ส่อง 7 “เทรนด์กาแฟ” มาแรงแห่งปี 2022 อะไรจะปังในโลกกาแฟ
รู้ก่อนใคร กับ "เทรนด์กาแฟ" ที่คาดว่าจะมาแรงในปีค.ศ. 2022 นี้ ที่มีความหมายอย่างยิ่งต่อ อุตสาหกรรมกาแฟ ที่เคยซบเซาจะกลับมาเหมือนเดิมหรือไม่ หรือมีกระแสอะไรใหม่ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นบ้าง
เป็นประจำทุกปีที่ผู้เขียนคอลัมน์นี้จะนำเสนอบทความเรื่องเทรนด์การบริโภคกาแฟที่คาดว่าจะมาแรงในแต่ละปี โดยเฉพาะปีค.ศ. 2022 นี้ ถือว่ามีความหมายอย่างยิ่งต่อ อุตสาหกรรมกาแฟ รวมทั้งอุตสาหกรรมทุกประเภททั่วโลก เพราะเป็นช่วงรอยต่อของการปรับเปลี่ยนจากวิกฤติการณ์ไวรัสโควิด-19 กลับเข้าสู่ภาวะปกติแม้จะเป็นบางส่วนยังไม่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ตาม ขณะเดียวกัน จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ก็น่าสนใจติดตามอย่างยิ่งว่าจะกลับมาเหมือนเดิมหรือไม่ และมีกระแสอะไรใหม่ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นบ้างในบางมุมของโลกกาแฟ
ผู้เขียนพยายามรวบรวมข้อมูลจากเว็บไซต์กาแฟระหว่างประเทศหลายแห่งที่เห็นว่าเป็นประโยชย์มานำเสนอ ก่อนที่จะสรุปออกมาได้หลายหัวข้อ รวบรวมเป็น "7 เทรนด์กาแฟมาแรงในปี 2022" แทบทั้งหมดล้วนเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ตลอดจนเทรนด์ที่มาแรงต่อเนื่องย่าง อาหารเพื่อสุขภาพ และความโปร่งใสของกระบวนการผลิต
ธุรกิจกาแฟแบบ "บอกรับสมาชิก" มีแนวโน้มเติบโตสูง / ภาพ : Cedrik Wesche on Unsplash
1. ธุรกิจกาแฟส่งตรงถึงหน้าบ้าน เบ่งบาน
ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หันเข้าหาบริการกาแฟส่งตรงถึงหน้าบ้าน ตามโมเดลการทำธุรกิจกาแฟแบบ "บอกรับสมาชิก" (Subscription) ไม่ต้องจำเป็นต้องเข้าร้านกาแฟอีกต่อไป เพียงมีอุปกรณ์ชงและเมล็ดกาแฟคุณภาพสูงที่แต่ละขั้นตอนการผลิตอาศัยความพิถีพิถัน ก็สามารถดื่มกาแฟที่ให้กลิ่นรสเปี่ยมเสน่ห์ตามธรรมชาติกันได้แล้ว
เทรนด์นี้มาแรงในต่างประเทศ โดยเฉพาะในฝั่งสหรัฐอเมริกา แต่ในเอเชียดูเหมือนว่าเริ่มมีกันบ้างแล้ว แต่ยังไม่ฮ็อตฮิตมากนัก
หนึ่งในข้อดีของธุรกิจกาแฟแบบบอกรับสมาชิก ก็คือ ความสะดวกสบาย ไม่ต้องเสียเวลาสั่งซื้อหรือโอนเงินค่าสินค้าบ่อยๆ เพียงแค่สมัครและจ่ายค่าสมาชิกเอาไว้เท่านั้น ก็จะมีเมล็ดกาแฟคั่วบดที่คุณชื่นชมไม่ว่าจะเป็นกาแฟนอกหรือในประเทศ กลิ่นรสเลือกได้ตามใจปรารถนา ส่งตรงถึงประตูบ้านตามกำหนดเป็นประจำ ในบรรจุภัณฑ์ที่หลายๆ ร้านเลือกให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงเป็นโมเดลธุริกิจที่กำลังเติบโตควบคู่ไปกับเทรนด์การชงกาแฟดื่มเองที่บ้าน ตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างลงตัว
ผู้บริโภคต้องการรับรู้ว่าทุกขั้นตอนการผลิตโปร่งใสหรือไม่ / ภาพ : Christian Burri on Unsplash
2. ถามหาความโปร่งใสในทุกขั้นตอน
แม้เทรนด์ผู้บริโภคยุคใหม่ต้องการให้ผู้ผลิตออกแบบสินค้าเพื่อรองรับเทคโนโลยีและความสะดวกสบาย แต่ขณะเดียวกันก็ปรารถนาในด้านความยั่งยืนควบคู่กันไปด้วย ธุรกิจกาแฟก็อยู่ในข่ายนี้เช่นกัน ในคลื่นกาแฟโลกลูกที่ 3 บรรดาคอกาแฟเริ่มให้ความสำคัญ "แหล่งที่มา" ของกาแฟที่ดื่มลงไปมากขึ้น ตลอดจนต้องการความโปร่งใสในทุกขั้นตอน ตั้งแต่เบื้องหลังการปลูกและวิธีแปรรูป ไปจนถึงรายละเอียดในการชงเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจซื้อ ส่วนหนึ่งก็คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
แม้ในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ผู้บริโภคที่สนใจในมุมของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อาจต้องทำใจยอมรับผลิตภัณฑ์ที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งอย่างหน้ากากอนามัย ทว่ากระแสความต้องการรับรู้เรื่องแหล่งกำเนิดของอาหารและเครื่องดื่มที่บริโภคลงไป ก็ไม่ได้ลดน้อยถอยลง แม้แต่กาแฟที่ว่ากันว่าดีที่สุดในโลกก็ไม่มีข้อยกเว้นในเรื่องนี้ ซึ่งมักจะมีคำถามตามมาว่า กาแฟผลิตมาจากไหน, ปลูกกันอย่างไร, เก็บเกี่ยวด้วยวิธีใด มีผลในทางจริยธรรม, สิ่งแวดล้อม และชุมชนโดยรอบหรือไม่ แล้วชาวไร่ผู้ปลูกได้รับค่าตอบแทนอย่างยุติธรรมหรือไม่/อย่างไร ?
กระแสที่จัดว่ามาแรงขึ้นเรื่อยๆ ก็คือผู้ดื่มต้องการกาแฟที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มาพร้อมกับซองบรรจุภัณฑ์ที่ออกแบบมาเพื่อความยั่งยืน หลายๆ คนอยากรู้ว่าสามารถไว้วางใจในกาแฟที่ซื้อมาดื่มได้หรือไม่ แน่นอนอย่างรู้อีกด้วยว่าการเดินทางของกาแฟนับจากพื้นที่ปลูกจนถึงเสิร์ฟลงในแก้วนั้น เป็นเส้นทางที่มาอย่างถูกต้องตามหลักจริยธรรมด้วยหรือไม่
ร้านกาแฟประจำชุมชนหรือใกล้บ้าน คือเป้าหมายสำคัญ / ภาพ : pixabay.com
3. สนับสนุนร้านกาแฟในท้องถิ่นตนเอง
เพราะผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้ธุรกิจ ร้านกาแฟ ปิดบริการในบางช่วงบางเวลาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ขณะที่สังคมเริ่มปรับตัวรับสถานการณ์ จึงมีการคาดการณ์กันว่า อัตราการเข้าไปใช้บริการร้านกาแฟท้องถิ่นและผลิตผลท้องถิ่นจะยังคงเพิ่มขึ้นต่อไป "ร้านกาแฟใกล้บ้าน" อาจเป็นคำตอบของคอกาแฟ ในยามที่ยังไม่สามารถเข้าร้านกาแฟในเมืองที่ชื่นชอบ หรือร้านกาแฟใกล้ที่ทำงาน
ต้องยอมรับกันว่า "ร้านกาแฟ" กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมมนุษย์ ผ่านทางเข้าไปนั่งจิบกาแฟ, กินของว่าง และสนทนากันอย่างเพลิดเพลินไม่ว่าจะเป็นในช่วงกลางวันหรือตลอดทั้งวัน แต่หลังจากเกิดปัญหาโควิด-19 ระบาด พฤติกรรมของผู้บริโภคก็เปลี่ยนไป เริ่มถอยห่างออกจากร้านกาแฟ ทว่าความต้องการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ควบคู่ไปกับความต้องการซื้อผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น จะเป็นปัจจัยผลักดันให้ร้านค้าที่อยู่ใกล้บ้านได้รับความนิยมยิ่งกว่าช่วงที่ผ่านมา อันที่จริงนั้น ร้านกาแฟท้องถิ่นก็เคยเป็นศูนย์กลางทางสังคมระดับชุมชนมาก่อนหน้านี้
นมจากพืช ยังมาแรงสำหรับสายกรีนและสายสุขภาพ / ภาพ : Di Bella Coffee from Pexels
4. ผลิตภัณฑ์นมจากพืช กระแสยังแรง
นมจากพืชยังคงเป็นผลิตภัณฑ์ที่มาแรงและมีอัตราเติบโตสูง โดยเฉพาะตลาดสุขภาพและตลาดนวัตกรรมทางเลือก ซึ่งสามารถใช้ทดแทนนมวัวได้เป็นอย่างดี จากรายงานผลสำรวจอาหารและเครื่องดื่มประจำปีของเวสต์โรส บริษัททำวิจัยในอังกฤษ พบว่า เชนซูเปอร์มาร์เก็ตในแดนผู้ดี จะเพิ่มผลิตภัณฑ์นมที่ปราศจากไขมันสัตว์บนชั้นวางสินค้าให้มากขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคสนใจนมจากพืชมากขึ้นทุกขณะ
นอกเหนือจากมีประโยชน์ต่อสุขภาพแล้ว ร้านกาแฟจำนวนไม่น้อยนิยมใช้นมจากพืช เช่น นมอัลมอนด์, นมถั่วเหลือง และนมมะพร้าว เพราะเห็นว่าทำให้กาแฟมีกลิ่นรสดีขึ้นกว่าการใช้นมวัว ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากแนวโน้มแล้ว ความต้องการบริโภคนมจากพืชจะยังคงดำเนินต่อไปได้สวยในปีนี้
ล่าสุด คาดการณ์กันว่า "นมมันฝรั่ง" จะติดกลุ่มที่ได้รับนิยมสูงในอนาคตด้วย
ธุรกิจกาแฟพิเศษยังค้นหากาแฟดีที่สุดต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง
5. พิเศษไม่พอ..ต้องคุณภาพระดับซูพีเรีย
แม้ กาแฟพิเศษ (Specialty Coffee) ได้รับความนิยมอย่างสูงไปทั่วโลกในระยะ 10-15 ที่ผ่านมา แต่ความร้อนแรงของกระแสก็ยังคงไม่ตกลงแต่ประการใด สำหรับคอกาแฟแล้ว หลายคนคงคุ้นเคยกับคำว่ากาแฟพิเศษเป็นอย่างดี แต่คำว่า "พิเศษ" ระดับนี้อาจจะยังไม่มากพอ จึงมีความพยายามทั้งในส่วนของผู้ประกอบการและผู้บริโภคที่ต้องการแสวงหากาแฟที่พิเศษและดีที่สุดมากขึ้นไปอีกใน "คุณภาพระดับซูพีเรีย" (Superior quality coffee) โดยเฉพาะอย่างยิ่งกาแฟจากการผลิตหรือแปรรูปที่เรียกว่า "ซิงเกิ้ล ออริจิ้น" (กาแฟสายพันธุ์เดียวและจากแหล่งปลูกเดียวกัน) ที่ผลิตครั้งละน้อยๆ จากแหล่งปลูกที่ยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีเรื่องราวความเป็นมาไม่ธรรมดา พร้อมๆ กับรสชาติที่โดดเด่น
เมื่อพูดถึงกาแฟคุณภาพระดับสูง ปัจจัยซึ่งเป็นตัวบ่งชี้คุณภาพเดิมๆ เช่น ต้องเป็นกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้า, ระดับความสูงเหนือระดับน้ำทะเลของแหล่งปลูก, วิธีโพรเซส หรือกาแฟปลูกใต้ร่มไม้ใหญ่ และฯลฯ อาจไม่เพียงพอเสียแล้ว ต้องมีปัจจัยเข้ามาบวกเสริมเพิ่มเติมอีกเท่าที่จะคิดค้นกันได้ เพื่อคำว่าพิเศษมากยิ่งๆ ขึ้นไป
6. กาแฟเบลนด์แบบซิงเกิ้ล ออริจิ้น
กาแฟเบลนด์ คือ การนำเมล็ดกาแฟ 2 พันธุ์ขึ้นไปมาผสมเข้าด้วยกัน ประโยชน์คือ สร้างรสชาติ, ประหยัดต้นทุน และปกปิดจุดด้อยของกาแฟ กาแฟเบลนด์แทบไม่ได้รับความสนใจในกลุ่มผู้นิยมกาแฟพิเศษ ด้วยมุ่งเน้นไปที่ กาแฟซิงเกิ้ล ออริจิ้น อย่างเดียว แต่สถานการณ์เริ่มเปลี่ยนแปลงไปบ้างแล้ว
ในการแข่งขันชิงแชมป์กาแฟโลกทั้งเวทีของบริวเวอร์และบาริสต้า ปรากฎว่าผู้เข้าแข่งขันมีการนำกาแฟซิงเกิ้ล ออริจิ้น แบบเบลนด์ 2 ชนิด มาใช้ประกวดมากยิ่งขึ้น จนส่งแรงกระเพื่อมให้เกิดเป็นมุมมองใหม่ๆ ต่อกาแฟเบลนด์ พร้อมๆ กับคำถามว่า เพราะเหตุใดผู้เชี่ยวชาญกาแฟจึงนำกาแฟซิงเกิ้ล ออริจิ้น 2 ตัวมาผสมกัน ซึ่งกระแสนี้คาดว่าจะยังคงเกิดขึ้นต่อไปในปีค.ศ. 2022
รูซ่า จาโลเนน ผู้จัดการฝ่ายผลิตแห่งเดอะ เจนเทิ้ลเมน บาริสต้าส์ ในลอนดอน บอกว่า อาจถึงเวลาแล้วที่จะต้องกลับมานั่งทบทวนกันใหม่อย่างจริงจังในเรื่อง "กาแฟเบลนด์" ในรายการชิงแชมป์โลกที่ผ่านมา มีบาริสต้าชาวอเมริกันใช้กาแฟที่มีคัปปิ้งสกอร์สูง 2 ตัวมาเบลนด์เข้าด้วยกันในการแข่งขัน นอกจากนั้นในรายการชิงแชมป์บริวเวอร์ของอังกฤษ มีการนำกาแฟพันธุ์ "เกอิชา" กับ "ซูดาน รูเม่" มาเบลนด์เพื่อเพิ่มความซับซ้อนให้กับกลิ่นรส ถือเป็นเรื่องน่าสนใจอย่างมากที่ได้เห็นกาแฟเบลนด์ในการแข่งขันระดับนี้
ร้านกาแฟจะกลับมาให้บริการเต็มรูปแบบ ต้องใช้เวลาอย่างน้อยอีก 3 ปี / ภาพ : pixabay.com
7. ร้านกาแฟกลับมาเต็มรูปแบบ ต้องรออีก 3 ปี
ขณะที่ประชากรหลายๆ ประเทศได้รับวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ไปแล้ว ประกอบกับมีการผ่อนคลายมาตรการหลายด้าน ทำให้ความรู้สึกปกติแบบ new normal เริ่มหวนคืนมาแม้จะยังไม่เต็มร้อยก็ตาม ร้านกาแฟจำนวนมากที่เอาตัวรอดมาได้ เริ่มกลับมาทำการตลาดและเสนอบริการในระดับเดียวกับก่อนเกิดวิกฤติโควิด อย่างไรก็ตาม จำนวนลูกค้าที่เคยเข้ามาใช้บริการในร้านก็ยังไม่เทียบเท่าอัตราเดิม เว็บไซต์ worldcoffeeportal.com คาดการณ์ว่า อัตราผลตอบแทนของร้านกาแฟจะยังถือว่าน้อยอยู่ในปีค.ศ 2022 ส่วนการกลับสู่ภาวะปกติก่อนเกิดไวรัสระบาด จะใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี
ปัจจัยส่วนหนึ่งที่กระทบต่อผลตอบแทนของร้านกาแฟ ก็คือ การเติบโตของโมเดลธุรกิจกาแฟแบบบอกรับสมาชิก อีกทั้งแนวโน้มที่คอกาแฟหันมาซื้อเครื่องชงกาแฟไว้ประจำบ้านที่จะมีต่อไปแม้วิกฤติโควิด-19 ผ่านพ้นไปแล้ว ไม่ใช่เพราะความจำเป็นที่เข้าร้านกาแฟไม่ได้ แต่มันกลายเป็นความชื่นชอบเหมือนงานอดิเรกอื่นๆไปเสียแล้ว
"เทรนด์กาแฟ" ทั้ง 7 ข้อ ที่คาดว่า "จะมา" ในปีนี้ บางเทรนด์ก็ไม่หนีไปจากปีก่อนหน้า เช่น ความนิยมในการใช้นมจากพืชแทนนมวัว หรือความโปร่งใสของการผลิตกาแฟในทุกขั้นตอน กระนั้นก็มีกระแสหรือแนวโน้มใหม่ๆที่ผู้เขียนเชื่อว่าจะแจ้งเกิดสำเร็จหรือได้ไปต่อ เทรนด์ที่น่าจับตามองก็คือ การจับกาแฟซิงเกิ้ล ออริจิ้น มาเบลนด์เข้าด้วยกัน เพื่อเป็นอีกทางเลือกในการสร้างสรรค์รสชาติกาแฟใหม่ๆ
หมายเหตุ : เรียบเรียงข้อมูลจากเว็บไซต์ www.indigovalley.co.uk , https://farrerscoffee.co.uk และ https://mtpak.coffee