เปิดกฎเหล็ก 'เฟซบุ๊ค' คุมเนื้อหา ‘โควิด-19’ ผิดกฎลบแน่!
อ่านกฎ กติกาล่าสุดจาก “เฟซบุ๊ค” คุมคอนเทนท์เกี่ยวกับโควิด-19 และ วัคซีนโควิด สกัด Fake news เนื้อหาไม่เหมาะสม ผิดกฎ โดนลบ โทษสูงสุด เพจปลิว!
ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงวิกฤติ ทั้งจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ และผู้เสียชีวิตที่ยังคงเพิ่มต่อเนื่องในหลายประเทศทั่วโลก จนเกิดการส่งต่อข้อมูลข่าวสาร รวมถึงการหาผลประโยชน์จากวิกฤติครั้งนี้
ล่าสุด “เฟซบุ๊ค” ประกาศนโยบายใหม่ สำหรับบังคับใช้คอนเทนท์เกี่ยวกับโควิด-19 และ วัคซีนโควิด ที่ไม่เหมาะสม ก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบสาธารณสุข เนื้อหาที่เป็น Hate Speech ใช้คำพูดที่แสดงความเกลียดชัง ข่มเหงรังแก ก่อกวน รวมถึงให้ข้อมูลผิดที่อาจเสี่ยงทำให้เกิดความรุนแรงหรือเป็นอันตรายต่อร่างกาย และเนื้อหาที่ชวนให้เข้าใจผิดหรือสร้างความตื่นตระหนกเกี่ยวกับวัคซีน
“กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการแบ่งหมวดหมู่ เพื่อความเข้าใจง่าย เกี่ยวกับ เนื้อหาที่ผิดกฎของเฟซบุ๊ค ดังนี้
- เนื้อหาที่บิดเบือน “ความรุนแรงของสถานการณ์” ที่ส่งผลต่อการคุมระบาด อาทิ
- เนื้อหาที่ปฏิเสธการมีอยู่ของโรคและการระบาดใหญ่ของโควิด-19
- เนื้อหาที่ลดความรุนแรงของโควิด-19 เช่น บอกว่าไม่เป็นอันตรายมากกว่าไข้หวัดใหญ่หรือไข้หวัดทั่วไป
- เนื้อหาที่อ้างว่าไม่มีใครเสียชีวิตจากโควิด-19 หรือที่บอกว่า อัตราการเสียชีวิตของโควิด-19 ต่ำกว่าหรือเทียบเท่าไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล
- เนื้อหาที่ระบุจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ต่ำกว่าตัวเลขทางการเป็นอย่างมาก
- เนื้อหาที่ส่งเสริมการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ
- เนื้อหาเกี่ยวกับการจัดอีเวนท์ที่มีส่วนหรือสนับสนุนให้ผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 เข้าร่วม
- เนื้อหาที่เป็นเท็จเกี่ยวกับ “การตรวจเชื้อโควิด-19” อาทิ
- การไม่แนะนำให้คนเข้ารับการตรวจเชื้อโควิด-19 ที่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาล
- การกล่าวอ้างว่าสามารถตรวจโควิด-19 ได้โดยไม่ต้องอาศัยการตรวจหาเชื้อที่ผ่านการรับรอง
- การบอกว่ามีเชื้อติดอยู่ในการตรวจฯ ซึ่งสามารถทำให้คุณติดเชื้อโควิด-19 ได้
- การอ้างว่า การตรวจโควิด-19 ที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานสาธารณสุขไม่สามารถตรวจพบเชื้อโควิด-19 ได้
- คอนเทนท์ที่สร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ “การแพร่เชื้อ” อาทิ
- การกล่าวอ้างเกี่ยวกับสาเหตุของโควิด-19 เชื่อมโยงกับเทคโนโลยีการสื่อสาร 5G
- การกล่าวอ้างว่ากลุ่มบุคคลใดมีภูมิคุ้มกันหรือไม่สามารถเสียชีวิตได้จากโควิด-19 หรือมีกิจกรรมหรือการบำบัดบางอย่างที่ก่อให้เกิดภูมิคุ้มกัน
- การกล่าวอ้างว่าโควิด-19 ไม่สามารถแพร่เชื้อได้ในบางภูมิอากาศ สภาพอากาศ หรือบางตำแหน่งที่ตั้ง
- การกล่าวอ้างว่า โควิด-19 สามารถแพร่เชื้อจากสิ่งอื่นที่ไม่ใช่จากคนสู่คน
- กล่าวการอ้างว่า โควิด-19 แพร่เชื้อผ่าน/หรือมีความเกี่ยวข้องกับ การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่
- การกล่าวอ้างว่า โควิด-19 แพร่เชื้อผ่านแมลงวันบ้านหรือยุง
- การกล่าวอ้างว่า การเว้นระยะห่างทางสังคมไม่ได้ช่วยป้องกันการแพร่เชื้อโควิด-19
- เนื้อหาเกี่ยวกับ “หน้ากากผ้า หรือ หน้ากากอนามัย” ที่เป็นเท็จ อาทิ
การกล่าวอ้างเกี่ยวกับการสวมหน้ากากอนามัย ได้แก่
- การกล่าวอ้างว่า การสวมหน้ากากอนามัยไม่ช่วยป้องกันการแพร่เชื้อโควิด-19
- การกล่าวอ้างว่า หน้ากากอนามัยมีหรือเชื่อมต่อกับเทคโนโลยี 5G
- การกล่าวอ้างว่า การสวมหน้ากากอนามัยสามารถทำให้ผู้สวมใส่เกิดอาการเจ็บป่วยได้
- เนื้อหาเท็จเกี่ยวกับ “วิธีรักษาหรือป้องกันโควิด-19” อาทิ
- การกล่าวอ้างถึงวิธีการที่สามารถรับประกันการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 หรือสามารถรับประกันการฟื้นตัวจากโควิด-19 ได้ก่อนที่การรักษาหรือการป้องกันดังกล่าวจะได้รับการอนุมัติ เช่น การบริโภคหรือสูดดมสิ่งของบางอย่าง , การรักษาด้วยยาหรือสมุนไพร, ยาทารักษาภายนอกร่างกายหรือผิวหนัง
ทั้งนี้การรักษาหรือวิธีการป้องกันโควิด-19 ใดๆ ที่รับประกันผลลัพธ์ ถือว่าขัดกับข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ระบุว่า ขณะนี้ยังไม่มีสิ่งใดที่สามารถรับประกันการฟื้นตัวหรือสามารถรับประกันได้ว่าบุคคลทั่วไปจะไม่ติดโควิด-19
- เนื้อหาเกี่ยวกับ “วัคซีน” ที่เป็นเท็จ อาทิ
- เนื้อหาที่แทรกแซงการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19
- เนื้อหาที่กระตุ้นให้ดำเนินการ สนับสนุน หรือส่งเสริมให้ผู้อื่นไม่ฉีดวัคซีนโควิด-19
- การอ้างว่า ฉีดวัคซีนแล้วจะส่งผลให้เด็กเป็นออทิสติก
- การกล่าวอ้างว่า วัคซีนโควิด-19 เป็นสาเหตุหรือทำให้ผู้คนติดเชื้อโควิด-19
- เนื้อหาที่กระทบต่อบุคคล/เชื้อชาติ/ศาสนา หรือ “สร้างความเกลียดชัง”
ภายใต้นโยบายเกี่ยวกับคำพูดที่แสดงความเกลียดชัง พุ่งเป้าไปที่บุคคลอื่นด้วยเจตนาร้าย "เฟซบุ๊ค" ห้ามไม่ให้มีเนื้อหาตามลักษณะด้านล่างนี้ อาทิ
- ระบุว่าคนที่มีเชื้อชาติ/ศาสนาใดว่า นำมาซึ่งไวรัส (ยกเว้นการรายงานการติดหรือแพร่เชื้อตามสัญชาติ เช่น "มีชาวอิตาลีจำนวน X คนติดเชื้อโควิด-19")
- ล้อเลียนผู้คนที่มีเชื้อชาติ/ศาสนาใดว่า ติดเชื้อโควิด-19
- เนื้อหาที่กล่าวอ้างว่า บุคคลใดๆ ติดเชื้อโควิด-19 เว้นแต่บุคคลนั้นเปิดเผยข้อมูลการติดเชื้อด้วยตนเอง หรือมีข้อมูลเกี่ยวกับสถานะสุขภาพของพวกเขาที่เปิดเผยต่อสาธารณะ
- การฉวยโอกาส “แสวงหาประโยชน์” จากวิกฤติโควิด-19 อาทิ
ภายใต้นโยบายสินค้าควบคุม เฟซบุ๊คได้ดำเนินการเพื่อป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์ทางการเงินจากวิกฤตนี้และห้ามไม่ให้มีเนื้อหาตามลักษณะด้านล่างนี้เมื่อเรามีข้อมูลและ/หรือบริบทเพิ่มเติมที่จะระบุเนื้อหาดังกล่าว อาทิ
- พยายามขายหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ หน้ากากป้องกันระบบทางเดินหายใจ และชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 (ยกเว้นการขอรับบริจาคหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากทั่วไป)
- กล่าวถึงผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และโควิด-19 และสร้างความรู้สึกให้รีบดำเนินการหรือกล่าวอ้างว่ามีการรับประกันการป้องกันแล้ว
เป็นต้น
ทั้งนี้ เฟซบุ๊คได้เปิดเผยว่า ภายใต้มาตรฐานชุมชนดังกล่าว ทางเฟซบุ๊คจะทำการลบเนื้อหาที่มีการให้ข้อมูลผิดออกเมื่อหน่วยงานด้านสาธารณสุขตัดสินว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลเท็จ และมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดความรุนแรงหรืออันตรายต่อร่างกาย โดยเป้าหมายของนโยบายนี้คือการลดอันตรายต่อสุขภาพของผู้คน ในขณะเดียวกันก็ยังเปิดโอกาสให้ผู้คนสามารถพูดคุย ถกเถียง และแชร์ประสบการณ์ส่วนตัว ความคิดเห็น และข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการระบาดใหญ่ทั่วโลกของโควิด-19 ได้
โดยหากพบการกระทำผิด ไม่ว่าจะโดยเพจ,กลุ่ม หรือ โปรไฟล์ส่วนตัว รวมถึงแอคเคาท์อินสตาแกรม ที่นำเสนอเนื้อหาที่ผิดกฎดังกล่าว จะมีมาตรการจัดการตั้งแต่ ลบเนื้อหา, ถอดออกจากเพจแนะนำ, จำกัดการมองเห็น ไปจนถึงขั้นสูงสุดคือ ลบแอคเคาท์ออกจากแพลทฟอร์ม
อ้างอิงที่มา : facebook