"อุ๊-ช่อผกา" วิริยานนท์ "ฉันเป็น Tree Lobbyist"
เรื่องราวของนักเคลื่อนไหวเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ผู้กล้าประกาศตัวเองว่า ฉันคือผู้พิทักษ์"ต้นไม้ใหญ่ในเมือง" เมื่อเลือกที่จะมีบทบาทนี้ เธอผลักดันเรื่องนี้อย่างไร
"เพราะโลกมันร้อนขึ้น คนต้องการ ต้นไม้ใหญ่ ให้อยู่ใกล้กับชีวิต อยู่ในพื้นที่ที่ใกล้จมูกเรามากที่สุด เมื่อก่อนมันอยู่ที่รั้ว แล้วมันก็เข้ามาในบ้าน ตอนนี้มาอยู่บนโต๊ะทำงาน นับวันเราต้องการต้นไม้ใหญ่มาแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กระทบกับสุขภาพของเรามากขึ้น
ดิฉันมองว่า ในอนาคต อุตสาหกรรมการดูแลต้นไม้ในเมือง จะมีมูลค่าสูงถึงหมื่นล้านเลยนะคะ เพราะมันเป็นอุตสาหกรรมใหม่ และศาสตร์รุกขกรรมคือคำตอบในการดูแลต้นไม้เหล่านั้น ให้สามารถมีชีวิตอยู่ใกล้ชิดกับเราได้อย่างดี และไม่เป็นอันตรายค่ะ"
อุ๊ ช่อผกา วิริยานนท์ พิธีกร ผู้ดำเนินรายการ อดีตผู้ประกาศข่าวและผู้สื่อข่าว เปิดเผยวิสัยทัศน์ส่วนตัวให้ฟัง ในวันที่เธอพาทีมรุกขกรจากกลุ่ม BIG Trees มาอบรมความรู้เรื่องการดูแลต้นไม้ให้กับเสถียรธรรมสถาน ให้สามารถดูแลต้นไม้ได้ด้วยตัวเองในโอกาสต่อไป
ช่อผกา วิริยานนท์
วันนั้นมาทำอะไรที่เสถียรธรรมสถาน
มาในนามผู้ร่วมก่อตั้ง เครือข่ายต้นไม้ในเมือง แล้วก็ในฐานะลูกศิษย์คุณแม่ชีศันสนีย์ ที่ได้รับการร้องขอจากท่าน เนื่องจากปลายปีที่แล้วไฟไหม้ที่รั้วเสถียรธรรมสถาน
ประกายไฟจากหม้อแปลงไฟฟ้า หล่นลงไปตรงห้องสมุดและโรงเก็บไม้ สมบัติจำพวกหนังสือ และไม้ ที่ท่านเก็บไว้จะเอาไปสร้างเสถียรธรรมสถานแห่งที่สองไฟไหม้หมดเลย เสียหายเป็นสิบล้าน
อุ๊เรียนจบสาวิกาสิกขาลัยที่นี่ เป็นลูกศิษย์ท่าน ช่วยงานท่านมาเกือบ 20 ปี เราก็นัดเพื่อนๆ สาวิกามาเยี่ยมให้กำลังใจท่าน ท่านพูดว่า มีต้นไม้ที่โดนไฟไหม้ ต้องเอาออก เพราะเป็นต้นไม้ใหญ่ คนข้างบ้านก็กลัวว่าจะล้มไปฟาดโดนตึกของเขา ท่านก็ไปขอกทม.ให้มาเอาออก แต่ยังมีต้นที่ไม่ได้เอาออก ที่ต้องดูแล ทั้งโดนเปลวไฟและไม่โดนเปลวไฟ
ท่านรู้ว่า อุ๊รณรงค์เรื่องต้นไม้อยู่ ก็บอกว่าไปหาคนมาช่วยดูแล มาตัดแต่งให้หน่อย ต้นไม้ที่นี่เยอะ ก็เลยกราบเรียนท่านว่า จะส่งทีมงานมาอบรมเจ้าหน้าที่ที่นี่เลยดีกว่า เรียนจริงจังกันเลย ไม่ใช่แค่ตัดแต่ง
เริ่มตั้งแต่ประเมินสุขภาพต้นไม้ สอนวิธีแก้ปัญหาให้ต้นไม้ทุกเรื่องเลยค่ะ เพราะว่าเสถียรธรรมสถานคือ สวนสาธารณะในเมืองที่ใหญ่ มีพื้นที่ 17 ไร่ มีต้นไม้ใหญ่เป็นร้อย ต้นไม้เล็กอีกนับไม่ถ้วน แค่ต้นลีลาวดีที่อายุมากที่สุดก็ 300-400 ปีแล้ว
จุดเริ่มต้นของ ‘เครือข่ายต้นไม้ในเมือง’ เป็นมาอย่างไร
เริ่มมาจาก เมื่อ 4 ปีที่แล้วเราเห็นการตัดต้นไม้แบบบั่นยอด ตัดหัวกุด ที่เขาแชร์ลงในโซเชียล อุ๊เป็นคนหนึ่งที่ลุกขึ้นมาด่าเหมือนคนอื่น แล้วก็โพสต์ลงในเพจของตัวเองที่มีคนติดตาม 30,000 คน มีคนแชร์ต่อไปเป็นพันๆ จนถึงมือคนที่ทำเรื่องต้นไม้ เขาก็ส่งข้อความมาหาอุ๊ว่า "เขามีวิธีแก้ คือต้องใช้องค์ความรู้ในการดูแลต้นไม้ในเมือง" ซึ่งในเมืองไทยไม่รู้จัก ฝรั่งเรียกว่า Arboriculture ก็คือ รุกขกรรม ศาสตร์ดูแลต้นไม้ในเมือง
คนที่ติดต่อมาคือใคร
โอย เยอะเลยค่ะ ไม่ใช่คนเดียว คนที่รู้เรื่องนี้ ก็คือ ทีมที่เขาทำเรื่องต้นไม้อยู่แล้ว หนึ่งในนั้นคือกลุ่ม BIG Trees ซึ่งรณรงค์เรื่องนี้อยู่แล้ว หลังจากนั้นก็อีกเยอะเป็นสิบคน ที่ทำเรื่องต้นไม้อยู่แล้ว โดยนิสัยอุ๊เป็นคนทำสื่อ ทำเน็ทเวิร์ค ก็เลยบอกว่ามาเจอกันดีกว่า คุยกันก็ไม่รู้จักหน้า มาเจอตัวเป็นๆ กันเลย ก็นัดกัน
ปรากฎว่า เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เป็นนักรณรงค์ เป็นคนที่มีงานมีการทำดีๆ คนที่ศึกษาเรื่องพวกนี้มาเป็นสิบปีแล้ว ไอ้ที่เราด่าๆ กันว่า ทำไมถึงจัดการต้นไม้ไม่ได้ มันมีคำตอบ มีวิธีจัดการครบหมดแล้ว แต่ไม่สามารถยัดเข้าไปในระบบการบริหารต้นไม้ของประเทศไทยได้ เรารู้วิธีทำ แต่ไม่รู้วิธีสั่ง ไม่รู้วิธีบรรจุงบประมาณ ไม่รู้วิธีบรรจุคนที่จะทำเข้าไปในระบบ แสดงว่าการเคลื่อนงานในเชิงการแก้ระบบ ยังไม่มีใครทำ
แล้วจะต้องทำอย่างไร
อุ๊เป็นมือวางกลยุทธ์ มองอะไรเป็นภาพใหญ่ ก็เลยชวนทั้งหมดที่มาเจอกันในวันนั้นทุกหน่วยงานที่ทำเรื่องต้นไม้ เรามาตั้งกลุ่มกันดีกว่า ชื่อว่า ‘เครือข่ายต้นไม้ในเมือง’ โฟกัสเรื่องเคลื่อนกลยุทธ์ให้เกิดนโยบาย แต่รูปธรรมในการอบรม ในการจัดตั้งการลงพื้นที่ ให้คนที่ทำอยู่แล้วก็ทำไป ไม่ซ้ำซ้อนกัน แล้วอุ๊ก็ใช้ศักยภาพทักษะในการสื่อสารไปล็อบบี้ขับเคลื่อนงาน
ผลออกมาเป็นอย่างไรบ้าง
เราเคลื่อนไปได้ถึงนายกรัฐมนตรี ที่ออกมาประกาศว่า ต่อไปให้ทุกหน่วยงานต้องมีรุกขกร หลังจากนั้นคำนี้ก็เป็นที่รู้จักของคนในประเทศ หน่วยงานต่างๆ ก็เริ่มให้ความสำคัญว่าต้องมีวิชานะ ต้องทำให้ถูกวิธีนะ แต่ปัญหาคือ มันไม่เคยมีวิธีนี้ในระบบราชการไทย การจะสร้างหรือบรรจุวิธีทำนี้เข้าไปในระบบราชการไทย ต้องไปแก้โจทย์ เรื่องของโครงสร้างอีกเยอะมาก
เราก็ค่อยๆ ทำ ร่วมมือไปกับหน่วยงานที่เขาเห็นด้วย ระหว่างทางก็หาพันธมิตร แล้วให้ความรู้กับสังคมไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ส่งเสริมให้มีรุกขกรมืออาชีพ สนับสนุนจัดตั้งจนเกิดเป็น ‘สมาคมรุกขกรรมไทย’ ทีมอบรมรุกขกรก็ทำไป ปั้นจนได้น้องๆ ไปสอบได้ใบประกาศเป็นรุกขกรสากล ในนามของสมาคมรุกขกรรมไทย ต่อยอดไปได้ใบประกาศอินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งสามารถไปตัดแต่งต้นไม้ได้ทั่วโลก
ต้นไม้ในเมืองสำคัญอย่างไร
อุ๊มองว่า อุตสาหกรรมการดูแลต้นไม้ในเมือง จะเป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่มาก ประเทศสิงคโปร์ รัฐบาลเขาจัดสรรงบประมาณแผ่นดินดูแลต้นไม้ในเกาะที่มีขนาดเล็กกว่าเกาะภูเก็ตเป็นพันล้านบาทต่อปี นายกรัฐมนตรีลี กวนยู คิดถึงเรื่องต้นไม้ใหญ่ เมื่อ 50 ปีที่แล้วในวันเริ่มต้นตั้งประเทศว่า จะใช้ร่มเงาและความรู้สึกบวกของต้นไม้ใหญ่เป็นยุทธศาสตร์สร้างชาติ
ลี กวนยู พูดว่า สิงคโปร์ไม่มีอะไรเลย จะสร้างสิงคโปร์ได้ต้องดึงคนเก่งจากประเทศอื่นให้มาอยู่ที่สิงคโปร์ แล้วสร้างประเทศสิงคโปร์ คนเก่งประเทศอื่น คือ ยุโรป, อเมริกา มีคุณภาพชีวิตที่ดีในประเทศเขา ถ้ามาอยู่สิงคโปร์แล้วไม่ได้คุณภาพชีวิตที่ดี เขาก็จะไม่อยู่ การสร้างประเทศก็จะไม่ประสบความสำเร็จ
ตอนแรกมีนโยบาย Garden In The City ให้ฝรั่งที่มีไลฟ์สไตล์ มีชีวิตใกล้ชิดกับสวน(PARK) ในเมืองในประเทศเขา ได้มาอยู่ใกล้สวนใกล้ต้นไม้ใหญ่ เพราะคนเหล่านั้นต้องการพื้นที่สีเขียวในเมือง สิงคโปร์ก็ใช้งบประมาณขับเคลื่อนนโยบายนี้ จนสร้างชาติสำเร็จ ปัจจุบันนโยบายนี้ก็ได้ขยายมาเป็น City In The Garden
การทำงานร่วมกับภาครัฐที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง
เมื่อปี 2019 เราทำงานร่วมกับกทม. ทีมเครือข่ายประสานงานให้เจ้าหน้าที่กทม.และผู้บริหารได้ไปดูงานการดูแลต้นไม้ของประเทศสิงคโปร์ 50 ปีผ่านไป เขาไปอีกขั้นหนึ่งแล้ว กำลังนำต้นไม้เข้ามาอยู่ในตึก เพราะโลกอนาคต อาจมีวันที่อุณหภูมิสูงถึง 50 องศา ไม่สามารถอยู่ข้างนอกได้ ต้องอยู่ในตึก ก็เลยเอาต้นไม้เข้ามาอยู่ในตึก เพื่อทดลองหาวิธีให้เราใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติได้ เขาไปถึงขั้นนั้นแล้ว เช่น ตึกที่สนามบิน เขายกป่าเข้าไปทั้งป่า ต้นไม้ 2,000 ต้น
กลับมาเมืองไทย มีงานที่ต้องสร้างความเข้าใจ ต้องไปแก้ไขระบบ แล้วคลี่คลายความขัดแย้ง เพื่อให้เกิดโครงสร้างการบริหารจัดการต้นไม้ในเมือง เราได้เริ่มต้นไป 4 ปีแล้วค่ะ ตอนนี้อย่างน้อยก็ได้มติคณะรัฐมนตรีสั่งการให้ทุกหน่วยงานต้องมีรุกขกร เราเปิดก๊อกใหญ่ แต่น้ำยังไหลกะปริบกะปรอย ระหว่างทางท่อรั่ว หรือไม่มีท่อ ยังมีงานที่ต้องทำอีกเยอะ
ต้นไม้ใหญ่มีประโยชน์อย่างไร
พอพูดถึงเรื่องต้นไม้ใหญ่ คนไทยก็จะบอกว่าดีๆๆ แต่พอจะทำจริงๆ ก็ให้เอาเรื่องจราจรก่อน หรือเอาเรื่อง PM 2.5 ก่อน แต่หารู้ไม่ว่า ถ้ามีต้นไม้ใหญ่ก็แก้ PM 2.5 ได้ แก้ปัญหาสุขภาพจิตได้
ตอนนี้คนเป็นโรคจิตเต็มบ้านเต็มเมืองแล้ว ต้นไม้คือคำตอบ มันแก้ได้หลายเรื่องนะคะ ไม่ใช่แค่เรื่องความสวยงาม คนยังไม่ให้ความสำคัญ ดูเหมือนไม่ยาก แต่จริงๆ แล้วยาก
แต่เรามีความหวัง มีความเชื่อ ซึ่งกระทรวงทบวงกรม ข้าราชการ เขาก็ต้องทำเรื่องเร่งด่วนก่อน ตอนนี้รู้แล้วว่า เราต้องไปทำร่วมกับเขา รอประชุมร่วมกับกทม. เพื่อแก้ไขขั้นตอนการปฏิบัติงานของกทม.ที่จะทำให้งานต้นไม้สำเร็จ ต้องแก้ตรงไหนอย่างไรบ้าง ที่ผ่านมาทีม BIG Trees ก็ได้ไปอบรมความรู้ด้านรุกขกรรมให้กับ 50 กว่าเขตของกทม.
ปัญหาคือ อบรมแล้ว คนที่อบรมไม่ได้เป็นคนสั่งการ ไม่มีตำแหน่ง เพราะมันไม่เคยมีตำแหน่งนี้เกิดขึ้น ส่วนคนสั่งการก็ไม่มีความรู้ เราไม่เคยมีระบบ จะเอาเข้าไปเสียบในระบบเดิมยังไม่ได้ เป็นปัญหาในเชิงโครงสร้าง ที่ไม่มีตำแหน่งงาน ไม่มีการกำหนดเป็น KPI คือเขาจะทำต่อเมื่อเป็นงานประจำเขา ไม่ใช่งานฝาก
ตอนนี้ก็เลยเป็นงานฝาก ?
เป็น งานอาสาสมัคร แล้วแต่จิตกุศลของท่าน มันเป็นเรื่องเงินด้วย ถ้าคุณเคยจ้างเขามาตัดต้นไม้ใช้เงินไม่กี่บาท ถ้าจะให้ตัดให้ถูกต้องจะใช้วิธีเดิมไม่ได้ วิธีนี้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นต่อครั้ง แต่ไม่ต้องตัดปีละ 3-4 ครั้ง ตัดปีละครั้่งเดียว จากเดิมเขาเคยสั่งปีละ 3-4 ครั้่ง จะเปลี่ยนคำสั่ง ก็ต้องเปลี่ยนความเข้าใจ มันต้องรื้อทั้งระบบ
มันไม่เคยมี ก็ต้องเริ่มเข้าไปแทรกในพื้นที่ที่มันอัดแน่นไปด้วยเรื่องอื่นๆ ประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา เราไม่ได้มีเงินมากพอที่จะทำเรื่องพวกนี้ ต้องมีความเข้าใจ มีการรื้อโครงสร้างระบบ แล้วถึงจะมีอำนาจสั่งการ อุ๊ไม่เคยเสียกำลังใจเลย เป็นคนยอมรับปัญหา เราจะอยู่กับมัน แล้วทำให้ปัญหาเล็กลง เพราะเรารู้ว่าวิธีแก้คืออะไร เราค่อยๆ ทำเท่าที่เราทำได้
การอบรมเรื่องต้นไม้ให้กับเสถียรธรรมสถานก็เป็นหนึ่งในการสร้างภาคีเครือข่าย เพราะว่าเสถียรฯจะเป็นต้นแบบให้กับหลายๆ ที่ที่เติบโตขยายงานออกไป ให้คนมาศึกษาดูงานได้ ต้นไม้ที่เราดูแล้วเหมือนโอเค.แต่จริงๆ แล้วมีปัญหา มันเป็นองค์ความรู้เฉพาะนะคะ
เครือข่ายต้นไม้ในเมืองมีจำนวนสมาชิกเท่าไร
ประมาณ 70 องค์กร ส่วนใหญ่เป็นเอกชน, มหาวิทยาลัย, สมาคม ที่มีบทบาทมากคือกลุ่ม BIG Trees เราเชิญภูมิสถาปัตย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, จุฬาฯ,เกษตรฯ มาอยู่ในนี้หมด มาร่วมในนามองค์กร
เวลาจัดอบรมปฏิบัติการ ต่างคนต่างจัดแยกกันไป แต่การระดมสมองเรื่องนโยบายเราจะค่อยๆ ดันให้เกิด แล้วขับเคลื่อนเป็นระยะ ตามกำลังของเราตามจังหวะและโอกาส ที่มันเกิดขึ้น
ประเทศไทยมีเรื่องให้ต้องแก้เยอะ เรายังไม่ได้เปิดพื้่นที่กับกรมทางหลวง ซึ่งมีปัญหาซับซ้อนมาก เราเปิดพื้นที่กับกทม.และการไฟฟ้านครหลวงแล้ว ทั้งสองหน่วยงานตอบรับร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ทำได้ไม่ถึงร้อย เพราะติดขัดระบบ
แผนต่อไปคืออะไร
เรามีแผนระยะสั้นว่า จะจดทะเบียนเป็นสมาคม มีสถานะภาพนิติบุคคล เพราะที่ผ่านมาเป็นการรวมภาคประชาชน แต่ไม่มีตัวตน เราจะได้มีตัวตนทางกฎหมาย แล้วไปทำอะไรได้มากขึ้น
อาชีพหลักของ'ช่อผกา'คืออะไร
เป็นเจ้าของและกรรมการผู้จัดการ บริษัท AU Communication เปิดมา 10 ปีแล้ว ทำเรื่องการสื่อสารทุกชนิด เน้นหนักเรื่องประชาสัมพันธ์หน่วยงาน วางกลยุทธการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ เช่น Quitline 1600 สายเลิกบุหรี่ รณรงค์ให้คนมาใช้บริการ เมื่อต้นปีที่แล้วได้รับเชิญจากกระทรวงสาธารณสุขให้เข้าไปร่วมอยู่ในทีม การสื่อสารโควิด 19 ของกระทรวง แล้วก็มีงานพิธีกร งาน Event ส่วนมากเป็นงานวิชาการ งานเสวนา
ความสุขของชีวิตคืออะไร
อุ๊มีความสุขกับการทำงานที่มันเป็นประโยชน์ รู้สึกแฮปปี้ที่จะทำ แต่ถ้าทำแล้ว เพียงเพื่อให้ขายของได้มากขึ้น เข้ากระเป๋าใครสักคนหนึ่ง เริ่มไม่ค่อยมีความสุขที่จะใช้พลังงานกับมันแล้วค่ะ เราผ่านจุดที่ทำเพื่อสนองการตลาดในเชิงธุรกิจมาแล้ว อะไรก็ตามที่ทำแล้วเป็นประโยชน์ในภาพใหญ่ ถึงมันจะเป็นการค้า อุ๊ไม่ปฏิเสธนะคะ แต่ว่าทำแล้วต้องได้ประโยชน์เรา แล้วก็ประโยชน์ผู้อื่น ไม่ใช่ได้ประโยชน์เราอย่างเดียว