การแสดงโขนรามเกียรติ์ ชุด ลักษมีสีดา ชมฉากเด็ดสีดาลุยไฟ
ชมได้ทั่วประเทศข้ามปี การแสดงโขนรามเกียรติ์ ชุด ลักษมีสีดา เปิดการแสดง 14 ครั้งใน 4 ภูมิภาค ชำระบท-แบบแผนท่ารำโดยครูบาอาจารย์นาฏศิลป์ระดับชาติ กรุงเทพฯ ชมฟรี 23 ธ.ค.นี้
คนรัก โขน มีโอกาสชมการแสดงโขนที่มีกำหนดจัดแสดงทั่วประเทศอีกครั้ง เมื่อ กระทรวงวัฒนธรรม โดย สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ เดินหน้า “โครงการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมทั่วทิศแผ่นดินไทย” กำหนดจัดการแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ ชุด ลักษมีสีดา ใน 4 ภูมิภาคของประเทศ ถือเป็นของขวัญจากรัฐบาล เพื่อสร้างความสุขให้กับประชาชนในโอกาสสำคัญต่างๆ
เนื้อเรื่องการแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ ชุด ลักษมีสีดา กล่าวถึงเรื่องราวของนางสีดาที่ทศกัณฐ์ลักพาไปอยู่ยังกรุงลงกา พระรามยกทัพติดตามมาเพื่อนำนางกลับสู่อโยธยา ก่อให้เกิดศึกสงครามระหว่างมนุษย์กับยักษ์
หลังจากทศกัณฐ์สิ้นชีวิต ส่งผลให้สงครามสิ้นสุด พระรามจึงเชิญสีดากลับไปยังอโยธยา ทั้งนี้เพื่อแสดงความบริสุทธิ์และความรักที่มั่นคงต่อพระราม นางสีดาจึงขอพิสูจน์ตนเองต่อหน้าพระรามและเหล่าเทวดาด้วยการลุยไฟ โดยตั้งสัตย์อธิษฐานว่าหากนางซื่อสัตย์ต่อสามี ขออย่าให้มีความร้อนมอดไหม้ แต่หากนางไม่บริสุทธิ์ ขอให้เปลวไฟเผากายหยาบของนาง
จากนั้นเมื่อลุยไฟ จึงเกิดปาฏิหาริย์มีดอกบัวบานผุดขึ้นรองรับพระบาททุกย่างก้าว ไฟมิอาจทำอันตรายต่อนางสีดาได้ จึงเป็นข้อพิสูจน์ว่านางสีดาเป็นผู้บริสุทธิ์ทั้งกายและใจ บ้านเมืองกลับสู่ความสุขสงบร่มเย็นต่อไป
การแสดงแบ่งออกเป็น 4 ฉาก
- ฉากที่ 1 : ตำหนักกรุงลงกา จับตอนกำเนิดนางสีดาแล้วร้องว่า “ผลาญราพณ์” สร้างความตื่นตระหนกไปทั่วกรุงลงกา พิเภกจับยามทำนายแล้วหาทางแก้ไขโดยให้ทศกัณฐ์จับนางสีดาใส่ผอบลอยน้ำไปตั้งแต่แรกเกิด
- ฉากที่ 2 : อุทยาน และหน้าพระลานเมืองมิถิลา จับตอนนางสีดาพบหน้าพระรามครั้งแรก พระรามยกมหาธนูโมลีเพื่อการอภิเษก บรรยายต่อเนื่องถึงสาเหตุที่พระรามต้องออกเดินป่า 14 ปี จนเกิดเหตุนางสีดาถูกทศกัณฐ์ลักพาตัวไปกรุงลงกา
- ฉากที่ 3 : ทศกัณฐ์รบกับพระราม จับตอนพระรามยกทัพไปกรุงลงกา เปิดศึกท้ารบเพื่อชิงตัวนางสีดาคืนและสังหารทศกัณฐ์
- ฉากที่ 4 : สีดาลุยไฟแสดงความบริสุทธิ์
การแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ชุด ลักษมีสีดา ในการแถลงข่าวฯ
บทโขนเรื่องรามเกียรติ์ ชุด ลักษมีสีดา ภายใต้การจัด โครงการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมทุกทิศแผ่นดินไทย เรียบเรียงบทโดย อ.ประเมษฐ์ บุณยะชัย ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์) พ.ศ.2563 บรรจุเพลงโดย อ.ทัศนีย์ ขุนทอง ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปการแสดง (ดนตรีไทย-คีตศิลป์) พ.ศ.2555
“บทโขนครั้งนี้ ผู้ชมจะรู้จักนางสีดาตั้งแต่เกิดจนสุดท้าย แต่เป็นการเล่นที่กระชับ ไม่เกิน 2 ชั่วโมง การทำบทให้สั้นนั้นจึงยากมาก ผมอาศัยความรู้จากครูบาอาจารย์ โดยศึกษาบทพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ในรัชกาลที่ 1 เป็นหลัก กับบทโขนของครูกรมศิลปากรที่ทำไว้ แต่ใช้หมดไม่ได้ จึงใช้วิธีดัดแปลงและตัดต่อแต่ละฉากสำคัญออกมาเป็น 4 ฉาก และใช้การบรรยายคั่นแต่ละตอนเข้าช่วย โดยเฉพาะฉากสุดท้ายในจินตนาการของผม ต้องการแสดงให้เห็นความสัตย์ซื่อและความรักอันมั่นคงของนางสีดา มีเทพเทวดามาอวยพร สื่อถึงราชวงศ์จักรีด้วย” อ.ประเมษฐ์ กล่าวในงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมทั่วทิศแผ่นดินไทย พ.ศ.2565 ณ บริเวณหน้าพระอุโบสถบวรสถานสุทธาวาส (วัดพระแก้ววังหน้า) เมื่อวันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม 2564
ครูบาอาจารย์นาฏศิลป์และศิลปินแห่งชาติชำระท่ารำ
ศิลปินแห่งชาติและครูนาฏศิลป์ระดับประเทศผู้ร่วมชำระการแสดงโขน ชุด ลักษมีสีดา
บทโขน การบรรจุเพลง การร้อง ท่ารำ ของการแสดงโขนชุด ลักษมีสีดา ในโครงการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมทั่วทิศแผ่นดินไทย พ.ศ.2565 ได้รับการชำระโดยครูบาอาจารย์นาฏศิลป์ระดับประเทศอีกหลายท่าน อาทิ รศ.ดร.ศุภชัย จันทร์สุวรรณ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์) พ.ศ. 2548 ผู้กำกับการแสดง, อ.นพรัตน์ศุภการ หวังในธรรม ถ่ายทอดท่ารำนางสีดา, สมศักดิ์ ทัดติ ท่ารำทศกัณฐ์, นฤมัย ไตรทองอยู่, รัตติยะ วิกสิตพงศ์, วีระชัย มีบ่อทรัพย์ (โขนพระ), วิโรจน์ อยู่สวัสดิ์ (โขนลิง), ไพฑูรย์ เข้มแข็ง
กระทรวงวัฒนธรรม โดยสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ จัดส่ง บทโขน ท่ารำ เพลง ที่ได้รับการชำระแล้ว ไปยังหน่วยงานในสังกัดทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ จำนวน 18 แห่ง ประกอบไปด้วยคณะวิทยาลัยนาฏศิลป จำนวน 12 วิทยาลัย และวิทยาลัยช่างศิลป จำนวน 3 วิทยาลัย เพื่อฝึกซ้อมและจัดแสดงให้ประชาชนในพื้นที่ที่หน่วยงานตั้งอยู่และพื้นที่ใกล้เคียงได้ชมศิลปวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติแขนงนี้ รวมไปถึงการจัดการเรียนการสอน การวิจัย ให้บริการทางวิชาการ ตลอดจนส่งเสริม สืบสาน สร้างสรรค์ ทำนุบำรุงและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติ
ตัวอย่างฉากนางสีดาลุยไฟในการแถลงข่าว
โครงการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมทั่วทิศแผ่นดินไทย พ.ศ.2565 การแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ ชุด ลักษมีสีดา กำหนดจัดแสดงตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 – กันยายน 2565 จำนวน 14 ครั้ง ใน 4 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และกรุงเทพมหานคร ดังนี้
- วันที่ 5 ธันวาคม 2564 จัดแสดงที่งานเกลือศิลป์ สร้างสรรค์ ริมเขื่อนศาลเจ้าพ่อหลักเมือง จังหวัดสมุทรสาคร
- วันที่ 7 ธันวาคม 2564 จัดที่งานวัฒนธรรมรวมใจถวายความภักดีน้อมสำนึก เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร วันชาติและวันพ่อแห่งชาติ โรงละครแห่งชาติ ภาคตะวันตก จังหวัดสุพรรณบุรี
- วันที่ 18 ธันวาคม 2564 จัดแสดงที่งานยอยศยิ่งฟ้า อยุธยา มรดกโลก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
- วันที่ 20 ธันวาคม 2564 วิทยาลัยนาฎศิลปจันทบุรี จัดแสดงในงานวันสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ครบ 117 ปี ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี จังหวัดจันทบุรี
- 23 ธันวาคม 2564 คณะศิลปนาฏดุริยางค์ จัดแสดงในงานเที่ยวไทยสไตล์พรีเมียม ครั้งที่ 27 ณ ทรูไอคอนฮอลล์ ชั้น 7 ศูนย์การค้าไอคอนสยาม
- วันที่ 26 ธันวาคม 2564 วิทยาลัยนาฎศิลปเชียงใหม่ จัดแสดงในงานฤดูหนาว ณ อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ จังหวัดเชียงใหม่
- วันที่ 31 ธันวาคม 2564 วิทยาลัยนาฎศิลปร้อยเอ็ด จัดแสดงในงานส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ บริเวณลานหน้าหอโหวดร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด
- วันที่ 17 มกราคม 2565 จัดแสดงที่วันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ประจำปี พ.ศ. 2565 ที่ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
- วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2565 วิทยาลัยนาฎศิลปนครราชสีมา จัดแสดงในงาน “โขนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ครบรอบ 66 พรรษา องค์อุปถัมภ์ศิลปวัฒนธรรมไทย" ณ พิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณ (เฮือนคำมุ) จังหวัดชัยภูมิ
- วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 วิทยาลัยนาฎศิลปพัทลุง จัดแสดงเนื่องในงานวันศิลปินแห่งชาติ ณ สนามหน้าศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี
- วันที่ 3 – 6 มีนาคม 2565 วิทยาลัยนาฎศิลป กาฬสินธุ์ จัดแสดงในงานมหกรรมโปงลาง แพรวา กาฬสินธุ์ ที่ศาลากลางจังหวัดกาฬสินธุ์หลังเก่า
- วันที่ 4 – 6 มีนาคม 2565 วิทยาลัยนาฎศิลปร้อยเอ็ด จัดแสดงในงานบุญผะเหวดประจำปี 2565 ที่บริเวณบึงพลาญชัย อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด
- วันที่ 2 เมษายน 2565 จัดแสดงในวันอนุรักษ์มรดกไทย ที่วังเก่า-วังใหม่ จังหวัดพัทลุง
- วันที่ 25 – 28 กรกฎาคม 2565 วิทยาลัยนาฎศิลปนครศรีธรรมราช จัดแสดงเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ 70 พรรษา พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามรธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ เวทีสนามหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยวิทยาลัยนาฏศิลปนครศรีธรรมราช
- เดือนสิงหาคม 2565 วิทยาลัยนาฏศิลปอ่างทอง จัดแสดงในงานรำลึกเสด็จประพาสต้นล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ที่ศาลากลางจังหวัดอ่างทอง
- ครั้งที่ 14 ที่จังหวัดลพบุรี (อยู่ระหว่างประสานงาน)
นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในการแถลงข่าว
การแถลงข่าวการแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ ชุด ลักษมีสีดา