Art & living
พืช 8 ชนิดใหม่ของโลก! นักวิจัย มมส ค้นพบ แต่บางทีคนไทยยังไม่รู้
รู้แล้วบอกต่อ.. พืช 8 ชนิดใหม่ของโลก! นักวิจัย มมส ค้นพบ แต่บางทีคนไทยยังไม่รู้
ไทยค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก 8 ชนิด โดยนักวิจัยการออกสำรวจพรรณไม้พืชวงศ์ต่างๆ จนค้นพบพืช อย่าง รองศาสตราจารย์ ดร.สุรพล แสนสุข หลักสูตรความหลากหลายทางชีวภาพ สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช ร่วมกับผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยะพร แสนสุข ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มมส และนักวิจัยที่เชี่ยวชาญพืชวงศ์ต่างๆ ร่วมศึกษาวิจัย
การทำงานวิจัย เพื่อศึกษาพืชวงศ์ขิงชนิดใหม่ของโลก สรรพคุณของพืชเป็นพืชสมุนไพรพื้นบ้านและเป็นไม้ดอกไม้ประดับ จุดเด่นของพืชชนิดนี้ พืชวงศ์ขิงชนิดใหม่ของโลกทั้ง 8 ชนิด เป็นพืชหายากและเป็นพืชที่พบที่ประเทศไทยประเทศเดียวในโลก มีลักษณะต้นและดอกที่สวยงาม
พืชชนิดใหม่ของโลก ชนิดที่ 1 หงส์เหินศิริรักษ์ หรือ Hong-Hern-Sirirugsa
มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Globba sirirugsae Saensouk & P. Saensouk พืชชนิดนี้อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับพวกดอกเข้าพรรษา พืชชนิดนี้พบที่จังหวัดสกลนคร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของประเทศไทย โดยผู้วิจัย ได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์พืชชนิดนี้เป็นเกียรติแก่ ศาสตราจารย์พวงเพ็ญ ศิริรักษ์ ซึ่งท่านเป็นคนไทยคนแรกที่ศึกษาพืชวงศ์ขิงในประเทศไทย ชื่อพื้นเมืองตั้งโดยศาสตราจารย์พวงเพ็ญ ศิริรักษ์ คือ “หงส์เหินศิริรักษ์”
พืชชนิดใหม่ของโลก ชนิดที่ 2 นิลกาฬ หรือ Nillakan
มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Kaempferia nigrifolia Boonma & Saensouk พืชชนิดใหม่ของโลกนิลกาฬนี้ได้ตั้งขึ้นตามลักษณะเด่นของพืชคือ ใบมีสีดำ พบทางภาคกลางของประเทศไทย ได้ศึกษาโดย รศ.ดร.สุรพล แสนสุข นายธวัชพงศ์ บุญมา และ ผศ.ดร.ปิยะพร แสนสุข ชื่อพื้นเมือง คือ นิลกาฬ หรือ Nillakan ตั้งขึ้นตามลักษณะเด่นของพืชคือ ใบมีสีดำ
พืชชนิดใหม่ของโลก ชนิดที่ 3 ขมิ้นน้อย
มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Curcuma chantaranothaii Boonma & Saensouk โดยผู้วิจัย คือ รศ.ดร.สุรพล แสนสุข นายธวัชพงศ์ บุญมา และ ผศ.ดร.ปิยะพร แสนสุข และชื่อพื้นเมืองตั้งโดยศาสตราจารย์ ดร.ประอม จันทรโณทัย คือ “ขมิ้นน้อย” หรือ “Khamin-Noi” พบทางเป็นพืชป่าจากจังหวัดนครนายกที่นำมาปลูกเป็นไม้ประดับทั่วประเทศไทย ได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์พืชชนิดนี้เป็นเกียรติแก่ ศาสตราจารย์ ดร.ประนอม จันทรโณทัย ซึ่งท่านเป็นนักพฤกษศาสตร์ไทยที่มีชื่อเสียงในแวดวงพฤกษศาสตร์ของประเทศไทยและของโลก พืชชนิดนี้อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับขมิ้นและกระเจียว ลักษณะเด่น คือ กลีบปากสีขาวมีแถบสีเหลืองเข้มตรงกลาง และแถบสีเหลืองคล้ายพระจันทร์เสี้ยวบริเวณปลายทั้งสองข้างของแถบกลาง
พืชชนิดใหม่ของโลก ชนิดที่ 4 กระเจียวรังสิมา
มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Curcuma rangsimae Boonma & Saensouk โดยผู้วิจัย คือ รศ.ดร.สุรพล แสนสุข นายธวัชพงศ์ บุญมา และ ผศ.ดร.ปิยะพร แสนสุข และชื่อพื้นเมือง คือ “กระเจียวรังสิมา หรือ Krachiao Rangsima” หรืออีกชื่อคือ “บุษราคัม หรือ Bussarakham” พืชชนิดนี้พบในจังหวัดนครนายก สระบุรี ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา และนครราชสีมา พืชชนิดนี้อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับขมิ้นและกระเจียวได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์พืชชนิดนี้เป็นเกียรติแก่ คุณรังสิมา ตัณฑเลขา ท่านเป็นบุคคลที่อยู่เบื้องหลังและสนับสนุนนักพฤกษศาสตร์ของประเทศไทยมาอย่างยาวนาน
พืชชนิดใหม่ของโลก ชนิดที่ 5 ขมิ้นพวงเพ็ญ
มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Curcuma puangpeniae Boonma & Saensouk พืชชนิดนี้อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับพวกขมิ้นหรือกระเจียว พืชชนิดนี้พบที่จังหวัดราชบุรี ประเทศไทย โดยผู้วิจัย คือ รศ.ดร.สุรพล แสนสุข นายธวัชพงศ์ บุญมา และผศ.ดร.ปิยะพร แสนสุข ได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์พืชชนิดนี้เป็นเกียรติแก่ ศาสตราจารย์พวงเพ็ญ ศิริรักษ์ ซึ่งท่านเป็นคนไทยคนแรกที่ศึกษาพืชวงศ์ขิงในประเทศไทย ชื่อพื้นเมืองตั้งโดยศาสตราจารย์พวงเพ็ญ ศิริรักษ์ คือ “ขมิ้นพวงเพ็ญ” หรือ “Khamin-Puangpen”
พืชชนิดใหม่ของโลก ชนิดที่ 6 กระเจียวจรัญ
มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Curcuma charanii Boonma & Saensouk พืชชนิดนี้อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับพวกขมิ้นหรือกระเจียว พืชชนิดนี้พบที่จังหวัดลพบุรี ประเทศไทย โดยผู้วิจัย คือ รศ.ดร.สุรพล แสนสุข นายธวัชพงศ์ บุญมา และผศ.ดร.ปิยะพร แสนสุข ได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์พืชชนิดนี้เป็นเกียรติแก่ ดร.จรัญ มากน้อย ซึ่งท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญพืชวงศ์ขิง โดยเฉพาะสกุล Curcuma ในประเทศไทย ชื่อพื้นเมืองตั้งโดย รศ.ดร.สุรพล แสนสุข คือ “กระเจียวจรัญ” หรือ “Krachiao Charan”
พืชชนิดใหม่ของโลก ชนิดที่ 7 พญาว่าน
มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Curcuma phrayawan Boonma & Saensouk พืชชนิดนี้อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับพวกขมิ้นหรือกระเจียว พืชชนิดนี้พบที่จังหวัดนครนายก และปลูกเป็นพืชสมุนไพรทั่วประเทศไทย โดยผู้วิจัย คือ รศ.ดร.สุรพล แสนสุข นายธวัชพงศ์ บุญมา และผศ.ดร.ปิยะพร แสนสุข ได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์พืชชนิดนี้ตามชื่อพื้นเมืองที่ใช้กันอย่างแพร่หลายคือ “พญาว่าน” หรือ "Phraya Wan"
พืชชนิดใหม่ของโลก ชนิดที่ 8 กระเจียวม่วง หรือ "อเมทิสต์"
มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Curcuma purpurata Boonma & Saensouk พืชชนิดนี้อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับพวกขมิ้นหรือกระเจียว พืชชนิดนี้พบที่จังหวัดศีรษะเกษ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประเทศไทย โดยผู้วิจัย คือ รศ.ดร.สุรพล แสนสุข นายธวัชพงศ์ บุญมา และผศ.ดร.ปิยะพร แสนสุข ได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์พืชชนิดนี้ตามสีม่วงของดอกพืช ชื่อพื้นเมืองคือ กระเจียวม่วง หรือ "อเมทิสต์"
การทำงานวิจัยชิ้นนี้นั้น เนื่องจากพืชที่ศึกษาเป็นพืชที่มีการพักตัวในช่วงฤดูแล้ง ต้นและดอกจะเกิดขึ้นมาเฉพาะในช่วงฤดูฝนเท่านั้นจึงทำให้ยากแก่การได้ต้นและดอกมาศึกษา เพราะการศึกษาชนิดพืชจะต้องใช้ดอกมาช่วยในการจัดจำแนกชนิดพืช และอีกประการหนึ่งคือสถานการณ์โควิต 19 ทำให้เกิดปัญหาในการทำงานวิจัยในความต่อเนื่อง