”ยูเนสโก" ขึ้นทะเบียน"โนรา"เป็นมรดกทางวัฒนธรรมแล้ว
วันที่16 ธันวาคม 64 "ยูเนสโก" ประกาศขึ้นทะเบียน “โนรา” เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมลำดับที่ 3 ต่อจากโขนและนวดไทย
โนรา เป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านที่ผูกพันกับวิถีชีวิตผู้คน เป็นความรู้ที่สืบทอดต่อกันมาของชาวบ้าน มีเอกลักษณ์ในการร้อง ร่ายรำ
โนรามีรากมาจากพิธีกรรมเพื่อบูชาวิญญาณบรรพบุรุษ โดยการประทับทรงลูกหลานที่เป็นผู้สืบเชื้อสายโนราในพิธีกรรมโนราโรงครู เพื่อเป็นที่พึ่งทางจิตวิญญาณให้ลูกหลาน และโนรายังเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้ท้องถิ่นในภาคใต้
เมื่อก่อนใครจะเรียนโนรา ต้องเป็นสายตระกูล จึงจะมีโอกาสเรียนและต้องเรียนที่บ้านครูโนราเท่านั้น แต่วันนี้เพื่ออนุรักษ์โนราไม่ให้หายไปจากประเทศไทย สถานศึกษาในพื้นที่14 จังหวัดภาคใต้ จึงจัดสอนศิลปะการแสดงพื้นบ้านโนราเป็นหลักสูตรท้องถิ่น
ผศ.นภสมน นิจรันทร์ ผู้วิจัยเรื่อง โนรา สัญลักษณ์ พิธีกรรมตัวตนคนใต้ รอบลุ่มทะเลสาบสงขลายุคโลกาภิวัตน์ เล่าว่า คนในภาคใต้ผูกพันกับการแสดงโนรามาเนิ่นนาน
"นอกจากเรื่องของพิธีกรรมที่โนราเป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยงตาหลวง (บรรพบุรุษสายโนรา)ที่ลูกหลานชาวใต้ศรัทธาแล้ว ส่วนหนึ่งคือโนรายังคงทำหน้าที่ความบันเทิงได้อยู่ โนราตอบโจทย์ 2 อย่าง จึงยังคงดำรงอยู่จนถึงปัจจุบัน
ตำนานโนรา
ตำนานโนราถูกปลุกขึ้นมาให้มีชีวิต ผ่านพลังศรัทธาของลูกหลานทั่วภาคใต้ด้วยการรวมใจสร้างอนุสาวรีย์ครูต้นโนรา 4 องค์ คือ พญาสายฟ้าฟาด แม่ศรีมาลา พระนางนวลทองสำลี และขุนศรีศรัทธา ประดิษฐานที่วัดพระบรมธาตุเขียนบางแก้ว จังหวัดพัทลุง เพื่อเป็นหลักยึดเหนี่ยวทางจิตใจ เตือนให้ระลึกถึงบรรพบุรุษโนรา
โสปรินญา ไชยพลบาล ผู้ศึกษาวัฒนธรรมท้องถิ่นตำนานโนรา ประธานจัดสร้างครูต้นโนรา 4 องค์ นางนวลทองสำลี นางศรีมาลา พญาสายฟ้าฟาด เจ้าเมืองเวียงกลางบางแก้ว และขุนศรีศรัทธา เล่าว่า ครูต้นโนราเป็นต้นกำเนิดบรรพบุรุษคนโนรา
"ทุกคนเป็นลูกหลานทางสายเลือดของครูต้นโนราทั้ง 4 ซึ่งเราหวังว่าที่แห่งนี้จะเป็นศูนย์รวมลูกหลานชาวไทยให้กตัญญูต่อผู้มีพระคุณโดยมีโนราเป็นสื่อกลาง
คนใต้จะสอนให้ลูกหลานบูชา เคารพบรรพบุรุษ เห็นได้จากบุญสารทเดือนสิบ ภาคใต้ให้ความสำคัญกับการทำบุญเพื่อระลึกถึงบรรพบุรุษที่ล่วงลับ
โดยโนราเป็นศิลปะการแสดงที่ทำหน้าที่เชื่อมประสานคุณธรรมกตัญญูรู้คุณซึ่งเป็นหลักธรรมที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา
ท่าร่ายรำของโนรา
หนึ่งในครูโนราผู้ทำหน้าที่ รำบวงสรวงในพิธีหลอมเททองหล่อครูต้นโนราทั้ง 4 องค์ ณ.วัดเขียนบางแก้ว
ผศ.ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมและศิลปะการแสดงโนรา พูดถึงท่าร่ายรำของโนรา นอกจากจะมีความสวยงามแล้วยังมีเรื่องของพลังจิต พลังบารมี แล้วก็พลังเรื่องความเก่งกล้าทางด้านไสยศาสตร์
"เหล่านี้สะท้อนให้เห็นบุคลิกลักษณะของคนภาคใต้มีความเป็นนักเลง ไว้วางใจ เชื่อถือ ยึดมั่นแล้วก็สามารถพึ่งพาในเรื่องต่างๆได้
ศิลปินโนรามีกลวิธีในการถ่ายทอด สืบทอดและรักษา ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับคนรุ่นใหม่ๆ เพื่อเข้าถึงโนราได้ง่ายขึ้น"
ผศ.ธรรมนิตย์ ชี้ให้เห็นว่า โนราดังลำดับต้นๆของภาคใต้ มีวิธีนำเสนอที่แตกต่างกัน อย่าง โนราเกรียงเดช เน้นท่ารำท่าร้องที่เห็นถึงความขลัง ศักดิ์สิทธิ์
โนราไข่เหลี้ยม ย้ำถึงความสนุกสนานใช้เทคนิคการแสดงเข้ามาประกอบ ดึงคนรุ่นใหม่เข้ามาสนใจชม โนราอ้อมจิตรใช้ความน่าเกรงขาม ความนุ่มนวลในแนวผู้หญิง
ส่วนผมรำโนราโดยใช้บทร้องที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราเคารพบูชา เมื่อโนรามีองค์ความรู้เยอะเขาจะมีวิธีการถ่ายทอดและสืบทอดได้ดี ทำให้รู้ว่า “คนโนรา”ไม่ได้หยุดนิ่งแต่ปรับตัวเองเพื่อให้เดินไปต่อได้อย่างมีศักดิ์ศรีกับสังคมที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา"
โอกาสนี้ ศูนย์สื่อศิลปวัฒนธรรม ไทยพีบีเอส ร่วมกับ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม จัดทำสารคดีสั้น ชุดโนราภูมิปัญญาแห่งแผ่นดินขึ้น เพื่อสร้างความเข้าใจและเปิดมุมมองใหม่ด้านศิลปะการแสดงพื้นบ้านโนรา
โนราภูมิปัญญาแห่งแผ่นดิน
ขอเชิญชวนผู้ชมร่วมกันลุ้น เป็นกำลังใจ ให้ศิลปะการแสดงพื้นบ้านโนรา ด้วยการร่วมชมสารคดี สั้น ชุด“โนราภูมิปัญญาแห่งแผ่นดิน”ทั้ง 5ตอน
ในรอยโนรา ปูพื้นสร้างความเข้าใจให้เห็นว่าเส้นทางโนรามาพร้อมกับวิถีชีวิตของบรรพบุรุษบนเส้นทางการค้าตั้งแต่ยุคอดีต ความเชื่อ ศรัทธา บูชาเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของคนภาคใต้ การใช้ชีวิตที่ถูกบอกเล่าผ่านบนกลอนภาษาถิ่นเต็มอิ่มกับโนราที่แต่งกายงดงาม
โนราโรงครู พลังโนราถูกเล่าผ่านพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์โนราโรงครู สะท้อนความรักผูกพัน คิดถึงกันของลูกหลานที่มีต่อบรรพบุรุษ สร้างขวัญ กำลังใจต่อการมีชีวิตอยู่ของลูกหลานได้อย่างทรงพลัง ผ่านครอบครัวชาวบ้านปากพล อ.บางแก้ว จ.พัทลุง
ทรงตายาย สืบสายใยโนราเวทีโรงครู ทำหน้าที่เชื่อมต่อให้ลูกหลานได้พบกับโลกทางวิญญาณของบรรพบุรุษ ผ่านเสียงขับขานบทกลอนของครูหมอโนรา
และร่างทรงซึ่งเป็นคนในตระกูลที่ตายายเลือกเพื่อพูดคุย แนะนำ สอบถามสุขทุกข์ ตักเตือนลูกหลาน รักษาโรคผ่านมิติความเชื่อทางจิตวิญญาณที่คนป่วยอาจป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุใช้คาถาอาคม สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ยากจะอธิบายรักษารอยปาน ที่เรียกว่า “เสน”บนตัวเล็ก จะเห็นการเชื่อมโลกปัจจุบันและโลกวิญญาณ เพื่อสืบทอดถึงลูกหลานจากรุ่นสู่รุ่น ผ่านโนราและยังคง “ดำรงอยู่”ต่อไป
ฟื้นตำนานครูต้นโนรา วัดบรมธาตุเจดีย์ เขียนบางแก้ว เขาชัยสน พัทลุงหมุดหมายลูกหลานโนรา ร่วมเททองหล่ออนุสาวรีย์ 4 ครูต้นโนรา นางนวลทองสำลี นางศรีมาลา พญาสายฟ้าฟาด และขุนศรีศรัทธา
ที่แห่งนี้เป็นจุดเริ่มต้นตำนานโนรา อนุสาวรีย์ครูต้นโนราจะเป็นสิ่งยึดเหนี่ยว ที่พึ่งพิงทางจิตใจให้คนโนราทุกคน ตลอดถึงชาวบ้านผู้มีจิตศรัทธาเกิดเป็นพลังในการใช้ชีวิตด้วยความหวังและพลังใจ
โนราภูมิปัญญาแห่งแผ่นดิน เดิมนั้นใครจะเรียนโนรา ต้องเป็นสายตระกูลจึงจะมีโอกาสเรียนและต้องเรียนที่บ้านครูโนราเท่านั้น มาวันนี้โลกเปลี่ยนไป สถานศึกษาในพื้นที่14 จังหวัดภาคใต้จัดสอนศิลปะการแสดงพื้นบ้านโนราเป็นหลักสูตรท้องถิ่น
หนึ่งในนั้นคือหลักสูตร “ก้างปลามโนราห์ศิลป์” โรงเรียนก้างปลาวิทยาคม อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช
ถึงวันนี้ศิลปะการแสดงพื้นบ้านโนรา ไม่ได้หยุดอยู่แค่ท้องถิ่นอีกแล้ว คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เปิดอบรม/ปฏิบัติการ ทั้งร้องรำโนรา เผยแพร่หวังเป็นศูนย์กลางเชื่อมท้องถิ่นโนราสู่บุคคลทั่วไปร่วมเรียนรู้ในแบบเปิดกว้าง
ติดตามชมสารคดีสั้นชุด “โนราภูมิปัญญาแห่งแผ่นดิน” ในวันที่ 13-17 ธ.ค. 64 ทางไทยพีบีเอส