เปิดใจนักเขียน"ซีไรต์" ปี 2564 "ศิริวร แก้วกาญจน์"เจ้าของ"เดฟั่น"
มีเรื่องราวอีกมากที่"นักเขียนซีไรต์"คนนี้ยังไม่ได้เล่า ในจังหวะที่ได้“ซีไรต์” เป็นโอกาสที่ได้บอกเล่าวิธีคิดและชีวิตในงานเขียน
“เดฟั่น เป็นมากกว่าประวัติศาสตร์ มันเป็นประวัติศาสตร์บาดทะยัก มันปวดร้าว มันร้าวราน บ่มความปวดร้าวที่มากกว่าบาดแผล”
ศิริวร แก้วกาญจน์ กวี นักเขียน บรรณาธิการ วัย 53 ปี ชาวนครศรีธรรมราช ผู้ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (Southeast Asian Writers Award) หรือ ซีไรต์ (S.E.A. Write) คนล่าสุด ให้คำจำกัดความสั้นๆ กับผลงานเขียนที่ได้รางวัล
ในงานเสวนา พบนักเขียนซีไรต์ 2564 กับ ผศ.ดร.ธเนศ เวศร์ภาดา นายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยฯ และ ผศ.สกุล บุณยทัต ผ่านทางเพจสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยฯ เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2564
หากย้อนถึงชีวิตนักเขียนซีไรต์ปีนี้ ศิริวร เรียนด้านศิลปะ แล้วเข้ากรุงเทพฯ มาทำงานหนังสือพิมพ์การเมืองรายสัปดาห์ ปี 2534-2535 เกิดเหตุการณ์ พฤษภาทมิฬ ก็ลาออก ไปเดินทาง เขียนรูป เขียนบทกวี
Cr.Siriworn Kaewkan
มีผลงานตีพิมพ์ 25-26 เล่ม เป็นนักเขียนที่มีผลงานเข้ารอบซีไรต์มากที่สุดในประเทศ 9 เล่ม ใน 8 ครั้ง
ได้แก่ รวมกวีนิพนธ์ “ประเทศที่สาบสูญ” ปี 2547, รวมเรื่องสั้น “เรื่องเล่าของคนบันทึกเรื่องเล่าที่นักเล่าเรื่องคนหนึ่งเล่าให้เขาฟัง” ปี 2548, นวนิยาย “กรณีฆาตกรรมโต๊ะอิหม่ามสะตอปา การ์เด” ปี 2549, รวมกวีนิพนธ์ “เก็บความเศร้าไว้ให้พ้นมือเด็กเด็ก” และ “ลงเรือมาเมื่อวาน” ปี 2550
รวมเรื่องสั้น “ข่าวการหายไปของอาริญาและเรื่องราวอื่นๆ” ปี 2551, รวมกวีนิพนธ์ “ฉันอยากร้องเพลงสักเพลง” ปี 2553, นวนิยาย “โลกประหลาดในประวัติศาสตร์ความเศร้า” ปี 2555, รวมกวีนิพนธ์ “ฝันของฝูงกระต่าย” ปี 2562 และล่าสุด นวนิยาย เดฟั่น ปี 2564
และนี่คือเรื่องราวที่จะทำให้หลายคนรู้จัก ศิริวร แก้วกาญจน์ นักเขียนซีไรต์ปีนี้มากขึ้น....
Cr.Siriworn Kaewkan
- นวนิยายเรื่อง“เดฟั่น”มีที่มาอย่างไร
ในห้วงเวลายาวนานที่ทำงานมา มีเรื่องมากมายรอให้ผมเล่าเยอะมาก ถ้าผมมีอายุยืนยาวมากกว่านี้สัก 100-200 ปีก็ยังเล่าไม่หมด เผอิญว่าจังหวะนี้เป็นของเดฟั่น มาเข้าคิวรอให้ผมเล่าก่อน
เริ่มมาจากมหาวิทยาลัยทักษิณ จะพิมพ์หนังสือของนักเขียนภาคใต้ เฉลิมฉลอง 150 ปี ผมที่ถูกเลือกเป็นหนึ่งในจำนวนนั้น ผมคิดถึงเรื่องเล่าของ เดฟั่น มันกระตุ้นให้ผมเขียนออกมาในเวอร์ชั่นเรื่องสั้นขนาดยาว
ผมมีความรู้สึกว่า เดฟั่น มีความดื้อรั้น แล้วก็โจนทะยานต้องการพื้นที่มากกว่าเรื่องสั้น ผมจึงหยิบเวอร์ชั่นเรื่องสั้นมาอ่านทบทวน แล้วรื้อเขียนใหม่เป็นนวนิยาย ออกมาอย่างที่เห็นอยู่
- คำว่า "เดฟั่น" มีความหมายอย่างไร
เหมือนที่นักอ่านทั้งโลกพยายามหาความหมายของบทละครเรื่อง คอยโกโดต์ (Waiting For Godot) ของ แซมมวล เบ็คเก็ต (Samuel Beckett) คือบางทีนักเขียนก็อยากจะทิ้ง หรือพูดอะไรไว้ แล้วไม่ต้องอธิบายอะไรมากกว่านั้น ให้บริบทมันอธิบาย นั่นไม่สำคัญเท่าประเด็นที่นักเขียนอยากจะพูด อยากจะสื่อสาร
อีกอย่างหนึ่ง ผมเป็นแฟนนักอ่านของ ฟรันช์ คาฟคา (Franz Kafka) เรื่อง เมตามอร์โฟซิส (Metamorphosis) ตอนที่พิมพ์ครั้งแรก บรรณาธิการและฝ่ายศิลป์ออกแบบปกหนังสือเป็นรูปแมลงสาบ มนุษย์กลายร่าง
คาฟคาเห็นแล้วบอกว่า มันไม่ใช่แมลงสาบ มันเป็นแมลงอื่น ถ้าตีความเป็นแมลงสาบ ความหมายมันก็หดแคบลง แล้วก็ผิด บิดเบี้ยวไปด้วยซ้ำ
ผมมีมุมมองคล้ายๆ เบ็คเก็ต กับ ฟรันช์ คาฟคา ว่า เราโยนคำนี้ลงไปในชุมชนวรรณกรรม แล้วให้บริบทอธิบายว่า มันคืออะไรกันแน่ นั่นคือความตั้งใจเบื้องต้น
Cr.Siriworn Kaewkan
- ในส่วนของกลวิธีการเล่า คิดอย่างไรถึงใช้วิธีนี้
ผมต้องเสี่ยง ในเมื่อเราค้นพบวิธีเล่าใหม่ เป็นการนำเสนอวิธีเล่าใหม่ ผมก็ลุ้นอยู่สองขั้ว ถ้ามันไม่ถูกเมินเฉย ก็มีฟีดแบคกลับมา มันไม่มีความรู้สึกกลางๆ เลย
ถ้านักอ่านไม่มุ่งเข้าหา เขาก็หันหลังไปเลย เดฟั่น เป็นถ้อยคำที่เราไม่เข้าใจความหมาย แล้วเราเบื่อ ไม่ได้มีเสน่ห์พอที่เราจะไปค้นหาอะไร
- ใช้เวลาเขียนนานไหม
กระบวนการคิด กระบวนการตอนที่เป็น เรื่องสั้น มันนาน แต่ตอนนั่งเขียนเป็นนวนิยาย ไม่นาน ส่วนเวลาที่สั่งสมข้อมูล เวลามันไม่แน่นอนอยู่แล้ว ปรากฎเป็นเรื่องสั้นก่อน ตอนที่เป็นเรื่องสั้นใช้เวลานานกว่าตอนนั่งเขียนเป็นนวนิยาย
- มีเทคนิควิธีสร้างจากเรื่องสั้นให้เป็นนวนิยายอย่างไร
ผมรู้สึกว่า เดฟั่น ฉบับเรื่องสั้น มันไม่ค่อยสนุก เป็นเรื่องเล่าที่ค่อนข้างคร่ำเคร่ง จริงจัง หนักหน่วง ไม่มีพื้นที่ว่าง ไม่มีอากาศให้นักอ่านได้หายใจได้จินตนาการเติมต่อ ต้องแปลงมาเป็นเรื่องเล่าที่มีความสนุกบางอย่าง มีพื้นที่ว่าง ให้นักอ่านได้หายใจ ได้เติมต่อจินตนาการ ระหว่างช่องว่าง ระหว่างวรรค ระหว่างบท
เรื่องนี้มาพร้อมๆ กัน หลายองค์ประกอบ ความทรงจำของเดฟั่น มันถูกตีให้กระจาย เราจะเล่าเรื่องยังไง ให้เป็นเศษเสี้ยว สิ่งที่ปะทุอยู่ในหัวของเดฟั่น นั่นคือแว่บแรก จะทำยังไงให้สอดคล้องต้องกัน
ส่วนประโยคที่ว่า เดฟั่น จำไม่ได้ๆๆ ผมค้นเจอประโยคนี้ตั้งแต่ปี 2550 ตอนได้รางวัลศิลปาธร อาจารย์ชามามาสัมภาษณ์ผม แล้วลองให้ผมแนะนำตัว จะแนะนำอย่างไร ในห้วงเวลานั้นผมก็ตอบว่า
“ศิริวร เขาจำไม่ได้ว่า เขาเกิดที่นครศรีธรรมราช เขาจำไม่ได้ว่า เขาเขียนบทกวีเรื่องสั้นมากี่เล่ม เขาอาจจะจำไม่ได้ว่า ล่าสุดเขาได้รางวัลศิลปาธร”
หลังจากนั้น ผมรู้สึกว่าวิธีการนี้ น่าจะหยิบมาใช้ต่อในเรื่องสั้นหรือนิยายของเรา มันเป็นกลวิธีเหมือนย้อนแย้ง แล้วก็กวนๆ นิดหน่อย ผมพยายามทดลองอยู่หลายเรื่อง มันไม่ลงตัวกับเรื่องไหนเลย ก็ทิ้งไป ลืมไป
จนมาเจอเรื่องเดฟั่น แล้วมันแมทช์กันพอดี เดฟั่นถือกำเนิดขึ้นมา เพื่อที่จะรับวิธีเล่าที่เราพบมาก่อนเป็นสิบปี นำมาใช้ได้
- มีหนังสือเล่มไหนที่ใช้ประกอบการเขียนเรื่องนี้บ้าง หรือได้แรงบันดาลใจจากอะไรบ้าง
ไม่มีเล่มไหนเป็นพิเศษ มันเป็น ประวัติศาสตร์ของภาคใต้ ผมสนใจอ่านเรื่องนี้มาตลอด ต้นทุน หรือข้อมูลพวกนี้ ผมทบทวนอยู่ตลอด เราเป็นคนของคาบสมุทรภาคใต้ในบริบทที่เล็กที่สุด ในขณะที่คนอื่นบอกว่า เป็นคนเอเชีย หรือคนของโลก
เราใช้ชีวิตอยู่ระหว่างสองฟากฝั่งทะเล อันดามันและอ่าวไทย ผมเขียนเดฟั่นจากฝั่งอันดามัน แล้วไปปิดที่ฝั่งอ่าวไทย บ้านเกิดของผมที่อ. เชียรใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช
ตอนเขียนไม่ได้อ่านเล่มไหนเลย แค่รู้สึกว่าจะดึงต้นทุนที่เราสต็อกไว้ในกระโหลกของเราส่วนไหนมาใช้บ้าง
ผมรู้สึกว่า ไม่ว่านักเขียนจะพูดถึงการเมือง การเป็นพื้นถิ่นพื้นบ้าน หรือพูดเรื่องอะไรก็แล้วแต่ เราควรพูดให้ต่างจากสิ่งที่นักวิชาการเขาพูด
นวนิยาย สำหรับผม มันไม่ใช่ ประวัติศาสตร์นิพนธ์ ไม่ว่าเราจะพูดถึงไทม์ไลน์ของประวัติศาสตร์หรือเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นจริง และไม่ได้เป็นคติชนวิทยาด้วย ไม่ได้เป็นเชิงอรรถ ไม่ได้เป็นเครื่องมือของทฤษฎีวิชาการทั้งสิ้น มันเป็นตัวของมันเอง คือนิยาย ถ้ามันจะมีกระดูกสันหลัง มันก็ต้องเป็นของมันเอง
Cr.Siriworn Kaewkan
- ทำไมเลือกวิธีนี้ เดินเรื่องเหมือนภาพยนตร์ กระชับและฉับไว
ขยับขยายมาจาก กวีนิพนธ์ ผมเป็นกวีคนหนึ่งของประเทศนี้ วิธีการของกวี หรือกวีนิพนธ์ ที่เคยใช้ หยิบมาปรับใช้กับเรื่องเล่า กับนวนิยายได้ไหม ท้าทายกับตัวเองเหมือนกัน สิ่งที่เราฝึกฝน เอาไปวางในอีกพื้นที่หนึ่ง หรืออีกขนบหนึ่ง มันจะเกิดอะไรขึ้น
- ส่งเรื่องเข้าประกวดซีไรต์อย่างต่อเนื่อง และไม่เคยได้รับรางวัลเลย เหตุใดยังเขียนส่งอีก
ที่ผมส่งไป มันเป็นจังหวะที่เรามีผลงานรอบกวีนิพนธ์ รอบเรื่องสั้น รอบนวนิยาย เราก็ส่งไป ให้มันหาที่ทางของมันเอง ผมไม่เคยคิดเลยว่าการเข้ารอบ หรือไม่เข้ารอบ ได้หรือไม่ได้ ความพ่ายแพ้หรือชัยชนะ มันไม่อยู่ในหัวเลย
ผมไม่ได้รู้สึกว่าเป็นการแข่งขันกับใครๆ เลย ไม่ได้รู้สึกท้อถอย หรืออะไรประมาณนั้น มันเป็นพลังด้วยซ้ำไปว่า หนึ่ง.เราอาจจะทำงานไม่ดีพอ สอง.อาจจะมีด่านอคติบางอย่างที่ดักอยู่ ก็ไม่รู้
จะเจอกับอะไรก็แล้วแต่ มันไม่ส่งผลต่อความรู้สึกนึกคิดของผม และยิ่งมีพลังด้วยซ้ำไป อย่างน้อยที่สุดเราก็ต้องต่อสู้กับตัวเองให้หนักหน่วงมากกว่านั้น
- ในฐานะบรรณาธิการสำนักพิมพ์ผจญภัย ปั้นนักเขียนซีไรต์มาแล้วถึงสองคน มีวิธีการอย่างไร
อย่าพูดคำว่าปั้นเลย เพราะว่านักเขียนแต่ละคน เขามีลักษณะเด่น มีปัญญา มีตัวตนของเขาเอง ในฐานะบรรณาธิการ ผมก็แค่ตบๆ ตัดแต่งบางส่วน ที่รู้สึกว่ามันพร่องไป มันล้นมา คงความเป็นตัวตนกับเนื้อหาของเขาไว้ ไม่มีใครสร้างใครได้หรอก นักเขียนทุกคนมีตัวตนของเขาอยู่ก่อนแล้ว
ในฐานะบรรณาธิการ ก็แค่ดูแลให้งานเขียนสมบูรณ์ขึ้น ในมุมมองของผมและในทัศนะนักเขียน เป็นการแลกเปลี่ยน แชร์ไอเดียกันมากกว่า เป็นทีมเวิร์ค ถ้านักเขียนไม่เห็นด้วยก็ถกเถียงมา ไม่มีใครมีความคิดเหนือใคร
มีเพื่อนถามว่า ไม่อิจฉาหรือนักเขียน เขียนได้ดีกว่า อ้าว คุณเป็นบรรณาธิการ คุณไม่ใช่นักเขียน ก็ต้องทำหน้าที่บรรณาธิการให้ดีที่สุด
ตอนเราเป็นนักเขียน เราก็จมดิ่งอยู่กับงานของเรา เราก็ต้องการบรรณาธิการที่มองมาจากหลายมุมมองทุกทิศทาง เป็นอิสระจากตัวบท
ตอนผมทำเดฟั่นก็ให้เรืองกิตติ์ รักกาญจนนันท์, จเด็จ กำจรเดช ช่วยดูให้ผม เป็นบรรณาธิการให้ผม ทุกคนมีต้นทุน มีความสามารถ ลำพังคนดียว ผมไม่มีความสามารถที่จะทำเดฟั่นให้ออกมาอย่างที่ทุกคนเห็น
Cr.Siriworn Kaewkan
- เดฟั่น ฉบับพิมพ์ครั้งที่สอง จะมีการปรับแก้หรือพัฒนาเนื้อหาไหม
ผมพยายามเสนอความคลุมเครือไว้ในบทท้ายๆ จงใจระบุเหตุการณ์สงครามกลางเมือง ในกรุงเทพฯ เดือนตุลาคม พ.ศ.2516 มีประโยคคลุมเครือประโยคหนึ่ง การล้อมปราบนักศึกษาในเมืองหลวง ซึ่งนักอ่านหลายคนส่งข้อความมาว่าผิดหรือเปล่า
ผมตอบว่ากลางเมืองหลวง ไม่ใช่ในมหาวิทยาลัยนะ ถ้าผมเขียนว่าในมหาวิทยาลัยนี่ ผมผิดแน่ แต่คำว่ากลางเมืองหลวงตอบชัดแล้วว่า ไม่ใช่ในมหาวิทยาลัย
ในมุมมองของคนชายขอบ ที่ศูนย์กลางจะเห็นอีกภาพหนึ่ง เกิดการล้อมฆ่าในเมืองหลวง ไม่ใช่ธรรมศาสตร์ ในฐานะนักเขียนผมมั่นใจไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์มากว่า ไม่ผิดแน่ๆ ไม่งั้นผมไม่จงใจระบุปีพ.ศ.ไว้หรอก
- ผลงานเขียนเล่มต่อไป จะเป็นแนวไหน
ผมมีต้นฉบับหนังสือที่เตรียมพิมพ์อยู่แล้ว เป็นบทกวี แล้วมีเรื่องสั้นอีกเล่ม กับบางเรื่องที่คิดอยู่ แต่ยังไม่ได้ลงมือเขียน ถ้าเขียนแล้วออกมาเหมือนที่จินตนาการหรือที่คิดไว้ ก็จะพิมพ์ออกมา เดือนกุมภาพันธ์จะมีบทกวีเล่มใหม่ ไม่ต้องห่วงเลย ผมมีต้นฉบับเยอะมาก
- ในฐานะนักเขียน มองความเคลื่อนไหวแวดวงวรรณกรรมไทยในปัจจุบันหรือแนวโน้มอย่างไร
ภาพรวมของวรรณกรรมไทย มันน่าสนใจ ถ้าเทียบกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อนบ้านของเรา เราจะเป็นรองก็แค่ อินโดนีเซีย ส่วน ฟิลิปปินส์ นี่พอฟัดพอเหวี่ยง มาเลเซีย มีสองขั้ว คือกลุ่มนักเขียนจีนในปีนัง กับกลุ่มมุสลิม ที่อาจจะติดขนบศาสนานิดหน่อย เราไม่ทิ้งห่างเขาเท่าไร
เวียดนาม ก็มีประวัติศาสตร์บางชุดที่ส่งเสริมความเป็นนักเขียนเวียดนามให้โดดเด่น ถูกมองเห็นมากกว่านักเขียนไทย ถ้าเทียบแล้ว เราก็อยู่ในกลุ่มกลางๆ
- กว่าจะเป็นนักเขียน ต้องสะสมการอ่านหนังสือเยอะไหม
มันเป็นวิถีชีวิตของเรา เราอ่านอยู่ตลอด มีหนังสือวางอยู่ข้างตัว วางอยู่ตรงโน้น ตรงนี้ อ่านให้กว้างหรือหลากหลาย จะมีประโยชน์กว่า อ่านศาสตร์อื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับวรรณกรรม เราจะได้เครื่องมือหลายๆ แบบ
วิชาการก็อ่าน โบราณคดี เรียลลิสติก วรรณกรรม บทความ ทฤษฎี หลักโครงสร้างนิยมสมัยใหม่ ที่สำคัญกว่าอ่านให้เยอะคือ อ่านให้กว้าง ไม่ควรไปเสพงานแนวใดแนวหนึ่ง
ผมจะเลือกพาตัวเองไปในแวดล้อมที่ส่งเสริมการคิดการเขียน ไม่ว่าเพื่อนฝูงกลุ่มไหนหรือเพื่อนฝูงที่เป็นครูบาอาจารย์ อยู่ท่ามกลางคนที่มีพละกำลัง มีแรงบันดาลใจ เราก็ได้พลังเหล่านั้นมา
มีเด็กหนุ่มคนหนึ่งอายุ 20 มาอยู่กับพวกเรา ผมก็ได้แรงมุ่งมั่นจากเขา สิ่งเหล่านี้มันส่งเสริมหมดเลย ผมโชคดีที่อยู่ท่ามกลางเพื่อนฝูง พี่น้องญาติมิตรที่เป็นพลัง ไม่บั่นทอนเลย