‘สายไหมต้องรอด’ อาสาสมัครสู้โควิด-19 ทุกคนต้องรอดแม้ไม่ได้อยู่ ‘สายไหม’

‘สายไหมต้องรอด’ อาสาสมัครสู้โควิด-19 ทุกคนต้องรอดแม้ไม่ได้อยู่ ‘สายไหม’

นับตั้งแต่โควิด-19 กลายเป็นความเดือดร้อนของผู้คน เวลาเดียวกันนี้ก็ได้เกิดอาสาสมัครภาคประชาชนในแต่ละพื้นที่ ซึ่งในจำนวนนี้มีกลุ่ม "สายไหมต้องรอด" อาสาสมัครจากคนในชุมชนสายไหมที่พร้อมจะประสานงานช่วยเหลือผู้เดือดร้อน

LIVE​ (สด)​ 19/1/65 ไร้เตียง​ ขอความ​ช่วยเหลือ​ #สายไหมต้องรอด ชาวบ้าน​บ้านมั่นคง​ ซอยผักหวาน

สายไหม ไม่สิ้นคนดี พี่บุ๋ม 10/76 ถ.พหล 73 (ตรงข้ามซอยแอนเนกซ์) มอบชุด ATK 100 ชุด ,เครื่องวัดอ๊อกซิเจนปลายนิ้ว 1 ตัว นำไปช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด

ตรวจ​เชื้อ​เชิง​รุก​ บ้านมั่นคง กสบ. - เพิ่มสิน กลุ่มเสี่ยงสัมผัสสูงกับผู้ป่วยติดเชื้อ ทั้งหมดไม่มีการพบเชื้อ เฮ!!!! 

ถ้าคุณติดตามแฟนเพจ “Survive – สายไหมต้องรอด” คุณจะพบกับการรายงานเช่นนี้เป็นประจำ เพราะนี่เป็นเหตุการณ์และความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ทุกๆวัน เช้าบ้าง สายบ้าง บางเคสดึกดื่นเที่ยงคืน แต่เมื่อมีผู้คนต้องการ กลุ่มอาสาสมัคร “สายไหมต้องรอด” ก็พร้อมจะออกไปให้ความช่วยเหลือ   

นับตั้งแต่โควิด-19 กลายเป็นคำและโรคระบาดที่ถูกพูดถึงมากที่สุด เวลาเดียวกันนี้ก็ได้เกิดกลุ่มภาคประชาชน ที่อาสาเป็นสื่อกลางประสานงานระหว่าง “ผู้ต้องการความช่วยเหลือ” กับ “สถานพยาบาล” เช่น กลุ่มเส้นด้าย, อาสาทีมกู้ชีพกู้ภัย อปพร.เขตสาทร, กลุ่มลมหายใจฉุกเฉินซึ่งดูแลชุมชนย่านเขตบางพลัดและบางกอกน้อย

เช่นเดียวกับอาสาสมัครย่านเขตสายไหม กรุงเทพฯ ที่ใช้ชื่อว่า “สายไหมต้องรอด” ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของคนในชุมชน และใช้เครือข่ายที่ตัวเองมีเป็นสื่อกลางบรรเทาความเดือดร้อน ทั้งการส่งน้ำ-ส่งอาหารแก่ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวซึ่ง Home Isolation อยู่ที่บ้าน การประสานอุปกรณ์ทางการแพทย์ และการติดต่อโรงพยาบาลให้กับกลุ่มสีเหลืองและกลุ่มสีแดง ยังรวมถึงการเป็นศูนย์กลางในการทำ Community isolation ในยามที่ชาวบ้านในชุมชนไม่สะดวกกักตัวอยู่กับบ้าน

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” พูดคุยกับ “เอกภพ เหลืองประเสริฐ” หนึ่งในทีมก่อตั้ง และทีมงานกลุ่ม “สายไหมต้องรอด” ถึงบทเรียนของการตั้งกลุ่มอาสาสมัครชุมชนที่แข็งแรง และเป็นที่พึ่งให้กับชุมชน ในวันที่การช่วยเหลือจากส่วนกลางล่าช้าไม่ทันใจความเดือดร้อน

กลุ่มสายไหมต้องรอด  เกิดขึ้นได้อย่างไร?

เป็นคนในพื้นที่สายไหม รู้จักกันมาก่อนแล้ว เป็นนักธุรกิจบ้าง เล่นกีฬาด้วยกันบ้าง รู้จักต่อๆกันมาบ้าง ก็พูดคุยกันมาตั้งแต่ช่วงปี 63 ที่เราเจอโควิด-19 ใหม่ๆ ว่า การบริหารงานของรัฐในการจัดการเรื่องนี้ยังไม่ดีพอ ประชาชนรู้สึกว่ายังหาที่พึ่งไม่ได้ จึงควรทำอะไรสักอย่างเพื่อชุมชนเรา เพื่อเขตสายไหมที่เป็นบ้านของเรา กระทั่งเกิดเป็นกลุ่มจิตอาสาเขตสายไหมเล็กๆ 3-4 คน ก็เริ่มทำตั้งแต่ช่วงนั้นมา และชัดเจนมากขึ้นตอนกลางปี 2564 ซึ่งถ้าจำกันได้สถานการณ์ช่วงนั้นเลวร้ายมาก

‘สายไหมต้องรอด’ อาสาสมัครสู้โควิด-19 ทุกคนต้องรอดแม้ไม่ได้อยู่ ‘สายไหม’ เอกภพ เหลืองประเสริฐ หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มสายไหมต้องรอด

เขตสายไหมเองเป็นพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่มากกว่า 2 แสนคน  มากเป็นลำดับต้นๆในกรุงเทพฯ นอกจากนั้นยังอยู่ใกล้ จ.ปทุมธานีที่ช่วงหนึ่งมีการระบาดเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ แล้วย้อนกลับไปในวันนั้นมันค่อนข้างยุ่งเหยิงมาก เกือบทั้งประเทศยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ยังไม่มีการตรวจ ATK ต้องตรวจ RT-PCR อย่างเดียว และโรงพยาบาลก็ไม่รับตรวจให้กับทุกกรณี คนในชุมชนไม่รู้จะหันไปพึ่งใคร เราก็คิดกันว่า ถ้าต่างคนต่างเก็บตัวอยู่กับบ้าน มีกำลังสั่งอาหารมาทานแบบบ้านใครบ้านมัน แต่ข้างนอกมันแย่ อย่างไรมันก็จะต้องถึงตัวเราอยู่ดี พอในช่วงปี 64 เราจึงอยากทำให้มันใหญ่ขึ้น จึงเริ่มกลุ่มเล็กๆ เปิดแฟนเพจ เปิดเบอร์โทรศัพท์ เพื่อรับแจ้งเรื่องร้องทุกข์ต่างๆ เริ่มจากช่วยเหลือคนในพื้นที่เขตสายไหม เพราะนี่คือบ้านของเรา

‘สายไหมต้องรอด’ อาสาสมัครสู้โควิด-19 ทุกคนต้องรอดแม้ไม่ได้อยู่ ‘สายไหม’

บรรยากาศการลงพื้นที่ช่วยเหลือของกลุ่ม "สายไหมต้องรอด"

รูปแบบการทำงานของ “สายไหมต้องรอด” เป็นอย่างไรบ้าง?

ในช่วงแรกเราเริ่มนำส่งผู้ป่วยหลักสิบรายเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยสีเขียว จากนั้นก็ได้รับแจ้งผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก Survive – สายไหมต้องรอด มากขึ้น วันหนึ่งไม่ต่ำกว่า 100 ราย ตอนช่วงพีคเมื่อปี 64 บางวันแตะถึงหลัก 200 รายด้วยซ้ำ และเราเริ่มเห็นผู้ป่วยสีเหลืองและแดงเพิ่มมากขึ้น จนวันนี้เราช่วยไปมากกว่า 3,000 เคส

พอเรารับแจ้ง ก็จะมีเจ้าหน้าที่ประสานขอข้อมูลผู้ป่วย รูปบัตรประชาชน ที่อยู่ ใบยืนยันตรวจหาเชื้อ (ถ้ามี) อาการล่าสุด และสิทธิ์ที่ใช้ในการรักษา เช่น ประกันสังคม บัตรทอง หรือประกันชีวิต เป็นต้น รวมถึงเบอร์โทรศัพท์ผู้ป่วยหรือญาติด้วย เมื่อได้เตียงเรียบร้อยแล้ว จะไปรับผู้ป่วยและนำส่งโรงพยาบาลต่อไป

สำหรับผู้ป่วยอาการน้อย หรือไม่มีอาการ (ผู้ป่วยสีเขียว) เราจะส่งทีมเข้าไปประเมินอาการทุกวัน มีบริการจัดส่งยา กล่องอุปกรณ์ และอาหาร แต่หากระหว่างรอเตียง อาการแย่ลงจากผู้ป่วยอาการน้อยกลายเป็นผู้ป่วยอาการปานกลาง (ผู้ป่วยสีเหลือง) หรือจากผู้ป่วยอาการปานกลางกลายเป็นผู้ป่วยอาการหนัก (ผู้ป่วยสีแดง) เราจะส่งทีมนำถังออกซิเจนไปช่วยเบื้องต้น ประสานกับโรงพยาบาล

ถ้าเป็นเคสสีเหลืองที่เตรียมจะไปแดง อันนี้ท่าไม่ดีแล้ว เราก็พยายามส่งต่อให้กับสถานพยาบาลที่เหมาะสม ถ้าเป็นเด็กก็จะไปโรงพยาบาลเด็ก ถ้าเป็นผู้สูงอายุก็จะพยายามส่งไปที่ที่เร็วที่สุด หรือถ้าใครมีประกันสุขภาพ เราก็มองถึงโรงพยาบาลในพื้นที่ ซึ่งทั้งหมดเป็นโรงพยาบาลที่เราทำลิสต์ไว้ เป็นเครือข่ายที่เราจะติดต่อไปแต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของผู้ป่วยด้วย

‘สายไหมต้องรอด’ อาสาสมัครสู้โควิด-19 ทุกคนต้องรอดแม้ไม่ได้อยู่ ‘สายไหม’

เราทำหน้าที่แทนชาวบ้านที่ยังอาจไม่รู้ขั้นตอน?

ใช่ เพราะบางคนเขายังไม่รู้เลยว่าต้องติดต่อไปที่ไหน โทรไปหาใครก็ไม่รับ ไอ้ขั้นตอนปฏิบัติงานที่รัฐบาลให้ไวในความจริงมันทำไม่ได้ เป็นความพร้อมใช้งานแบบที่ทำไม่ได้จริง

 มีอยู่เคสหนึ่งที่ผมสะเทือนใจมากคือเคสที่ผู้ป่วยในชุมชนวัดเกาะ พหลโยธิน 54/1 มีแม่เขาป่วยและอาการแย่ลง ลูกๆทั้งหมดยืนล้อมพวกเราและพนมมือขอร้องให้นำตัวไปโรงพยาบาลให้หน่อย เขาบอกเขาหมดหนทางแล้ว โทรไปก็ไม่มีใครรับ ทุกสายด่วนที่มี ไม่มีใครรับเคสเลย และจนบัดนี้เรายังไม่เข้าใจว่าที่บอกเตียงว่างคืออะไร ทั้งที่ติดต่อไปก็ไม่มีคนรับ เราพยายามแบ่งเบาหน้าที่ภาครัฐ ที่เราเข้าใจว่าภาระงานในช่วงนั้นก็คงเยอะ

บางครั้งเราถึงขนาดไปตีกับโรงพยาบาล เพราะในเคสที่เป็นสีแดงเราไม่มีความสามารถพอที่จะดูแลได้ มันวิกฤติแล้ว ต้องเข้าโรงพยาบาล เราต้องประสานว่าช่วยรับหน่อยได้ไหม เพราะจะเกิดอะไรขึ้น อย่างน้อยเราก็ทำอย่างเต็มที่

ตั้งใจตั้งเฉพาะกิจเพื่อช่วยเหลือในระยะสั้น?

ใช่ ในตอนแรกตั้งใจจะช่วยเรื่องโควิด-19 ช่วงหลังๆ เช่น ตอนปลายปี 64 เคสผู้ป่วยยังไม่เยอะมาก ก็จะมีปัญหาของคนในชุมชน เช่น ลูกถูกทำร้าย ไฟถนนดับ ฯลฯ เราก็ช่วยประสานงาน ช่วยตรวจสอบปัญหา แม้ว่าเราจะชื่อสายไหม แต่ที่ผ่านมาคนในละแวกรอบๆ รามอินทรา ลำลูกกา ดอนเมือง ก็ติดต่อมา และถ้าเราช่วยได้เราก็จะทำ

สำหรับทีมงานเราก็จะแบ่งเป็น 3 ชุด ทั้งชุดเผชิญเหตุซึ่งมีอุปกรณ์ครบไปรับผู้ป่วย ทีมส่งยา ส่งอาหาร มีมอเตอร์ไซค์ ที่ขับส่งอาหาร ส่งยาในพื้นที่ และทีมลงชุมชน ตรวจหาเชื้อโควิดในชุมชน

จนถึงวันนี้สายไหมต้องรอดได้รับบทเรียนอะไรบ้าง จากการทำงานอาสาสมัครช่วยโควิด-19?

ปัจจุบันนี้ง่ายขึ้นนะ พอเป็นที่รู้จัก มีผลงาน ก็เริ่มมีคนติดต่อเข้ามา มีคนทักมาว่า “วันนี้ขอบริจาคหน้ากากอนามัย” “วันนี้ขอบริจาคแอลกอฮอล์” มีข้าวสารอาหารแห้งมาให้เรา พอของเหลือเราก็แจกจ่ายไปให้กลุ่มอาสาสมัครอื่น แม้กระทั่งถังออกซิเจน ตอนแรกเราไม่ค่อยมี แต่พอทำงานดี คนก็มาบริจาค เรากลายเป็นศูนย์กลางในละแวกนี้เพื่อส่งต่อช่วยเหลือ พอเขาหายป่วย เขาก็ขอบคุณ กลับมาช่วยเรา เราจึงเชื่อว่าสิ่งที่เราทำมันถูกทาง

แต่ย้อนกลับไปในยุคแรกก็จะเป็นการรับแจ้งผ่านโทรศัพท์ โทรประสานงานต่อก็ไม่มีคนรับบ้าง บอกจะติดต่อกลับก็เงียบหายบ้าง โรงพยาบาลไม่รู้จักเรา ถูกปฏิเสธบ้าง อะไรบ้าง 

บทเรียนของเรา หรือกระทั่งอาสาสมัครในหลายที่คือการสู้กับระบบราชการมันยากมากนะ ราชการมีงบประมาณมากมาย แต่ราชการบางส่วนยังคิดว่า เขายังควบคุมได้ จัดการได้ ทั้งที่ความจริงมันไม่ใช่

บางคนคิดว่า การทำงานของภาคประชาชนเป็นอุปสรรค เช่น ที่ผ่านมาเราทำงานอาสาในพื้นที่ก็จะเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ทีมแพทย์ที่อยู่ในพื้นที่สายไหม ทุกคนตั้งใจทำงานและมีเป้าหมายเดียวกันคือช่วยคน แต่บางเคสที่เรารับผิดชอบและเป็นเคสที่ผู้คนสนใจ มีไม่น้อยกที่กลายเป็นข่าว ถูกแชร์กันในโลกออนไลน์ และก็มีผู้ใหญ่บางคนไม่พอใจ ไปต่อว่าหน่วยงานราชการที่ทำงานร่วมกับเรา หาว่าไม่ทำงาน ปล่อยให้เราต้องมาทำ ทั้งที่ความจริงภาคประชาชนกับราชการในพื้นที่เข้าใจกัน ช่วยกันทำงาน ทุกคนรู้ปัญหาว่าเอาไม่ไหวแล้ว ต้องช่วยกัน แต่ข้าราชการผู้ใหญ่บางท่านยังคิดว่าเขายังควบคุมสถานการณ์ได้ และไปตำหนิผู้ใต้บังคับบัญชาของเขา

โรงพยาบาลและหน่วยงานที่เราต้องเถียงกันบ่อยๆ คือปลายเหตุที่น่าสงสารที่สุด เช่น โรงพยาบาลรัฐหนึ่งในพื้นที่สายไหม เราเคยโวยกับเขาเรื่องที่ไม่ยอมรับคนไข้ แต่อีก 2 วัน ทั้งหมอและพยาบาลถือของมาช่วยเรา ผมถามกลับว่า พี่ไม่โกรธผมเหรอ ผมโวยวายออกข่าวไปแบบนั้น เขาตอบกลับมาว่า เขาเข้าใจทุกอย่าง เพราะรู้ว่าเราเอาของไปช่วยประชาชน แต่เขามีบุคลากรเท่านี้ มีเตียงมีเท่านี้ จะช่วยอย่างไร

 พวกเราพยายามเป็นสื่อกลาง และทำอะไรที่ภาคประชาชนทำได้ เช่น เราทำ Community isolation ที่วัดราษฎร์นิยมธรรมซึ่งน่าจะเป็นไม่กี่ศูนย์ที่ไม่ใช้เงินจากภาครัฐเลย ทุกอย่างทำได้เพราะการบริจาคจากจิตอาสาทั้งหมด

เริ่มจาก การคุยกับผู้อำนวยการเขตคนเก่า ที่เราช่วยหาสถานที่ ได้รับการอนุเคราะห์จากท่านเจ้าอาวาส ซึ่งท่านก็เห็นความสำคัญเพราะคนในชุมชนรอบๆวัด ก็ติดไปหลายราย พอได้สถานที่เราก็รับบริจาค ที่นอน หมอน มุ้ง ภายในเวลาไม่ถึง 2 ชั่วโมงที่เราประกาศ มีคน Inbox มาบอกว่าขาดอะไร เขายินดีจัดหาให้ และเมื่อสถานที่พร้อมแล้วทางเขตก็จัดหาทีมแพทย์ เจ้าหน้าที่มาให้ ซึ่งทำให้เขาทำงานง่ายขึ้น

‘สายไหมต้องรอด’ อาสาสมัครสู้โควิด-19 ทุกคนต้องรอดแม้ไม่ได้อยู่ ‘สายไหม’

ทุกวันนี้สมาชิกเป็นใคร มาจากไหนบ้าง?

วันนี้ถ้าระดมทีม ก็มีถึงร้อยคนได้ และเขามาสมัครเองทั้งหมด บางคนเป็นนักธุรกิจ ผู้ประกอบการ ค้าขาย บางคนยังเป็นนักศึกษา คุณเชื่อไหมพอกลางปีเราเคยประกาศว่าต้องการรับสมัครคนส่งยาให้กับผู้ป่วยโควิด-19 ไม่มีค่าตอบแทนให้ แต่มีอาหารให้กิน ประกาศไปปุ๊บคนสมัครเต็มเลย ผมเคยถามคุณโอเคไหม ผมไม่มีค่าน้ำมันให้นะ เขาบอกว่าพร้อม อยากช่วยคนป่วย เพราะไม่แน่ว่าวันหนึ่งอาจจะเป็นคิวของคนในครอบครัวเขา

"เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับอาสมัครนี้ มันบอกได้เลยคนไทยโคตรมีน้ำใจมากๆ ทุกคนอยากช่วย กับอีกด้านเขาคิดว่าเขาพึ่งพาใครไม่ได้ พึ่งรัฐบาลไม่ได้ พึ่งโรงพยาบาลไม่ได้ ก็อยากจะช่วยกัน รวมตัวกัน เพราะสักวันมันอาจจะเป็นเขาก็ได้ที่ต้องการความช่วยเหลือ"

การช่วยเหลือ มันไม่ใช่แค่กลุ่มอาสาสมัครนะ อยากหมู่บ้านที่มีรั้วในเขตสายไหม แบบว่าราคาบ้าน 10 ล้านขึ้นไป เรียกได้ว่ามีฐานะทางเศรษฐกิจดี ก็ทักมาที่เพจ อยากจะให้มารับของบริจาคในหมู่บ้าน หลังจากที่เขาประชาสัมพันธ์เองในกรุ๊ป Line พอเราไปรับวันอาทิตย์ ก็จะเห็นคนนำอาหารมาวางไว้หน้าบ้าน เราต้องมาขน 3-4 รอบ ถึงจะหมด พอได้ของ พวกพี่ๆในหมู่บ้านยังบอกเราว่า ถ้าของหมดบอกนะ นี่คือตัวอย่างของการช่วยเหลือเหมือนกัน ไม่มีเวลาลงแรง ก็ลงเงิน จากนสมัยก่อนเราจะบริจาคตามวัด ก็จะกลายเป็นบริจาคให้จิตอาสาเอาไปช่วยเหลือต่อ ในยุคแรกที่เราไม่มีรถ ก็ได้รับบริจาคมาใช้ เป็นรถพยาบาลของกลุ่ม ไว้วิ่งช่วยคนป่วย

"เชื่อไหมว่า สาเหตุที่เขาทำได้ดี เพราะเขาไม่ได้มีเงินเป็นตัวตั้งไง ไม่ได้ทำเพราะอาชีพ แต่เขามุ่งหวังที่อยากช่วยชีวิตคน งานจึงออกมาสำเร็จ เขาไม่ได้ถูกบังคับให้มาทำ ไม่ได้ทำเพราะหน้าที่ มาเพราะอยากช่วยๆจริง คิดว่าสักวันอาจจะเป็นตัวเอง นี่แหละที่ทำ ให้ผลงานออกมาดี"

อาสาสมัครของผมหลายคนตกงานในช่วงโควิด-19 นะ แต่เขาก็มองว่า ถ้ามัวเสียใจ นอนอยู่เฉยๆ คงไม่ได้อะไร ก็ออกมาทำงานอาสาพร้อมๆกับหางานใหม่บ้าง เอาแรงใจมาช่วยเหลือผู้คนกัน  เขารู้สึกว่าได้ประโยชน์กว่าเยอะ เขาช่วยงาน เราให้อาหาร อะไรช่วยได้ก็ช่วย ก็ซัพพอร์ตเท่าที่ทำได้ มีข้าวกิน 3 มื้อ

ในฐานะอาสาที่อยู่ใกล้ชุมชน มองสถานการณ์ตอนนี้เป็นอย่างไร?

ต่างจากเดิมนะ วันนี้ผมมองว่ามันเบาลงกว่าเก่ามาก โอเคว่ามันระบาดง่ายกว่า แต่ผู้คนเริ่มฉีดวัคซีนมาแล้ว อาการหนักมีน้อย ตอนนี้เรามีความพร้อมมากกว่า ทั้งประสบการณ์ เครื่องมือ ประชาชนเองก็รู้ว่าจะปฏิบัติตัวอย่างไร แต่บางส่วนที่เหมือนเดิมก็น่าจะเป็นฝั่งโรงพยาบาล เพราะเวลาเราประสานไป ก็จะได้รับการติดต่อกลับช้าบ้าง เต็มบ้าง ถ้ามันมีความพร้อมจริง เราก็ต้องได้รับการปฏิบัติได้เร็วกว่านี้ ตรงนี้ยังเหมือนเดิม แต่ฝั่งประชาชนผมว่าวันนี้เรารับมือกันได้ดีขึ้น เรียนรู้ที่จะปรับตัวได้

‘สายไหมต้องรอด’ อาสาสมัครสู้โควิด-19 ทุกคนต้องรอดแม้ไม่ได้อยู่ ‘สายไหม’

โมเดลของการมีอาสาสมัครที่เข็มแข็ง จำเป็นขนาดไหนในสังคมเมืองอย่างกรุงเทพฯ?

ถ้ามีสายไหมต้องรอดเยอะๆ ประชาชนได้ประโยชน์และสบายขึ้นอยู่แล้ว และมันเป็นความจริงว่า โครงการภาครัฐนั้นดีแต่ล้วนเป็นเครื่องมือที่ผู้ติดตามข่าวสาร และใช้เทคโนโลยีเข้าถึงได้ เช่น ต้องมีแอพพลิเคชั่น มี Wi-fi ถึงจะได้ประโยชน์ แต่ในยุคที่ หลายคนยังไม่พร้อมด้านเทคโนโลยี บางคนขับวินมอเตอร์ไซค์ทีวียังไม่มีเลย ในความเป็นชุมชนจริงๆ ยังมีกลุ่มเปราะบางอีกมาก ที่ยังไม่เข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้

ผมอยากให้มองว่า การมีภาคประชาชนคือตัวช่วย คือพันธมิตรที่ดี ราชการควรช่วยสนับสนุน ดูแล ยิ่งเฉพาะในสถานการณ์ที่ภาคธุรกิจมาร่วมด้วย ควรจะอำนวยความสะดวกให้เขาบ้าง

ขณะที่อาสาสมัครแต่ละกลุ่ม ผลงานจะเป็นเพราะป้องกันตัวคุณเอง เพราะในปัจจุบันมีระบบการตรวจสอบทางโซเชียลเน็ตเวิร์ค ที่เข้มข้น ทั้งในเรื่องเงินบริจาค เรื่องการมีผลงานจริง อาสาสมัครก็ต้องทำให้โปร่งใสในเรื่องพวกนี้ ซึ่งจะทำให้กลุ่มอาสาสมัครอยู่ได้

ทุกวันนี้เราต่างตรวจสอบซึ่งกันและกันได้ ถ้าองค์กรไหนไม่ดี ตั้งชื่อสวยหรูแต่ไม่มีผลงาน คุณรอดูได้เลย เดี๋ยวเขาก็คอมเมนต์ด่าคุณ เดี๋ยวก็โพสต์ในทวิตเตอร์ แชร์ในพันทิพ ทุกคนสามารถตรวจสอบได้ ทุกคนมีช่องทางในการสื่อสาร เรามีกระบวนการตรวจสอบทั้งนั้น ถ้าเราทำงานจริงก็ไม่ต้องกลัว

เป้าหมายของสายไหมต้องรอดจากนี้ไป?

อยากให้เป็นพื้นที่ของประชาชน ที่ทุกคนที่อยู่ชายขอบ คนไม่ได้เข้าถึงความยุติธรรม ชาวบ้านคนเล็กคนน้อยแจ้งมา เป็นสื่อกลางประสานงานคนที่เกี่ยวข้อง ดูแลทุกเรื่อง ไม่ต้องอยู่สายไหมก็ได้ อะไรที่เราทำได้เราจะไป โควิด-19 ที่เรากำลังเผชิญอยู่นี้ อยากให้ทุกคนต้องรอด แม้จะไม่ได้อยู่ในเขตสายไหมก็ตาม