ปลดศิลปินแห่งชาติ ‘สุชาติ สวัสดิ์ศรี‘ใช้อะไรเป็นบรรทัดฐาน
ครั้งแรกในประเทศไทย กับกรณีถอดถอน ‘สุชาติ สวัสดิ์ศรี’ ศิลปินแห่งชาติ นำมาซึ่งความสงสัยว่า ทำได้หรือไม่ แล้วจุดเหมาะสมลงตัวของศิลปินแห่งชาติและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการคืออะไร เพื่อจะเป็นบรรทัดฐานที่ดีต่อไปในอนาคต
3 สัปดาห์ที่ผ่านมา เรื่องที่ร้อนแรงไม่แพ้เรื่องอื่นใดก็คือ ความเหมาะสมในการ ปลด 'ศิลปินแห่งชาติ' เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2564 สมชาย แสวงการ 1 ใน 250 สว. ได้โพสต์เฟซบุ๊คว่า
“แว่วข่าวดีคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ มีมติถอดนายสุ…จากศิลปินแห่งชาติแล้ว” สร้างความเคลื่อนไหววิพากษ์วิจารณ์กันมากมายในหมู่ศิลปินหลากหลายแขนง
ในวันที่ 28 สิงหาคม 2564 'สุชาติ สวัสดิ์ศรี' ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ เจ้าของนามปากกา 'สิงห์สนามหลวง' ก็ได้โพสต์เฟซบุ๊คว่า “ทราบมาว่า กก.วัฒนธรรม จะไม่ทบทวนมติ หนังสือถอดถอนจะมาถึงประมาณวันพุธ เพื่อให้อุทธรณ์ ไม่ว่าข้อกล่าวหาจะเป็นเช่นใด ผมไม่อุทธรณ์”
Cr.สุชาติ สวัสดิ์ศรี
จดหมายถอดถอนถึงสุชาติ
หลายวันต่อมา วันที่ 4 กันยายน 2564 จดหมายถอดถอน ลงวันที่ 30 สิงหาคม 2564 ก็มาถึง สุชาติ สวัสดิ์ศรี มีใจความว่า
คณะกรรมการวัฒนธรรมมีมติให้ยกเลิกการเชิดชูเกียรติ นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี เนื่องจากนายสุชาติ ได้ทำการโพสต์ข้อความที่เป็นประเด็นขัดแย้งในสังคมลงในสื่อเฟซบุ๊คเป็นประจำ โดยมีถ้อยคำหรือภาพที่หมิ่นเหม่ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นสถาบันหลักที่คนไทยทั้งชาติให้ความเคารพเทิดทูน โดยไม่สมควรและไม่เหมาะสม
ซึ่งตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติไว้ในมาตรา 6 องค์พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพ ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้ เรื่องนี้ถือเป็นวัฒนธรรมในสังคมไทยที่สำคัญ
ซึ่ง ศิลปินแห่งชาติ จะต้องเคารพในหลักวัฒนธรรมไทย และศิลปินแห่งชาติจะต้องมีคุณสมบัติที่เหมาะสม ประพฤติปฏิบัติโดยแสดงออกทางกาย วาจา และจิตใจ ที่ไม่ส่งผลให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย และมีความประพฤติที่เป็นแบบอย่างที่ดีต่อสังคม
คณะกรรมการวัฒนธรรมจึงเห็นว่าการกระทำของนายสุชาติ เป็นพฤติกรรมเสื่อมเสียต่อการเป็นศิลปินแห่งชาติ ตามข้อ 10 วรรคสอง ของกฎกระทรวงกำหนดสาขาคุณสมบัติ หลักเกณฑ์และวิธีคัดเลือก และประโยชน์ตอบแทนของศิลปินแห่งชาติ พ.ศ.2555 และแก้ไขเพิ่มเติมในกฎกระทรวงกำหนดสาขา คุณสมบัติ หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกและผลประโยชน์ตอบแทนศิลปิน(ฉบับ3) พ.ศ.2563 ข้อ 2
กรมส่งเสริมวัฒนธรรมพิจารณาแล้ว จึงขอยกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติของนายสุชาติ และงดจ่ายประโยชน์ตอบแทน อย่างไรก็ดี หากท่านไม่เห็นด้วยกับมติดังกล่าว สามารถทำหนังสือต่อคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติภายใน 30 วัน ขอแสดงความนับถือ นางสาวอัจฉราพร พงษ์ฉวี รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม รักษาการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม
Cr.สุชาติ สวัสดิ์ศรี
ขอบเขตความเห็นทางการเมือง
ต่อมา วันที่ 9 กันยายน 2564 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติ ส่งทนายฟ้องคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ หลังมีมติยกเลิกการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ การเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2554 นั้นว่า เป็นการพิจารณาโดยระบบเปิด
และลงมติ 2 ใน 3 ตามกฎของกระทรวงข้อ 10 ซึ่งมีสิทธิที่จะอุทธรณ์ เนื่องจากไม่เคยทำกับคนอื่น โดยขอให้อุทธรณ์แล้วชี้แจงมา โดยให้ระยะเวลา 1 เดือน เพื่อจะได้พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากกรณีดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุดและยังไม่ได้ออกคำสั่งอะไร
กับคำถามว่า คณะกรรมการมีธงต่อการพิจารณาหรือไม่
วิษณุยืนยันว่าไม่มีการตั้งธงแต่อย่างใด พร้อมระบุว่าศิลปินแห่งชาติสามารถแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้ แต่ขออย่าทำให้เข้าข่ายในการประพฤติ เนื่องจากเรื่องนี้ไม่ได้แสดงความคิดเห็นทางการเมืองธรรมดา มีการนำหลักฐานมาแสดงอย่างชัดเจน คณะกรรมการจึงได้มีมติออกไป... โดยตนเอง และรัฐมนตรี และปลัดกระทรวง ไม่ได้ออกเสียง
ใช้อะไรเป็นบรรทัดฐาน ?
วันที่ 8 กันยายน 2564 สุชาติ สวัสดิ์ศรี ก็ได้โพสต์เฟซบุ๊คว่า เรื่อง ‘ยกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรติการเป็นศิลปินแห่งชาติ’ ของผมนั้น แม้ผมจะไม่แยแสแล้ว แต่ก็จำต้องถามหาบรรทัดฐานของความถูกต้อง... ตั้งใจทำให้ผมเสียหาย อับอาย ก่อนจะได้รับหนังสือ ‘ยกเลิกการยกย่อง’ จากกระทรวงวัฒนธรรมอย่างเป็นทางการ ที่มาล่าช้ากว่าข่าวที่ปรากฎถึง 10 วัน
การประชุมลับของคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ที่มี นายวิษณุ เครืองาม เป็นประธาน และ นายอิทธิพล คุณปลื้ม เป็นรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม ที่ร่วมมือกันแก้ไขกฎกระทรวงเมื่อปี พ.ศ.2563 เพื่อให้สามารถยกเลิกการยกย่อง ‘ศิลปินแห่งชาติ’ ในครั้งนี้ได้นั้น เหมือนจะตั้งธงไว้ตั้งแต่แรกเริ่ม คือมีเป้าทางการเมืองที่จะทำให้ผมอับอายและเสียหายในประวัติชีวิตการทำงาน
เพื่อต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมและเพื่อสร้างบรรทัดฐานไว้ให้ปรากฎแก่ ‘ศิลปินแห่งชาติ’ คนอื่น ๆ ในเวลาต่อไป เพื่อดำรงขั้นตอนต่าง ๆ ตามกฎหมายให้ถูกต้อง ผมจึงได้มอบอำนาจให้กับทนายจาก ‘ภาคีนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน’ เพื่อช่วยทำความจริงให้ปรากฎว่า ‘การยกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรติการเป็นศิลปินแห่งชาติ’ ของคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรมครั้งนี้ มีความชอบธรรมในคำสั่งทางราชการหรือไม่
Cr.สุชาติ สวัสดิ์ศรี
จากประเด็นการเมือง สู่ ประเด็นสาธารณะ
นี่ไม่ใช่เรื่องราวเฉพาะผู้ขัดแย้งกันทางการเมือง แต่เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจในสังคมวงกว้างที่ยังคลางแคลงใจสงสัยด้วยว่า ความคิดเห็นส่วนตัว หรือการแสดงออกของบุคคลนั้นมีขอบเขตอย่างไร
วันที่ 12 กันยายน 2564 กลุ่มนักคิดนักเขียนจำนวน 103 คน อาทิ สุจิตต์ วงษ์เทศ, อธิคม คุณาวุฒิ, ธีระพล อันมัย, บินหลา สันกาลาคีรี, ประจักษ์ ก้องกีรติ เป็นต้น ได้ร่วมกันออก แถลงการณ์ คัดค้านมติยกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ โดยรณรงค์ที่เว็บ Change.org (ณ วันที่ 16 กันยายน 2564 มีผู้ลงชื่อสนับสนุน 6921 คน) แถลงการณ์ ว่า
“จากมติคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ อ้างเหตุผลการยกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติระบุว่า นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี มีพฤติกรรมเสื่อมเสียโดยการแสดงความเห็นที่เป็นประเด็นขัดแย้งในสังคม มีถ้อยคำหรือภาพที่หมิ่นเหม่ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ผ่านสื่อเฟซบุ๊ค
มติที่ประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติดังกล่าว ก่อให้เกิดปัญหาข้อสงสัยหลายประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบทบาทหน้าที่คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
หนึ่ง ข้อกล่าวหาหมิ่นต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นข้อกล่าวหาที่มีผลกระทบรุนแรง จำเป็นต้องแสดงพยานหลักฐานให้ประจักษ์ชัด ไม่สมควรกล่าวหาอย่างเลื่อนลอยปราศจากหลักฐานอ้างอิง คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติมิใช่ผู้มีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยว่าผู้ใดหมิ่นหรือไม่หมิ่นสถาบัน เนื่องจากบทบาทดังกล่าวเป็นหน้าที่ขององค์กรตุลาการ เป็นการวินิจฉัยเกินเลยบทบาทหน้าที่
สอง หากวัฒนธรรมคือสิ่งที่วิวัฒน์ไปตามความเคลื่อนไหวแปรเปลี่ยนทางสังคม บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติจึงควรติดตามทำความเข้าใจสภาพสังคมอย่างเท่าทัน... และมีขีดความสามารถในการจำแนกแยกแยะได้ว่า พฤติกรรมใดเป็นการปิดหูปิดตาประจบสอพลอ พฤติกรรมใดเป็นข้อเสนอโดยปรารถนาให้สถาบันกษัตริย์อยู่ร่วมกับสังคมที่เข้าถึงข้อมูลข่าวสารเฉกเช่นปัจจุบัน...
ขอเสนอข้อเรียกร้องด้วยการให้ทบทวนและยกเลิกมติดังกล่าวอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้อาจนำไปสู่ขั้นตอนการต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม เพื่อดำรงหลักการความถูกต้องและชอบธรรมอีกหลายคดีความ”
โดยทนายจาก ‘ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน’ แจ้งว่าได้ส่งหนังสือลงวันที่ 10 กันยายน 2564 ถึง ‘ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม’ เรื่อง ‘ขอข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการประชุมพิจารณายกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรติการเป็นศิลปินแห่งชาติ’ โดยมีหนังสือมอบอำนาจของนายสุชาติ สวัสดิ์ศรี แนบไปด้วย และได้ให้เวลา 10 วันในการตอบกลับ
ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ?
วันที่ 16 กันยายน 2564 จักร์กฤษ เพิ่มพูล สื่อมวลชนอาวุโส คณะกรรมการบริหารศูนย์ศึกษากฎหมายและนโยบายสื่อมวลชน สถาบันอิศรา อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ มีความเห็นว่า ทัศนคติทางการเมืองเป็นสิทธิส่วนบุคคล
“โดยอำนาจหน้าที่เขาทำได้อยู่แล้ว คณะกรรมการวัฒนธรรม แต่ในทางปฏิบัติ เขาต้องทบทวนว่าเขาไม่ได้เป็นคนแต่งตั้งขึ้น ชุดของเขาไม่ได้แต่งตั้ง และในการแต่งตั้งก็ไม่ได้มีเงื่อนไขเรื่องที่ว่า
ผู้ที่เป็นศิลปินแห่งชาติ เรื่องความคิดอุดมการณ์ทางการเมือง ทัศนคติทางการเมืองเป็นสิทธิส่วนบุคคล เป็นสิทธิของเขา พูดง่าย ๆ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่คุณจะเอาประเด็นนี้มาเป็นเหตุอ้าง ในการที่จะปลดออก แล้วที่ผ่านมามันก็ไม่มี
หากเพื่อนผม ‘นิรันดร์ศักดิ์ บุญจันทร์’ บรรณาธิการ ‘จุดประกายวรรณกรรม’ ยังมีชีวิตอยู่ ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เขาจะรู้สึกอย่างไร กับการที่ ‘สุชาติ สวัสดิ์ศรี’ เงาร่าง ‘สิงห์สนามหลวง’ ถูกถอดออกจากสถานะ ‘ศิลปินแห่งชาติ’
แต่สำหรับผม ไม่สงสัย ไม่รู้สึกผิดประหลาดอย่างไร ที่คณะกรรมการชุดนี้ตัดสินไปในแนวทางนั้น เหตุผลเดียวที่ ‘สุชาติ สวัสดิ์ศรี’ ถูกปลด เพราะเขาคิดไม่เหมือนผู้มีอำนาจ
เขาแสดงออกอย่างชัดเจน เขาเลือกจุดยืน เคียงข้างผู้คนที่ต่อสู้เพื่อเรียกคืนสังคมประชาธิปไตย ที่เคารพและยอมรับความเห็นที่แตกต่างกันได้ เหตุผลอื่นใดนอกจากนี้ไม่มี
และเมื่อคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ อยู่ภายใต้รัฐ อยู่ภายใต้ร่มเงาของ ‘อำนาจนิยม’ เขาก็จำเป็นต้องปกป้องสร้างเกราะป้องกันตัวเอง ด้วยการคิดให้เหมือนผู้มีอำนาจ
ไม่ว่าผมจะเห็นด้วยกับ ‘สิงห์สนามหลวง’ หรือไม่ก็ตาม ผมไม่มีวันที่จะแสดงความดีใจ สะใจ กับการที่เขาถูกปลดจากสถานะความเป็น ‘แห่งชาติ’
ด้วย ค่าของความเป็นมนุษย์ นั้น คือ คุณค่าที่เปล่งประกายมาจากตัวเขาเอง จากงานที่เขาทำ จากสิ่งที่คนยอมรับและเป็นที่ประจักษ์มาอย่างยาวนาน
สถานะสมมติ ‘ศิลปินแห่งชาติ’ หากมันจะหายไป ก็ไม่ได้ลดทอนคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่อย่างใดเลย"