‘ต้นยางนา’ ถนนสารภี...ไปต่อหรือพอแค่นี้?
เมื่อ “ต้นยางนา” ล้ม ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ความเสียหาย แต่เป็นแรงสะเทือนให้คนหันมาสนใจคุณค่า “ไม้หมายเมือง” กันให้ถึงราก และร่วมกันผ่าทางตันให้ถนนยางนาสารภี
คำว่า ไม้หมายเมือง คือบทบาทตั้งแต่อดีตไม่น้อยกว่า 130 ปี ของ ต้นยางนา ที่เรียงรายบนถนนเชียงใหม่-ลำพูน (สารภี) แต่กาลเวลาและสิ่งอื่นเข้ามาทำหน้าที่แทน ไม้หมายเมืองจึงกลายเป็นไม้ประดับให้ถนนสายนี้ดูสวยและร่มรื่นในสายตาบางคน
อีกมุมมอง “ต้นยางนา” กลายเป็นทั้ง “โจทย์” และ “โจทก์” เพราะที่ผ่านมา ความสูงใหญ่และกิ่งก้านที่ปกคลุมพื้นที่ร่วม 10 กิโลเมตร มีหลายต้นที่สร้างความไม่พอใจให้หลายคน ทั้งกิ่งไม้ตกใส่บ้านเรือนหรือรถที่สัญจรผ่าน แม้กระทั่งความหวาดกลัวว่าสักวัน “ต้นยางนา” ขนาดมหึมาจะล้มลง...ซึ่งก็เกิดขึ้นแล้ว
กลับมาสู่โจทย์ของการอนุรักษ์ที่จะต้องหาแนวทางจัดการขั้นต่อไปว่าสำหรับต้นยางนาที่บางคนมองคุณค่าเพียงเบาบาง กับคนที่เห็นเป็นสิ่งเกะกะขวางทาง จะรักษาสมดุลอย่างไรให้ถึงจะมีป้ายบอกทางก็ยังควรมี “ไม้หมายเมือง” บนถนนสายประวัติศาสตร์นี้อยู่ โดยที่ไม่เป็นปัญหากับใครก็ตาม
- ไม้ล้ม...อย่า (มอง) ข้าม
จากเหตุการณ์ "ต้นยางนา" ล้มนับสิบต้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564 เพราะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง นำมาซึ่งการตั้งคำถามถึงการจัดการทั้งที่ผ่านมาแล้วต่อไป อาจารย์บรรจง สมบูรณ์ชัย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และการออกแบบสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ บอกกับจุดประกายว่า พิจารณาจากเหตุการณ์ดังกล่าว ต้นยางนาที่ยังอยู่ก็ยังมีความเสี่ยงที่จะล้มหรือก่อให้เกิดอุบัติเหตุเช่นกัน
ล่าสุดได้จัดการตัดแต่งเรือนยอด เนื่องจากเมื่อวิเคราะห์สาเหตุการล้ม ปัจจัยสำคัญคือ รากที่ไม่แข็งแรง, ความสูงของต้น และทรงพุ่มเรือนยอด ล้วนเป็นความเสี่ยงเมื่อเกิดลมกรรโชกแรงจะต้นไม้จะรับแรงปะทะมากเกินไป
“แนวทางอื่นๆ คือเราขอรุกขกรจากกรมป่าไม้เข้ามา เราวางแผนต่อเนื่องกันว่าหลังจากดูแลต้นไม้ก็ต้องบำรุงเขาให้สมบูรณ์ เพราะระบบรากถูกทำลายไปค่อนข้างเยอะ มีทั้งส่วนที่ต้นไม้โดยตรง และสภาพแวดล้อมอย่างผิวถนน เราควรจะเปลี่ยนวัสดุไหม การรับน้ำหนัก ให้ระบบรากของต้นยางอยู่ได้ ทุกวันนี้วันถูกกดทับแน่นๆ จนรากมันกุดไป
อีกอย่างคือเราต้องดูเรื่องการจราจรให้ลดความกระทบกระเทือน เช่น ลดจำนวนรถ จำกัดน้ำหนัก ฯลฯ เป็นการทำงานร่วมกันซึ่งอาจไม่ได้เปลี่ยนได้ทันที ก็ต้องใช้หลายๆ ทาง”
จะเห็นได้ว่าการล้มของ “ต้นยางนา” ครั้งนี้สร้างแรงกระเพื่อมให้คนหันมาสนใจถนนสายนี้มากกว่าแค่ความสวยๆ งามๆ แต่เกิดเป็นการกระตุ้นให้คนทำงานก็ได้ตื่นตัวอีกครั้ง ส่วนคนที่เคยสนใจบ้างไม่สนใจบ้างก็ตระหนักถึงความเป็นอยู่ของต้นยางนาซึ่งมีผลต่อความเป็นอยู่ของคนด้วย
- ยางนา ในหน้าประวัติศาสตร์
ในอดีตชื่อของพื้นที่นี้ถูกเรียกว่า “ยางเนิ้ง” สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากต้นยางที่มีลักษณะ “เนิ้ง” หรือ “โน้ม” เข้าหากัน ก่อนจะมาเปลี่ยนเป็นอำเภอสารภี เมื่อปี พ.ศ.2472
เรียกว่าถนนสายนี้เป็นถนนคู่บ้านคู่เมือง หากย้อนไปในการสร้างเมืองเชียงใหม่ มีสองเมืองที่อยู่ติดกันคือเชียงใหม่กับลำพูน มีถนนสายนี้เป็นเส้นทางที่เชื่อมระหว่างเมือง ด้วยการวางผังของชุมชนหรือการตั้งถิ่นฐาน จึงมีการใช้สัญลักษณ์บอกพิกัดของเส้นทาง บนฐานคิดเดียวกับถนนในเมืองเชียงใหม่ เช่น ถนนรอบคูเมือง ถูกกำหนดให้ปลูกไม้สัก, ถนนสายเชียงใหม่-ดอยสะเก็ด ปลูกต้นประดู่, ถนนสายเชียงใหม่-หางดง ปลูกต้นขี้เหล็ก ทว่าเหลือให้เห็นไม่มากแล้วเมื่อเทียบกับสายเชียงใหม่-ลำพูน ที่ปัจจุบันมี “ต้นยางนา” ไม่น้อยกว่าพันต้น
ต้นยางนาเริ่มปลูกบนถนนสายนี้เมื่อปี พ.ศ.2442 ซึ่งสยามประเทศได้จัดการปกครองส่วนภูมิภาคจากเมืองประเทศราชมาเป็นรูปแบบการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล สมัยนั้นเมืองเชียงใหม่อยู่ในความดูแลของ ข้าหลวงสิทธิ์ขาดมณฑลพายัพ ซึ่งผู้ที่ดำรงตำแหน่งนี้เป็นคนแรกคือ เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐ์ศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) ท่านได้นำนโยบาย ที่เรียกว่า ‘น้ำต้อง กองต๋ำ’ อันหมายถึงนโยบายในการพัฒนาคูคลองร่องน้ำ การตัดถนนหนทางและการปรับปรุงถนนหลวงเพื่อให้ความร่มรื่นแก่ชาวบ้านที่สัญจรไปมา จึงได้กำหนดให้ทางหลวงแต่ละสายปลูกต้นไม้ไม่ซ้ำกัน
- รักษ์ให้ถึงราก
ตั้งแต่ปี 2550 เป็นสิบกว่าปีที่การอนุรักษ์ “ต้นยางนา” ผลิดอกออกผล จากวันแรกที่ทีมผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่นและชาวไทยนำโดยอาจารย์บรรจง เข้ามาดูแลต้นยางนาเพื่อมาทำหน้าที่ “หมอต้นไม้” รักษา “ต้นไม้ป่วย”
จากต้นแรกสู่ต้นต่อมากลายเป็นภารกิจต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการให้ความรู้ที่ถูกต้องในเรื่องการตัดแต่งกิ่งไม้ การรักษาบาดแผลและโรคต่างๆ ที่กัดกินต้นไม้ หรือการประสานงานกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อให้เกิดการดูแลอย่างถูกวิธี
แต่กับต้นไม้นับพันต้น บนเส้นทางกว่า 10 กิโลเมตร จึงไม่ใช่ภารกิจของคนใดคนหนึ่งหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่เป็นการสร้างจิตสำนึกและการมีส่วนร่วมจากทุกคน อาจารย์บรรจงบอกว่าพยายามตั้งทีมหมอต้นไม้ของเมืองเชียงใหม่ขึ้นมาในช่วงที่กองทุนสิ่งแวดล้อมสนับสนุนโครงการยางนา 2 ปีแรก โดยเลือกพื้นที่หนึ่งในถนนสายนี้คือ เทศบาลตำบลยางเนิ้ง แล้วเก็บข้อมูลอย่างละเอียด
“ตอนนั้นเราใช้เทคโนโลยีการระบุตัวตนของต้นยางนา ฝังชิพลงไปแล้วใช้ระบบ RFID ส่งข้อมูลไปที่คอมพิวเตอร์ได้ ก็ถือเป็นครั้งแรกของเมืองเชียงใหม่”
จากการทำงานเชิงรุกเกี่ยวกับ “ต้นยางนา” ยังได้พบข้อเท็จจริงว่า “ราก” คือจุดตายที่หลายคนมองข้าม เพราะมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่ต้องอาศัยการสังเกตสภาพบนพื้นดินก่อน แล้วต่อด้วยการดูพุ่มไม้ กับความหนาแน่นของใบ ซึ่งจะสะท้อนปัญหาของราก
“เรามองว่าแผนการจัดการ ถ้าวางทิศทางชัดเจนว่าถนนสายนี้เป็นถนนสายวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของคนกับต้นไม้ต้องคู่กัน ความสุขของคนที่อยู่กับต้นยางต้องมี ความปลอดภัยด้วย ความสวยงามร่มรื่นจะเป็นเหมือนแรงจูงใจ พอสวยงามคนก็มาท่องเที่ยว ชาวบ้านได้ขายสินค้าได้มีการนำเที่ยว โรงเรียนก็สามารถใช้เป็นห้องเรียนธรรมชาติให้นักเรียนมาศึกษาไปกระทั่งฝึกหัดเป็นมัคคุเทศก์น้อยได้
แล้วเราก็ยังหวังว่าที่ทำมาเป็นสิบปีเรามีองค์ความรู้อยู่ วิธีการจัดการให้มันยั่งยืนก็คือ การถ่ายทอดองค์ความรู้ที่มีให้ชุมชน ช่วยกันปลูกจิตสำนึกแล้วให้เอกชนมามีส่วนร่วม ไม่เฉพาะคนที่อยู่ในถนนสายนี้ แต่เป็นประชาชนทั่วไปที่สนใจ เพราะไม่ว่าต้นไม้อยู่ที่ไหน คนก็ควรจะมีจิตสำนึกที่อยากดูแลเขา”
- อนุรักษ์ยางนา...ไปต่อหรือพอแค่นี้
ต้องยอมรับว่า “ต้นยางนา” ที่กำลังป่วย ส่งผลกระทบต่อคนไม่มากก็น้อย และไม่ใช่เรื่องใหม่ที่จะมีคำถามจากบางคนว่าแท้จริงแล้วการอนุรักษ์ต้นยางนาเอาไว้ ควรหรือไม่ควร?
ถ้าพิจารณาจากคุณค่าทั้งทางประวัติศาสตร์ไปจนถึงคุณค่าด้านความงามและการท่องเที่ยว คำตอบคือจำเป็นต้องอนุรักษ์ แต่ก็มาถึงคำถามถัดไปที่ว่า ต่อจากนี้จะทำอย่างไรให้ต้นยางนาไม่เป็นปัญหาของใครอีกต่อไป
อาจารย์บรรจงบอกว่า “อาจไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจำนวนต้นยางนานับพันต้น การจัดการบางทีจะเปลี่ยนหรือทำอะไรสักอย่างมันต้องอยู่ในแผนทั้งหมด ก็อาจจะต้องให้ทางจังหวัดทำเป็นวาระของจังหวัดไปเลย เหมือนเราตื่นกันเรื่อง PM2.5 หมอกควันไฟป่า เรื่องต้นยางนาก็เป็นของคู่เมืองเชียงใหม่ ก็ควรจะถูกหยิบยกมาให้ความสำคัญมากขึ้นกว่าทิ้งให้หน่วยงานท้องถิ่นทำ
ด้วยความที่เป็นประวัติศาสตร์คู่เมืองเชียงใหม่ ลูกหลานก็ควรทำหน้าที่ช่วยกันดูแล ส่วนเสียงสะท้อนเป็นเรื่องปกติ แต่ด้วยบทบาทหน้าที่ ทั้งหน่วยงานที่เห็นความสำคัญ หรือกลุ่มอนุรักษ์ นักวิชาการ ก็ยังต้องทำหน้าที่ต่อ ทำให้ยางนามีความสมบูรณ์ไปพร้อมๆ กับคนมีความปลอดภัย รวมถึงการเยียวยาผู้ประสบเหตุ ชดเชยทรัพย์สินที่เสียหายให้”
การล้มของ “ต้นยางนา” คราวนี้ ทำให้คนที่งานอนุรักษ์ได้กลับมาทบทวนการบริหารจัดการอีกครั้งว่ามีช่องโหว่อะไร อะไรขาดตกบกพร่องไป ไปจนถึงจุดอ่อนของการทำงานในระดับปฏิบัติการ อาทิ การสนับสนุนเครื่องมือ งบประมาณ บุคลากร
ยกตัวอย่าง มีพื้นที่ไหนได้รับการร้องเรียนหรือมีความเสี่ยง หมอต้นไม้บอกว่าต้องได้รับการจัดการทันที มิเช่นนั้นจากเดิมที่มีคนไม่เห็นด้วยอยู่แล้วก็จะยิ่งคัดค้านยิ่งกว่าเก่า การสื่อสารทำความเข้าใจ เป็นสิ่งที่ต้องพยายามมากขึ้น
“เราต้องอธิบายปรากฏการณ์เหล่านี้ให้เข้าใจตรงกัน ในระดับตั้งแต่จังหวัด อำเภอ ลงไปชุมชน ไปจนถึงครัวเรือน โดยเฉพาะผู้นำท้องถิ่นน่าจะเป็นคนถ่ายทอดข้อมูลชุดเดียวกันเพื่อให้มองเห็นว่าต้นยางนาอยู่ในสภาวะแบบไหนแล้ว แล้วถ้าไม่ทำจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าทำจะโดยวิธีการไหน”