เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 64 สุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินเเห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2554 ได้ออกมาโพสต์ในเฟซบุ๊คส่วนตัว เผยแพร่เอกสาร แจ้งมติคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติเรื่อง ถูกปลดออกจาก ศิลปินแห่งชาติ อย่างเป็นทางการ
- เหตุผลการยกเลิกให้เป็นศิลปินแห่งชาติ
ตามที่คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ในคราวประชุมครั้งที่ 4/2564 เมื่อวันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม 2564 ซึ่งที่ประชุมได้มีการพิจารณาในการประชุมลับ กรณีการประกาศยกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรติการเป็นศิลปินแห่งชาติ นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี
ซึ่งเป็นการพิจารณาสืบเนื่องจากการยกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรติการเป็นศิลปินแห่งชาติ นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พุทธศักราช 2564
ในคราวประชุมครั้งที่ 3 / 2564 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม 2564 คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ที่เข้าร่วมประชุมให้ยกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรตินายสุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติ
Cr.สุชาติ สวัสดิ์ศรี
เนื่องจากนายสุชาติ สวัสดิศรี ได้ทำการโพสต์ข้อความที่เป็นประเด็นขัดแย้งในสังคมลงในสื่อเฟซบุ๊กอยู่เป็นประจำ โดยมีถ้อยคำหรือภาพที่หมิ่นเหม่ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นสถาบันหลักที่คนไทยทั้งชาติ ให้ความเคารพเทิดทูน โดยไม่สมควรและไม่เหมาะสม
ซึ่งตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 6 องค์พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ เรื่องนี้ถือเป็นวัฒนธรรมในสังคมไทยที่สำคัญ
ซึ่งศิลปินแห่งชาติจะต้องเคารพในหลักวัฒนธรรมไทย และศิลปินแห่งชาติจะต้องมีคุณสมบัติที่เหมาะสม ประพฤติปฏิบัติโดยแสดงออกทางกาย วาจา และจิตใจ ที่ไม่ส่งผลให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย และมีความประพฤติที่เป็นแบบอย่างที่ดีของสังคม
โดยคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติได้ให้ นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี ชี้แจงหรือโต้แย้งคัดค้านการมีมติดังกล่าวภายในสามสิบวันแล้ว แต่มิได้มีการชี้แจ้งหรือโต้แย้งคัดค้านใดๆ
ดังนั้น คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติจึงเห็นว่า การกระทำดังกล่าวของนายสุชาติ สวัสดิ์ศรี เป็นพฤติกรรมที่มีความประพฤติเสื่อมเสียต่อการเป็นศิลปินแห่งชาติ ตามข้อ 10 วรรคสอง ของกฎกระทรวงกำหนดสาขาคุณสมบัติ หลักเกณฑ์
วิธีการคัดเลือก และประโยชน์ตอบแทนของศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2555 และแก้ไขเพิ่มเติมในกฎกระทรวงกำหนดสาขา คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และวิธีการคัดเลือก และประโยชน์ตอบแทนของศิลปินแห่งชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563 ข้อ 2
- ย้อนไทม์ไลน์ ความเคลื่อนไหว
เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นวันที่ 20 สิงหาคม 2564 เมื่อ สมชาย แสวงการ 1 ใน 250 สว. ได้โพสต์เฟซบุ๊คว่า “แว่วข่าวดีคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ มีมติถอดนายสุ…จากศิลปินแห่งชาติแล้ว” สร้างความเคลื่อนไหววิพากษ์วิจารณ์กันมากมายในหมู่ศิลปินหลากหลายแขนง”
วันที่ 28 สิงหาคม 2564 สุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ เจ้าของนามปากกา สิงห์สนามหลวง ได้โพสต์เฟซบุ๊คว่า “ทราบมาว่า กก.วัฒนธรรม จะไม่ทบทวนมติ หนังสือถอดถอนจะมาถึงประมาณวันพุธ เพื่อให้อุทธรณ์ ไม่ว่าข้อกล่าวหาจะเป็นเช่นใด ผมไม่อุทธรณ์”
วันที่ 4 กันยายน 2564 จดหมายถอดถอน ลงวันที่ 30 สิงหาคม 2564 ก็มาถึง สุชาติ สวัสดิ์ศรี มีใจความว่า คณะกรรมการวัฒนธรรมมีมติให้ยกเลิกการเชิดชูเกียรติ นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี เนื่องจากนายสุชาติ ได้ทำการโพสต์ข้อความที่เป็นประเด็นขัดแย้งในสังคมลงในสื่อเฟซบุ๊คเป็นประจำ โดยมีถ้อยคำหรือภาพที่หมิ่นเหม่ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นสถาบันหลักที่คนไทยทั้งชาติให้ความเคารพเทิดทูน โดยไม่สมควรและไม่เหมาะสม
- หนังสือราชการมาช้ากว่าข่าวลือ
วันที่ 8 กันยายน 2564 สุชาติ สวัสดิ์ศรี ได้โพสต์เฟซบุ๊คว่า เรื่อง ‘ยกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรติการเป็นศิลปินแห่งชาติ’ ของผมนั้น แม้ผมจะไม่แยแสแล้ว แต่ก็จำต้องถามหาบรรทัดฐานของความถูกต้อง... ตั้งใจทำให้ผมเสียหาย อับอาย ก่อนจะได้รับหนังสือ ‘ยกเลิกการยกย่อง’ จากกระทรวงวัฒนธรรมอย่างเป็นทางการ ที่มาล่าช้ากว่าข่าวที่ปรากฎถึง 10 วัน
เพื่อต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมและเพื่อสร้างบรรทัดฐานไว้ให้ปรากฎแก่ ‘ศิลปินแห่งชาติ’ คนอื่น ๆ ในเวลาต่อไป เพื่อดำรงขั้นตอนต่าง ๆ ตามกฎหมายให้ถูกต้อง ผมจึงได้มอบอำนาจให้กับทนายจาก ‘ภาคีนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน’ เพื่อช่วยทำความจริงให้ปรากฎว่า
‘การยกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรติการเป็นศิลปินแห่งชาติ’ ของคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรมครั้งนี้ มีความชอบธรรมในคำสั่งทางราชการหรือไม่
- กลุ่มนักเขียน 103 คน ไม่เห็นด้วย
วันที่ 12 กันยายน 2564 กลุ่มนักคิดนักเขียนจำนวน 103 คน อาทิ สุจิตต์ วงษ์เทศ, อธิคม คุณาวุฒิ, ธีระพล อันมัย, บินหลา สันกาลาคีรี, ประจักษ์ ก้องกีรติ เป็นต้น ได้ร่วมกันออก แถลงการณ์ คัดค้านมติยกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ โดยรณรงค์ที่เว็บ Change.org (ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 มีผู้ลงชื่อสนับสนุน 7139 คน) แถลงการณ์ ว่า
“จากมติคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ อ้างเหตุผลการยกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติระบุว่า นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี มีพฤติกรรมเสื่อมเสียโดยการแสดงความเห็นที่เป็นประเด็นขัดแย้งในสังคม มีถ้อยคำหรือภาพที่หมิ่นเหม่ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ผ่านสื่อเฟซบุ๊ค
มติที่ประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติดังกล่าว ก่อให้เกิดปัญหาข้อสงสัยหลายประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบทบาทหน้าที่คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
หนึ่ง ข้อกล่าวหาหมิ่นต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นข้อกล่าวหาที่มีผลกระทบรุนแรง จำเป็นต้องแสดงพยานหลักฐานให้ประจักษ์ชัด ไม่สมควรกล่าวหาอย่างเลื่อนลอยปราศจากหลักฐานอ้างอิง คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติมิใช่ผู้มีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยว่าผู้ใดหมิ่นหรือไม่หมิ่นสถาบัน เนื่องจากบทบาทดังกล่าวเป็นหน้าที่ขององค์กรตุลาการ เป็นการวินิจฉัยเกินเลยบทบาทหน้าที่
สอง หากวัฒนธรรมคือสิ่งที่วิวัฒน์ไปตามความเคลื่อนไหวแปรเปลี่ยนทางสังคม บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติจึงควรติดตามทำความเข้าใจสภาพสังคมอย่างเท่าทัน... และมีขีดความสามารถในการจำแนกแยกแยะได้ว่า พฤติกรรมใดเป็นการปิดหูปิดตาประจบสอพลอ พฤติกรรมใดเป็นข้อเสนอโดยปรารถนาให้สถาบันกษัตริย์อยู่ร่วมกับสังคมที่เข้าถึงข้อมูลข่าวสารเฉกเช่นปัจจุบัน...
ขอเสนอข้อเรียกร้องด้วยการให้ทบทวนและยกเลิกมติดังกล่าวอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้อาจนำไปสู่ขั้นตอนการต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม เพื่อดำรงหลักการความถูกต้องและชอบธรรมอีกหลายคดีความ”
โดยทนายจาก ‘ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน’ แจ้งว่าได้ส่งหนังสือลงวันที่ 10 กันยายน 2564 ถึง ‘ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม’ เรื่อง ‘ขอข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการประชุมพิจารณายกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรติการเป็นศิลปินแห่งชาติ’ โดยมีหนังสือมอบอำนาจของนายสุชาติ สวัสดิ์ศรี แนบไปด้วย และได้ให้เวลา 10 วันในการตอบกลับ
14 ตุลาคม 2564 สุชาติ สวัสดิ์ศรี พร้อมด้วยทนายความเดินทางไปยื่นฟ้องคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ และกระทรวงวัฒนธรรม ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ทบทวนตรวจสอบการใช้อำนาจและเพิกถอนมติของคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติที่ยกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรติการเป็นศิลปินแห่งชาติของตนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรม
พร้อมเรียกร้องให้ กระทรวงวัฒนธรรม ชดใช้ค่าเสียหายต่อการถูกละเมิดสิทธิในเกียรติยศชื่อเสียง เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างร้ายแรง รวม 1,120,000 บาท และขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวการเป็นศิลปินแห่งชาติของนายสุขาติ สวัสดิ์ศรี ไว้จนกว่าจะมีคำพิพากษา