คืนนี้ 19 ธ.ค. รอดู "Micro Full Moon" ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี
สดร.ชวนชม "Micro Full Moon" ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี ระยะห่างจากโลกประมาณ 405,924 กิโลเมตร สังเกตการณ์ได้ตลอดคืน หลังที่ผ่านมาเกิดปรากฎการณ์ธรรมชาติมากมายเกี่ยวกับดวงจันทร์
เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สดร. ชวนคนไทยติดตาม ปรากฏการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี หรือ "Micro Full Moon" เป็นคืนจันทร์เต็มดวงที่ดวงจันทร์จะโคจรอยู่ในระยะไกลโลกมากที่สุดในรอบปี หรือเรียกว่า “ไมโครฟูลมูน” ระยะห่างจากโลกประมาณ 405,924 กิโลเมตร เราจะมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงมีขนาดปรากฏเล็กสุดในรอบปี เริ่มสังเกตดวงจันทร์ได้ด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออก หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า เวลาประมาณ 18:00 น. เป็นต้นไปจนถึงรุ่งเช้า
ความพิเศษของปรากฏกาณณ์ Micro Full Moon คือ “ต้องเป็นช่วงที่ดวงจันทร์เต็มดวงเท่านั้น” แล้วอยู่ในระยะห่างเฉลี่ยมากกว่า 406,000 กิโลเมตร เท่านั้น ซึ่งการโคจรของดวงจันทร์รอบโลกเป็นวงรีนั้น ถึงแม้ในแต่ละเดือนจะมีช่วงที่อยู่ใกล้โลกน้อยกว่า 357,000 กิโลเมตร หรืออยู่ไกลโลกมากกว่า 406,000 กิโลเมตร แต่ก็มักไม่ใช้ช่วงที่ดวงจันทร์เต็มดวง เพราะสิ่งที่นักดาราศาสตร์ให้ความสำคัญและให้ความสนใจก็คือ เฉพาะช่วงที่ดวงจันทร์เต็มดวงเท่านั้น
ดังนั้น จึงเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ได้เกิดบ่อยครั้งนัก ปีหนึ่งๆ จะมีปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นเฉลี่ย 1-2 ครั้ง เท่านั้น
ตัวอย่างแผนภาพแสดงตำแหน่งจุดที่ดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกมากที่สุด เรียกว่า เปริจี (Perigee) และจุดที่ดวงจันทร์อยู่ไกลโลกมากที่สุด เรียกว่า อะโปจี (Apogee)
เทคนิคการถ่ายภาพดวงจันทร์เต็มดวงอย่างง่าย
1. เลือกใช้เลนส์ถ่ายภาพแบบซูเปอร์เทเลโฟโต้เพื่อให้ได้กำลังขยายสูงๆ
2. เลือกโหมดการถ่ายภาพแบบManual หรือโหมด M เพื่อสะดวกในการตั้งค่าต่างๆ
3. ใช้ค่ารูรับแสงประมาณ f/5.6- f/8.0 โดยประมาณ เพื่อให้ได้ภาพที่ชัดทั่วทั้งภาพ
4. ใช้ค่าความเร็วชัตเตอร์ให้สัมพันธ์กับ ทางยาวโฟกัสของเลนส์ที่ใช้ถ่ายภาพ เช่น หากใช้เลนส์ทางยาวโฟกัส 800 mm. ก็ควรใช้ค่าความเร็วชัตเตอร์ไม่ต่ำกว่า 1/800s หรือมากกว่า เพื่อป้องกันภาพสั่นไหว
5. ใช้ค่าความไวแสง หรือค่า ISO ที่เหมาะสมที่ไม่สูงหรือต่ำเกินไปจนภาพดวงจันทร์ขาวสว่างโอเวอร์ หรือมืดจนอันเดอร์ ซึ่งการปรับค่า ISO นั้น อาจเริ่มต้นใช้ที่ ISO : 400 เป็นค่าเริ่มต้น แล้วทดลองถ่ายภาพดูว่าภาพสว่างหรือมืดเกินไป ก็สามารถปรับเพิ่มหรือลดได้ เพื่อให้ได้ภาพที่มีรายละเอียดดีที่สุด
6. สุดท้ายคือการถ่ายบนขาตั้งกล้องที่มั่นคงจะดีที่สุด และหากเลนส์ที่เราใช้ถ่ายภาพมีระบบกันสั่น ก็ต้องปิดระบบ เมื่อถ่ายบนขาตั้งกล้อง แต่หากถ่ายด้วยการถือด้วยมือเปล่าระบบกันสั่นนี้ก็ควรตองเปิดไว้ครับ
ที่มา : narit.or.th