‘มานพ มีจำรัส’ เกือบตายจาก"หลอดเลือดสมองตีบ"แต่ฮึดสู้จนเดินได้

‘มานพ มีจำรัส’ เกือบตายจาก"หลอดเลือดสมองตีบ"แต่ฮึดสู้จนเดินได้

5 ปีที่“มานพ มีจำรัส” ศิลปินเต้นร่วมสมัยป่วยจาก"หลอดเลือดสมองตีบฉับพลัน" ท้อแท้หมดสิ้นทุกอย่าง กว่าจะกลับมายืนหยัดได้ก็เกือบตาย เขาพบว่า การดับของเขาในครั้งนี้ ก็เพื่อเกิดใหม่ เพราะเขายังมีศักยภาพในงานศิลป์

มานพ มีจำรัส ศิษย์เอกของ ครูเล็ก-ภัทราวดี มีชูธน คนนี้เริ่มต้นการเป็นศิลปิน ณ  ภัทราวดี เธียเตอร์ เมื่อปี 2535 ได้รับทุนจากโรงละครไปศึกษาด้านศิลปะการแสดง การเต้นรำ และนาฎยศิลป์รูปแบบต่างๆ

อาทิเช่น บัลเล่ต์,การเต้นร่วมสมัย(Modern Dance) บูโต ( Botoh) กายกรรม( Acrobat)  ศาสตร์การเต้นแบบศิลปะชวา บาหลี ฯลฯ ศึกษามาหลายประเทศทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส แคนาดา ญี่ปุ่น อินโดนีเซียฯลฯ  

‘มานพ มีจำรัส’ เกือบตายจาก\"หลอดเลือดสมองตีบ\"แต่ฮึดสู้จนเดินได้

ความเก่งกาจในด้านการแสดง ฝีมือชั้นครู มีลูกศิษย์มากมาย “มานพ มีจำรัส”  หรือ “ครูนาย” ตัวเขาเองมีผลงานจนได้รับรางวัลมามากมาย รวมทั้งรางวัล ศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดง มีผลงานการแสดงเดี่ยว เต้นร่วมสมัย ที่ตื่นตาตื่นใจด้วยเทคนิคการแสดงที่เป็นเอกลักษณ์

เช่น ใช้ร่างกายสื่อสารให้ผู้ชมตีความ ช่วงหลังเขาได้กำเนิด  “สวนศิลป์บ้านดิน” ที่ ต. เจ็ดเสมียน อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ให้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้ด้านศิลปะ แขนงต่างๆ จุดประสงค์คือ นำศิลปะสู่ชุมชน

สิ่งไม่คาดฝันในชีวิต

แต่แล้วก็เกิดสิ่งไม่คาดฝัน เมื่อต้องล้มป่วยลงด้วยอาการ Stroke หรือ หลอดเลือดสมองตีบฉับพลัน  ร่างกายหมดเรี่ยวแรง จิตใจก็สลาย ต่อสู้ยาวนานเกือบ 5 ปี

จนวันหนึ่งคิดได้ว่าทุกสิ่งบนโลกล้วน “เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป”  สำหรับเขา “ดับ” เพื่อ “เกิดใหม่” อีกครั้งอย่างมีสติ

รักษาตัวนานเกือบ 5 ปี “มานพ ” ในวันนี้ คิดได้ว่า การ “ดับ” ไม่ใช่สิ้นสลาย ทว่าเป็นการ “ดับ” เพื่อ “เกิดใหม่” เขาจึงเตรียมตัวเดินหน้า ทำโครงการต่างๆ ที่เคยคิดไว้ก่อนที่จะล้มป่วย

“เดือนธันวาคม 2564 นี้ก็จะครบ 5 ปีที่ผมล้มป่วยลง ตอนนั้นผมอยู่ในวังวนของตัวเองมากๆ ครุ่นคิดอยู่กับปัญหา ครุ่นคิดอยู่กับความท้อถอย ทำไมฉันต้องมาเป็นแบบนี้ เป็น 5 ปีที่ทุกข์มากจริงๆ ขนาดที่ว่าไม่อยากทำอะไรอีกแล้ว

ตอนนั้นมีคำถามกับตัวเองว่าเต้นไปทำไม เล่นละครไปทำไม ทำงานศิลปะไปทำไม ทำงานเพื่อชุมชนไปทำไม  

แล้วอยู่ๆจิตมันดีดตัวเองขึ้นมาว่า เฮ้ย งานที่เราทำไว้ยังต้องทำต่อนะ  เพราะชีวิตเราคือศิลปิน เราเป็นนักแสดง แล้วผมก็พาจิต พาตัวเองออกมาเยียวยา

‘มานพ มีจำรัส’ เกือบตายจาก\"หลอดเลือดสมองตีบ\"แต่ฮึดสู้จนเดินได้  

ผมเป็นเจ้าของพื้นที่หนึ่ง ทุกคนรู้จักในนาม สวนศิลป์บ้านดิน (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น “บ้านนี้ มีปราชญ์”)ตอนนี้ก็มีคนรุ่นใหม่มาช่วยสานต่อ โดยซื้อที่ของสวนศิลป์ไปครึ่งหนึ่ง แล้วก็เริ่มจัดการ ในการเดินทางครั้งใหม่ของตัวเอง ตอนนี้ผมก็เป็นที่ปรึกษาให้กับน้องๆ”

สู้กับความเจ็บป่วย

มานพ  เล่าต่อไปว่า “ตอนที่ผมป่วยไป ร่างกายอ่อนแรง ยกมือ ยกขาไม่ได้ หลังๆกล้ามเนื้อเดิมของผมกลับมา โดยอัตโนมัติ คุณหมอยังบอกเลยว่า ถ้าเป็นคนอื่นเก่งสุดคือนั่งรถเข็น แต่มหัศจรรย์มากที่ผมเดินได้ แล้วทิ้งไม้เท้าได้ภายใน 3 วันหลังจากเดินออกจากโรงพยาบาล

จาก 2-3 ปีผ่านไปได้คุยกับคุณหมอ กล้ามเนื้อที่ฟื้นขึ้นมาได้เพราะมันเคยเรียนรู้เอาไว้ กล้ามเนื้อเขาเคยฝึกเอาไว้ พอเขาเริ่มมีความรู้สึก สิ่งที่เคยฝึก เคยเรียน เคยสอน กลับมาทำงานเอง  หมอยังบอกว่าจะเจ็บมากกว่าคนอื่น เพราะคุณเคยใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กที่สุดของร่างกาย ซึ่งมันเจ็บลึกจริงๆครับ”

แม้ร่างกายจะเคยล้มป่วยลง เคยคิดว่าเป็นสิ่งที่สูญเสียไป ณ วันนี้ คิดได้แล้วว่า มันคือสิ่งที่ได้กลับมามากกว่า จากกำลังใจของเพื่อนๆ พี่ๆน้องๆหลายคนที่เข้ามาโอบกอด ทำให้เขาฮึดสู้มีกำลังใจ และกล้าพูดในวันนี้ว่า ให้ยอมรับว่า ทุกสิ่งมีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และ ดับไป

“บางคนคิดว่า เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และ ตาย แต่ผมว่า ดับไปเพื่อเกิดสิ่งใหม่ที่สวยงามต่างหาก ทุกคนคิดว่าการ ดับ คือการสลาย การตาย ไม่มีอะไรเหลืออีกแล้ว ความจริงแล้ว มัน ดับ เพื่อเกิดสิ่งใหม่ๆที่งดงามกว่าเดิม เหมือนแม่ที่คลอดเราท่านต้องเจ็บเจียนตาย เพื่อให้ชีวิตใหม่เกิดขึ้นมา

เราเรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้น เหมือนสวนศิลป์บ้านดินที่ตอนแรกผมคิดว่าจะปิด ให้มันตายไปเลย เพราะผมไม่เอาแล้ว ผมป่วย ผมท้อถอย ผมหมดแรง หมดเงิน หมดทุกอย่าง

ตอนนั้นมันดับไปแล้ว และผมคิดว่ามันกำลังจะตาย พอเราเข้าใจคำว่าดับแล้ววันนี้ทุกคนช่วยกันทำให้มันเกิดใหม่”

มานพ ยอมรับว่า เคยเจ็บจนคิดว่ามีวิธีการตายใดที่ไม่เจ็บปวดบ้าง  เขาไม่อยากทำร้ายตัวเอง แต่ก็เจ็บจนแทบทนไม่ไหว หาทางออกไม่ได้ ร้องไห้จนไม่มีน้ำตา ความรู้สึกดำดิ่งลงไปลึกมาก พุทธศาสนา สอนว่า การฆ่าตัวตาย ทำร้ายตัวเองนั้นบาป

“จากคนที่เคยเอะอะโวยวาย ครั้งนี้ รู้สึกตัวเองว่าเย็นลง ทุกคำพูดมีการกลั่นกรองมากขึ้น ความแรงลดลง คิดว่าจะพูดอย่างไรให้มีเหตุผล คนฟังแล้วเข้าใจได้ และทำร้ายคนอื่นให้น้อยที่สุด

จากที่เคยใช้อารมณ์นำ เพราะเป็นนักแสดงเล่นแรงทั้งรัก โลภ โกรธ หลง สุขหรือทุกข์ คูณ 100 คูณ 1,000 ตลอดเวลา ไม่เคยสงบนิ่ง จนวันที่ป่วย...ผมก็ได้ทบทวนตัวเอง"

‘มานพ มีจำรัส’ เกือบตายจาก\"หลอดเลือดสมองตีบ\"แต่ฮึดสู้จนเดินได้

ตลาดบ้านนี้ มีปราชญ์

มานพ กล่าวว่า เด็กรุ่นใหม่ เรียนรู้เรื่องงานศิลปะ เก่งเรื่องเทคนิคในการจัดวาง รู้เรื่องการตลาด แต่ยังไม่รู้จิตของตัวเอง  กว่าตลาด “บ้านนี้ มีปราชญ์” จะเกิดขึ้นมาเป็นรูปเป็นร่าง เคยหลงทางไปไกลมาก เพราะมัวแต่คิดว่า จะให้ใครมาช่วยดี จะเอาเงินลงทุนจากไหน ฯลฯ

“ตอนนั้นทุกคนคิดว่า พี่นายป่วย เดินยังไม่สะดวก จะแสดงยังไง เราหลงไปกระทั่ง ไปทำสวนกระบองเพชร ทำสวนไม้ใบ เราพยายามทำภาพพิมพ์ ฟุ้งไปไกลมาก น้องๆที่มาช่วยสานต่อก็วิ่งกระเซอะ กระเซิง ไปหน่วยงานอื่นๆ

ในที่สุดก็กลับมาคิดว่า เราเริ่มจากสิ่งที่ใกล้ตัวเราที่สุดดีไหม กลับมา ยอมรับกับสิ่งที่เราเหลืออยู่กันดีไหม ศักยภาพจริงๆ ของเราคืออะไร พอน้องได้คีย์เวิร์ดอันนี้จากผม แม้กระทั่งตัวผมเองด้วย ทำให้ทุกอย่างชัดเจนขึ้น ยอมรับในเรื่องที่เกิดขึ้น เหนื่อยน้อยลง

‘มานพ มีจำรัส’ เกือบตายจาก\"หลอดเลือดสมองตีบ\"แต่ฮึดสู้จนเดินได้

เมื่อก่อนผมจะเป็นคนที่คิดว่า อันนั้นไม่ดี อันนี้ก็ไม่สวย เด็กพูดจายังไม่ถูกต้อง เราคิดแต่มุมลบทั้งหมดเลย แต่หลังจากการป่วย เดินทางมาถึงวันนี้ ทำให้ผมได้สมองใหม่ๆ เกิดความคิดใหม่ๆ

ซึ่งจะเป็นงานในอนาคตของผม คือเป็นที่ปรึกษา เป็นผู้ร่วมทำงาน เป็นผู้ร่วมสร้างสรรค์ ผมยังคงทำงานเดิมๆ แต่ชัดเจนขึ้น งานการละครผมก็ไม่ละทิ้ง เพราะนั่นคือชีวิตของผม”

แผนงานปัจจุบันของ “มานพ มีจำรัส” จากวันนี้ก็คือทำ ตลาด “บ้านนี้ มีปราชญ์” และ สอนศาสตร์การละครให้กับเยาวชน อย่างที่ 3 ก็คือ เปิดการแสดงของตัวเขาเอง

‘มานพ มีจำรัส’ เกือบตายจาก\"หลอดเลือดสมองตีบ\"แต่ฮึดสู้จนเดินได้

ตลาด “บ้านนี้ มีปราชญ์” (เทศบาลตำบลเจ็ดเสมียน ซอย 34)เราทำทุกเสาร์-อาทิตย์ ให้คนมาเที่ยวชมเลือกซื้อสินค้าชุมชน เปิดตั้งแต่ 10 โมงเช้า จนถึง 2 ทุ่ม กิจกรรมก็มี Eco Printing เสื้อยืดพิมพ์ลายใบไม้ มีสอนร้อยพวงมาลัยจากกระดาษทิชชู ทำบายศรีจากใบตอง

‘มานพ มีจำรัส’ เกือบตายจาก\"หลอดเลือดสมองตีบ\"แต่ฮึดสู้จนเดินได้

การนำกาบกล้วยมาทำกระเป๋า แบรนด์ตานีสยาม ชุมชนเรามีขนมเปี๊ยะ มีหัวไชโป๊ มีขนมเค้ก ขนมถ้วย  น้ำตาลมะพร้าวสด ฯลฯ สินค้าในตลาดทั้งหมดเราก็เลือกจากที่ชุมชนมี แล้วชุมชนให้ความร่วมมือ เราก็พัฒนาไปด้วยกัน

‘มานพ มีจำรัส’ เกือบตายจาก\"หลอดเลือดสมองตีบ\"แต่ฮึดสู้จนเดินได้

แม้กระทั่งขนมเปี๊ยะ เมื่อก่อนไม่เคยมีไส้หัวไชโป๊ ตอนนี้เราพัฒนาไปถึงขนมเปี๊ยะหัวไชโป๊ไข่เค็ม  ค่าบูธขายของเก็บไม่แพงพอช่วยค่าน้ำค่าไฟให้ตลาดอยู่ได้ ตอนนี้นอกจากสินค้าภายในชุมชนเจ็ดเสมียน ก็มีสินค้าจากชุมชนรอบๆเข้ามาด้วย”

 

‘มานพ มีจำรัส’ เกือบตายจาก\"หลอดเลือดสมองตีบ\"แต่ฮึดสู้จนเดินได้

สอนการละครให้เยาวชน

ละครเป็นอีกสิ่งที่ “ครูนาย” หรือมานพ” คิดเสมอว่า ต้องการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ ปัจจุบันมีนักเรียนในชุมชน และจังหวัดราชบุรี

“ทุกคนอยากทำงานแบบร่วมสมัย ถามว่าร่วมสมัยคืออะไร คำตอบคือ เอาแจ๊สมาใส่ เปลี่ยนดนตรีเป็นฝรั่ง แต่ร่วมสมัยสำหรับผม พอดีผมเป็นนักแสดง รางวัลศิลปาธร ของกระทรวงวัฒนธรรมด้วย และชัดเจนในเรื่องของร่วมสมัย

‘มานพ มีจำรัส’ เกือบตายจาก\"หลอดเลือดสมองตีบ\"แต่ฮึดสู้จนเดินได้

ก็เลยอยากถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ผมมีอยู่ อย่างน้อยๆ ให้คนรุ่นใหม่ๆ ได้มาเรียนรู้ลึกซึ้งขึ้น แต่เขาจะเอาไปทำในสไตล์ของเขาก็ไม่ว่ากัน เพียงแต่อยากถ่ายทอดให้รู้ว่าลักษณะของร่วมสมัยในระดับสากลเป็นแบบไหน”

อยากกลับมาแสดงเดี่ยว

การแสดงเดี่ยวเป็นอีกเป้าหมายของมานพ เขาตั้งใจว่าต้องทำให้ได้แม้ ขณะนี้ยังอยู่ภายในความฝัน

“ยังอยากสร้างมุม พื้นที่เล็กๆของตัวเอง ในตลาดบ้านนี้ มีปราชญ์ นั่นแหละ ลองมาฝึกสิ่งเดิมๆให้ชัดเจนขึ้น เพราะผมโตมากับการที่บอกออกไปว่า รู้แล้ว ทำได้แล้ว ทำได้เร็ว ครูสอนปุ๊บ ทำเลย กระโดดได้ ปีนผ้าได้ ทุกอย่างง่ายเสียจนเราไม่รู้เลยว่า เราทำมันได้อย่างไร

ครั้งนี้ผมอยากทำPerformance ให้ชัดเจนขึ้น ว่าสิ่งที่ตัวเองทำได้จริงๆ ทำได้อย่างไร ถ่ายทอดออกมาให้ละเอียด และเข้าใจจริงๆ ทั้งผู้ส่งสาร และคนรับสาร แต่ยังเป็นโครงสร้างเดิม ร้องเล่น เต้นระบำ การอยู่บนเวทีของผมเหมือนเป็น Safe Zone

รู้สึกว่าไม่มีใครทำร้ายฉันได้ ไม่มีใครเกี่ยวคอฉันลงจากเวทีได้ (หัวเราะ)เพราะนี่คือโลกของฉัน จริงๆนะบนเวทีคือโลกส่วนตัวของผม รู้สึกว่าได้ทำงานกับตัวเอง ความจริงวัยนี้ไม่ต้องเล่นแล้วล่ะ

แต่ผมจะกลับมาเล่นเพื่อทบทวน และเรียนรู้ในสิ่งที่ตัวเองเข้าใจเท่านั้นเอง ผมถือว่าเป็นการเยียวยาตัวเองด้วย ผมหวังว่าการกลับมาแสดงของผมจะเป็นการบำบัดบางอย่าง”