5 นักวิจัยสตรี ทุนลอริอัล ปี64 เพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวม
ทุนวิจัยทุนละ 250,000 บาท โดย"ลอรีอัล"มอบให้นักวิจัยสตรีไทย เพื่อเป็นจุดเริ่มต้น ผลักดันให้งานวิจัยดีๆ ได้เกิดผลเชิงรูปธรรม เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม และต่อยอดในอนาคตได้
ลอรีอัล ประเทศไทย ปีที่ 19 ประกาศรายชื่อ 5 นักวิจัยสตรีผู้มีผลงานวิจัยโดดเด่นเป็นประโยชน์ในการพัฒนาชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม และประเทศชาติ โครงการทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์ (For Women in Science) ประจำปี 2564
โดยมอบทุนวิจัยทุนละ 250,000 บาท ให้กับนักวิจัยสตรีที่มีอายุระหว่าง 25 – 40 ปี ใน 2 สาขา ได้แก่ สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ และสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ
อินเนส คาลไดรา กรรมการผู้จัดการ ลอรีอัล ประเทศไทย กล่าวว่า ข้อมูลจากรายงานของยูเนสโก ระบุว่า จำนวนนักวิจัยหญิงมีสัดส่วนกว่า 33% เท่านั้น ในประเทศไทยนับว่าประสบความสำเร็จในเรื่องการสร้างความเท่าเทียมทางเพศ โดยนักวิจัยในไทย 49.7% เป็นผู้หญิง เราพยายามสนับสนุนให้นักวิจัยสตรีสามารถสร้างสรรค์ผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม
ปี 2564 ได้ให้ทุนวิจัยฯ 5 ทุน แก่นักวิจัยสตรี 5 คน จาก 5 สถาบัน ในสองสาขา คือวิทยาศาสตร์ชีวภาพ และวิทยาศาสตร์กายภาพ
1.งานวิจัยเรื่อง"การศึกษาผลกระทบของความแปรปรวนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศต่อวัฏจักรน้ำในระบบนิเวศป่า”
โดยรองศาสตราจารย์ ดร. พันธนา ตอเงิน ภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
(ดร. วรรณวิภา นักวิจัยสตรีนำเสนอผลงานเรื่อง “การพัฒนาแพลทฟอร์มทางชีววิทยาระบบและไมโครไบโอมเพื่อการทำนายสุขภาพทางเดินอาหารของคนไทย”)
งานวิจัยชิ้นนี้มุ่งประเมินและวิเคราะห์อัตราการใช้น้ำของป่าไม้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งป่าสมบูรณ์และป่ารุ่นสอง เพื่อศึกษาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และความสามารถในการทนแล้งของพันธุ์ไม้ในป่า
นับเป็นงานวิจัยชิ้นแรกในประเทศไทย ที่มีการติดตั้งเสาและอุปกรณ์ตรวจวัดอย่างต่อเนื่องในป่า หากเก็บข้อมูลนานกว่า 30 ปี ก็จะสามารถนําไปวิเคราะห์ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศได้ ช่วยในการวางแผนและบริหารจัดการการใช้น้ำของชุมชนที่จะแม่นยํามากขึ้น
การวิเคราะห์ความทนแล้งของชนิดพันธุ์ต้นไม้ในป่า ยังมีประโยชน์ต่อการคัดเลือกพันธุ์ต้นไม้ที่สามารถทนแล้งได้มาปลูกทดแทน เพื่อฟื้นฟูป่าในพื้นที่ใกล้เคียงได้ เป็นประโยชน์ทั้งด้านวิชาการและเชิงนโยบาย เนื่องจากข้อมูลในป่าเขตร้อนของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงเป็นปริศนาในการศึกษาด้านป่าไม้และการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก
................
(ดร. กมลชนก กับการลงพื้นที่เก็บข้อมูลงานวิจัย “การจัดทำแผนที่ทางพันธุกรรมเพื่อป้องกันโรคเมลิออยด์”)
2.งานวิจัยเรื่อง “การจัดทำแผนที่ทางพันธุกรรมเพื่อป้องกันโรคเมลิออยด์”
โดยดร. กมลชนก ชีวะปรีชา จากหน่วยวิจัยโรคเขตร้อน มหิดล-อ๊อกฟอร์ด และ หลักสูตรชีวสารสนเทศและชีววิทยาระบบ คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
โรคเมลิออยด์เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรีย ที่พบมากในเขตร้อน พบในดินและน้ำ พบมากในภาคอีสาน ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร
อาการของโรคมีหลากหลาย เช่น มีไข้ ติดเชื้อที่ปอด หรือติดเชื้อตามอวัยวะต่าง ๆ ทำให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้ลำบาก มีอัตราเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 40 และปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกัน อีกทั้งยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายและถูกละเลย
นักวิจัยได้รวบรวมฐานข้อมูล DNA และ RNA ของคนไข้ เชื้อที่ก่อโรคในคนไข้ และเชื้อที่พบในแหล่งน้ำ ไปวิเคราะห์ทางสถิติ เพื่อหาว่าพันธุกรรมของเชื้อและคนไข้รูปแบบใดที่ส่งผลต่ออัตราการเสียชีวิตมากที่สุด รวมทั้งหาแหล่งที่มาของเชื้อที่คนไข้ได้รับ
โดยงานวิจัยที่เสร็จสมบูรณ์คือแผนที่ทางพันธุกรรม ซึ่งเป็นประโยชน์โดยตรงในการป้องกันโรค ทั้งระบุแหล่งการแพร่กระจายของเชื้อในแหล่งน้ำ รวมไปถึงการพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันหรือลดความรุนแรงในการติดเชื้อ ลดจำนวนผู้ป่วย และเสียชีวิตจากโรคเมลิออยด์
............................
3.งานวิจัย “การพัฒนาแพลทฟอร์มทางชีววิทยาระบบและไมโครไบโอมเพื่อการทำนายสุขภาพทางเดินอาหารของคนไทย”
โดยรองศาสตราจารย์ ดร. วรรณวิภา วงศ์แสงนาค จากภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ว่ากันว่าร่างกายมนุษย์เปรียบเสมือนบ้านของจุลินทรีย์ การศึกษาเกี่ยวกับยีนของจุลินทรีย์ทั้งหมดในร่างกาย หรือที่เรียกว่า ไมโครไบโอมจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ
มีการศึกษาไมโครไบโอมร่วมกับจีโนมของมนุษย์ จะเป็นประโยชน์ต่อการทำนายโรค การดูแลรักษาสุขภาพ และการออกแบบอาหารเชิงหน้าที่ (Functional Foods)
การสร้างและพัฒนาแพลตฟอร์ม SYSMIOME สามารถนำไปใช้เพื่อทํานายสุขภาพทางเดินอาหารของคนไทย และยังสามารถต่อยอดไปสู่นวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ รวมถึงประยุกต์ใช้เพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์ส่งเสริมสุขภาพ สร้างความสมดุลของจุลินทรีย์ในทางเดินอาหาร
......................
4.งานวิจัย “การพัฒนาวัสดุปิดแผลฟองน้ำเซลลูโลสที่มีสารประกอบเชิงซ้อนของเคอร์คิวมินและไคโตซานสําหรับรักษาบาดแผลเรื้อรัง”
โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อรวรรณ สุวรรณทอง จากสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
เนื่องจากปัจจุบัน มีผู้ป่วยโรคเบาหวาน อัมพฤกษ์ และอัมพาตเป็นจำนวนมาก และมักพบบาดแผลเรื้อรังที่ไม่สามารถรักษาให้หายเองได้
โดยบาดแผลที่เท้าในผู้ป่วยเบาหวาน และบาดแผลกดทับถูกพบมากที่สุดในบรรดาบาดแผลเรื้อรังทั้งหมด ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย และมีปริมาณของเสียจากบาดแผลจำนวนมาก ทำให้การดูแลรักษาบาดแผลใช้ระยะเวลานาน และต้องดูแลรักษาอย่างใกล้ชิดจากผู้เชี่ยวชาญ ทำให้ค่าใช้จ่ายสูง
การใช้วัสดุปิดแผล จึงได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการรักษาผู้ป่วยดังกล่าว วัสดุที่ใช้ต้องมีราคาถูก ไม่เป็นพิษ เข้ากันได้ดีกับเนื้อเยื่อผิวหนัง ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ น้ำและออกซิเจนสามารถแพร่ผ่านได้เหมาะสม ป้องกันการสูญเสียน้ำจากร่างกายเพื่อช่วยรักษาสภาวะของแผลไม่ให้แห้ง และช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น
ด้วยเหตุนี้ ทางคณะผู้วิจัยเล็งเห็นว่า การพัฒนาวัสดุปิดแผลสำหรับรักษาบาดแผลเรื้อรังมีความจำเป็นอย่างมาก เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยให้ได้รับการรักษาบาดแผลอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้พัฒนาวัสดุฟองน้ำที่มีรูพรุน ช่วยดูดซับของเหลวจากบาดแผลได้ดี และมีประสิทธิภาพในการกักเก็บของเหลวได้
โดยใช้พอลิเมอร์ที่ได้จากธรรมชาติ คือ เซลลูโลสจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ฟางข้าว ใบสับปะรด และไคโตซานจากเปลือกกุ้ง กระดองปู เป็นต้น
..................
(ดร. นัดดา กับผลงานวิจัยเรื่อง “การพัฒนาวัสดุนาโนโลหะออกไซด์ เพื่อเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาด้วยแสงสำหรับการย่อยสลายสารประกอบอินทรีย์ที่เป็นมลพิษทางน้ำ” )
5.งานวิจัย “การพัฒนาวัสดุนาโนโลหะออกไซด์ เพื่อเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาด้วยแสงสำหรับการย่อยสลายสารประกอบอินทรีย์ที่เป็นมลพิษทางน้ำ”
โดย รองศาสตราจารย์ ดร. นัดดา เวชชากุล จากภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เนื่องจากอุตสาหกรรมฟอกย้อม ทำให้เกิดน้ำทิ้งจากสีย้อมในกระบวนการผลิตเป็นปริมาณมาก หากไม่มีระบบการบำบัดน้ำทิ้งที่ดีจะนำไปสู่การปนเปื้อนสีย้อม เกิดปัญหาน้ำเน่าเสียได้
การศึกษากระบวนการเร่งปฏิกิริยาด้วยแสงแบบวิวิธพันธ์ ซึ่งเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพสูงในการย่อยสลายสีย้อมในอุตสาหกรรมฟอกย้อม ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์กระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาย่อยสลายสีย้อม นำน้ำกลับมาใช้ซ้ำได้
โดยมุ่งเน้นการออกแบบและพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาด้วยแสงนาโนโลหะออกไซด์ เพื่อเพิ่มอัตราการเร่งปฏิกิริยาการย่อยสลายสีย้อมในน้ำ ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในการบำบัดน้ำเสียได้