ถึงราก...ถึงรอด ปฏิบัติการฟื้นชีพยางนาร้อยปี
ข้างหลังภาพความสวยงามร่มรื่น คือลมหายใจรวยรินของต้นไม้เก่าแก่บนถนนสายประวัติศาสตร์ เชียงใหม่-ลำพูน
ระยะทางกว่า 10 กิโลเมตรที่สองข้างทางเรียงรายไปด้วยต้นยางนาสูงชะลูด ลำต้นถูกผูกคาดไว้ด้วยผ้าเหลือง กิ่งก้านใบด้านบนค้อมเข้าหากันจนกลายร่มเงาอันงดงามยามแสงส่องสาด นี่คือความร่มรื่นอันเป็นเอกลักษณ์ของถนนสายเชียงใหม่-ลำพูน ที่หลายคนอาจเคยคุ้นตา และเผลอคิดไปว่ามันจะเป็นเช่นนั้นตลอดไป
ต้นยางนานับร้อยนับพันได้รับการปลูกตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มันจึงยืนหยัดผ่านร้อนหนาวมากว่าร้อยปี จำนวนไม่น้อยได้ล้มหายตายจากไปเพราะสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย ที่เหลืออยู่ก็ได้แต่นับถอยหลัง เนื่องจากการขยายตัวของเมือง การเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นถนน ไปจนถึงการขาดความรู้ในการดูแลรักษา
และแม้ว่าที่ผ่านมาจะมีหลายองค์กร ทั้งภาควิชาการและภาคประชาชน พยายามหาวิธีที่จะยื้อชีวิตของต้นยางนาบนสายนี้ไว้ แต่ปัญหาและข้อจำกัดก็ยังมีอยู่มากมาย จนน่าเสียดายว่า...ในอนาคตอันไม่ไกล ความสำคัญและความสวยงามของถนนเส้นนี้อาจเหลือเพียงความทรงจำ
ต้นเรื่องถนนต้นยาง
ไม่ใช่แค่ความสวยที่มองเห็นด้วยสายตา แต่ยางนามีประวัติศาสตร์ความเป็นมาร่วมกับเมืองเชียงใหม่ บันทึกไว้ว่าการปลูกต้นยางบนถนนสายนี้เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ.2442 ซึ่งสยามประเทศได้มีการจัดการปกครองส่วนภูมิภาคจากเมืองประเทศราชมาเป็นรูปแบบการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล สมัยนั้นเมืองเชียงใหม่อยู่ในความดูแลของ ข้าหลวงสิทธิ์ขาดมณฑลพายัพ ซึ่งผู้ที่ดำรงตำแหน่งนี้เป็นคนแรกคือ เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐ์ศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) ท่านได้นำนโยบาย ที่เรียกว่า ‘น้ำต้อง กองต๋ำ’ อันหมายถึงนโยบายในการพัฒนาคูคลองร่องน้ำ การตัดถนนหนทางและการปรับปรุงถนนหลวงเพื่อให้ความร่มรื่นแก่ชาวบ้านที่สัญจรไปมา จึงได้มีการกำหนดให้ทางหลวงแต่ละสายปลูกต้นไม้ไม่ซ้ำกัน โดยถนนสายเชียงใหม่-ลำพูน (สารภี) กำหนดให้ปลูกต้นยางนา
ในอดีตชื่อของพื้นที่นี้จึงถูกเรียกขานติดปากว่า ‘ยางเนิ้ง’ ซึ่งน่าจะมาจากต้นยางที่มีลักษณะ ‘เนิ้ง’ หรือ ‘โน้ม’ เข้าหากัน ก่อนจะมาเปลี่ยนเป็นอำเภอสารภี เมื่อปี พ.ศ.2472
“ถนนสายนี้เรียกว่าเป็นถนนคู่บ้านคู่เมืองเลย เพราะว่าเมื่อย้อนไปในการสร้างเมืองเชียงใหม่ มีสองเมืองที่อยู่ติดกันคือเชียงใหม่กับลำพูน โดยมีถนนสายนี้เป็นเส้นทางที่เชื่อมระหว่างเมือง การตั้งถิ่นฐานของชุมชนทั้งสองอยู่ชิดกับลำเหมืองที่ดึงน้ำจากแม่น้ำปิงมา ด้วยการวางผังของชุมชนเองหรือการตั้งถิ่นฐาน แนวของถนนหรือเส้นทางก็พยายามให้มีสัญลักษณ์ของเส้นทาง” อาจารย์บรรจง สมบูรณ์ชัย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และการออกแบบสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ให้ข้อมูล
ร่วมสมัยเดียวกัน ถนนในเมืองเชียงใหม่ เช่น ถนนรอบคูเมือง ถูกกำหนดให้ปลูกไม้สัก, ถนนสายเชียงใหม่-ดอยสะเก็ด ปลูกต้นประดู่, ถนนสายเชียงใหม่-หางดง ปลูกต้นขี้เหล็ก ซึ่งส่วนใหญ่เหลือให้เห็นไม่มากนักเมื่อเทียบกับสายเชียงใหม่-ลำพูน ที่ปัจจุบันน่าจะมีไม่น้อยกว่าพันต้น นับอายุอานามแล้วก็ไม่น้อยกว่า 130 ปี
ทางไกลสายอนุรักษ์
สำหรับคนผ่านทาง ต้นยางอาจถูกมองไม่ต่างจากไม้ประดับ แต่กับคนที่เห็นต้นไม้เก่าแก่นี้มาครึ่งค่อนชีวิต ต้นไม้สูงใหญ่ใกล้บ้านคือความผูกพันที่ไม่ได้แค่ร่วมสุข แต่ก็มีทุกข์ร่วมกันด้วย
“ต้นยางคือชีวิตจิตใจและเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของชาวสารภี ที่เราได้ร่วมกันอนุรักษ์เอาไว้และใช้ประโยชน์ให้ยาวนานที่สุด ให้เป็นมรดกต่อไปตราบชั่วลูกชั่วหลาน” สัญญา พรหมศาสตร์ นายกเทศมนตรีตำบลสารภี กล่าว พร้อมทั้งเล่าให้ฟังถึงปัญหาการอนุรักษ์ต้นยางนาตลอดหลายปีที่ผ่านมาว่า
“ในอดีตย้อนหลังไปสัก 20 ปีก่อน เป็นที่ถกเถียงกันว่า ใครคือเจ้าของต้นยางนาเหล่านี้ ใครจะต้องเป็นผู้ดูแล เราในฐานะที่เป็นประชาชนธรรมดาจะมีวิธีการอนุรักษ์อย่างไรได้บ้าง ปัญหาคือเรายังหาคำตอบไม่ได้ในตอนนั้น และก็หาเจ้าภาพมารักษาดูแลค่อนข้างยาก ซึ่งจำกัดด้วยว่าใครคือเจ้าของ แต่แล้วเมื่อมีการประชุมเสวนากัน ก็ทำในลักษณะที่ว่าเอาประเพณีวัฒนธรรมมาเป็นกุศโลบาย เริ่มต้นจากการบวชต้นยางเมื่อปี พ.ศ.2548 เป็นครั้งแรก เอาผ้าเหลืองมาบวชต้นยาง เป็นการดูแลรักษาตามจารีตประเพณี เพื่อให้คนที่ผ่านไปผ่าน หรือคนสารภีรู้สึกว่าเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ หวงแหน รู้สึกว่าเป็นต้นไม้ล้ำค่า ใครจะมาทำร้ายไม่ได้”
ทั้งนี้เพราะในอดีตมีการเผาเอายางจากต้นไม้ มีการถมพื้นที่ทำถนน สร้างสิ่งปลูกสร้างจนติดลำต้น รวมไปถึงการตัดฟันต้นไม้ด้วยเหตุผลต่างๆ
“เราพยายามรวบรวมเทศบาลในละแวกใกล้เคียงและพี่น้องชาวบ้านเข้ามามีบทบาทเยอะขึ้นในการทำกิจกรรมร่วมกัน ปัจจุบันเรามีภาคีเครือข่าย มีคณะกรรมการอนุรักษ์ต้นยางในระดับจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน อีกคณะหนึ่งที่เป็นรูปเป็นร่างก็คือชุดของอาจารย์บรรจง สมบูรณ์ชัย ทำหน้าที่อนุกรรมการซึ่งตอนนี้มีบทบาทสำคัญมาก ทำหน้าที่ประสานไปยังองค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะในระดับพื้นที่ ระดับจังหวัด หรือระดับชาติ ทำให้อุปสรรคและปัญหาที่เราเคยมีน้อยลงไปมาก”
และแม้ว่าปัญหาที่เคยมีจะลดลง แต่ปัญหาแทรกซ้อนก็ยังเกิดขึ้นเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการตัดแต่งกิ่งไม้โดยหน่วยงานผู้รับผิดชอบ การถมคอนกรีตที่โคนต้น การปล่อยน้ำทิ้งที่มีสารเคมีปะปน ไปจนถึงความพยายามที่จะตัดต้นไม้เพราะกังวลว่าจะหักโค่นลงมาทับบ้านเรือนหรือรถยนต์
“ผมเริ่มเข้ามาที่ถนนเส้นนี้ประมาณปี พ.ศ. 2550 เรามาทำเวิร์คชอปกับทีมผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่น ต้นแรกที่มาดูคือต้นยางถูกไฟลน คือถ้าเรามองด้านหน้าที่ติดถนนจะไม่เห็นสิ่งผิดปกติ แต่ถ้าอ้อมไปด้านหลัง หน้าบ้านของชาวบ้าน โคนต้นจะถูกสุมไปด้วยเนินดินหรือใบไม้ที่เขาไว้จุดไฟ เมื่อ 10 ปีที่แล้วสภาพมันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ซึ่งสิ่งที่มันเกิดขึ้นต่อจากนั้นคือมันกลายเป็นที่อยู่ของพวกปลวก ลงไปใต้ดินอันนี้น่ากลัวกว่า นี่แหละคือต้นไม้ป่วยที่เราเห็นชัดเจน” อาจารย์บรรจง เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการดูแลต้นยางนาในฐานะหมอต้นไม้
หลังจากนั้นการดำเนินการเพื่อกู้ชีวิตต้นยางนาก็กลายเป็นภารกิจต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการให้ความรู้ที่ถูกต้องในเรื่องการตัดแต่งกิ่งไม้ การรักษาบาดแผลและโรคต่างๆ ที่กัดกินต้นไม้ หรือการประสานงานกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อให้เกิดการดูแลอย่างถูกวิธี ซึ่งหมอต้นไม้ท่านนี้มองว่าคีย์เวิร์ดในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนคือ การสร้างจิตสำนึกและการมีส่วนร่วม
“สิ่งที่เราทำมาตลอดคือการบอกให้คนเข้ามามีส่วนร่วม ลำพังอาสาสมัครกลุ่มเล็กๆ หรือนักศึกษา หรือทีมงานจิตอาสา ผมว่ายังไม่พอ ต้องเอาความรู้ไปถ่ายทอดสร้างคนรุ่นต่อๆ ไป เราพยายามตั้งทีมหมอต้นไม้ของเมืองเชียงใหม่ขึ้นมาในช่วงที่กองทุนสิ่งแวดล้อมสนับสนุนโครงการยางนา 2 ปีแรก โดยเราเลือกพื้นที่หนึ่งในถนนเส้นนี้คือ เทศบาลตำบลยางเนิ้ง แล้วเก็บข้อมูลโดยละเอียด
ตอนนั้นเราใช้เทคโนโลยีการระบุตัวตนของต้นยางนา ฝังชิพลงไปแล้วใช้ระบบ RFID สามารถส่งข้อมูลไปที่คอมพิวเตอร์ได้ ก็ถือเป็นครั้งแรกของเมืองเชียงใหม่ ในพื้นที่นี้เราฝังชิพไปแล้วประมาณ 500 ต้น”
หลังจากเก็บข้อมูลทำวิจัยไปได้ระยะหนึ่ง พร้อมๆ กับความกังวลที่เพิ่มขึ้น เรื่องที่ต้องกลับมาทบทวนก็คือ องค์ความรู้เกี่ยวกับต้นไม้ในเมืองซึ่งมีน้อยมากในประเทศไทย ส่งผลให้วิธีการรักษาเป็นเรื่องที่หมอต้นไม้ต้องค้นคว้าด้วยตัวเอง และในที่สุดก็พบว่าสิ่งที่อาจจะถือเป็น ‘จุดตาย’ ของต้นไม้ใหญ่ ก็คือ ‘ราก’ ที่หลายคนอาจมองข้ามไป
ฟื้นรากฟื้นชีวิต
ที่โคนต้นยางนาหมายเลข 10 หน้าดินถูกเปิดออกจนเป็นหลุมลึก เผยให้เห็นรากที่เริ่มผุพัง ทีมงานหมอต้นไม้ค่อยๆ เติมดินที่ปรับโครงสร้างขึ้นใหม่เข้าไปแทน ก่อนจะปูพื้นด้านบนด้วยต้นหญ้าเพื่อให้ไม้ใหญ่หายใจได้สะดวก
“ระบบรากเป็นส่วนที่เราไม่สามารถจะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่เราใช้การสังเกตสภาพบนพื้นดินก่อน ถ้าแหงนขึ้นมองข้างบนทรงพุ่มแล้วเห็นว่ามันหดสั้นแสดงว่ารากเกิดปัญหา หรือถ้าใบลดน้อยลงก็ต้องดูว่าดินแห้งไหม หรือถูกกดทับจนไม่มีช่องว่าง หรือบางทีอาจมีการเอาสารเคมีหรืออะไรไปหยุดการเจริญเติบโตของราก
วิธีที่เราจะช่วยฟื้นเขาขึ้นมาก็คือ ต้องเปิดพื้นที่ผิวให้มากที่สุด ผมใช้คำว่า ‘พื้นพรุน’ คือถ้าเป็นดินล้วนๆ ดีที่สุด อาจจะลอกเอาผิวที่เป็นผิวแข็งอย่างคอนกรีตหรือหินออกไปจนเห็นผิวดิน แต่แค่นี้ยังไม่พอเพราะพื้นแข็งก่อนจะถูกราดลงไปเขามีการบดอัด เราต้องทำให้มันมีช่องว่างมากขึ้น เติมน้ำเติมอากาศไปได้ง่าย รากดูดธาตุอาหารกลับไปใช้ได้”
อาจารย์บรรจง เล่าถึงการฟื้นฟูระบบรากในช่วง 2 ปีหลัง ซึ่งดำเนินการควบคู่ไปกับการรณรงค์ให้งดเว้นและปรับปรุงการใช้พื้นแข็งที่กดทับรากต้นยางนา โดยเสนอให้มีการเปลี่ยนพื้นเป็นพื้นหญ้าหรือบล็อกปูหญ้าบริเวณรอบๆ โคนต้นแทน
“ในส่วนที่เราสำรวจประมาณ 1,000 ต้นพบว่าเกินครึ่ง 50-60 เปอร์เซ็นต์ เป็นต้นยางที่อยู่ในภาวะค่อนข้างวิกฤติ ซึ่งถ้าแบ่งตามความเร่งด่วน ด่วนมากหรือไอซียูประมาณ 300 กว่าต้น ส่วนนี้เกิดจากการขยายตัวของชุมชนเอง การเปลี่ยนพื้นที่อาศัยเป็นพื้นที่พาณิชย์ การทำกิจการต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อต้นยาง อันนี้มีส่วนทำให้เกิดความทรุดโทรมเร็ว บวกกับอายุที่มากขึ้น ถูกจำกัดด้วยปัจจัยการเจริญเติบโต ดินก็น้อย น้ำก็แทบไม่ได้ลงไป ปุ๋ยหรืออาหารอื่นๆ แทบไม่มี นี่ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความเสื่อมโทรม”
ทางออกในเชิงวิชาการแม้จะไม่ใช่เรื่องซับซ้อน แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะต้องอาศัยทั้งงบประมาณและการมีส่วนร่วม ซึ่งในมุมของนักอนุรักษ์ แทนที่จะแยกเป็นส่วนๆ ควรจะมีแผนการจัดการที่ครอบคลุมทั้งการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และให้ความรู้ไปพร้อมกัน
“ตอนนี้เรามองว่าแผนการจัดการ ถ้าวางทิศทางชัดเจนว่าถนนสายนี้เป็นถนนสายวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของคนกับต้นไม้ต้องคู่กัน ความสุขของคนที่อยู่กับต้นยางต้องมี ความปลอดภัยด้วย ความสวยงามร่มรื่นจะเป็นเหมือนแรงจูงใจ พอสวยงามคนก็มาท่องเที่ยว ชาวบ้านได้ขายสินค้าได้มีการนำเที่ยว โรงเรียนก็สามารถใช้เป็นห้องเรียนธรรมชาติให้นักเรียนมาศึกษาไปกระทั่งฝึกหัดเป็นมัคคุเทศก์น้อยได้
แล้วเราก็ยังหวังว่าที่ทำมาเป็นสิบปีเรามีองค์ความรู้อยู่ วิธีการจัดการให้มันยั่งยืนก็คือ การถ่ายทอดองค์ความรู้ที่มีให้ชุมชน ช่วยกันปลูกจิตสำนึกแล้วให้เอกชนมามีส่วนร่วม ไม่เฉพาะคนที่อยู่ในถนนสายนี้ แต่เป็นประชาชนทั่วไปที่สนใจ เพราะไม่ว่าต้นไม้อยู่ที่ไหน คนก็ควรจะมีจิตสำนึกที่อยากดูแลเขา”
โดยเฉพาะกับต้นยางนาอายุกว่าร้อยปีเหล่านี้ ไม่ใช่แค่บางหน้าในประวัติศาสตร์ที่ควรบันทึก มรดกทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่ควรรักษา ยังรวมความถึงโอกาสในการเรียนรู้ องค์ความรู้ที่ควรส่งต่อ และผลตอบแทนที่ไม่น้อยไปกว่าสภาพแวดล้อมดีๆ ลมหายใจดีๆ และชีวิตดีๆ ของคนเมือง