เมาแล้วอยากดื่มต่อ...ควรขายให้ไหม?

เมาแล้วอยากดื่มต่อ...ควรขายให้ไหม?

ไขข้อข้อใจ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ที่ออกมาเพื่อควบคุมการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับผู้ขาย ร้านค้ารายใหญ่ รายย่อย ครอบคลุมกรณีผู้ซื้อเมาแล้วอยากดื่มต่อ ด้วยหรือไม่? ร้านค้าควรขายให้หรือไม่?

การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากจะส่งผลต่อตัวผู้บริโภค โดยก่อให้เกิดโรคภัยและปัญหาด้านสุขภาพต่างๆ ยังส่งผลต่อบุคคลอื่นและสังคมโดยรวม ซึ่งถือเป็นการสร้างความเสียหายทั้งทางภาคสังคมและภาคเศรษฐกิจอีกด้วย 

หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดความเสียหายคือ “การเมาแล้วขับ” และเมื่อพิจารณาตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะเห็นได้ว่ามีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งในมิติของปริมาณและมูลค่า ส่งผลให้มีเครื่องดื่มและผู้ประกอบการธุรกิจแอลกอฮอล์เกิดขึ้นใหม่อย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชากรไทยเข้าถึงเครื่องดื่มประเภทนี้ได้ง่ายมากขึ้น และรับรู้ถึงการโฆษณาเครื่องดื่มประเภทดังกล่าวได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม

ปัจจุบัน ประเทศไทยมี พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ที่กำหนดมาตรการที่เข้มงวดเพื่อป้องปรามผู้ขาย อาทิ มาตรการควบคุมสถานที่จำหน่ายและบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาตรการควบคุมลักษณะและวิธีการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตลอดจนมาตรการควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยกำหนดโทษสำหรับการขายนอกเวลาที่กฎหมายกำหนด (มาตรา 39) และการขายสุราให้คนเมาที่ครองสติไม่ได้ (มาตรา 40) ก็ตาม 

แต่การห้ามขายนอกช่วงเวลาอนุญาต บังคับใช้ได้ผลเฉพาะห้างขนาดใหญ่และร้านค้าสะดวกซื้อ เพราะผู้ซื้อสามารถหาซื้อจากร้านค้าปลีกที่มีอยู่ทั่วไปได้ ชี้ให้เห็นว่าการบังคับใช้ยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร ส่วนการห้ามขายเพิ่มให้ผู้ที่มึนเมาครองสติไม่ได้นั้น กฎหมายก็ได้กำหนดไว้ห้ามขาย ซึ่งปัจจุบันไม่มีคดีที่ผู้ขายขายให้บุคคลที่มีอาการมึนเมาจนครองสติไม่ได้แต่อย่างใด 

จึงเป็นที่น่าสงสัยว่าแม้มีโทษกำหนดไว้ แต่เจ้าหน้าที่จะบังคับใช้กฎหมายได้ทั่วถึงเพียงใด เพราะกำลังเจ้าหน้าที่มีน้อย แต่ร้านอาหาร ร้านเหล้า ร้านค้าปลีกมีมาก การตรวจตราและจับกุมผู้กระทำความผิดจึงมีต้นทุนสูง อีกทั้งคำว่า “มึนเมาจนครองสติไม่ได้” ไม่มีนิยามชัดว่ามีอาการอย่างไร มึนเมามากแล้วเพียงใดที่ผู้ขายต้องไม่ขายเพิ่ม จึงทำให้การบังคับกฎหมายข้อนี้ทำได้ยากหรือไม่ อย่างไร

กฎหมายที่เกี่ยวข้องอีกฉบับคือ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ที่เน้นป้องปรามผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ห้ามขับขี่ยานพาหนะ (มาตรา 43) หากฝ่าฝืนต้องเสียค่าปรับ หรือจำคุก ถ้าคู่กรณีบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ค่าปรับและบทลงโทษอาญาจะเพิ่มขึ้น (มาตรา 160 ตรี)

ส่วนผู้เสียหายสามารถฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนตามหลักกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะละเมิด (มาตรา 420) ซึ่งถ้าได้รับความเสียหายที่เกิดจากการขับขี่ยานพาหนะก็สามารถฟ้องตามหลักมาตรา 437 ได้ “ผู้ครอบครองหรือควบคุมยานพาหนะใดๆ จะต้องรับผิดชอบความเสียหายอันเกิดจากการใช้ยานพาหนะนั้น เว้นแต่พิสูจน์ได้ว่าเกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือเกิดเพราะความผิดของผู้เสียหาย” 

เนื่องจากกฎหมายละเมิดเป็นความรับผิดทางแพ่ง (Civil Liability) ที่กำหนดให้บุคคลมีหน้าที่พึงระวังไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น หากเกิดเหตุขึ้นผู้ก่อเหตุละเมิดต้องชดใช้ ซึ่งกฎหมายจะเน้นพิจารณาหลังเกิดเหตุการณ์ แต่การที่จะทำให้สังคมปลอดจากปัญหาอย่างสิ้นเชิง อาจจำเป็นต้องมุ่งกำหนดความรับผิดเพื่อจูงใจให้บุคคลยั้งเหตุความเสียหายเป็นการล่วงหน้าประกอบกันไปด้วย

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาประกอบกับแนวคิดเรื่องการก่อช่องแห่งภัย (Enabling Scenario) แล้วนั้น อาจเห็นได้ว่าผู้ก่อ (ผู้ขายเหล้าให้แก่ผู้ที่มึนเมาแล้ว ที่เอื้อให้ขับรถไปชนผู้อื่นเสียหาย) นั้นไม่ได้เป็นต้นเหตุ แต่ด้วยความประมาทเลินเล่อของผู้ก่อทำให้เกิดเงื่อนไขที่เอื้อให้ผู้มึนเมาสร้างความเสียหายแก่บุคคลที่สาม กอรปกับที่ผ่านมามีหลายตัวอย่างที่ศาลตัดสินความผิดของผู้ก่อช่องแห่งภัย ซึ่งไม่ได้มีความสัมพันธ์ใดๆ กับผู้เสียหาย เพียงพอจะกำหนดความรับผิดได้ จึงเกิดแนวคิดว่าฝ่ายนิติบัญญัติควรกำหนดขอบเขตความรับผิดของผู้ก่อช่องแห่งภัย แล้วให้ศาลตัดสินตามขอบเขตนั้น เพื่อเป็นการช่วยลดความเสียหายแก่ผู้อื่นเกินระดับที่เหมาะสมต่อสังคมต่อไป

จะเห็นได้ว่าความรับผิดกับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุรานั้นประกอบไปด้วยผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders) หลายกลุ่ม การดําเนินนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีความหลากหลาย และต้องอาศัยการพิจารณาและวิเคราะห์สถานการณ์อย่างรอบด้าน 

จึงสะท้อนให้เกิดแนวคิดที่ว่า ประเทศไทยควรมีกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับใดที่ก่อให้เกิดความรับผิดกับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุรา เมื่อมีการให้บริการหรือขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับผู้เยาว์หรือผู้มึนเมาอย่างเห็นได้ชัดซึ่งอาจส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บหรือไม่ เพื่อเป็นการรักษาสมดุลระหว่างการแสวงหากำไรจากยอดขายที่ถูกต้องตามกฎหมาย และความปลอดภัยของผู้บริโภค รวมไปจนถึงบุคคลภายนอกที่อาจได้รับผลกระทบจากการกระทำของผู้มึนเมาได้

ในสหรัฐมีการบัญญัติกฎหมาย Dram Shop Laws ซึ่งเป็นกฎหมายที่ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุราต้องรับผิดชอบเมื่อมีการให้บริการหรือขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับผู้เยาว์หรือผู้มึนเมาอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งต่อมาส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บ เนื้อหาในกฎหมาย Dram Shop Laws มีความแตกต่างกันไปตามแต่ละมลรัฐ แต่ละมลรัฐมีการกำหนดหลักเกณฑ์การบังคับใช้และความรับผิดชอบของร้านค้าตามสถานการณ์และในระดับที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับกฎหมายที่ได้รับอนุมัติจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งของแต่ละรัฐ หลักเกณฑ์นี้ใช้กับทุกธุรกิจที่ขายหรือให้บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สถานประกอบการดังกล่าวรวมถึงร้านอาหาร บาร์ ร้านขายเหล้า ร้านเหล้าในสนามกีฬา

ในฝรั่งเศสมีมาตรการและข้อบังคับทางกฎหมายเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลายประการ เนื่องจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถือเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมเช่นเดียวกับไทย แต่ในฝรั่งเศสจะมีระบบใบอนุญาตจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลากหลายประเภท และมีมาตรการต่างๆ ในการควบคุมตามลักษณะของใบอนุญาตที่แตกต่างกันไป รวมถึงการที่จะเป็นผู้มีใบอนุญาตดังกล่าวได้นั้นจะต้องมีการฝึกอบรมและผ่านการทดสอบก่อน และหากเป็นกรณีการขายเครื่องดื่มให้แก่คนเมา ผู้ขายก็มีโทษปรับที่สูงมาก

ถ้าหากประเทศไทยพิจารณาถึงประเด็นนี้ ก็จะสามารถช่วยเพิ่มโอกาสในการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่บุคคลที่สามที่ได้รับความเสียหาย และเป็นการป้องปรามบุคคลที่มีพฤติกรรมเมาสุราและยังไปซื้อดื่มต่ออีก กับร้านอาหารหรือร้านค้าที่ยังคงจำหน่ายให้ผู้นั้น ทั้งๆ ที่มีอาการเมาจนครองสติไม่ได้หรืออย่างเห็นได้ชัดได้