"สกาลา" ลาก่อนจากนี้และตลอดไป : La Scala
La Scala โรงหนังสกาลา กับการลาก่อนจากนี้และตลอดกาล แต่ความสวยงามของสกาลาจะยังอยู่ในความทรงจำเราตราบนานเท่านาน
สกาลา ในความทรงจำ
“เร็วๆ หนังจะฉายแล้ว” เราและเพื่อน รีบลงจาก รถไฟฟ้า สถานีสยาม วิ่งอย่างไม่คิดชีวิตด้วยความเร็วแสงเพื่อให้ทันภาพยนตร์ฉาย
ถึงจะวิ่งไวจนแทบไม่สังเกตรอบข้าง มาที่นี่ไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง แต่ก็ยังคิดเสมอว่า โรงหนัง อะไรทำไมต้องสวยอลังการขนาดนี้
ครั้งแรกที่ไป สกาลา เราตกตะลึงกับความงามของอาคารเป็นอย่างมาก แทบไม่คิดเลยว่า โรงภาพยนตร์ ที่มีขนาดไม่ไหญ่โตอะไรมากมาย จะต้องสวยงามอลังการได้ถึงเพียงนี้ เวลาเดินขึ้นบันได รู้สึกเหมือนเรากำลังเข้าร่วมงานเลี้ยงอะไรสักอย่าง โคมไฟระย้าแสงนวลตา เส้นโค้งของเสา ที่ทำให้เราละสายตาไม่ได้เลย
ตั๋วหนังที่ไม่เหมือนที่ไหนและสวยกว่าโรงภาพยนตร์ใดๆที่ไปมา อีกทั้ง ชุดพนักงานฉีกตั๋วหนัง อย่างคุณลุงสูทเหลืองแสนสดใส ป๊อปคอร์นราคาสบายใจ ก่อนฉาย ไม่มีโฆษณา มีแต่ตัวอย่างของภาพยตร์ที่จะเข้าฉายในเดือนถัดไป ไม่มีโรงภาพยนตร์ที่ไหน จะสร้างความประทับใจในทุกๆ มุมมองให้กับเราได้ขนาดนี้อีกแล้ว และทุกๆ ครั้งที่ไป เรามักถ่ายรูปเก็บไว้ชื่นชมเสมอ
อ่านข่าว : “สกาลา” โรงหนังที่เป็นมากกว่าโรงหนัง
รุ่งเรือง และร่วงโรยราตามกาลเวลา
ในวันที่ สกาลาประกาศปิดตัว เนื่องจากการถูก ขอคืนพื้นที่ เรารู้สึกใจหายอย่างบอกไม่ถูก แต่ก็ยังเปิดบริการต่ออีกหนึ่งปี ทำให้เราใจชื้นขึ้นบ้าง และคอยหาเวลาว่างเพื่อไปเยี่ยมเยือน แต่เวลาหนึ่งปีผ่านไปไวมาก ใครจะไปรู้ว่าวันหนึ่ง มันจะหายไปอย่างถาวรอย่างแท้จริง
52 ปี ที่ของโรงภาพยนตร์แห่งนี้ ได้สร้างความสุขให้กับผู้คนอย่างมากมาย แต่วันนี้ สกาลา ไม่มีอีกแล้ว ไม่เหลือแม้แต่เสา
เพชรน้ำงามแห่งสถาปัตยกรรม และอาคารอนุรักษ์
สกาลา มีที่มาจากโรงอุปรากรชื่อว่า Teatro alla Scala ที่เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี คำว่า Scala ในความหมายของภาษาอิตาลี แปลว่า บันได ในทางสถาปัตยกรรม “สกาลา คือโรงภาพยนตร์ standalone ที่สวยงามที่สุดในประเทศไทย” ออกแบบโดย คุณจิระ ศิลป์กนก ใช้รูปแบบศิลปะแบบ Art Deco ซึ่งในยุคนั้น คนทั่วไปจะมีทัศนคติต่อศิลปะ Art Deco ว่าเป็นศิลปะแห่งความหรูหรา การใช้เส้นโค้งและเส้นตรงผสานเข้ากันให้เรียบง่ายแต่แข็งแรงและคมชัด ลงตัวและสวยงามอย่างไร้ที่ติ
โรงภาพยนตร์สกาลา เป็นสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ยุคปลาย ผสมกับการประดับลวดลายแบบ Art Deco ดาวเพดานเหล็กพับที่ติดอยู่ด้านบน ไม้แกะสลักรูปพิณบนผนังขนาดใหญ่ และภาพสําริดนูนต่ำ เหนือทางเข้า ส่วนพักคอยของโรงภาพยนตร์ ที่มีเสาคอนกรีตโค้งสูงขึ้นจรดฝ้าเพดาน ลวดลายประดับอื่นๆ ล้วนมีความหมาย เช่น ฝ้าลวดลายม้วนฟิล์ม ลายสลักด้านหลังเคาน์เตอร์ขายตั๋ว บริเวณโถงบันไดขนาดใหญ่ โดดเด่นด้วยโคมไฟระย้าขนาด 3 ตัน สั่งตรงจากอิตาลี ทั้งหมดนี้ส่งเสริมให้สกาลา มีความหรูหราอลังการอย่างปฎิเสธไม่ได้
หากใครได้ชม “The Scala” สารคดีว่าด้วยความรุ่งเรืองและร่วงโรยของการอุทิศตัวของคนทำงานใน โรงหนังสกาลา จะทราบว่า โคมไฟขนาดใหญ่นั้น ต้องถอดล้างทีละชิ้นอย่างนุ่มนวล ซึ่งในการทำความสะอาดแต่ละครั้ง ใช้เวลาและผู้คนจำนวนมากในการถอดและประกอบกลับเข้าไป เพื่อให้สว่างไสว งดงามทุกครั้งที่เปิดใช้งาน
และจากความงดงามในการออกแบบโรงภาพยนตร์นี้ ทำให้สถานที่แห่งนี้ได้รับรางวัล “อนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น ปี 2555” จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์
อำลา สกาลา
รางวัลก็ไม่ได้ทำให้ สกาลา ได้คงอยู่ตลอดไป เมื่อเวลาเปลี่ยนผัน ผู้คนเปลี่ยนผ่าน และมีความต้องการทางเศรษฐกิจในพื้นเป็นที่ตั้ง จะว่าไป การได้อยู่ใจกลางเมืองที่เป็นย่านธุรกิจ ก็ไม่ได้มีผลดีกับทุกคนเสมอไป โรงภาพยนตร์ที่มีสถาปัตกรรมงดงามไร้ที่ติ แสงของโคมไฟระย้าสว่างไสวแสนนุ่มนวล ที่นำเราเดินขึ้นสู่โถงบันได จากนี้และตลอดไป คงไม่ได้เห็นโรงภาพยตร์ที่สวยที่สุดอีกแล้ว ลาก่อน สกาลา