ย้อนรอย 'ไฟไหม้' กิ่งแก้ว ถอดบทเรียน 'เคลมประกัน' เหตุวินาศภัย
ชวนถอดบทเรียนวิธีการ "เคลมประกัน" ของผู้เสียหายจากกรณี "ไฟไหม้" โรงงานย่านกิ่งแก้วเมื่อต้นเดือน ก.ค.64 ที่ผ่านมา เพื่อเป็นกรณีศึกษาให้คนไทยได้รู้ขั้นตอนต่างๆ เอาไว้ เผื่อเกิดเหตุวินาศภัยอื่นๆ อีกในอนาคต
จากกรณี "ไฟไหม้" โรงงานย่านกิ่งแก้ว หรือ บริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด จ.สมุทรปราการ เมื่อต้นเดือน ก.ค.64 ที่ผ่านมา ถือเป็นเหตุวินาศภัยที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมาก โดยมีนักดับเพลิงอาสาเสียชีวิต 1 ราย และเจ้าหน้าที่ดับเพลิง-กู้ภัยต่างได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก รวมไปถึงบ้านเรือน รถยนต์ สิ่งของของประชาชนในละแวกนั้นต่างก็เสียหายหนักไปตามๆ กัน
หลังจากเหตุเพลิงไหม้สงบลง การเยียวยาและชดใช้ค่าเสียหายก็ต้องตามมา โดยเฉพาะประชาชนใกล้เคียงจุดเกิดเหตุในรัศมี 5 กม. ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งหลายคนที่ทำประกันภัยไว้ และอยากรู้ว่าต้องดำเนินการ "เคลมประกัน" อย่างไร รวมไปถึงคนที่ไม่มีประกันใดๆ เลย แบบนี้จะได้รับการเยียวยาหรือชดเชยอย่างไรบ้าง? มาหาคำตอบไปพร้อมกัน
นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า เหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว ของหมิงตี้ เคมีคอล ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ที่อยู่อาศัยและทรัพย์สินของประชาชนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงเป็นจำนวนมาก สมาคมประกันวินาศภัยไทยขอแนะนำแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ได้รับความเสียหาย ดังต่อไปนี้
1. กรณีความเสียหายต่อชีวิต/บาดเจ็บต่อร่างกาย
ให้ดำเนินการและจัดเตรียมเอกสารเบื้องต้นดังต่อไปนี้
- ไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและตรวจรักษา
- ขอใบรับรองแพทย์
- ขอใบเสร็จรับเงินค่ารักษาพยาบาล
- ในกรณีเสียชีวิต ให้เตรียมใบมรณบัตรที่ระบุสาเหตุการเสียชีวิตจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และเอกสารแสดงการเป็นทายาทตามกฎหมาย
กรณีที่เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สิน เช่น รถยนต์ อาคาร บ้านพักอาศัย ให้ดำเนินการและจัดเตรียมเอกสารเบื้องต้นดังต่อไปนี้
- ถ่ายภาพของทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหายโดยละเอียด เพื่อให้เห็นความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด
-จัดทำรายการความเสียหายของทรัพย์สินทั้งหมด
- ให้ช่างหรือผู้รับเหมาประเมินราคาค่าเสียหายของทรัพย์สินที่เกิดขึ้นทั้งหมด
-หากมีการจ่ายเงินค่าซ่อมแซมหรือค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับความเสียหาย ให้เก็บใบเสร็จรับเงินไว้ให้ครบถ้วน
-เตรียมเอกสารที่แสดงความเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหาย
3. สำหรับผู้ที่มีประกันต่างๆ
หากท่านมีประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลหรือประกันภัยสุขภาพ หรือรถยนต์ของท่านทำประกันภัยประเภท 1 ไว้ หรือบ้าน/อาคารของท่านทำประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย/ประกันอัคคีภัย (กรณีมีความคุ้มครองภัยระเบิด)/ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (Industrial All Risks) ไว้ ให้แจ้งเหตุแก่บริษัทประกันวินาศภัยที่ท่านได้ทำประกันภัยไว้
4. สำหรับผู้ที่ไม่มีประกันใดๆ
หากท่านไม่ได้ทำประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล/ประกันภัยสุขภาพ หรือทรัพย์สินของท่านไม่ได้ทำประกันภัยไว้ ให้รอผลการสอบสวนของพนักงานสอบสวนว่าสาเหตุของการเกิดไฟไหม้ในครั้งนี้เกิดจากการกระทำหรือความประมาทของผู้ใด เพื่อจะได้ดำเนินการเรียกร้องความเสียหายจากผู้รับผิดชอบต่อไป
--------------------------
ที่มา :