"BNK48" และ "CGM48" ขนทัพแปลงร่างเป็นนักแคสเกมใน 48TH GAME CASTER
iAM จับมือ Facebook Gaming ขนทัพศิลปินหญิงไอดอล BNK48 และ CGM48 สร้างคอนเทนต์เกม 48TH GAME CASTER ขานรับกระแสเกมโตต่อเนื่อง
ครูปิ๋ม - เสาวณีย์ กาญจนโอฬารศิริ ชิไฮนิน บริษัท อินดิเพนเด้นท์อาร์ทิสท์เมเนจเม้นท์ จำกัด หรือ iAM (ไอแอม) ต้นสังกัดวง BNK48 และวง CGM48 เปิดเผยว่า “iAM จับมือ Facebook Gaming ภายใต้ชื่อโปรเจค 48TH GAME CASTER
48TH GAME CASTER เป็นโปรเจคคุณภาพสุดยิ่งใหญ่ ที่น่าตื่นเต้นอย่างมากที่ทางบริษัทฯ มีโอกาสได้ร่วมงานกับพาร์ทเนอร์ที่มีฐานผู้ใช้บริการจำนวนมากอย่าง Facebook เพื่อเสิร์ฟคอนเทนต์ไลฟ์สไตล์ให้แฟนๆ ได้สัมผัสความแปลกใหม่ โดยทั้งวง BNK48 และ CGM48 จะพาเหรดเมมเบอร์จำนวนมากผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาสร้างสีสันความสนุกสุด Exclusive และใกล้ชิดกับแฟนๆ ให้หายคิดถึงกันบน Facebook Gaming และโปรเจคนี้ยังหวังผลเพื่อขยายการรับรู้เกี่ยวกับ BNK48 และ CGM48 ในชุมชนเกมเมอร์ของ Facebook ในอนาคตอีกทางด้วย”
ด้าน นุชาภา ตรีวิจิตรศิลป์ ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์พันธมิตรเกมประจำประเทศไทยจาก Meta กล่าวว่า “วิสัยทัศน์ของเราคือ การมอบเครื่องมือเพื่อสร้างชุมชนและทำให้ผู้คนทั่วโลกใกล้ชิดกันมากขึ้น อุตสาหกรรมเกมเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมบันเทิงที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเกมได้กลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้คนก้าวข้ามความแตกต่างทางกายภาพ ภาษา อายุ เพศ ฯลฯ
ในวันนี้ เรามีความยินดีและรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ประกาศความร่วมมือกับ iAM ในการสร้างสรรค์คอนเทนต์เกมที่มีคุณภาพและมีความหลากหลายบนแพลทฟอร์มของเรา”
สำหรับความร่วมมือล่าสุดกับ iAM รวมถึงวงไอดอลหญิงชื่อดังอย่าง BNK48 และ CGM48 ที่จะมาร่วมสร้างคอนเทนต์สุด Exclusive บน Facebook
นุชาภากล่าวเสริมว่า “Meta ให้ความสำคัญและสนับสนุนความหลากหลายทางเพศและการสร้างวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมของคนทุกกลุ่ม เรามีการทำงานต่อเนื่องเพื่อส่งเสริมครีเอเตอร์หญิงในวงการเกมผ่านโครงการ Women in Gaming ของเรา เราจึงรู้สึกตื่นเต้นที่จะได้ต้อนรับวง BNK48 และวง CGM48 เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว Facebook Gaming Community และช่วยส่งเสริมสนับสนุนศักยภาพของผู้หญิงผ่านการเล่นเกมและการพัฒนาอาชีพครีเอเตอร์สายเกมโดยเราหวังว่าคอนเทนต์ใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นไลฟ์สตรีมหรือวิดีโอ จะทำให้แฟนๆ สามารถเข้าถึงและมีส่วนร่วมกับความสนุกนี้กับศิลปินไอดอลหญิงทั้งสองวงได้มากยิ่งขึ้น”
จิรดาภา อินทจักร หรือ ปูเป้ BNK48 เล่าถึงความสนใจเรื่องการเล่นเกมว่าเกิดจากพี่ชายชอบเล่นเกม ปูเป้จึงเล่นตาม แล้วชื่นชอบตั้งแต่เด็กจนโต
“ตอนเด็กหนูติดเกมมาก เวลาปิดเทอมตื่นมาก็อยู่หน้าคอมแล้ว กินข้าวก็กินหน้าคอม พอได้มาแคสเกมให้แฟนๆ ดูก็รู้สึกตื่นเต้น กดดัน เพราะถึงจะชอบเล่นเกมแต่ก็ไม่ได้เล่นเก่งมาก รู้สึกว่าเขาเห็นเราเล่นแล้วจะคิดหรือเปล่าว่าทำไมเราเล่นไม่เก่งเลย แต่ก็เล่นเพื่อความบันเทิง”
ถึงจะบอกว่าโปรเจคนี้จะเพื่อความบันเทิง แต่ปูเป้ก็แอบจริงจังอยู่ไม่น้อย เพราะนี่คือโปรเจคใหญ่ เธอยอมรับว่ามีซุ่มซ้อมอยู่บ้าง เพื่อไม่ให้คนดูต้องผิดหวังกับสกิลการเล่นของเธอจนเกินไป
ด้าน ณัฐกุล พิมพ์ธงชัยกุล หรือ จีจี้ BNK48 ก็เป็นอีกคนที่สนใจเกมเพราะคนใกล้ตัวอย่างพี่ชายเล่นเกม ความรู้สึกของเด็กผู้หญิงที่อยากเข้าสังคมด้วยจึงดึงดูดให้เธอลองเล่นและหลงใหลการเล่นเกม ซึ่งแนวที่เธอชอบคือเน้นสตอรี่ แล้วความชื่นชอบทำให้เคยคิดขั้นว่าอยากพากย์อยากแคสเกมเลยทีเดียว
“หนูเป็นคนชอบพูด ชอบพากย์ เลยชอบพูดไปเรื่อยๆ ในเกม ไม่จำเป็นต้องเล่นเก่ง ถ้าได้ลองสตรีมเกมก็คงดี”
ส่วน วีรยา จาง หรือ วี BNK48 น่าจะเป็นหนึ่งในเมมเบอร์ที่โดดเด่นเรื่องภาพลักษณ์ของเกมเมอร์ที่สุดคนหนึ่ง เพราะเล่นเกมมาตั้งแต่เด็กด้วยความสนุกล้วนๆ เมื่อเกิดโปรเจคนี้ จึงน่าจะเข้าทางเธอเอามากๆ
“โปรเจคนี้ก็เข้าทางนะ แต่หนูเป็นสายโวยวายไง ไม่รู้ว่าตอนสตรีมหนูไม่รู้ว่าจะหลุดไหม (หัวเราะ) กลัวหลุด กลัวคนหนวกหู เพราะหนูโวยวายมาก เสียงดังมาก แต่จริงๆ หนูก็ว่าโวยวายกันทั้งวง”
ความจริงจังนี้ทำให้วีตามรอยปูเป้ไปติดๆ คือ ต้องซ้อมเล่นเกม ซึ่งบางคนอาจไม่รู้ว่าที่เห็นว่าวีเป็นเมมเบอร์สายเกม แต่ความจริงเธอยอมรับว่าเล่นได้ไม่เก่งเหมือนภาพลักษณ์
“คือหนูเล่นกากมาก ทุกคนคิดว่าหนูเก่ง หนูไม่เคยบอกว่าตัวเองเก่งนะ แต่หนูเคยพูดว่าคนจริงต้องลงโพชิงกิ ซึ่งเป็นเมืองหลักที่คนจะลงไปยิงกันเยอะๆ หนูก็พูดไปเฉยๆ แต่ทุกคนคิดว่าหนูเก่ง (ฮา)”
ส่วนจีจี้ก็ยังคงคอนเซปต์ไม่เน้นเล่น แต่เน้นพากย์ เพราะแต่ละเกมของจีจี้จะไม่ได้เน้นเกมเพลย์มากนัก เธอจะเน้นทักษะ MC และ Entertain มากกว่า
“พอเป็นคำว่าสตรีมเกม บางคนคิดว่าต้องเก่ง เลยกดดัน
นอกจากเกมจะสร้างความบันเทิงและเป็นกิจกรรมคลายเครียดแล้ว ประโยชน์ของเกมยังมีอีกหลากหลาย อย่างที่ปูเป้บอกว่าเกมคือสะพานเชื่อมมิตรภาพได้อย่างดี
“ถ้าเราได้เล่นกับเพื่อนๆ ก็ได้กระชับความสัมพันธ์กับเพื่อนๆ มีบ้างที่ทะเลาะกัน แต่เป็นแค่การทะเลาะกันในเกม แต่จบเกมก็เป็นเพื่อนกัน เพราะบางทีก็เป็นแค่การทะเลาะกันเพื่อชัยชนะ ซึ่งการเล่นเกมทำให้ได้พูดคุยกับเพื่อนมากขึ้น อย่างหนูปกติก็จะได้คุยกับแค่พี่ชาย พอมาเล่นกับเพื่อนๆ ในวงก็ได้กระชับความสัมพันธ์กันดี”
สำหรับจีจี้มองว่าเกมในยุคปัจจุบันไม่ใช่แค่เรื่องบันเทิง แต่เป็นอาชีพได้
“เกมเหมือนเป็นงานอดิเรกที่สนุกมาหาเงินได้ ได้อยู่กับสิ่งที่เรารัก แทยที่จะต้องแบ่งเวลามานั่งเล่น แต่นี่คือเล่นไปด้วยได้เงินด้วย”
มาถึงวี จากการคลุกคลีกับเกมมามากมาย สิ่งที่วีได้รับชัดเจนคือการเข้าสังคม การสื่อสาร การจัดการอารมณ์
“เราไม่รู้หรอกว่าคนที่เข้ามาเล่นเกมกับเราเขาคือใคร เราก็ต้องสื่อสารให้ดี จัดการอารมณ์ตัวเองให้ดี ไม่งั้นจะมีปัญหา เกิดเป็น Toxic ขึ้น แล้วมันจะแย่ ยิ่งเป็นการถ่ายทอดสดด้วย”
นอกจากโปรเจคนี้แล้ว เส้นทางเกมเมอร์ของสาวๆ ยังมีอีกหนึ่งโปรเจคใหญ่ นั่นคือการแข่งเกม Pokemon Unite ร่วมกับวงพี่สาวที่ประเทศญี่ปุ่น สำหรับ ปูเป้ และจีจี้ คือหนึ่งในตัวแทนของ BNK48 ที่จะไปฟาดฟันกับเมมเบอร์วงอื่นๆ ใน 48 Group
แน่นอนว่าสายฮาอย่างปูเป้ ก็ฮาไม่ออกเหมือนกัน เพราะไม่ใช่แค่การแข่งกันภายใน จนปูเป้บอกเลยว่า “กดดันมาก”
“เรารวมทีมกันเอง แต่ด้วยความที่ทีมเรารวมตัวกันยาก แล้วพอมาเจอ CGM48 ที่เขาเล่นกันเป็นทีมมากๆ เราก็กดดัน ตอนที่ประกาศรายชื่อไป แฟนคลับบอกว่าเราคือตัวเต็ง เขารู้แค่ว่าทีมนี้มีแต่คนเล่นเกม แต่พวกเราเล่นเกมนี้ไม่เก่ง (หัวเราะ)”
จีจี้ยืนยันถึงความจริงจังว่าแต่ละทีมดูเก่งกาจ จนเธอไม่หวังถึงชัยชนะสักเท่าไร ทำนองว่า “เน้นเข้าร่วม ไม่เน้นเข้ารอบ”
“ทีมเราความหวังริบหรี่มาก (ฮา)” จีจี้บอก
สำหรับคอเกมหรือแฟนคลับ BNK48 และ CGM48 ปูเป้ฝากฝังถึงโปรเจค 48TH GAME CASTER นี้ว่า “อยากให้ทุกคนติดตามรอดูกัน มีเมมเบอร์หลายคนเลยจะมาแคสเกมให้ดู มีเกมหลากหลายมากๆ ก็อยากให้ติดตามดูกันนะคะ”
ด้านวีก็ชวนทุกคนดูเมมเบอร์ในบทบาทใหม่ว่า “ฝากโปรเจคนี้ด้วยนะคะ เพราะเป็นโปรเจคที่ยิ่งใหญ่มาก เป็นครั้งแรกที่ให้เมมเบอร์มาแคสเกม ซึ่งเป็นสิ่งที่เมมเบอร์หลายคนสนใจ แล้วทาง Facebook Gaming ได้ให้โอกาสพวกเรามาแคสเกม อาจจะได้เห็นตัวตนอีกด้านหนึ่งก็ได้”
เกมเมอร์และแฟนๆ สามารถร่วมสนุกและรับชมคอมเทนต์สุดพิเศษจากโปรเจค 48TH GAME CASTER บน Facebook Gaming ได้ที่ fb.gg/48THGameCaster แฮชแท็ก #48THGameCaster โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2564 เป็นต้นไป