“เดฟั่น” ของ ศิริวร แก้วกาญจน์ ” คว้ารางวัลนวนิยายซีไรต์ ปี 64
การประกาศผลรางวัลใหญ่ในระดับประเทศและเป็นตัวแทนในระดับอาเซียนที่หลายๆ คน รอคอย ในปีนี้เป็นประเภทนวนิยาย ซึ่ง “เดฟั่น ของศิริวร แก้วกาญจน์” ได้รับรางวัล
วันที่ 10 มกราคม 2565 คณะกรรมการคัดเลือกรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือ ซีไรต์ ได้ประกาศว่า ผลงานชนะเลิศนวนิยายประจำปีนี้ ได้แก่ เดฟั่น ของ ศิริวร แก้วกาญจน์
คำประกาศของคณะกรรมการตัดสินรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปีพุทธศักราช 2564 ประเภทนวนิยาย
คณะกรรมการตัดสินรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี พ.ศ.2564 พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า นวนิยายเรื่อง เดฟั่น ของ ศิริวร แก้วกาญจน์ เล่าเรื่องการก่อตั้งชุมชนท้องถิ่นในอดีตเชื่อมโยงกับการตั้งถิ่นฐานของคนในภาคใต้บริเวณเทือกเขาบรรทัดและลุ่มทะเลสาบ
แสดงให้เห็นความหลากลายทางวัฒนธรรมของผู้คน ส่งสารสำคัญว่าด้วยความทรงจำบาดแผลที่ถูกลบเลือน เป็นเสมือนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่เขียนตอบโต้ประวัติศาสตร์กระแสหลัก
ศิริวร แก้วกาญจน์
เดฟั่น ใช้ตำนานวีรบุรุษที่เล่ากันในท้องถิ่นภาคใต้เป็นตัวเดินเรื่องให้สอดร้อยกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในสังคม เล่าเรื่องในลีลาวรรณกรรมแนวสัจนิยมมหัศจรรย์อย่างมีวรรณศิลป์ ผ่านตัวละครเอกคือ เดฟั่น ซึ่งสูญเสียความทรงจำและหลงอยู่ในมิติของห้วงคำนึงที่แหว่งวิ่น
นวนิยายเรื่องนี้เดินเรื่องโดยใช้วิธีตัดต่ออย่างกระชับฉับไว เอื้อให้ผู้อ่านต่อเติมจินตนาการและทาบเทียบประสบการณ์ของตนเข้ากับการล่มสลายของชุมชนท้องถิ่นที่เกิดจากโครงสร้างอำนาจที่ไม่เป็นธรรม ก่อให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจต่อชะตากรรมของมนุษยชาติ
เดฟั่น แสดงให้เห็นพลังของวรรณกรรมในการถ่ายทอดประวัติศาสตร์ที่เล่าไม่ได้และไม่ได้เล่า
คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้นวนิยายเรื่อง เดฟั่น ของ ศิริวร แก้วกาญจน์ ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปีพุทธศักราช 2564
ลงชื่อ
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.กุสุมา รักษมณี ประธานกรรมการตัดสิน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ เวศว์ภาดา กรรมการตัดสิน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สกุล บุณยทัต กรรมการตัดสิน
รองศาสตราจารย์ ดร.ธัญญา สังขพันธานนท์ กรรมการตัดสิน
รองศาสตราจารย์ ดร. นัทธนัย ปราสานนาม กรรมการตัดสิน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสาวณิต จุลวงศ์ กรรมการตัดสิน
พิบูลศักดิ์ ละครพล กรรมการตัดสิน
- ความคิดเห็นจากกรรมการ
ดร.ธัญญา สังขพันธานนท์ กล่าวว่า
โดยภาพรวม นวนิยายเรื่องนี้เล่นกับนวนิยายท้องถิ่น เล่าเรื่องล้อประวัติศาสตร์ เรื่องเล่าชายขอบ ทำหน้าที่ปฏิเสธเรื่องเล่าแม่แบบ หลายๆ เรื่องประวัติศาสตร์ไม่พูดถึง ทั้งที่ดำรงอยู่
ศิริวร เขียนประวัติศาสตร์ที่กระจัดกระจายมาร้อยเรียงขึ้นมาใหม่ ความทรงจำกำหนดตัวตน ตัวตน กำหนดเรื่องเล่า เรื่องเล่ากำหนดประวัติศาสตร์
นิยายเรื่องนี้ นำความทรงจำกระจัดกระจายในตำนานเรื่องเล่ามีสีสันนำมาร้อยเรียงอย่างมีเชิงชั้นวรรณศิลป์ ทำให้กึ่งจริงกึ่งฝันทำให้มีเสน่ห์ ใช้ศิลปะในวรรณกรรม เป็นวรรณกรรมที่เขียนขึ้นมาเพื่อตอบโต้วรรณกรรมกระแสหลักครับ
ทางด้าน พิบูลศักดิ์ ละครพล กล่าวว่า
สิ่งที่ทำให้แตกต่างโดดเด่น อาจจะเป็นเพราะว่าเขาเป็นกวีด้วย ดำเนินเรื่องรวดเร็วเป็นเรื่องเดียวที่ผมอ่านรวดเดียวจบ มันสามารถจูงใจ ไม่ได้หมายความว่าผมไม่ชอบเล่มอื่นในสิบเล่ม ผมชอบหลายเล่มเลย
แต่สิ่งที่ศิริวร ทำได้แตกต่างคือ รู้จักใช้ข้อมูล บทสั้นๆ ชวนติดตามได้เรื่อยๆ มุมมองงดงาม ที่เด่นคือบรรยากาศ มีงานศิลปะ งานละคร งานภาพยนตร์ ความเจิดจ้าของตัวละครส่องสะท้อนอีกด้านหนึ่งคือความหม่นมัว
เป็นความจริงที่เล่าความจริงไม่ได้ ภูกระดาษก็ใช้วิธีนี้ แต่ศิริวร ทำได้งดงาม ศิริวร เป็นความฟั่นเฟือน จำอะไรไม่ได้เลย เป็นสัญลักษณ์ของความเลือน เป็นความจริงที่ต้องพูดด้วยความจริงลวง ผมว่าเหมาะสมมากที่จะให้รางวัลกับศิริวร
- 10 เล่มสุดท้ายที่เข้ารอบ
จากเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 64 คณะกรรมการคัดเลือกรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ได้ประกาศผลงานนวนิยายเข้ารอบสุดท้ายประจำปี 2564 จำนวน 10 เรื่อง ต่อไปนี้
1)24-7/1 ผลงานของ ภู กระดาษ จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์มติชน
2)เกิดในฤดูหนาวที่แดดส่องถึง ของ นทธี ศศิวิมล จัดพิมพ์โดย แพรวสำนักพิมพ์
3)ดำดิ่งสู่เบื้องบน ของ วัฒน์ ยวงแก้ว จัดพิมพ์โดย ผจญภัยสำนักพิมพ์
4)เดฟั่น ของ ศิริวร แก้วกาญจน์ จัดพิมพ์โดย ผจญภัยสำนักพิมพ์
5)ภูเขาน้ำตา ของ อนุสรณ์ มาราสา จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์บลูเบิร์ด
6)รอยสนธยา ของ ทรงศีล ทิวสมบุญ จัดพิมพ์โดย Songsin Things
7)วรรณกรรมที่แท้จริงน่ะ ต้องใช้คอมพิวเตอร์เขียนเท่านั้นไม่รู้เหรอ ของ ร เรือในมหาสมุท จัดพิมพ์โดย บริษัทพะโล้ พับลิชชิ่ง จำกัด
8)วายัง อมฤต ของ อนุสรณ์ ติปยานนท์ จัดพิมพ์โดย Din-Dan Book
9)สุสานสยาม ของ ปราบต์ จัดพิมพ์โดย แพรวสำนักพิมพ์
10)อาณาเขต ของ นิธิ นิธิวรกุล จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์สมมติ