เรื่องเล่า"แม่โพสพ" เมืองพัทลุง ที่คนรุ่นใหม่หลงลืมไปแล้ว
ก่อนปลูกข้าว ทำไมต้องมีพิธี"ทำขวัญข้าว" หรือทำขวัญ"แม่โพสพ" นี่คือ วัฒนธรรมดั้งเดิมที่เกษตรรุ่นใหม่ แทบจะหลงลืมไปแล้ว ลองอ่านเรื่องเล่าจากนักเขียนคนนี้
เรื่องเล่าวิถีชาวนาภาคใต้ในความจำของครูลำใย เพ็งแก้ว ที่หลานๆเรียกนามท่านว่า “อาดำ” ยังมีต่อไปอีกว่า
การเก็บข้าว คนใต้จะใช้แกระเก็บ แกระคือเครื่องมือเก็บเกี่ยวของคนใต้โบราณ (ปัจจุบันใช้เคียวแทน) โดยเก็บด้วยแกระทีละรวง แล้วมัดเป็นกำด้วยซังข้าว เรียกว่า “เลียง”
ผู้ชายจะหาบเลียงข้าวมาเก็บไว้บนเรินข้าว(ฉางข้าว) เมื่อเลียงข้าวแห้งแล้วจะนำมาวางเรียงกันเป็นชั้นๆ เรียกว่า “ลอมข้าว”
การทำลอมข้าวเริ่มจากเอาเลียงข้าวมาวางทับกันเป็นรูปสี่เหลี่ยม แต่ก่อนจะวางต้องทำเป็นหัวใจข้าวไว้ตรงกลางลอมก่อน
เรื่องเล่าแม่โพสพ : การทำหัวใจข้าว
การทำหัวใจข้าว ทำโดยการนำเลียงข้าวสามเลียงมา หันหลัง เข้าหากัน แล้วเอาด้ายสีขาว สีแดง มาผูกมัดด้วยกันโดยรอบ (หลัง หมายถึง ด้านที่พับซังที่ผูกเลียงข้าว)
แล้วนำเลียงอื่นมาวางคว่ำด้านหน้าลงรอบข้าวสามเลียงที่มัดรวมกันโดยรอบเท่ากระด้งใบใหญ่และสูงจนทับข้าวสามเลียงที่ผูกด้วยด้ายสีขาว แดงที่วางไว้ เรียกว่า “หัวใจข้าว” ปัจจุบันนี้หัวใจข้าวของย่านวล เพ็งแก้ว ยังอยู่ที่บ้านอาลำยอง เพ็งแก้ว โดยใส่ถุงพลาสติกเก็บไว้ ย่าเคยเล่าให้ลูกๆ ฟังว่า “ย่าได้หัวใจข้าวนี้มาจากย่าของย่าอีกทีหนึ่ง”
ภาพจากเฟซบุ๊ค นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว
ถ้าได้มากก็ทำลอมใหญ่ รายรั้วทั้งห้องก็ได้ แถวแรกหันหัวเลียงข้าวออกข้างนอกตลอดจนรอบ
จากนั้นจึงหันหัวเลียงเข้าในวางทับรายรั้ว จนเต็มทั้งชั้น นิยมรายข้าวไปทางขวา ชั้นที่สองหันหัวเลียงข้าวเข้าในและวางทับไปทางขวาจนเต็มทั้งชั้น
ทำเช่นนี้ทุกชั้นจนหมดข้าวที่เกี่ยว เมื่อข้าวเก็บเกี่ยวจวนจะหมด ต้องเก็บเลียงข้าวไว้ทำข้าวชุมหัว
เมื่อทำหัวใจข้าวเสร็จแล้วจึงเอาเลียงข้าวมารายรั้วรอบหัวใจข้าวเป็นรูปสี่เหลี่ยมตามที่เจ้าของต้องการ ให้ใหญ่เล็กขึ้นอยู่กับจำนวนข้าวที่ได้
การทำขวัญแม่โพสพ
การทำข้าวชุมหัว จะทำโดยการนำข้าวสามเลียงมาหันหลังเข้าหากันแต่ไม่ต้องมัดด้วยด้าย ข้าวสามเลียงนี้ เรียกว่า “ข้าวชุมหัว” วางไว้ตรงกลางลอมข้าวแล้วเอาเลียงข้าวอื่นมาวางหันหลังเข้าหากันจนรอบข้าวชุมหัว ประมาณไม่เกิน 20 เลียง เรียกข้าวที่วางรอบข้าวชุมหัวนี้ว่า “เพื่อนข้าวชุมหัว” ขณะทำต้องมีคาถากำกับด้วย
การทำขวัญข้าว เมื่อเก็บเกี่ยวเสร็จทำลอมข้าวแล้ว จะรื้อข้าวบนลอมลงมานวดกินเลยไม่ได้ ต้องทำขวัญข้าวก่อน ถือกันว่าเป็นการทำขวัญแม่โพสพ
หากเก็บวันใดเสร็จให้ทำวันนั้นเลยไม่ต้องคำนึงถึงว่าวันดีหรือไม่ คนส่วนใหญ่จึงรอเก็บเกี่ยวให้หมดในวันดี อาจจะเว้นไว้นิดหน่อยก็ได้แล้วค่อยเก็บในวันดีเพื่อได้ทำขวัญข้าวตรงกับวันดี
ถ้าเก็บหมดแล้วไม่ทำขวัญข้าว ต้องไปถามหมอโบราณดูก่อนว่า วันไหนทำขวัญข้าวได้ แล้วรอทำวันนั้น
การทำขวัญข้าว มีของใช้ในพิธีดังนี้ คือ กล้วย อ้อย ถั่ว งา ปลามีหัวมีหาง ขนมโค ขนมขาว ขนมแดง และทำขนมไข่ไก่ ถ้วยสำหรับทำขวัญ เรียกว่า “ถ้วยขวัญ” ต้องใช้ถ้วยขวัญนี้ทำเป็นประจำทุกปี
และยังใช้เขาวัว หมากสามคำ พลูสามใบ โดยม้วนใบพลูมัดรวมกับหมากแล้วเอาแหวนทองหัวสีดำสวมไว้ (แหวนทำขวัญข้าวต้องใช้แหวนที่มีหัวโดยเฉพาะหัวสีดำ) นำเทียนมาวางตรงกลางใบพลู สายสิญจน์ หมากสี่คำ
เมื่อผู้ทำพิธีขึ้นไปบนลอมข้าว วางหมากสี่คำตามมุมลอมข้าวทั้งสี่ มุมละหนึ่งคำ แล้วนำถ้วยขวัญซึ่งจัดไว้เรียบร้อย
ในถ้วยมีขนมโค ขนมขาว ขนมแดง ขนมไข่ไก่ใส่ในถ้วยขวัญ นำพลูซึ่งสวมด้วยแหวนวางไว้ตรงกลางถ้วย เขาวัวใส่น้ำวางในถ้วยเช่นกัน
หมอจุดเทียนและว่าคาถาดังๆ ที่ลุงพร้อมจำได้มีว่า “แหวนเพชรหัวนิล งาช้าง วัวดิน เพชรนิล แหวนหัว เป็นของมงคล สำหรับพาตน กระดูกโคตรวัว...... ช่อตอช่อพร้าว ช่อข้าวสาลี......”
เมื่อหมอทำขวัญข้าวท่องคาถาจนจบซึ่งยาวมากใช้เวลาเกือบชั่วโมง หมอจะนำแหวนทองลงมาคืนเจ้าของพร้อมถ้วยขวัญ เป็นอันเสร็จพิธีการทำขวัญข้าวของต่างๆ ในถ้วยขวัญ เจ้าของจะช่วยกันรับประทานจนหมดไม่ทิ้งขว้างเลย ส่วนสายสิญจน์ติดไว้ก่อนจนครบ 3 วัน จึงเก็บได้
การรื้อข้าวจากลอม
จากนั้นจึงสามารถรื้อข้าวมานวด ตากกินได้ การรื้อข้าวจากลอม ต้องไม่รื้อในวันพระ และผู้หญิงที่มีประจำเดือนขึ้นไปบนลอมข้าวไม่ได้
นอกจากเรื่องการทำพิธีเกี่ยวกับข้าวแล้ว ครูลำใย เพ็งแก้ว ยังตรวจสอบบันทึกคำบอกเล่าเกี่ยวกับพิธีไหว้คอกควายเอาด้วย ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
“การทำพิธีไหว้คอกควาย การทำคอกควาย ต้องมีประตูเข้าออกคอกควาย มีเสาประตูทางซ้ายขวาข้างละ 2 ต้นปักคู่กันทั้งสองข้าง เพื่อเอาไม้มาวางกันมิให้ควายออกจากคอกได้
ไม้กันนี้ต้องมี 3 อัน เรียกว่าหลอดคอก เสาประตูคู่ด้านซ้ายเรียกว่า หมรุนซ้าย คู่ด้านขวาเรียกว่า หมรุนขวา
และเวลาเปิดประตูคอกควาย ต้องเปิดหลอดคอกอันล่างสุดก่อน จากนั้นค่อยเปิดอันบนเรียงขึ้นตามลำดับ
การไหวเจ้าที่คอกควาย เริ่มจากของเซ่น มีดังนี้
1. ไก่ตัวผู้รุ่นกะทง 1 ตัว นำมาฆ่าแล้วต้มโดยไม่ต้องตัดเล็บเท้า-จะงอยปากออก ผ่าท้องเอาเครื่องในออก ทำความสะอาดแล้วใส่คืนในท้องตามเดิมทุกอย่าง เอาหัวไก่ เท้าไก่พับใส่เข้าไปในท้องเช่นกัน เสร็จแล้วมัดด้วยใบตะไคร้ต้มจนสุก
2. เหล้าขาว 1 ขวด ต้องไปเปิดขวดที่ประตูคอกควาย
3. หางใบตอง 1 แผ่น (ปลายใบตอง)
4. เทียนแดง 1 เล่ม
5. หมากตำตะบันหมาก 1 คำ
6. ข้าวสุก 1 ถ้วย
เมื่อเตรียมอุปกรณ์ครบแล้ว นำไปที่ประตูคอกควาย วางทุกอย่างลงที่ประตูคอก แล้วเอาหางใบตองวางตรงหมรุนขวา ปักเทียน หมากตำ เนื้อไก่ฉีกจากตัว ต้องเอาเครื่องในไก่ข้างในออกมาทุกอย่าง ข้าวสุก เหล้า วางทุกอย่างลงบนหางใบตอง
เมื่อเตรียมทุกอย่างเสร็จจุดเทียน ผู้ทำพิธี (ส่วนใหญ่จะเป็นเจ้าของควาย) นั่งลงโดยไม่หันหน้าไปทางทิศตะวันตก แล้วไหว้ชุมนุมเทวดาก่อนต่อด้วยคาถาไหว้คอกควายตามที่ลุงพร้อมจำได้ ขึ้นต้นว่า
“ไหว้ท้าวกรุงแถลง ฤทธิแรงแข็งกล้า ท่านเที่ยวหว่านยา ต้องวัวต้องควาย ต้องช้างต้องม้า มอดม้วยมรณา ฤทธิ์ยาชาญชัย เทพเจ้ารักษา เทียวเทียวไป......ให้เกิดแต่เหมีย
อย่าง่อยอย่าเพลีย อย่าหักอย่าราน รานคอกรานถุน รานนารานบ้าน จำหมอจำควาญ จำคอกจำโรง ให้รู้จักเจ้า ฝูงอื่นอย่าเข้า ให้มาใกล้มูล.......”
คาถาที่ลุงพร้อมจำได้มีแค่นี้ เมื่อว่าคาถาไหว้เสร็จ ผู้ทำพิธีรินเหล้าจากแก้วลงตรงเสาประตูคอกด้านขวาจนหมดครึ่งแก้ว แล้วรอประมาณ 10-15 นาที ก็นำของเซ่นเหล่านี้มารับประทานได้
นี้เป็นเรื่องเก่า เรื่องเล่าจากครอบครัวดิฉัน มีโอกาสจะมาแบ่งปันเล่าให้ฟังเป็นบันทึกความทรงจำจากไพร่บ้านพลเมือง ชาวนาไทย ที่บัดนี้วิถีดั้งเดิมได้เปลี่ยนแปลงไปแทบหมดสิ้น เค้าเงาที่เหลืออยู่ จึงมีค่ายิ่งกับการสืบต่อเก็บไว้ในความทรงจำของลูกหลานรุ่นหลัง
ซึ่งดิฉันมีความหวังมาตลอดว่า เรื่องเล่าของดิฉันจะเป็นแรงบันดาลใจ ให้คนรุ่นใหม่กลับไปสืบค้นชีวิตครอบครัวของแต่ละคน แล้วบันทึกเป็นความจำของแต่ละบ้าน แต่ละชุมชนเก็บเอาไว้
ความทรงจำเหล่านี้มีค่ามากกับอนุชนรุ่นหลัง ขอเราเพียรทำหน้าที่นี้เก็บไว้ให้เป็นมรดกของครอบครัว ของไพร่บ้านเมืองสยามกันด้วยนะคะ
.............
ตามอ่านเรื่องราวได้ที่เฟซบุ๊ค นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว