‘ครามเฟอีน’ คาเฟ่ของสาวเหนือกับเสืออีสาน ที่ใช้ผ้าและกาแฟพัฒนา อ.แม่แตง

‘ครามเฟอีน’ คาเฟ่ของสาวเหนือกับเสืออีสาน ที่ใช้ผ้าและกาแฟพัฒนา อ.แม่แตง

“ครามเฟอีน” ร้านกาแฟที่เบลนด์ความฝันของคนหนุ่มสาว และคั่วความคาดหวังที่จะพัฒนาชุมชนให้ดีขึ้น จนได้ความสำเร็จที่หอมกรุ่นของอำเภอแม่แตง

ต้นทุนของแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากัน ทว่าบางพื้นที่มีต้นทุนสูงลิ่วแต่ไม่เคยถูกนำมาต่อยอดก็น่าเสียดาย และนี่คือการนำต้นทุนของบ้านกาด อำเภอแม่แตง ทั้งวิวหลักล้านของดอยหลวงเชียงดาว ฝูงนกเป็ดน้ำที่จะบินหนีหนาวมาที่นี่ทุกปี มาต่อยอดด้วยเครื่องมือสุดคราฟต์อย่างผ้าครามและกาแฟ

เสือ - นวพล ข้อยุ่น หนุ่มขอนแก่นที่มาพบรักกับ ฟ้า - ธัญญรักษ์ กีรติธีระกุล สาวแม่แตงผู้หลงใหลผ้าย้อมครามและทำผ้าครามมานานจนเชี่ยวมือ ด้วยความที่เสือเป็นสายโปรดักชั่นมาก่อน การถ่ายงาน ขายงาน เริ่มทำให้เขาอยากหาความท้าทายใหม่ ระหว่างค้นหาประจวบเหมาะกับเจอฟ้าพอดี ทีแรกไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกันยังไม่มีทีท่าว่าจะก่อตัวเป็นคาเฟ่ได้

“เมื่อก่อนผมกินกาแฟไม่เป็นหรอก กินแต่ชาเขียว” เสือยอมรับว่าไม่เคยอินกับคาเฟ่มาก่อน จนไปเจอคาเฟ่หนึ่งและเจอฟ้า ที่ทำให้เขาเปลี่ยนมุมมอง กระทั่งเขานั่งได้ตั้งแต่ร้านเปิดจนร้านปิด จะด้วยเพราะรักหรือไม่ก็ตาม แต่อีกเหตุผลที่เขาบอกคือบรรยากาศช่วยเติมเต็ม ทั้งอาจารย์ นักศึกษา แวะเวียนเข้ามาพูดคุย ดื่มด่ำ แลกเปลี่ยนทัศนคติกัน

‘ครามเฟอีน’ คาเฟ่ของสาวเหนือกับเสืออีสาน ที่ใช้ผ้าและกาแฟพัฒนา อ.แม่แตง

ความหลงใหล (อาจปนกับหลงรัก) ทำให้เขาลองศึกษาเรื่องกาแฟอย่างจริงจังด้วยการไปฝังตัวอยู่กับธุรกิจกาแฟหลายแบบ

“ผมไปเป็นเด็กเสิร์ฟร้านกาแฟร้านหนึ่งอยู่หนึ่งปี ไปทำอีกร้านหนึ่งอีกครึ่งปี และมีโอกาสไปทำงานบริษัทกาแฟอีกประมาณสองปี เป็นกาแฟสำเร็จรูป ได้มีโอกาสไปขายกาแฟที่ประเทศเพื่อนบ้าน ไปออกบูธ ได้ไปเจอโลกของกาแฟว่ามันเดินทางไปหลายๆ ที่”

หลังจากสั่งสมเคล็ดวิชาจนพอตัว จึงมีความคิดว่าอยากทำธุรกิจเป็นของตัวเอง พอดีกับแฟนสาวเรียนจบ มาสู่การต่อยอดธุรกิจผ้าครามที่ฟ้าทำตั้งแต่สมัยเรียน ผสมผสานกับกาแฟที่เสือกำลังอิน จนมาเป็นคาเฟ่น่ารักๆ “Kramfeine : ครามเฟอีน”

‘ครามเฟอีน’ คาเฟ่ของสาวเหนือกับเสืออีสาน ที่ใช้ผ้าและกาแฟพัฒนา อ.แม่แตง

  • เปลี่ยน “ทางไม่ผ่าน” เป็นจุดหมายที่ต้องมา

บ้านกาด คือหมู่บ้านในชนบท ตั้งอยู่อย่างสงบเงียบ โดยมีเบื้องหน้าคือดอยหลวงเชียงดาว และสันเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ถ้ามองตามภูมิประเทศที่นี่คือทำเลที่สวยในแบบที่ใครมาเห็นก็ต้องชอบ แต่ขณะเดียวกันก็อยู่นอกวงโคจรของนักท่องเที่ยวไปสักหน่อย จึงไม่แปลกหากจะเรียกว่าที่นี่เป็นทางที่ไม่มีใครผ่านเสียด้วยซ้ำ

“ที่นี่มีวิถีชุมชนจริงๆ เป็นบ้านนอกเลย เป็นหมู่บ้านที่ต้องเข้ามาถึงจะเจอ ไม่มีโอกาสที่คนอื่นจะเข้ามาได้เลย แล้วมันจะขายอย่างไรได้ แต่ผมก็มองอีกมุมหนึ่งว่าเราก็มีของ หมายความผมก็ถ่ายภาพเป็นนะ ผมทำโปรดักชันได้นะ ผมคิดว่าสกิลกาแฟที่สะสมมาประมาณ 5 ปี ความชอบของเรา เมื่อกลับมาอยู่บ้านก็คิดจะเปิดคาเฟ่

‘ครามเฟอีน’ คาเฟ่ของสาวเหนือกับเสืออีสาน ที่ใช้ผ้าและกาแฟพัฒนา อ.แม่แตง

มีพี่ที่เป็นคนดังของหมู่บ้านเขามาให้ชงกาแฟให้กิน เขาก็ถ่ายรูปโพสต์ลงโซเชียลประมาณว่า “กาแฟบ้านกาด” คนก็ถามมาว่าเปิดแล้วเหรอ อยู่ตรงไหน เราก็ตกใจเพราะเรายังไม่ได้ขาย เขาก็บอกว่าแล้วทำไมไม่ขาย ผมก็มองหน้าน้องฟ้า เราไม่มีอะไรจะเสีย งั้นก็เปิดเลยแล้วกัน โดยที่ตอนนั้นผมมีเงินในมือ 5,000 บาท ลงทุนกาแฟ 1,000 บาท ซื้ออุปกรณ์ชงกาแฟอีก 1,000 บาท อีก 1,000 บาท ซื้อต้นไม้ อีก 1,000 บาท ซื้ออุปกรณ์แต่งร้าน อีก 1,000 บาท ซื้อหลอดไฟสายไฟอะไรต่างๆ เป็นการลงทุนที่ 5,000 บาท ไม่รวมเครื่องชงนะครับ เพราะเรามีเครื่องไว้ชงกินเองอยู่แล้ว”

กาแฟแก้วแรกที่เสือขาย ราคา 40 บาท ตั้งแต่วันนั้นจนวันนี้ก็ยืนราคาอยู่ราวๆ นี้ คือ 35-65 บาทแล้วแต่เมนู ในตัวเลขราคาเมื่อเทียบกับสิ่งที่คนดื่มได้รับ นับว่าไม่แพงเลย เพราะความพิถีพิถันทุกขั้นตอน

อีกจุดเด่นของร้านคือ “วาทศิลป์” ของหนุ่มเจ้าของร้านคนนี้ เขาบอกว่าเปรียบได้กับพี่อ้อยพี่ฉอดแห่งบ้านกาด ไม่ว่าใครจะมาปรับทุกข์ หรือคุยเรื่องความสุข เขาพร้อมรับฟังและมีความคิดเห็นดีๆ มอบกลับไปเสมอ แม้กระทั่งเรื่องหนักๆ อย่างการเมือง เขาก็เปิดใจรับฟังเต็มที่

‘ครามเฟอีน’ คาเฟ่ของสาวเหนือกับเสืออีสาน ที่ใช้ผ้าและกาแฟพัฒนา อ.แม่แตง

  • ของดีต้องดันให้ดัง

“ร้านเราเป็นบ้านหลังแรกของหมู่บ้าน (อยู่ตรงทางเข้าหมู่บ้าน) มีนกเป็ดน้ำอพยพมาช่วงฤดูหนาวตรงบึงน้ำที่หน้าร้าน เห็นดอยหลวงเชียงดาว และเขาอีก 3-4 ลูก ผมจึงอยากพรีเซนต์บ้านเรา เพราะแม่แตงเป็นเมืองท่องเที่ยวนะ แต่การจะให้ชาวบ้านมาขายของออแกนิกส์ ให้ชาวบ้านมาขายผักปลอดสารพิษ มันพูดยาก เพราะเขายังไม่เห็นตลาดที่จะขายของได้ ผมก็มองมุมกลับว่า ถ้าเปลี่ยนเขาไม่ได้ เราเปลี่ยนตัวเองดีไหม ทำอย่างไรให้คนข้างนอกวิ่งมาหาเรา”

ถึงจะไม่ได้เกิดที่นี่ แต่เขาฝากหัวใจไว้กับแม่แตงแล้ว เสืออีสานจึงคิดแผนการพัฒนาที่นี่ให้ปังด้วยเครื่องมือที่เขามี คือ กาแฟและผ้าคราม

จุดแข็งแรกที่ร้าน “ครามเฟอีน” ตั้งใจสร้างบรรทัดฐานไว้คือเรื่องราคา อย่างที่บอกไปว่าราคาจะอยู่ที่ 35-65 บาท เท่านั้น แต่ยังแอบมีกาแฟพิเศษ (Specialty coffee) รองรับกลุ่มคอกาแฟอีกกลุ่มด้วย ความที่เขามีเครือข่ายกาแฟพอสมควรจึงได้เมล็ดกาแฟดีๆ มาเบลนด์ให้ลูกค้าได้สัมผัสความแตกต่างว่าถึงจะร้านกาแฟบ้านนอกแต่มีเมล็ดกาแฟนอกด้วย

‘ครามเฟอีน’ คาเฟ่ของสาวเหนือกับเสืออีสาน ที่ใช้ผ้าและกาแฟพัฒนา อ.แม่แตง

ต่อมาคือเรื่องบรรยากาศร้าน บรรยากาศรอบๆ อัธยาศัย ซึ่งทำให้ “ครามเฟอีน” ดึงดูดขาจรให้กลายเป็นขาประจำได้ตลอด

“สิ่งที่ทำให้เป็นอย่างนั้นคือเราเป็นตัวเอง เราใส่ความเป็นตัวเองลงไปในแก้ว แล้วสื่อสารไปให้ลูกค้าเห็น เขาจะสัมผัสได้ว่านี่มันจริงว่ะ เรามีหน้าที่ต้องจริงใจและยิ้มกว้างๆ”

การสื่อสารของร้าน นอกจากผ่านการพูดคุยและความจริงใจแล้ว กาแฟแต่ละแก้วจะมีข้อความติดอยู่ ทั้งคำคม คติเตือนใจ มุกเสี่ยวๆ ซึ่งกินพื้นที่มากกว่าโลโก้ของร้านด้วยซ้ำ เพราะตั้งใจว่าจะเป็นเพียงจุดเชื่อมไปถึงลูกค้าให้ “บางคนมองว่าเป็นแก้วกาแฟหนึ่งแก้ว แต่บางคนนี่อาจเป็นแรงผลักดันเขาก็ได้” เสือบอก

‘ครามเฟอีน’ คาเฟ่ของสาวเหนือกับเสืออีสาน ที่ใช้ผ้าและกาแฟพัฒนา อ.แม่แตง

ความตั้งใจไม่ได้กลายเป็นแรงส่งให้เขาพัฒนาร้านหรือผลิตภัณฑ์เพียงอย่างเดียว แต่ศักยภาพของแม่แตงก็ไม่น้อยหน้าแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมอื่นๆ เขาจึงกาง Roadmap ที่จะทำให้แม่แตงแซงหน้าแหล่งท่องเที่ยวอื่นแบบม้ามืดเลยทีเดียว

“ผมมาบ้านหลังนี้ตอนแรก็ไม่ได้คิดว่าจะขายของอะไรได้หรอก ก็มองว่าเป็นชนบทที่หนึ่งที่มีธรรมชาติ มีวิว มีนั่นมีนี่ ซึ่งก็ไม่ได้ห่างไกล มีเซเว่น มีโลตัส เติมความทันสมัยได้ในบางช่วง แต่สิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกคือเมื่อเราได้มาอยู่จริงๆ มันนอนได้เต็มอิ่มจริงๆ มันไม่มีความวุ่นวาย มันเงียบสงบ อากาศดี มีทะเลหมอกตอนเช้า พอเราแต่งเข้าบ้านนี้ได้ปีสองปี เลยรู้สึกว่าจริงๆ บ้านเรามีของนะ

ผมเลยเข้าไปหาผู้นำชุมชนคือแม่หลวง แม่หลวงถามว่าจะขายให้ใคร แปลว่าสิ่งที่บ้านกาดและแม่แตงขาดคือตลาดและคนผลักดัน แต่ความที่เราเป็นตากล้อง เราจึงมองทุกอย่างเป็นภาพ ถ้าเราจะถ่ายภาพนี้เราต้องคิดว่าจะมีอะไร ง่ายคือต้องมีการจัดองค์ประกอบ ถ้าเราจะขายของได้ ไม่ใช่แค่เรามีวิวแล้วเรียกคนมาดูวิว คนจะมาดูวิวได้ต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวก จะเป็นห้องน้ำไหม อาจเป็นเครื่องดื่มไหม อาหารไหม แล้วเราไกลจากตัวเมืองไหมก็ไม่ไกลมากประมาณ 40 กิโลเมตร เราเป็นข้อต่อของแม่ริมกับเชียงดาว เราจึงไม่บ้านนอกขนาดนั้น ผมเลยมานั่งเสิร์ชเลยว่าในแม่แตงมีอะไรบ้าง มีน้ำตกบัวตอง มีวัดบ้านเด่น มีห้วยน้ำดัง มีเขื่อนแม่งัด บ้านเราเป็นเมืองท่องเที่ยวเลยนะเนี่ย”

‘ครามเฟอีน’ คาเฟ่ของสาวเหนือกับเสืออีสาน ที่ใช้ผ้าและกาแฟพัฒนา อ.แม่แตง

แต่ปัญหาหนึ่งที่ยังทำให้แม่แตงไปได้ไม่สุด คือ ไม่ใช่ทุกคนที่พร้อมเดินหน้า เสือบอกว่าที่ผ่านมายังขาดคนเดินนำ เฉพาะบ้านกาดถึงขนาดว่าเมื่อก่อนแทบจะไม่มีใครขับรถขาเข้ามา จะมีก็ต่อเมื่อที่มีคนไปเที่ยวเขื่อนแม่งัดแล้วกลับมาทางเลี่ยงเมือง บ้านกาดคือใกล้สุด จึงได้คนผ่านมาแค่นั้น ทว่าจากการสื่อสารให้คนรู้จักบ้านกาดและแม่แตงมากขึ้นผ่านร้าน “ครามเฟอีน” กลายเป็นว่าเมื่อปีที่แล้ว ช่วงฤดูหนาวบ้านกาดมีรถจอดกันยาวเป็นแถว

จากร้านกาแฟและผ้าครามจึงเปรียบเสมือนแลนด์มาร์คที่บังเอิญอยู่ตรงประตูเข้าหมู่บ้านพอดิบพอดี แล้วผู้คนก็หลั่งไหลเข้าไปในชุมชน ของดีที่เคยซุกตัวอย่างสงบเสงี่ยมจึงมีคนเห็น

“ยกตัวอย่างมีลุงที่ขายข้าวหลามมา 30 ปี เป็นเจ้าเด็ดของที่นี่ เป็นข้าวหลามแบบโบราณ ตอนนี้ทุกเช้ามีคนมารับไปขายเป็นร้อยๆ กระบอก ส่วนพวกกล้วยตากเดิมทีคนในชุมชนยังไม่รู้จะขายให้ใคร แต่ตั้งแต่ปีที่แล้วที่เราสร้างกระแสที่นี่ขึ้นมา ชาวบ้านก็มาถามว่าถ้าปีนี้แม่ๆ จะทำของมาขายที่ร้านได้ไหม ผมบอกได้เลย เพราะนี่ไม่ใช่แค่ที่ของผม แต่เป็นที่ของชุมชน

สิ่งที่ผมทำถ้าพูดให้ดูเท่คือผมรักชุมชน แต่จริงๆ มันก็คือการสำนึกรักบ้านเกิด แม้ไม่ใช่บ้านเกิดของผมโดยตรง แต่การที่เราอยู่ที่ไหน เราก็เหมือนเป็นคนที่นั่น เราก็อยากพัฒนาให้ดีขึ้น คนที่นี่จะได้ไม่ต้องเดินทางไปทำงานในเมือง ผมจึงเลือกที่จะพัฒนาหมู่บ้านมากกว่าที่จะไปหารายได้จากข้างนอก ถ้าเราทำได้ก็ดีนะ ถึงไม่ดีกับใครอย่างน้อยก็ดีกับเรา อย่างน้อยได้อยู่กับบ้าน ได้อยู่กับชุมชน ไม่ต้องออกไปแสวงหา แต่เราสร้างให้มันดี คนข้างนอกจะวิ่งมาหาเราเอง”

‘ครามเฟอีน’ คาเฟ่ของสาวเหนือกับเสืออีสาน ที่ใช้ผ้าและกาแฟพัฒนา อ.แม่แตง

ความพยายามที่จะสรรสร้างแม่แตงให้ดี เมื่อนำความเป็นลูกอีสานมาจับ จะพบว่าเกี่ยวพันกันอยู่ เสืออธิบายถึงตัวเองว่าเพราะที่อีสานมีความกันดารและแห้งแล้ง มีความทำอะไรไม่ได้ สิ่งแวดล้อมจึงสร้างลูกอีสานให้แกร่งและดิ้นรนเพื่อทำอะไรต่อมิอะไร

“ด้วยปัจจัยพวกนั้นทำให้คนอีสานส่วนหนึ่งคิดว่าฉันทำอะไรไม่ได้ ฉันต้องทำงานในเมืองอย่างเดียว แต่ที่นี่เราใช้ธรรมชาติได้ เรามีธรรมชาติ เรามีทุกอย่างอยู่รอบตัวเราที่สร้างมูลค่าได้ และสิ่งนี้มันตอบโจทย์คนสมัยนี้ได้ คือ เหมือนเราปลูกป่าเพื่อให้ป่าดูแลเรา เราปลูกกาแฟเพื่อให้กาแฟรักษาป่าและป่ารักษาเรา กาแฟมันดีตรงที่เราไม่ต้องไปตัดต้นไม้เพื่อปลูก แต่กาแฟต้องปลูกใต้ร่มไม้ใหญ่

เราไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรที่นี่ เราแค่ใช้แบรนดิ้งของหมู่บ้านที่เป็นธรรมชาติ เราแค่ให้คนรับรู้"

“ครามเฟอีน” จึงเป็นเสมือนร้านกาแฟที่เบลนด์ความฝันของคนหนุ่มสาว และคั่วความคาดหวังที่จะพัฒนาชุมชนให้ดีขึ้น จนได้ความสำเร็จที่หอมกรุ่นของอำเภอแม่แตง

(สนับสนุนการเดินทางโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย)