แสงและเงาอันงดงาม "พระบรมรูป รัชกาลที่9" ที่สถานปฏิบัติธรรมศศิภาวัน
ทุกวันที่ 5 ธันวาคมของปี(นับตั้งแต่ปี 2565) หากใครไปกราบ "พระบรมรูป รัชกาลที่9" ในหอธรรม สถานปฏิบัติธรรมศศิภาวัน จ.นครราชสีมา เวลา 9 นาฬิกา 99 นาที ก็จะได้เห็นความงดงามที่สร้างสรรค์ขึันมา เพื่อน้อมรำลึกถึงพระองค์ท่าน...
อีกผลงานที่ต้องใช้ความรู้หลายด้าน ทั้งการออกแบบแสง สถาปัตยกรรม และวิศวกรรม เพื่อกำหนดให้ลำแสงดวงอาทิตย์ส่องเข้ามากระทบกระจกสะท้อนลงมาที่ พระบรมรูป รัชกาลที่ 9 ทรงบาตร ซึ่งตั้งอยู่ด้านในหอธรรมรัชกาลที่ 9 สถานปฏิบัติธรรมศศิภาวัน อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา
โดยกำหนดช่วงเวลาไว้ที่ 9 นาฬิกา99 นาที หรือ10.39 น. ในวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี ซึ่งสามารถทำได้อย่างแม่นยำ พร้อมเสียงระฆังอัตโนมัติ 9 ครั้ง เพื่อเป็นการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของในหลวง รัชกาลที่ 9
ผศ.ดร.จรรยาพร สไตเลอร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและนวัตกรรมการส่องสว่าง หรือศูนย์ LRIC คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เล่าว่า เรื่องนี้มาจากแนวคิดนิธิ สถาปิตานนท์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาสถาปัตยกรรมร่วมสมัย
ในฐานะที่ปรึกษาด้านแสงธรรมชาติ ผศ.ดร. จรรยาพร กล่าวว่า แสงธรรมชาติ แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ แสงจากดวงอาทิตย์โดยตรง กับ Skylight หรือแสงที่เกิดจากการฟุ้งกระจายที่ไม่ทำให้เกิดเงาชัดเจน เป็นแสงที่ใช้ในการสร้างความสว่างให้กับภายในตัวอาคารมากกว่าแสงชนิดแรก เพราะทำให้เกิดความร้อนในตัวอาคารน้อยกว่า และสบายตากว่า
แต่ในหอธรรม ร.9 แห่งนี้ ศูนย์ LRIC ได้เลือกที่จะใช้แสงจากดวงอาทิตย์โดยตรง เพราะต้องการให้เกิดลำแสงตกกระทบลงบนพระรูป เพื่อเผยให้เห็นความงามจากมิติของแสงและเงา
นอกจากการคำนวณองศาของดวงอาทิตย์ในเวลา 10.39 น. ของวันที่ 5 ธันวาคม กับขนาดและตำแหน่งที่ติดตั้งกระจก ยังรวมถึงทิศทางและขนาดของช่องบนหลังคา
เพื่อให้แสงอาทิตย์ตกกระทบบนกระจกเงา แล้วสะท้อนลงมาบนพระบรมรูปในเวลาที่กำหนด และยังต้องออกแบบให้ลำแสงลงไม่ฟุ้งกระจาย ถือเป็นโจทย์ที่ค่อนข้างท้าทาย
อนุชิต สุคนธทรัพย์ บริษัท สถาปนิก 49 จำกัด กล่าวว่า คุณนิธิ เจ้าของแนวความคิดต้องการออกแบบอาคารโดยใช้แสงธรรมชาติ ในส่วนของโถงพระบรมรูปรัชกาลที่ 9 มีแนวคิดว่าต้องใช้แสงธรรมชาติ ส่องเป็นลำแสงจากด้านบนของอาคาร สะท้อนกระจกลงมาบนพระบรมรูปจากพระพักตร์เบื้องซ้ายไล่ลงมาจนถึงพระบาทในวันที่ 5 ธันวาคมและกำหนดให้เวลานี้ของทุกปี
“เนื่องจากเวลาที่กำหนดเป็นช่วงเวลาเช้า มุมของดวงอาทิตย์จะค่อนข้างต่ำ ไม่สามารถทำให้แสงแดดจากปล่องหรือช่องด้านบนหลังคาลงมาที่พระพักตร์ที่อยู่ด้านล่างได้พอดี จึงต้องออกแบบการใช้กระจกสะท้อนแสงเข้ามาช่วย และหาตำแหน่งที่เหมาะสม
หลังจากได้ทำการติดตั้งทั้งเรื่องแสงและเสียงเสร็จเรียบร้อย เราก็ได้พิสูจน์ในวันที่ 5 ธันวาคมที่ผ่านมา ปรากฏว่าเป็นไปตามที่ออกแบบไว้ทุกขั้นตอน "
ด้าน ดร.ศุภฤกษ์ บุญเทียร อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. กล่าวถึงการติดตั้งระบบตีระฆังอัตโนมัติว่า เนื่องจากสถานที่ติดตั้งระฆังจะถูกแขวนอยู่ภายในห้องโถงของหอธรรม ร.9 จึงเลือกวิธีการตีระฆังจากด้านใน (แบบฝรั่ง) เพื่อความสวยงาม ส่วนจังหวะการตีเราเลือกจังหวะที่ใกล้เคียงกับวัด แต่จังหวะสั้นกว่าเป็นการตีแบบช้าๆ 9 ครั้ง ต่อด้วยจังหวะรัวและตีจบ
"ทั้งนี้ ระบบควบคุมการตีระฆังอัตโนมัติ ยังเป็นสิ่งใหม่สำหรับประเทศ เพราะคนไทยยังนิยมตีระฆังด้วยมือ ขณะที่ต่างประเทศมีการผลิตชุดตีระฆังอัตโนมัติสำเร็จรูปขาย
แต่ระบบตีระฆังอัตโนมัติที่พวกเราพัฒนาขึ้น เป็นสิ่งที่ตอบโจทย์การใช้งานเฉพาะเจาะจง เครื่องมือที่ใช้หาได้ง่ายจากในประเทศ หาชิ้นส่วนซ่อมแซมง่าย ไม่ต้องเปลี่ยนทั้งชุด และราคาไม่แพง ทำให้เริ่มเป็นที่ต้องการภายในเพิ่มขึ้น "