‘ปัณพัท เตชเมธากุล’ กับนิทรรศการศิลปะสวยสะกดใจ 'Venus in the Shell'
“ปัณพัท เตชเมธากุล” ศิลปินรุ่นใหม่ที่เคยร่วมงานกับแบรนด์เนมหรู Gucci พาชมผลงานลายเส้นสุดละเอียดชุดใหม่กับนิทรรศการครั้งที่สองในชีวิต "Venus in the Shell" อ่านก่อน..จะได้ดูอย่างเข้าถึงอารมณ์มากขึ้น หรือไปดูก่อนแล้วค่อยกลับมาอ่าน เพื่อคลายความสงสัย
นิทรรศการแสดงผลงานศิลปะครั้งที่สองของ ยูน-ปัณพัท เตชเมธากุล จิตกรภาพประกอบผู้ทำงานศิลปะแนววาดภาพลายเส้นละเอียดสุดปราณีต มีชื่อว่า Venus in the Shell ครั้งนี้ศิลปินชวนผู้เข้าชมร่วมค้นหาตัวตนภายในตัวคุณเองและคุณค่าความเป็นมนุษย์
“ทุกครั้งที่ทำนิทรรศการ จะเหมือนกับการเขียน ‘ไดอารี่’ ที่เอาไว้ตอบตัวเอง ช่วงอายุเท่านี้คิดอะไรอยู่ หรือมีความรู้สึกอย่างไร หรือตีความเรื่องราวทั้งหมดที่ผ่านมาอีกที” ยูน-ปัณพัท กล่าว
นิทรรศการครั้งแรกชื่อ Only for You พูดเรื่องความสัมพันธ์-เรื่องงาน, สำหรับ วีนัส อิน เดอะ เชลล์ เป็นความรู้สึกเกี่ยวกับการใช้ชีวิตของตัวเธอเอง หรือบางสิ่งที่เธอมีความสงสัยอยู่ข้างในว่าจริงหรือไม่จริง ใช่หรือไม่ใช่ และอยากแบ่งปันแนวคิดนี้กับสังคม
“งานศิลปะทั้งหมดในห้องจัดแสดง..เป็นคำถาม บางอย่างเป็นบทสรุป แต่ไม่ได้พูดว่าถูกหรือผิด เพราะคือประสบการณ์ชีวิตในช่วงเวลา 5-15 ปีที่ผ่านมาของยูน”
ตามตำนานของกรีกโรมัน วีนัส หรือ อะโฟรไดท์ (Aphrodite) คือเทพีแห่งความรัก ความงาม เพศ ภาวะเจริญพันธุ์ และความรุ่งเรือง อย่างที่ทราบกันจากเรื่องเล่าและตำนาน วีนัสก็ยังประสบกับความสุขสมหวัง ผิดหวัง โศกเศร้า โกรธแค้น และสงสาร ไม่ต่างอะไรจากมนุษย์ธรรมดา
“ทำไมเทพกรีกทำทุกอย่างเหมือนมนุษย์ จับต้องได้ มีความเป็นมนุษย์สูงมาก แต่ยังถูกยกให้เป็นเทพได้ มีความรักความโกรธ แต่ไม่ทำให้คุณค่าความเป็นเทพลดทอน” ปัณพัท ตอบคำถามที่ว่าเหตุใดจึงเลือก ‘วีนัส’ มาเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ
สอดคล้องกับ ‘สาระ’ ที่ศิลปินต้องการพูดถึง คือ การค้นหาตัวตน และ คุณค่าความเป็นมนุษย์ ที่เมื่อมองกลับมาถึงปัจจุบัน บางทีตัวตนและคุณค่าความเป็นมนุษย์ถูกตีกรอบ ถูกลดทอน ทำให้มนุษย์ไม่มั่นใจ ด้วยหลายๆ อย่างที่มนุษย์แต่ละคนคิดว่าต้องเป็นอย่างนี้ตั้งแต่ยุคแรกเริ่มของความเป็นมนุษย์ แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ อาจมีอะไรมาตีกรอบเมื่อไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา เหตุการณ์อะไรบางอย่างที่ทำให้การใช้ชีวิตของเราต้องเปลี่ยนไป
“มีหนังสือเล่มหนึ่งพูดว่า คนเรารับบทตามงานที่ทำ เช่นยูนรับบทเป็นศิลปิน บางคนรับบทเป็นนักจิตวิทยา นักปราชญ์ คุณครู แต่เรารับบทนั้นแค่ไม่กี่ชั่วโมงในชีวิต แต่ชีวิตส่วนมากของเราจริงๆ แล้ว เราใช้ชีวิตในฐานะที่เราเป็นปัจเจก เป็นคนๆ หนึ่ง ทั้งยังเป็นลูก ยังต้องกินข้าว เข้าห้องน้ำ ที่เป็นคนจริงๆ เราใช้เวลาตรงนั้นตั้งเยอะ แต่ไม่มีใครบันทึกจุดนั้นของเราเอาไว้ แล้วเราก็ทิ้งความเป็นมนุษย์ของเราไป แล้วปล่อยให้อะไรบางอย่างมา ‘กรอบ’ เราไว้หรือเปล่า ถ้าเอาบทบาทออกไป ทุกคนก็ใช้ชีวิตเหมือนกันหรือใกล้เคียงกัน เป็นลูป (loop) อยู่ที่เดิม”
วีนัสเป็นเทพเกี่ยวข้องกับ ความงาม ซึ่งเป็นสิ่งที่คนให้ความกังวลที่สุดในยุคปัจจุบัน ในโซเชียลมีเดียไม่มีใครอยากให้คนอื่นเห็นหน้าตาที่ไม่สวยงามของตน เพื่อที่จะลบคำถามทุกอย่างออกไป เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ปัณพัทเลือก ‘วีนัส’ เข้ามานำเสนอนิทรรศการ
แต่ ‘วีนัส’ ก็เป็นเพียงหนึ่งในสัญลักษณ์หลักที่สำคัญของนิทรรศการ ภายในนิทรรศการจะไม่เห็นภาพวีนัสเลย เพราะวีนัสเป็นตัวแทนของ ‘ตัวตนแต่ละคน’ ของผู้ชมซึ่งเข้าไปแล้วจะหาเจอหรือไม่
การนำเสนอนิทรรศการ Venus in the Shell แบ่งออกเป็น 5 องก์ เหมือนเดินเข้าไปในเปลือกหอยที่ถูกแบ่งออกเป็นห้าส่วน
องก์ที่ 1 : ยินดีต้อนรับสู่ Venus in the Shell
พื้นที่จัดแสดงงานศิลปะองก์นี้สดใสสว่างตาด้วย สีแดง ทั้งห้อง ตั้งแต่พรมปูพื้นไปจนผนังห้อง พร้อมประติมากรรมสิงโตคู่ตัวใหญ่กลางห้อง
ผนังห้องด้านหนึ่งมีภาพวาดลายเส้นชายหญิงหน้าตาและเครื่องแต่งกายแบบชาวจีนย้อนยุคอยู่ในท่าทางคล้ายกำลังฝึกวิชา และท่าทางนั้นมีโครงร่างเป็นรูป ตัวพยัญชนะในภาษาอังกฤษ ครบทั้ง 26 ตัวอักษร พร้อมมี คำศัพท์ ที่ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะตัวนั้นเขียนกำกับไว้ในแต่ละภาพ เช่น ภาพอักษรตัว A มีคำว่า Appreciate Life, ภาพอักษร L เขียนคำว่า Love Yourself, O เขียนคำว่า Open-Minded, S เขียนคำว่า Sincere, V เขียนคำว่า Victory
ผนังห้องอีกด้านเป็น ภาพลายเส้นสตรีจีนโบราณกับสัญลักษณ์ 12 ราศีของแต่ละเดือน จำนวน 12 ภาพ
ศิลปินกล่าวว่า นิทรรศการองก์นี้สื่อความหมายถึง ภาพภายนอก ที่คนเราอยากให้ทุกคนเห็นว่าเราเป็นอย่างไร เช่น มีพลังสดใส มีความเข้มแข็ง มีความสามารถรับมือได้กับทุกสิ่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาพที่ต้องดูดี จึงเลือกใช้ ‘คำศัพท์’ ที่มีความหมายเชิงบวกเขียนไว้ในภาพของพยัญชนะทั้ง 26 ตัวอักษร เพราะทุกคนต่างมีชื่อ ราศีเกิด ตัวเลขคือวันเกิด สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนสื่อความเป็นปัจเจกของแต่ละบุคคล
“ชื่อแต่ละคนล้วนนำหน้าด้วยตัวอักษร ยูนเรียกภาพวาดตัวอักษรที่ยูนวาดว่า อัลฟาเบต วอร์ริเออร์ (alphabet warrior อักษรนักรบ) ไม่รู้เลยแต่ละคนฝีกวิชาอะไรที่จะขุดพลังข้างในออกมาเพื่อแสดงให้คนอื่นเห็น ยูนบัญญัติคำขึ้นมาซึ่งอาจไม่ตรงกับทุกคน แต่ยูนว่าเป็นคำที่เชื่อมโยงถึงสิ่งที่ทุกคนต้องการ ส่วนภาพวาดราศีก็เป็นก็อดเดส (goddess เทพธิดา) รูปลักษณ์แบบจีน ลายเส้นซิกเนเจอร์ของยูนที่มีความเป็นตะวันออกผสมตะวันตก”
ผนังห้องยังประดับด้วยวอลล์เปเปอร์ลวดลายปะการังชื่อลาย The Great Barrier Reef ศิลปินวาดขึ้นเพื่อสื่อถึงสิ่งที่ให้เกิดความปลอดภัยเช่นเดียวกับ 'เปลือกหอย'
การจะสำรวจสิ่งที่อยู่ข้างในของตัวเอง จึงจะต้องค่อยๆ เจาะผ่านเปลือกหอย (shell) ผ่าแนวปะการัง หรือด่านที่เปรียบเสมือนเกราะป้องกันที่แต่ละคนสร้างขึ้นเพื่อให้ตัวเองรู้สึกปลอดภัย เพื่อทะลุเข้าไปภายในจิตใจ
ถ้าพร้อมแล้ว..เชิญเปิดม่านทึบสีดำที่กางกั้นระหว่างนิทรรศการองก์ที่หนึ่งและองก์ที่สอง แล้วเดินเข้าไปพร้อมกัน...
องก์ที่สอง : Forbidden Flower
เมื่อเปิดม่านสีดำ จะพบห้องขนาดใหญ่ ห้องนี้จัดแสดงนิทรรศการด้วยกันจำนวนสององก์ คือองก์ที่ 2 และองก์ที่ 3
นิทรรศการองก์ที่ 2 ชื่อ Forbidden Flower (ฟอร์บิดเดน ฟลาวเวอร์) อยู่ทางด้านซ้ายมือของม่านดำ บนผนังมีภาพวาดรูป แมว และ ดอกบัว ซึ่งศิลปินใช้เป็นสัญลักษณ์เล่าเรื่องและตั้งคำถามเกี่ยวกับ เพศ กับ ความดีงาม หรือสิ่งที่เรารู้สึกว่าเป็น ‘ความดีงาม’ ที่ถูกสังคมกำหนดเอาไว้ว่าต้องทำแบบนี้
“แมวแทนเรื่องเพศ ดอกบัวแทนความดีงาม แต่เมื่อไปวางอยู่ในตำแหน่งที่ไม่คุ้นชิน หรือกับสิ่งที่แมวทำกับดอกบัว ดอกบัวนั้นยังเป็นดอกบัวอยู่หรือเปล่า หรือกลายเป็น ‘ดอกไม้ต้องห้าม’ ไปแล้ว เพราะมันไม่เหมือนสิ่งที่คุณคิด” ปัณพัท ตั้งคำถามให้ร่วมค้นหาคำตอบในตัวแต่ละคน
คุณต้องไปดูว่าดอกบัวอยู่ตรงตำแหน่งไหนของตัวแมว และแมวทำอะไรกับดอกบัว
“สมัยก่อน ยูนไม่เคยเรียนรู้ตัวเอง และพยายามหนีว่าเราไม่ใช่คนแบบนี้ ทั้งๆ ที่เราเป็น.ก็เป็นไป ไม่เป็นไร เหมือนกับว่าเราโกรธ เราก็ยอมรับว่าเราโกรธ เพราะเราเป็นคนขี้โมโห เราจะได้จัดการมันถูก ไม่ใช่ปฏิเสธ (ถ้าปฏิเสธ)เราก็จะหนีไปเรื่อยๆ ไม่เจอตัวเองซะที ถ้าเราซุกเอาไว้ เราก็ไม่เจอทุกอย่างที่เราอยากเจอ”
ภาพวาดแมวและดอกบัวจัดแสดงอยู่ในกรอบภาพที่ประดับอยู่บนผนังโทนสีเขียวสวยงามสบายตาด้วยลวดลายที่ศิลปินตั้งชื่อว่า โอเอซีส (Oasis) ลายเส้นต้นไม้ที่ออกดอกสวยสะพรั่งหลากสีสันเกี่ยวกระหวัดระโยงระยางบนพื้นโทนสีเขียว มีสิงโตหน้าตาน่าเอ็นดูซ่อนอยู่หลังพุ่มไม้บ้าง เกาะอยู่ตามกิ่งก้านและแอบหลังต้นไม้บ้าง
‘โอเอซีส’ เป็นภาพลายเส้นที่ปัณพัท ‘ทวิสต์’ ขึ้นใหม่จากลายเส้น Lion of January ที่เคยมีโอกาสร่วมงานกับแบรนด์ จิม ทอมป์สัน ซึ่งขณะนี้หมดสัญญาผูกพันกับลายนี้ไปแล้ว
“ยูนรู้สึกลายนี้เหมือน ‘โอเอซีส’ ในชีวิตของยูน หันกลับไปมองก็รู้สึกเป็นรากของเรา นำลายมาทวิสต์ใหม่เป็นลายต้นไม้ เอาคาแรคเตอร์สิงโตตัวนั้นขึ้นมา โดยนำเสนอผลงานในรูปแบบวอลล์เปเปอร์”
องก์ที่ 3 : Moonlight Dive
นิทรรศการองก์ที่ 3 ชื่อ Moonlight Dive (มูนไลต์ ไดฟ์) จัดแสดงอยู่ในพื้นที่ฝั่งตรงข้ามของนิทรรศการองก์ที่ 2 สิ่งแรกที่ปรากฏแก่สายตาคือประติมากรรมสีฟ้ารูปม้าชื่อ ฟีบัส (Phoebus) ใน ‘เทพปกรณัม’ เทวะตำนานของกรีก
ฟีบัสคือม้าเทียมรถพระอาทิตย์ของเทพอพอลโล แต่ปัณพัทออกแบบให้มีรูปลักษณ์คล้าย ‘ยานบิน’ เป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของการสำรวจหา สิ่งที่ซ่อนอยู่ภายในตัวแต่ละคน หรืออีกหนึ่งโฉมหน้า..ที่เราแอบซ่อนไว้ รวมไปถึงเรื่องที่เรามักไม่ค่อยนำมาพูดกัน
ผนังห้องด้านขวามือของฟีบัส เต็มตาด้วย ภาพจิตรกรรมฝาผนังโทนสีฟ้า ตลอดความยาวของผนัง 16 เมตร สูง 2.3 เมตร ภาพผู้คนคล้ายกำลังต่อสู้กับหมึกยักษ์และล็อบสเตอร์ยักษ์ท่ามกลางคลื่นลมของมหาสมุทร ผลงานชิ้นนี้ชื่อ มูนไลต์ ไดฟ์ (Moonlight Dive)
“สัตว์แต่ละตัวคือตัวแทนอารมณ์และความรู้สึกต่างๆ ภาพแสดงถึงความสับสนในตัวเราในการหาคำตอบ ว่ายวนอยู่ในท้องทะเล มีคลื่นลม มีมังกรที่เหมือนจ้องมองเราอยู่ หมึกยักษ์ที่คอยเหมือนจะดึงเราตลอดเวลา มีภาพการต่อสู้กับล็อบสเตอร์ที่จะเป็นตัวเล่าเรื่องในผลงานองก์ต่อไป” ปัณพัท อธิบายความหมายของชิ้นงาน ‘มูนไลต์ ไดฟ์’ ที่ใช้สื่อถึงความครุ่นคิดในใจ ความสับสนจากการไตร่ตรองในการหาคำตอบ
ถ้าเข้าไปพิจารณา ‘มูนไลต์ ไดฟ์’ ใกล้ๆ จะพบว่านั่นไม่ใช่ภาพวาด
ความจริงแล้วภาพที่เห็นเต็มผนังชิ้นนี้ เกิดจากการเรียง กระเบื้องโมเสก ขนาด 4.8 x4.8 มิลลิเมตร จำนวนทั้งสิ้น 745,290 เม็ด เรียงต่อกันด้วยมือทุกเม็ด ใช้เวลา 1,500 ชั่วโมง จนเกิดเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังอย่างที่ทุกคนเห็น
“แต่กว่าจะเป็น 1,500 ชั่วโมง มีการทดลองเทคนิคมาเป็นปี กว่าจะรู้ขนาดของโมเสกที่จะลงตัวกับลายเส้นของยูน วิธีการแยกสีที่ลงตัว หาวิธีการสร้างตัวมูรอล(mural จิตรกรรมฝาผนัง)ขึ้นมาให้ได้ ไม่ใช่การพิมพ์ลงบนโมเสก เราเคยคิดจะพิมพ์บนโมเสกเหมือนกัน แต่ความพิเศษจะไม่มี"
"สิ่งที่เราทำคือ เอารูปภาพหนึ่งรูป คือต้นฉบับที่ยูนวาด เข้าโปรแกรมแยกสีทั้งหมด เหมือนเราปักครอสติช ผนังที่เรามองผ่านๆ เห็นเป็นสีดำ จริงๆ ประกอบด้วยสีดำสนิท สีเทาเข้ม สีกรมท่า คือสามสีประกอบกัน ภาพจึงดูมีมิติขึ้นมา ไม่ใช่การปริ้นต์ แต่คือการแยกสีแล้วรู้ว่าแบคกราวน์ประกอบด้วยสามสี แล้วนำสามสีนี้มาค่อยๆ แปะมือรวมกันตามแพทเทิร์น จนกลายเป็นภาพขึ้นมา”
ปัณพัท อธิบายการสร้างงานศิลปะชิ้นนี้ ซึ่งต้องใช้ความสามารถทีมกราฟิกคอมพิวเตอร์ของเธอเข้ามาประกอบ และเทคโนโลยีของบริษัทผู้ผลิตกระเบื้อง คอตโต้ (Cotto) ซึ่งเป็นการผลิตชิ้นงานที่มีขนาดเล็กมาก กระทั่งคอตโต้เรียกกระเบื้องไซส์พิเศษนี้ว่า"เม็ด" ทั้งหมดนี้เป็นการทดลองสร้างงานศิลปะใหม่ๆ ร่วมกัน
องก์ที่ 4 : Mandragora in The Vase
นิทรรศการองก์ที่ 4 ชื่อ Mandragora in The Vase (แมนดราโกรา อิน เดอะ เฝซ) จัดแสดงอยู่ในห้องมืดห้องเล็กๆ ทางเข้าเป็นม่านทึบสีดำสนิทอีกเช่นกัน
หลังม่านสีดำ คุณจะเห็นภาพวาดลายเส้นบนผืนผ้าใบ วาดเป็นรูปดอกไม้หลากสีสันปักอยู่ในแจกัน แล้วใช้เครื่องโปรเจคเตอร์ฉายภาพหมู่มวลผีเสื้อบินไปมาบนภาพรวมทั้งบนพื้นห้อง ในกลุ่มดอกไม้นั้นมีต้น กาบหอยแครง ปะปนอยู่ด้วย
กาบหอยแครง หรือในชื่อภาษาอังกฤษ Venus Flytrap ได้ฉายา ‘เทพธิดาดักแมลง’ เพราะเป็นพืชกินสัตว์ที่ดักจับและย่อยกินเหยื่อที่จับได้จากโครงสร้างกับดักที่คล้ายบานพับและมีความสวยงาม เหยื่อส่วนมากเป็นแมลงและแมงที่ไม่ระวังและหลงใหลไปกับความสวยงาม
“หลังจากค้นหาตัวเองมาแล้ว สิ่งที่เราจะตัดสินใจมองในฟอร์บิดเดนฟลาวเวอร์คืออะไร ยูนรู้สึกว่าเป็นสิ่งสำคัญ คือการที่เรามองแล้วตัดสินใจ ว่าสิ่งนี้เราชอบไม่ชอบ ดีไม่ดี ถูกต้องหรือไม่ถูกต้องกับเรา กับการมองตัวเองว่าเรามีอะไรซ่อนอยู่ข้างใน ที่ๆ เราอยู่ตรงนี้ใช่ที่ของเราหรือไม่ ถ้าไม่ใช่เราก็จะไม่โตแล้ว เหมือนต้นไม้วิเศษของแฮร์รี พอตเตอร์”
ต้นไม้วิเศษต้นนั้นคือ Mandrake (แมนเดรค) หรือ Mandragora พืชที่มีรูปร่างคล้ายคน เล่าว่าจะแผดเสียงเวลาถูกดึงขึ้นมาจากพื้นดิน เสียงนั้นทำให้คนที่ได้ยินตายได้เลย
สิ่งที่ศิลปินชวนคิดในนิทรรศการองก์นี้ก็คือ ‘แมนเดรค’ เหมือนพวกเราในบางครั้ง มีทั้งด้านที่น่ากลัวและสวยงาม มีคุณประโยชน์เมื่ออยู่ถูกที่ และโดนลดทอนคุณค่าเมื่ออยู่ผิดที่ผิดทาง เราต่างอยากเจริญเติบโต ขยายกิ่งก้านสาขา และทำประโยชน์ได้มากมาย แม้ว่าบางทีเราอาจจะแผดเสียงออกมาบ้างเวลาไม่พอใจ แต่หลายๆ ครั้งเราไม่สามารถทำได้ เหมือนต้นแมนเดรคที่ไม่สามารถเจริญเติบโตได้ในแจกัน แจกันที่มีคนเลือกพาเรามาจัดใส่ไว้
“คุณเคยลองถามตัวเองไหมว่า กี่ครั้งที่เราปล่อยให้กฎเกณฑ์ ประเพณี และค่านิยมทางสังคม หรือมาตรฐานที่สังคมวางไว้ มาลดทอนพื้นที่ของตัวคุณเอง กี่ความฝัน หรือความชื่นชอบของคุณที่ถูกทอดทิ้งไป เพียงเพราะเราได้ยินคำสบประมาทที่บั่นทอนจิตวิญญาณของเรา”
ระหว่างครุ่นคิดหาคำตอบ ก็อย่าลืมระวังกับดักต้น ‘กาบหอยแครง’ ไปด้วย
องก์ที่ 5 : The Wanderer
หลังจากเดินสำรวจภายในเปลือกหอยนี้ ศิลปินขอถามคุณด้วยนิทรรศการองก์สุดท้ายชื่อ The Wanderer (เดอะ วอนเดอเรอร์) หรือ ‘นักพเนจร’ หรือการเดินทางของ ‘เวลา’
เมื่อใช้เวลาเดินทางมาถึงองก์นี้ ปมในใจทำให้คุณรู้สึกอย่างไร ตื่นเต้น? เหนื่อยล้า? ทุกข์หรือว่าสุขใจ คุณมีคำตอบอย่างไร หรือตอบได้ไหม
จำภาพ ‘กุ้งล็อบสเตอร์’ ของนิทรรศการองก์ที่ 3 ได้หรือไม่ ในนิทรรศการองก์ที่ห้าคุณจะได้พบกับประติมากรรมล็อบสเตอร์ขนาดมหึมา
ศิลปินใช้กุ้งล็อบสเตอร์เป็นสัญลักษณ์แทน ‘ความตรงไปตรงมา’ ในการตอบคำถาม โดยอ้างอิงมาจากหนังสือเรื่อง กฎ 12 ข้อที่ใช้ได้ตลอดชีวิต มีบทหนึ่งเล่าถึงกุ้งล็อบสเตอร์ ว่ามีลักษณะเหมือน ‘คน’ ตรงที่คนเราเวลามั่นใจมากๆ เราจะยืนตัวตรงอกผาย นั่นคือเหตุผลทำไมจึงมีการบอกให้ยืนอกผายไหล่ผึ่ง เพราะคือลักษณะของความภูมิใจและชัยชนะ แต่วันที่เราไม่มีความรู้สึกนี้ เราจะตัวห่อ เช่นเดียวกับกุ้งล็อบสเตอร์ เวลาสู้ชนะเพื่อปกป้องพื้นที่ตัวเอง ล็อบสเตอร์จะเหยียดตัวตรง ถ้าสู้แพ้ ล็อบสเตอร์จะทำตัวงอไปเรื่อยๆ
“แต่เราจะค้นหาตัวตน โดยตอบคำถามได้อย่างตรงไปตรงมาแบบกุ้งล็อบสเตอร์ได้หรือไม่ และกว่าที่เราจะตรงไปตรงมา เราผ่านอะไรที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนมา จนรู้สึกว่าความตรงไปตรงมาเป็นสิ่งที่ง่ายที่สุด เราถูกปลูกฝังในเรื่องการหาเหตุผล วิชาเจรจาชักแม่น้ำทั้งห้า แต่ไม่เกิดประโยชน์เลยในการใช้ชีวิต นอกจากความตรงไปตรงมา” ปัณพัท กล่าว
อีกหนึ่งสัญลักษณ์ที่เกี่ยวกับ ‘เวลา’ ที่ศิลปินใช้ในองก์นี้คือลายเส้นรูป ปลาทอง ที่มักกล่าวกันว่า “ถ้าคนเราขี้ลืมแบบปลาทองได้คงโชคดี” ไม่ต้องจดจำความเจ็บปวดและสิ่งไม่พึงประสงค์ทั้งปวง
แต่ปัณพัทอยากถามว่า “การหลุดพ้นจากอะไรบางสิ่ง คือแค่ลืมไปจริงๆ หรือ การที่เวลาผ่านไปแล้วเราลืม เรามีอิสระจริงหรือ ลืมไปแล้วก็หลุดพ้น จะเหมือนบรรลุแล้วจริงหรือ คำว่านิพพาน แค่เราลืมไปแล้วจะนิพพานได้หรือ ยูนว่ามันไม่จริง เราต้องเข้าใจในสิ่งที่ผ่านมาและผ่านไป เพราะเขาบอกให้กลับไปแก้เหตุแห่งทุกข์ แปลว่าไม่ให้ลืม แปลว่าเราต้องกลับไปเข้าใจว่าคืออะไร ทำความเข้าใจตัวเรา รอบข้าง...
สังคมทำให้เราหลุดจากตัวเราไปเรื่อยๆ อะไรที่ทำให้เรากลับมาเข้าใจตัวเองได้ คือกลับมานึกถึงคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่แท้จริงคืออะไร และตัวเราจริงๆ คืออะไรกันแน่...
ถ้าจะบอกว่า ศาสนาสอนให้เราเป็นคนดี ทำความดี จบลงทุกอย่างด้วยการให้อภัยกับทุกสิ่ง เป็นไปไม่ได้ถ้าเราจะไม่เข้าใจว่าสิ่งที่เราแค้นใจอยู่ รู้สึกไม่ถูกต้อง สิ่งนี้เรากลับไปหาคำตอบก่อนไหม แล้วค่อยให้อภัย ปล่อยวาง ไม่ใช่บอกให้ปล่อยวางสิ ฉันยังไม่เข้าใจเรื่องนี้ แล้วจะให้ปล่อยวางได้อย่างไร เพราะเราต้องหาคำตอบก่อน”
ยังมีเรื่องราวของ กาลเวลา แฝงอยู่ในความงามของนิทรรศการองก์นี้อีกหลายเรื่อง เชิญชวนคุณผู้อ่านไปร่วมค้นหาและตอบคำถามในใจเกี่ยวกับ ความเป็นตัวคุณ ผ่านนิทรรศการ Venus in the Shell ของศิลปินรุ่นใหม่นักวาดภาพประกอบ ยูน-ปัณพัท เตชเมธากุล ผู้สร้างชื่อเสียงด้วยผลงานระดับนานาชาติจากการได้รับเชิญให้ร่วมงานกับลักชัวรี่แบรนด์เนมระดับโลกแห่งอิตาลี ‘กุชชี่’
นิทรรศการ Venus in the Shell จัดแสดง ณ River City BANGKOK Galleria ชั้น 2 อาคารริเวอร์ซิตี้ สี่พระยา กรุงเทพฯ เปิดให้เข้าชมทุกวันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 11.00-20.00 น. และวันเสาร์-อาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 10.00-20.00 น. ชมฟรี โดยจำกัดผู้เข้าชมพร้อมกันไม่เกิน 80 คน เพื่อป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด วันนี้-28 กุมภาพันธ์ 2564
ผลงานทุกชิ้น เปิดโอกาสให้ผู้สนใจจับจองเป็นเจ้าของ รวมทั้งผลงานลวดลายบนกระเบื้องโมเสกชุด Moonlight Dive ที่สามารถนำไปประดับผนังในลักษณะ mural art และผลงานลายเส้นชุด The Great Barrier Reef องก์ที่หนึ่ง, Oasis ในองก์ที่สอง, Meadow Universe อีกหนึ่งซิกเนเจอร์ลายเส้นทุ่งดอกไม้ในวันแดดส่องของปัณพัทที่ตีความขึ้นใหม่บนพื้นสีดำ ในองก์ที่ห้า ซึ่งทั้งสามลวดลายนี้จัดทำเป็นวอลล์เปเปอร์คุณภาพโดย Goodrich ติดต่อได้ที่คุณ อารทรา จิตรถิ่น โทร.09 4251 6458