‘Language of the Soul’ งานศิลป์เพื่อความรัก ความเข้าใจ
นิทรรศการศิลปะเพื่อความแตกต่าง “Language of the Soul – ภาษาแห่งจิตวิญญาณ” เปิดให้ชมแล้ว ณ “หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร”
มูลนิธิเดอะ เรนโบว์ รูม ศูนย์ความเข้าใจเชิงบวกเกี่ยวกับความต้องการพิเศษแห่งแรกในประเทศไทย ร่วมกับ อาร์ต คอนเนคชั่น โดยการสนับสนุนของ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร เชิญชมนิทรรศการศิลปะเพื่อความแตกต่าง Language of the Soul - ภาษาแห่งจิตวิญญาณ ครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของซีรีส์ Language of the Soul รวมนิทรรศการศิลปะต่อเนื่องทั้งสิ้น 6 ครั้ง โดยจัดแสดงตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ทั้งนี้ แต่ละนิทรรศการนำเสนอผลงานของศิลปินที่มีความต้องการพิเศษในรูปแบบที่แตกต่างกัน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับครอบครัวบุคคลที่มีความต้องการพิเศษ ผู้เกี่ยวข้อง และบุคคลทั่วไป นอกจากนั้น งานนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม วันดาวน์ซินโดรมโลก ในวันที่ 21 มีนาคม และ วันออทิสซึมโลก วันที่ 2 เมษายน ของมูลนิธิฯ ทุกปีอีกด้วย
โรสซาลีน่า อเล็กซานเดอร์ แม็คเคย์ ประธานมูลนิธิ เดอะ เรนโบว์ รูม ให้ข้อมูลว่า “นิทรรศการ Language of The Soul เป็นอีกหนึ่งความตั้งใจของมูลนิธิ เดอะ เรนโบว์ รูม และภาคี ที่จะแสดงให้เห็นถึงศักยภาพที่หลากหลายของมนุษย์ และกระตุ้นเตือนถึงการสร้างสังคมที่ทุกคนอยู่ร่วมกันด้วยความเคารพซึ่งกันและกัน อีกทั้งช่วยเปิดมุมมองใหม่เกี่ยวกับงานศิลปะและความต้องการพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การส่งเสริมให้ครอบครัวมองเห็นความเป็นไปได้ และการพัฒนาบุคคลที่มีความต้องการพิเศษได้เต็มศักยภาพ ซึ่งนับเป็นเกียรติของมูลนิธิฯ เป็นอย่างยิ่งที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครเห็นความสำคัญในการให้พื้นที่ เพื่อส่งเสริมกิจกรรมสร้างสรรค์เช่นนี้”
เดอะ เรนโบว์ รูม คือศูนย์ความเข้าใจในด้านบวกเกี่ยวกับความต้องการพิเศษ ที่ไม่แสวงหากำไร เป็นกลุ่มพ่อแม่ ครอบครัว และเพื่อนของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษด้านพัฒนาการและพฤติกรรม รวมถึงดาวน์ซินโดรม ออทิสซึม และความแตกต่างทางการเรียนรู้ ฯลฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความเข้าใจในด้านบวกผ่านการแบ่งปันข้อมูล ประสบการณ์ กำลังใจ และพลังเสริม แบบ “พ่อแม่สู่พ่อแม่” โดยมีผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษา เพื่อโอกาสที่ดีกว่าของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที รักษาการผู้อำนวยการ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า
“ในฐานะองค์กร หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ตระหนักถึงความสำคัญของการเปิดพื้นที่สำหรับการเข้าถึงงานศิลปวัฒนธรรมเพื่อคนทุกความสามารถมาโดยตลอด โดยใช้ความหลากหลายทางวัฒนธรรมนำเสนอผ่านกิจกรรมศิลปะ ให้เห็นคุณค่าและความหมายของความแตกต่าง เกียรติ ศักดิ์ศรี และความเท่าเทียม เพื่อพัฒนาสังคมไปสู่ดุลยภาพตามวัตถุประสงค์ของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครที่มีมาตั้งแต่แรกเริ่ม โดยหอศิลป์ฯ มีความมุ่งมั่นที่จะเปิดพื้นที่ให้ศิลปินทุกความสามารถได้แสดงผลงานสู่สาธารณชนอย่างต่อเนื่องด้วย”
ประคำกรอง พงษ์ไพบูลย์ ตัวแทน อาร์ต คอนเนคชั่น เล่าถึงที่มาของงานนิทรรศการครั้งนี้ว่า
“อาร์ต คอนเนคชั่น เป็นภาคีกับมูลนิธิ เดอะ เรนโบว์ รูม มาตั้งแต่ปี 2555 โดย Language of The Soul จะเป็นนิทรรศการต่อเนื่องไปตลอด 1 ปี ถือเป็นโอกาสที่เยี่ยมยอดในการนำเสนอมุมมองและเปิดประสบการณ์ใหม่ทางศิลปะให้กับผู้ชมของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ผลงานสร้างสรรค์ที่คัดเลือกมาในครั้งนี้เกิดขึ้นจากการทำงานอย่างต่อเนื่องของเหล่าศิลปินที่ใช้ชีวิตกับงานศิลปะเพื่อดำรงอยู่อย่างแท้จริง พลังของจิตวิญญาณถูกถ่ายทอดอย่างเรียบง่ายลงบนผลงาน ในขณะเดียวกันความเข้มข้นก็ฉายชัดอยู่ในผลงานแต่ละชิ้น เราเริ่มต้นซีรีส์ความมหัศจรรย์ของภาษาแห่งจิตวิญญาณนี้ด้วยการนำเสนอศิลปินที่เคยมีผลงานสู่สายตาสาธารณชนมาแล้ว 5 คน และศิลปินใหม่อีก 1 คน ในสาขาทัศนศิลป์และหัตถกรรม ควบคู่ไปกับวีดีโอบอกเล่าเรื่องราวของกระบวนการสร้างสรรค์ ที่จะพาผู้ชมเข้าสู่โลกอันลึกซึ้งของพวกเขา นิทรรศการนี้ยังนำเสนอกิจกรรมอีกหลากหลาย ทั้งเสวนา ภาพยนตร์ และเวิร์คช็อปต่าง ๆ ไปตลอดทั้งปี ในพื้นที่ที่ทุกคนเท่าเทียมกันในหอศิลป์แห่งนี้”
นิทรรศการ Language of The Soul ครั้งที่ 1 นี้ ศิลปินที่มีความต้องการพิเศษทั้ง 6 ท่าน ที่นำมาผลงานมาร่วมแสดง ล้วนสร้างสรรค์ผลงานที่มีความน่าสนใจและมีเอกลักษณ์พิเศษในแบบของแต่ละคนอย่างแท้จริง ได้แก่ ไกรลาส สกุลดิษฐ์ หรือ “ซัน” ที่หลงใหลในการทอผ้ามาตั้งแต่เด็กจนนำมาสู่การทอผ้าอย่างจริงจังเป็นอาชีพ และนำผลงานจาก สตูดิโอบ้านซันทอสนุก ของเขามาร่วมแสดง
สืบสกุล โคตธนู หรือ “เพชร” เจ้าของ “เพชรแกลเลอรี่” ที่จังหวัดขอนแก่น ผู้ไม่เคยหยุดวาดภาพสีน้ำที่ให้อารมณ์สงบร่มเย็น ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา
เจษฎา เลี้ยงบำรุง หรือ “ไอซ์” ทำงานศิลปะจากน้ำยาลบคำผิด ที่เรียบง่ายทว่าซับซ้อนด้วยความคิดเบื้องหลังที่ซ่อนอยู่
พศิน สิงห์เสน่ห์ หรือ “อัย” ผู้ใช้ศิลปะเป็นเสมือนเครื่องมือในการสื่อสารถึงอารมณ์ความรู้สึกจนได้รับการยอมรับว่าเป็นศิลปินแนว Art brut คนแรกของไทย
มาริสา สุจริตตานนท์ หรือ “แอนนา” ศิลปินที่สนุกกับการวาดภาพโดยใช้ทั้งสีอะคริลิค สีไม้ และสีน้ำ เพื่อสร้างผลงานที่บ่งบอกถึงความสุขและความสดใส
แคทลียา อัศวานันท์ หรือ “เหมียว” ถ่ายทอดความสุขจากการวาดภาพออกมาเป็นผลงานลายเส้นสีสันสดใส
ร่วมด้วยผู้กำกับและครีเอทีฟระดับมือรางวัล เช่น สุทธิศักดิ์ สุจริตตานนท์ ที่มาสร้างสรรค์ภาพยนตร์โปรโมตงานชื่อ “Magic Soul” โดยมีทีมงานโปรดักชันเฮ้าส์ระดับประเทศอย่าง Triton Film, Postini รวมถึง Varn Music มาร่วมผลิตงานและดนตรีประกอบ ยังมีเอเจนซี่ โอกิลวี่ ประเทศไทย ช่วยดูแลเรื่องการประชาสัมพันธ์โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เป็นตัวอย่างการร่วมมือกันของภาคเอกชน เพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับศักยภาพของคนทุกความสามารถให้สังคมอย่างแท้จริง
“บุคคลที่มีความต้องการพิเศษหลายคนใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือหรือ “ภาษา” เพื่อสื่อสารความรู้สึกและประสบการณ์ภายในออกมา โดยผ่านกระบวนการที่มีรูปแบบเฉพาะตัวและน่าสนใจ ทั้งนี้ การที่ผู้ปกครองมี “ตาคู่แรก” ซึ่งสามารถเห็นศักยภาพในการสื่อสารอย่างมีพลังนี้ และมีครูหรือนักบำบัดผู้เห็นความเป็นตัวตน ทั้งยังคอยส่งเสริมให้เขาได้สร้างสรรค์งานที่คงความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะบุคคลไว้ ในที่สุด บุคคลที่มีความต้องการพิเศษก็จะสามารถสร้างงานอย่างต่อเนื่อง เพราะสำหรับเขาแล้ว การทำงานศิลปะคือการสื่อสารตัวตนและเป็นชีวิตของเขา” โรสซาลีน่า กล่าวปิดท้าย
ผู้สนใจชมนิทรรศการ Language of the Soul – ภาษาแห่งจิตวิญญาณ ที่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร วันนี้ถึง 24 พฤษภาคม 2564