อ่านข้อกำหนด “ตัวแทนและนายหน้าประกันภัย” ใครบ้าง? ที่สามารถขายกรมธรรม์ให้เราได้
สมัยนี้การขาย “ประกัน” ดูจะง่ายและเข้าถึงตัวเราได้มากกว่าที่เคย เพื่อพิทักษ์สิทธิของเราเอง จึงขอชวนไปดูข้อกำหนด “ตัวแทนประกันภัย” และ “นายหน้าประกันภัย” ว่าต้องมีคุณสมบัติอย่างไร ถึงจะสามารถเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยให้กับบุคคลทั่วไปได้
แม้ว่าทุกวันนี้เราสามารถหาซื้อประกันภัยได้อย่างง่ายดาย แต่เนื่องด้วยประกันภัยมีภาระผูกพันที่จะเกิดขึ้นหลังจากการตกลงซื้อกรมธรรม์ ซึ่งภาระผูกพันที่เกิดขึ้นพร้อมกับหน้าที่ของทั้งฝั่งผู้ค้าหรือผู้ขายประกันภัย และผู้เอาประกันภัย
หากฝ่ายใดไม่สามารถทำหน้าที่ของตน ก็อาจจะมีผลให้อีกฝ่ายเกิดความเสียหายได้ โดยเฉพาะฝั่งผู้เอาประกันภัยที่ต้องได้รับประโยชน์จากการคุ้มครองตามกรมธรรม์ ทำให้ยิ่งกรมธรรม์มีมูลค่าสูงมากเท่าใด ก็ยิ่งจะสร้างความเสียหายให้ได้มากเท่านั้น
ในประเทศไทยได้มีการจัดตั้งหน่วยงานอย่าง สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เพื่อมากำกับและพัฒนาธุรกิจประกันภัยให้มีความมั่งคง และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ในด้านประกันภัยของประชาชน นอกจากนี้ ทางภาครัฐยังได้มีการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์และป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการทำธุรกรรมประกันภัย
ดังนั้น ผู้ที่เสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยให้เรา จึงควรเป็นบุคคลหรือหน่วยงานที่มีคุณสมบัติถูกต้องตามข้อกำหนดทางกฎหมายและจากทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อปกป้องผลประโยชน์ที่ผู้ซื้อประกันภัยควรได้รับ
- ใครคือ “ผู้รับประกันภัย” ?
บริษัทประกันภัย ที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจภัย สามารถเสนอขายประกันภัยได้ด้วยตนเอง หรือสามารถรับประกันผ่านตัวแทนและนายหน้าประกันภัยที่มีคุณสมบัติให้สามารถทำได้ โดยผู้ที่จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนหรือนายหน้าจำเป็นต้องได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน นั่นคือเลขาธิการคปภ. หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย
ความแตกต่างในรายละเอียดของการดำเนินงานของตัวแทนและนายหน้าประกันภัย คือ นายหน้าประกันภัยจะสามารถเสนอขายกรมธรรม์ของบริษัทอะไรก็ได้ หรือไม่มีพันธะผูกพันกับบริษัทประกันภัยไหนเป็นพิเศษ สามารถเป็นได้ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล
ในส่วนของตัวแทนประกันภัยนั้นต้องมีสังกัดกับบริษัทประกันภัย หรืออาจบอกได้ว่า ตัวแทนประกันภัย คือ นายหน้าประกันภัยที่สามารถเสนอขายได้แค่กรมธรรม์ของบริษัทที่ตนสังกัดอยู่ ซึ่งเป็นเพียงบุคคลธรรมเท่านั้นที่จะสามารถทำได้
- ผู้ที่สามารถเสนอขายกรมธรรม์ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร?
ผู้ที่จะสามารถทำหน้าที่เสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยให้กับผู้อื่นได้นั้นต้องมีอนุญาตให้สามารถทำได้ ไม่เช่นนั้นถือว่ามีความผิด สามารถดำเนินการทางกฎหมายเพื่อเอาผิดได้ ฉะนั้น ผู้ที่เป็นตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัยก็ต้องได้รับใบอนุญาตเพื่อเสนอขายกรมธรรม์ตามข้อกำหนดทางกฎหมายนี้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าลักษณะการดำเนินงานของตัวแทนและนายหน้าประกันภัยจะต่างกันเพียงเรื่องการมีสังกัดบริษัทประกันภัย แต่ใบอนุญาตตัวแทนประกันภัย และใบอนุญาตนายหน้าประกันภัย ไม่สามารถใช้แทนกันได้และไม่สามารถมีพร้อมกันได้
โดยข้อกำหนดสำหรับการขอรับใบอนุญาตแต่ละแบบจะมีการระบุไว้ชัดเจนว่า ไม่ให้เป็นตัวแทนของบริษัทประกันภัยใด สำหรับการขอรับใบอนุญาตนายหน้าประกันภัย และสำหรับการขอรับใบอนุญาตตัวแทนประกันภัย ผู้ที่เป็นนายหน้าประกันภัยก็ไม่สามารถทำได้ เพื่อไม่ให้เกิดประเด็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน หากทำเกินขอบข่ายที่ใบอนุญาตกำหนดไว้ ก็สามารถเอาผิดได้เช่นกัน
นอกจากนี้ ประกันภัยที่ถูกแบ่งออกหลักๆ เป็น 2 ประเภท คือ ประกันชีวิตและประกันวินาศภัย โดยการเสนอขายกรมธรรม์ของทั้งสองประเภท ตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัยก็ต้องมีใบอนุญาตที่เจาะจงกับประเภทประกันภัยที่ตนต้องเสนอขาย เพราะไม่สามารถใช้แทนกันได้
สำหรับกรณีนิติบุคคลเป็นนายหน้าประกันภัย ซึ่งต้องมีบุคคลมาทำหน้าที่เสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยแทนนิติบุคคลอีกที บุคคลดังกล่าวก็ต้องได้รับใบอนุญาตเช่นกัน ไม่เช่นนั้นก็ไม่สามารถทำได้
ถึงกระนั้น แม้จะมีอนุญาตครบแล้ว แต่หากยังไม่ได้รับหนังสือมอบอำนาจจากบริษัทประกันภัยให้เสนอขายกรมธรรม์ ตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัยก็ยังไม่สามารถทำได้ มิเช่นนั้นจะถือเป็นความผิด
จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ผู้ซื้อหรือผู้เอาประกันสามารถขอตรวจสอบใบอนุญาตและเอกสารที่เกี่ยวข้องของตัวแทนหรือนายหน้าที่มาเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยให้ตนได้ หากไม่สามารถตรวจสอบได้ก็ไม่ควรที่จะทำธุรกรรม เพราะหากเกิดข้อผิดพลาดขึ้นแล้ว การดำเนินการทางกฎหมายจะมีความยุ่งยากมากขึ้น ซึ่งคนที่อาจต้องสูญเสียผลประโยชน์มากที่สุดก็คือผู้ซื้อประกันภัยเอง
อ้างอิง
สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (1)
สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (2)