าจะวาดรูปด้วยวิธีนั้น วนอยู่กับความรู้สึกเพื่อให้เป็นไปหรือไม่ให้เป็นไป อย่างนั้นอย่างนี้ หรือภาษาพระเรียกว่า ภาวะตัณหาหรือวิภาวะตัณหา มีการปรุงแต่ง อยากให้งานศิลปะออกมางาม นั่นแสดงว่ายังมีความรู้สึก มีตัวตนเข้าครอบครอง”
ถ้าการวาดรูปเต็มไปด้วยความอยากและความต้องการ อาจารย์ถวัลย์ เล่าไว้ว่า อย่าวาดดีกว่า นั่นเป็นการปรุงแต่งเบญจขันธ์
“ถ้าจะวาดรูป ใจต้องนิ่ง มีสุญญตา รูปกับตัวเราต้องรวมเป็นหนึ่งเดียว ไม่มีตัวเรา ไม่มีรูป ไม่มีอะไร เป็นมวลสารของความว่างโดยสิ้นเชิง แล้วสิ่งเหล่านี้ก็จะเกิดขึ้น เป็นภาวะของจิตที่ไม่ถูกปรุงแต่ง”
อาจารย์ถวัลย์ เคยบอกว่า “ผมไม่ได้ปฏิบัติธรรม ผมเป็นฝ่ายตรงข้ามกับธรรมะ อย่างอบายมุข 6 ข้อหนึ่งบอกว่าอย่าคบคนชั่วเป็นมิตร.. "
"ผมละเว้นอบายมุขได้เกือบทุกข้อ ไม่ดื่มสุรา ไม่สูบบุหรี่ ไม่เที่ยวกลางคืน แต่สิ่งที่ไม่อาจละได้ คือ คบคนชั่วเป็นมิตร เพราะคนดีมันน่าเบื่อ
ผมเป็นนักวาดรูป ถ้าชีวิตไม่มีรสชาติ ก็ไม่รู้จะอยู่ไปทำไม นิพพานอะไรก็ใช่จริง ผมไม่ใช่คนเขียนรูปสวย ผมเป็นคนเขียนรูปโหด เลว และไม่ดี"
“การทำงานอะไรก็ตาม ไม่ว่าจะบ้าอะไรทิ้งไปให้หมด ก่อนอื่นคุณต้องมีดำริชอบ (การใช้ความคิดพิจารณาแต่ในทางกุศลหรือความดีงาม) ถ้าคุณไม่มีดำริชอบ คุณกระจอก อย่างผมระดับกระจอกเทศ”
หากถามว่า ทำไมภาพวาดของเขาต้องมีรูปสัตว์ อาจารย์ถวัลย์ เคยเล่าไว้ว่า ในโลกนี้ต้องมีคน สัตว์ และสิ่งของ
“ผมเคยวาดสิ่งของหรือพืชมาบ้าง ช่างวาดรูปที่ยิ่งใหญ่ในโลกนี้จะเขียนสองอย่างคือ คนกับสัตว์ พวกที่เขียนดอกไม้ใบหญ้าต่างๆ เป็นพวกกระจอก” เขากล่าวไว้เช่นนั้น
“ในแถบตะวันออกจะมีการเขียนรูปสัตว์ ทั้งอัณฑชะโยนิ คือสัตว์ดิรัจฉานบางประเภทที่เกิดอยู่ในฟองไข่ก่อนฟักออกมาเป็นตัว ส่วนชลาพุชะโยนิคือ สัตว์ที่อยู่ในครรภ์ก่อนแล้วคลอดออกมา เป็นได้ทั้งมนุษย์และสัตว์บางประเภท และสังเสทชะโยนิ สัตว์ที่เกิดในเถ้าไคล ได้แก่ สัตว์ที่เกิดในของสกปรก เช่น หนอง ยุง แมลงบางประเภท”
อาจารย์ถวัลย์ เล่าไว้ว่า สิ่งที่นักวาดรูปตะวันตกไม่มีก็คือ โอปปาติกะโยนิ ภาพวาดพวกผีเปรต อสูรกาย ผีเสื้อยักษ์ เทวดา ที่เกิดจากแรงอธิษฐานของจิต พวกนี้เกิดเป็นตัวตนได้เลย
“แม้ผมจะเคยเรียนในต่างประเทศ แต่ผมจะไม่ทำตามฝรั่ง ผมศึกษาและเรียนรู้ว่าฝรั่งคิดตัดสินใจและมีค่านิยมอย่างไร ผมเป็นคนไทย และผมเป็นคนตะวันออกที่มีวิธีคิดของผมเอง”
ดังนั้นการเขียนภาพคนหรือสัตว์ จึงต้องมีวิธีการของตัวเอง อาจารย์ถวัลย์ บอกไว้ว่า “มาถึงตอนนี้ผมไม่ใช่คนที่เสาะแสวงหา แต่ผมเป็นผู้พบ และดำเนินวิถีชีวิตจากการที่ผมเป็นผู้พบ”
เขาเคยเปรียบเปรยชีวิตตัวเองก่อนจากโลกนี้ไปว่า ชีวิตได้ขึ้นไปสู่ปลายภูเขาแล้ว และกำลังเดินลงไปที่หลุมฝังศพของตัวเอง เพราะเขาผ่านช่วงชีวิตการเสาะในวัยหนุ่มมาแล้ว จนได้พบสัจธรรมแห่งชีวิต
“ผมขึ้นมาถึงมหาวิหารแล้ว ผมได้พบความพิศวงแห่งจิตในทุกมุม ผมไม่เสาะแสวงหาแล้ว ผมพบแล้ว ฉะนั้นเวลามีคนนัดแนะว่า ให้มาเจอตรงนั้นตรงนี้ ผมบอกว่า อย่าเพิ่งพูด เพราะเมื่อวานผ่านไปแล้ว พรุ่งนี้ยังไม่มา เราจะพูดกันวันนี้และเดี๋ยวนี้ ”
เรื่องราวบางเศษเสี้ยวของอาจารย์ถวัลย์ ที่ทำให้ฉุกคิด แม้กระทั่งการซื้อกล้วยสักหวี
“ทุกวันนี้เวลาผมจะซื้อกล้วย ผมยังไม่กล้าซื้อทั้งหวี ผมไม่แน่ใจว่าจะอยู่จนกล้วยสุกทั้งหวีหรือเปล่า”
ผู้เขียนยังจำได้เสมอ เขาย้ำตลอดการสนทนาว่า
"ผมเป็นนักวาดรูปธรรมดาๆ คนหนึ่ง สิ่งที่พูดออกมา ก็เพื่อสอนตัวเอง ผมเป็นแค่แสงหิ่งห้อยส่องก้นตัวเอง ผมไม่เที่ยวไปสอนใคร ผมแค่สอนตัวเอง”
เคยมีคนถามเรื่องการศึกษาธรรมตามแนวทางท่านอาจารย์พุทธทาสหรือไม่ อาจารย์ถวัลย์บอกไว้ว่า เคยอ่านหนังสือธรรมะเกือบทุกเล่มที่ท่านพุทธทาสเขียน คู่มือมนุษย์จำได้ทุกบรรทัดที่ท่านเขียน
ในบ้านอาจารย์ถวัลย์ จึงมีตู้หนังสือของท่านพุทธทาสไว้หนึ่งตู้ เพราะสมัยหนุ่มๆ อาจารย์ถวัลย์ เล่าไว้ว่า ชีวิตยังมีความกระหายอยากอ่านหนังสือ แต่พอเป็นผู้ใหญ่ก็วาดรูปเป็นหลัก
“ปฏิบัติธรรมนี่ทำยังไง อย่างผมนั่งเฉยๆ ผมหายใจเข้า นั่ง นอน ยืน เดิน ผมคิดว่านี่...ปฏิบัติธรรมแล้ว ผมทำกายานุปัสสนา หายใจเข้า หายใจออก สำรวมกาย จิตและวาจา และผมก็เขียนรูป ผมมีดำริชอบ ผมคิดว่า นี่แหละคือหัวใจของการปฏิบัติธรรม เพราะปฏิบัติธรรมไม่ใช่ว่าเพ่งลงไป มองเห็นดวงแก้วใส ผมไม่รู้ปฏิบัติแบบนั้นทำไม
“ผมไม่ใช่นักบวช นักพรต ผมเป็นนักวาดรูป ผมมุ่งวิถีแห่งอริยมรรค พวกสมบัติบ้าเหล่านี้ ผมไม่จำเป็นต้องเอาเรือแบกข้ามไป ผมข้ามสังสารวัฏ จากนั้นผมเอาเรือทิ้งไว้ให้ลูกศิษย์หรือคนที่ยังไม่ข้ามใช้ ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ศรัทธาจริตต้องมี”