จังหวะชีวิตที่เปลี่ยนไป 'ปอ ภราดล' นักแซกโซโฟน
หลายปีที่แล้ว นักดนตรีคนนี้โบกรถจากเชียงใหม่ไปหลายประเทศ ค้นหาความหมายบางอย่างของชีวิต และตอนนี้สนใจงานเพื่อสังคมและการเกษตร และนี่คือเรื่องเล่าฉบับย่นย่อ
หลายปีที่แล้ว ปอ- ภราดล พรอำนวย นักแซกโซโฟน ที่จบด้านสถาปัตย์ ทำในสิ่งที่หลายคนอยากทำตามประสาคนหนุ่มนักแสวงหา เขาโบกรถจากเชียงใหม่ เดินทางไปหลายประเทศ ไม่ว่าจะญี่ปุ่น อังกฤษ มองโกเลีย ฯลฯ ใช้ชีวิตให้สุดๆ ไป และครัั้งนั้นเขาก็มีเรื่องเล่ามากมาย
แต่ตอนนี้ดูเหมือนชีวิตจะนิ่งลง แม้กิจการแจ๊สบาร์จะปิดตัวลงชั่วคราวช่วงไวรัสโควิด อีกเสี้ยวหนึ่งเขาก็ยังทำงานเพื่อสังคม ร่วมกับหลายเครือข่าย โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม และตอนนี้สนใจเรื่องเกษตร
เขาบอกว่า ทำแจ๊สบาร์มา 13-14 ปี ตอนนี้หยุดกิจการชั่วคราว สถานการณ์โควิด ทำให้เรามองเรื่องระบบการจัดการตัวเองภาคประชาชนมากขึ้น ล่าสุดมาช่วยเป็นโฆษกให้ทีมบุคลากรทางการแพทย์อาสาที่ทำให้ไลน์ @CoCare เปิดกว้างให้ประชาชนปรึกษาอาการป่วย อาการไข้ เกี่ยวกับโควิด ทั้งผู้ติดเชื้อและไม่ติดเชิ้อ รวมถึงคนกักตัว
หากย้อนไปถึงการเดินทางโบกรถไปในหลายๆ ประเทศ เขาได้ตกผลึกทางความคิดอะไรบ้าง
ปอ บอกว่า เราได้สำรวจทบทวนชีวิต เห็นว่า มีการเปลี่ยนแปลงเสมอ
“ผมเชื่อว่าการสำรวจตัวเองและความหมายของชีวิต เป็นเรื่องที่เราต้องทำเสมอ ผมใช้เวลาสามปีเดินทางโบกรถจากเชียงใหม่ไปต่างประเทศ เล่นดนตรีไปด้วย และมีช่วง 6 เดือนเดินทางไม่กลับเมืองไทยเลย
7-8 ปีที่แล้วผมโบกรถจากเชียงใหม่ไปญี่ปุ่น ถ้าไกลที่สุดโบกรถไปอังกฤษ ในยุคสมัยหนึ่งกว่าจะโบกรถไปถึงอังกฤษได้ใช้เวลาครึ่งปี หรือปีหนึ่ง แต่ผมใช้เวลาสองสามเดือน”
ในช่วงวัยที่เปลี่ยนไป จากหนุ่มนักแสวงหา พยายามค้นหาความหมายบางอย่างของชีวิต แต่วันนี้เขาพบว่า
“ผมได้เห็นความสัมพันธ์ของชีวิต จากคูเมืองเชียงใหม่ไปลอนดอน วิถีชีวิตความเชื่อของผู้คน มันเปลี่ยนไปได้ยังไง ทั้งๆ ที่แผ่นดินเชื่อมหากัน แล้วอะไรทำให้ความคิดของคนเปลี่ยนไป”
เมื่อถามเล่นๆ ว่า แล้วค้นพบอะไรในชีวิต
ปอ บอกว่า ธรรมชาตินี่แหละ ที่เป็นตัวหล่อหลอมหัวใจของผู้คน ภูมิศาสตร์ ภูเขา แม่น้ำ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้หลอมรวมเป็นวัฒนธรรม แล้วกลายเป็นความเชื่อในแต่ละท้องถิ่น
และนั่นทำให้มุมมองเปลี่ยนไป ทำให้เขาเชื่อว่า เราไม่สามารถเปลี่ยนจิตใจใครได้ แต่เราสามารถทำให้สภาวะแวดล้อมเปลี่ยน เพื่อไปเปลี่ยนจิตใจผู้คน
“อย่างเราไปอยู่ญี่ปุ่น เราก็จะแยกขยะ รักษาความสะอาดโดยอัตโนมัติ เพราะสภาพแวดล้อมเป็นอย่างนั้น แต่พอกลับมาเมืองไทยก็ทำแบบเดิมคือ ไม่แยกขยะ ไม่รักษาความสะอาด ถ้าจัดการเรื่องระบบได้ ตัวระบบก็จะเปลี่ยนหัวใจคน”
เพราะมีความสนใจที่หลากหลาย ไม่ว่าเรื่องดนตรี ศิลปะ งานเขียน งานเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ล่าสุดเขาเข้าร่วมทำเครือข่ายเรื่องข้าวปลอดสาร เพิ่มมูลค่าของข้าว ทำงานร่วมกันคนทำงานเพื่อสังคมหลายคน ไม่ว่าหมอและเกษตรกร
“ทำเกี่ยวกับข้าวปลอดสาร ผลิตภัณฑ์อินทรีย์ปลอดสาร พัฒนาพันธุ์ข้าว เอานวัตกรรมมาใช้กับข้าวไทย มีทีมงานวิจัยเปลี่ยนข้าวให้มีคุณสมบัติที่ดีต่อระบบการย่อยและระบบสมองของร่างกาย
เราทำตั้งแต่ส่งเสริมการปลูกข้าว ผมทำกับหมอก้องเกียรติ เกษเพ็ชร์ หมอทำเรื่องนี้มานานกว่าสิบปี กำลังทำเรื่องน้ำนมข้าว ใช้แบคทีเรียที่มีประโยชน์ต่อร่างกายหมักกับข้าว มีกรรมวิธีทำเป็นน้ำนมข้าว ที่หวานและมีประโยชน์ โปรดักส์พร้อมแล้ว แต่ยังไม่ได้เปิดตัวขายจริงจัง มีเฟซบุ๊คว่า เป็นสุขในนา ซึ่งผมเข้าไปช่วยทุกอย่าง ในพื้นที่การเกษตรเราร่วมงานกับเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และลำพูน"
เหล่านี้คือ เรื่องราวย่นย่อของหนุ่มนักดนตรีปอ-ภราดล