"เท่าพิภพ" บนเส้นทาง "สุราก้าวหน้า" ..วันนั้นผมผิดหวัง แต่มาวันนี้ผมทำได้
"เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร" อดีตคนทำคราฟท์เบียร์ ปัจจุบัน ส.ส.กรุงเทพ ผู้ผลักดัน พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าสู่อนาคต ลดการผูกขาดให้ตลาดทำหน้าที่คัดสิ่งที่มีคุณภาพ "หลังถูกจับเมื่อ 5 ปีก่อน สิ่งที่ผมได้แต่คิดมาตลอด วันนี้มันมาถึงจริงๆแล้ว"
คุณจำเรื่องนี้ได้ไหม? ข่าวใหญ่เมื่อปี 2560 รายงานเจ้าหน้าที่สรรพสามิตบุกจับชายหนุ่มวัย 28 ปี ข้อหาผลิตและจำหน่ายสุราโดยไม่ได้รับอนุญาติ
แล้วคุณจำเรื่องนี้ได้ไหม? ข่าวการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 รายงานผู้ชนะในเขตเลือกตั้งที่ 22 คลองสาน บางกอกใหญ่ ธนบุรี ซึ่งผู้ได้รับเลือกคือผู้สมัครหน้าใหม่ และคะแนนโหวตจำนวน 34,368 คะแนน ได้เปลี่ยน “เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร” จากคนทำคราฟต์เบียร์สู่การเป็น ส.ส. กรุงเทพฯ ในนามพรรคอนาคตใหม่
ต้นปี 2560 ถึงต้นปี 2565 “เท่าพิภพ” ขับเคลื่อนเรื่องสถานะโครงสร้างทางกฎหมายของตลาดสุรามาตลอด ตั้งแต่ช่วงหาเสียง จนถึงการเป็น ส.ส. ที่ร่วมยื่นข้อเสนอแก้ไขร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เมื่อ 29 พฤษภาคม 2563
“ผมทำเรื่องนี้มาตลอดนะ ตั้งแต่หาเสียงจนเป็น ส.ส. ยิ่งเข้าใกล้การพิจารณาผมยิ่งตื่นเต้น ตื่นเต้นในสิ่งที่เราคิด จะกลายเป็นจริง… สุรา, เบียร์, สุราชุมชน และอีกสารพัดเครื่องดื่มที่จะมีเสรีภาพในการผลิตคือส่วนหนึ่ง แต่มากกว่านั้นคือการเปลี่ยนแปลงของระบบทุนที่ผูกขาด คือการสร้างมูลค่าของสินค้าเกษตรและการท่องเที่ยว”
ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด ร่างพ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต หรือที่เรียกกันว่า พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ก็คงจะถูกพิจารณาในสมัยประชุมนี้ และ “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” สนทนากับ ส.ส.เท่าพิภพ ถึงเส้นทางของข้อเสนอกฎหมาย ตัวตน และก้าวต่อไปของการผลักดันการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สู่ตลาดเสรี
- รู้สึกอย่างไรบ้างที่ร่างกฎหมายซึ่งตัวเองเป็นหนึ่งในผู้ผลักดันกำลังเข้าสู่การพิจารณา?
มันเป็นความตั้งใจแรกอยู่แล้วครับ เป็นความฝันของคนทำเบียร์ทุกคนที่อยากจะทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่มีใครอยากทำเถื่อน ผมเรียนจบนิติศาสตร์มา และในวันที่ถูกจับผมก็คิดมาตลอดว่า เรื่องนี้จะให้ดีที่สุดก็ต้องเปลี่ยนกฎหมาย ในการที่ถูกจับมีสิ่งดีอยู่บ้างคือการที่สังคมให้ความสนใจกับเรื่องนี้ และผมเองก็มีโอกาสได้มาเป็น ส.ส. ซึ่งได้ร่วมผลักดันที่จะแก้กฎหมายได้จริงๆ
ผมเชื่อเรื่องความเปลี่ยนแปลงใน 2 รูปแบบ อย่างแรกคือในเชิงพฤติกรรม ถ้าคุณมีไอเดียที่ดี คนก็จะทำตามกันเยอะๆ เป็นความเปลี่ยนแปลงเพราะมีผู้ปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน แต่ความเปลี่ยนแปลงอย่างที่สองคือกฎหมาย ซึ่งการจะเปลี่ยนข้อนี้ได้คุณต้องมีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลง ในช่วงที่ผมถูกจับตอนแรกผมคิดจะตั้งพรรคเสรีกัญชาและคราฟท์เบียร์ ด้วยซ้ำ เพราะผมอยากสร้างความเปลี่ยนแปลงในประเด็นนี้ แต่ก็จับพลัดจับผลูมาเจอกับคุณธนาธร (จึงรุ่งเรืองกิจ) และ อ.ปิยะบุตร (แสงกนกกุล) ตอนที่กำลังจะตั้ง พรรคอนาคตใหม่เสียก่อน คุยไปคุยมา ก็กลายเป็นว่า พรรคจะนำเสนอในแนวทางเดียวกัน ผมจึงตัดสินใจเข้าร่วม
คืนที่ผมถูกจับ ผมเคยคิดว่าสักวันหนึ่งเราก็ต้องเดินทางมาถึงวันนี้ วันที่จะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย แต่พอจะถึงจริงๆผมตื่นเต้นมากนะ สัปดาห์ก่อน ผมมองตัวเองผมก็ไม่คิดว่าจะมีวันนี้จริงๆ ต้องยอมรับว่ามันยากนะ ย้อนกลับไปวันนั้นวันที่เราเป็นแค่คนธรรมดาๆคนหนึ่ง มันไม่ได้มั่นใจหรอกว่าจะเกิดขึ้นจริงๆ
ก่อนจะถึงการพิจารณากฎหมายนี้ มันมีหลายอารมณ์ มีความมุ่งมั่น มีน้ำตา มีหยาดเหงื่อ มีความเครียด แต่เมื่อมันเดินทางมาถึงจริงๆ ผมก็ดีใจมาก และมันก็จะเป็นวันที่สำคัญที่สุดในชีวิตผมวันหนึ่งเลย วันนั้นผมผิดหวัง แต่วันนี้ผมกำลังจะทำมันได้
- ทุกวันนี้คุณยังต้มเบียร์อยู่ไหม?
(ยิ้ม) ต้มเล่นบ้างกับเพื่อน เป็นงานอดิเรก แต่ก็นานๆครั้ง ไม่ค่อยมีเวลาหรอก ทุกวันนี้หาเวลาว่างยากมาก แต่ทุกครั้งที่ทำก็มีความสุข มันเป็นความสุขของผม
เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร เมื่อครั้งถูกจับกุมในปี 2560
- ทำไมคุณถึงหลงใหลการทำเบียร์ขนาดนั้น?
การทำเบียร์ก็เหมือนงานศิลปะ เป็นสตูดิโอที่คุณจะทำผลงานให้คนรับชม วันนี้ใส่วัตถุดิบแบบนี้ หมักไว้ พอสัก 1 เดือนก็จะรู้กันว่าทั้งกลิ่น ความรู้สึกมันเหมือนกับที่เราคิดไหม กระบวนการทำแบบนี้มันทำให้เราต้องรอ ได้คุย ได้ค้นหาข้อมูล
ทั้งเบียร์และกัญชา ผมสนับสนุนทั้ง 2 อย่าง มันเป็น Passion แล้วสำหรับผมเอง ผมสู้เพื่อสิ่งนี้ได้ ยอมแลกเพื่อสิ่งนี้ได้ ความรู้สึก Passion นี้มันมาจากประสบการณ์ชีวิตที่สั่งสมมา แต่ก่อนผมก็ไม่รู้หรอกครับว่ากินเบียร์มันเป็นอย่างไร พอเข้ามหาวิทยาลัย กินกับเพื่อน ก็รู้สึกว่า “เฮ้ย มันก็ไม่ได้เลวร้ายนะ ดื่มแล้วมันก็ไม่ได้ติดหรือทำอะไรที่มันไม่ดี” เราก็ยังอ่านหนังสือ ตั้งใจเรียนให้ดี มีวินัยกับเรื่องอื่นได้ เวลาเราดูหนัง เล่นอินเทอร์เน็ต ดู Youtube เราก็เห็นว่าสังคมอื่นเขาก็อยู่กับสิ่งนี้ได้โดยที่ไม่ได้มีปัญหาอะไรที่มันมากกว่าเรื่องอื่นๆ
ผมมองเห็นการต่อสู้ในเรื่องนี้ ถ้าจะบอกว่าผมต่อสู้เพื่อคราฟท์เบียร์ ทำอะไรเพื่อตัวเอง ผมก็ไม่ได้เถียงนะ ก็พูดกันตรงๆว่า อย่างแรกที่ทำนั้นก็เพื่อประโยชน์และความชอบของเราเอง มันเป็นไปตามความฝัน
ฝันของผมคืออยากมีโรงเบียร์อยู่ริมชายหาด ขายเบียร์ของตัวเอง และเกิดมาสักครั้งหนึ่งผมมองว่าถ้าจะทำอะไรเพื่อตัวเองและคิดว่ามันมีประโยชน์ก็ทำไปให้มันสุดทาง และสำหรับผมถ้าสภาจะมี ส.ส. 500 คน ในทุกๆ 4 ปี และในจำนวนนี้จะมีคนเอาเรื่องใหม่ที่ตัวเองชอบและสังคมได้ประโยชน์ด้วยมาพิจารณาสัก 500 เรื่อง ก็ไม่น่าเกลียดอะไรนะ สำหรับเรื่องเบียร์ผมต่อสู้เพื่อมันได้ และถ้าผมทำสิ่งนี้สำเร็จ อยู่ในขั้นตอนที่ผมพอใจ เช่น มีการเปิดเสรี มีการเก็บภาษี มีกฎหมายที่ใช้ควบคุมการโฆษณาอย่างเป็นธรรม ผมถือว่าผมทำในสิ่งนี้สำเร็จแล้ว ผมก็จะออกจากวงการการเมืองแล้ว ไปให้คนอื่นทำต่อ ทำในความฝันของเขาบ้าง
- แสดงว่าถ้าแก้กฎหมายเสร็จ มีการแข่งขันที่เป็นธรรม คุณถือว่าจบแล้วในฐานะนักการเมือง?
มันก็จะมีประเด็นต่อเนื่องอีก ทั้งเรื่องภาษี เรื่องการโฆษณาที่เกี่ยวเนื่องกัน แต่ถ้าทุกอย่างมันครบถ้วน เป็นธรรม มีเสรีภาพจริงๆ ทั้งระบบ ผมก็คิดว่าการจะออกจากตรงนี้ก็ไม่แปลก
- ความต่อเนื่องหลังจากการแก้ พ.ร.บ.ที่ว่านี้คืออะไร?
มันจะเป็นสุราก้าวหน้าในเวอร์ชั่น 2 และ 3 ตามมา เช่น พูดเรื่องการเสียภาษีของผู้ผลิตรายย่อยที่เป็นธรรม เพื่อไม่ให้รายย่อยเสียภาษีเท่ากับรายใหญ่หรือการมีกฎหมายในการใช้สื่อโฆษณา คงไม่ใช่กับการที่รายย่อยโพสต์เฟสบุ๊ครูปเดียวแล้วโดนจับ แต่มันต้องสอดคล้องกับความเป็นจริง มีความเป็นธรรม เพราะคงมีแค่ผู้ผลิตหรือกลุ่มทุนรายใหญ่เท่านั้นที่จะออกผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มอื่น เพื่อให้คนนึกถึงแบรนด์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้
ภาพเมื่อครั้งพรรคอนาคตใหม่ (ในขณะนั้น) เปิดตัวนโยบาย
- ร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่พรรคก้าวไกลเรียกว่า พ.ร.บ.สุราก้าวหน้านี้ มีอะไรที่ประชาชนจะได้ประโยชน์บ้าง?
แน่นอนว่าอย่างแรกผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น มีการแข่งขันที่มากขึ้น เป็นตลาดเสรีที่มากขึ้น กลไกตลาดก็จะทำหน้าที่เพื่อคัดกรองให้ผู้ผลิตที่มีคุณภาพครองใจตลาดได้
เกษตรกรที่จะนำผลผลิตอันหลากหลายมาแปรรูปเป็นสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่า ช่วยยกระดับราคาสินค้าการเกษตรให้สูงขึ้น สร้างโอกาสในการพัฒนาสินค้าสุราชุมชนให้กลายเป็นของดีขึ้นชื่อ กระตุ้นให้มีการจ้างงาน
อย่างที่พี่ทิม (พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล) บอก เราไม่ได้มองสิ่งนี้เป็นแค่เครื่องดื่ม แต่เป็นเรื่องของเศรษฐกิจ ภูมิปัญญาท้องถิ่น เรื่องประวัติศาสตร์ เป็นจุดขายที่ได้ประโยชน์ในการท่องเที่ยว สำคัญที่สุดคือเมื่อไม่มีข้อจำกัดอะไรมาปิดกั้น ทุกคนต้องทำให้ถูกกฎหมาย พร้อมเสียภาษีเข้ารัฐ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แค่เป็นเรื่องของคนดื่มเบียร์ หรือคนทำเบียร์ แต่มันคือเกษตรกรที่ปลูกวัตถุดิบ คนขนส่ง คนขับรถ ไปจนถึงผู้ค้าปลีกค้าส่ง พนักงานหน้าบาร์ที่จะมีงานเพิ่มขึ้นมาจากห่วงโซ่ธุรกิจนี้
อย่างในสหรัฐอเมริกา ก่อนหน้านี้ก็มีคนปลูกฮอปส์เพื่อส่งให้โรงงานผลิตเบียร์ไม่กี่เจ้า เป็นเกษตรกรแบบพันธะสัญญา (Contract Farming) แต่พอกระแสคราฟท์เบียร์มา เกษตรกรหลายเจ้าก็ปลูกฮอปส์ในพื้นที่เล็กๆหลังบ้าน เกิดสายพันธุ์ใหม่ๆ และเป็นทางเลือกให้กับผู้ผลิตในชุมชน
- คุณคิดว่าสังคมไทยพร้อมหรือยังในการเปิดรับผู้ผลิตจำนวนมาก โดยเฉพาะในเรื่องมาตรฐานการผลิต?
ผมคิดว่าจำนวนผู้ประกอบการจะไม่ได้เพิ่มขึ้นมากขนาดนั้น และมันจะดีเสียอีกที่การผลิตที่เคยอยู่ใต้ดินจะถูกนำขึ้นมาเพื่อให้อยู่ในมาตรฐาน
ธรรมชาติของการผลิต เบียร์ต้องสะอาดอยู่แล้ว มิเช่นนั้นรสชาติไม่ได้เรื่องเลย ความสะอาดนั้นเป็นพื้นฐานของเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ทั้งหมด ส่วนมาตรฐานสินค้า ตลาดจะเป็นตัวตัดสินเอง และยิ่งทุกอย่างอยู่บนดิน มาตรฐานเดียวกัน การควบคุมก็อยู่ในสายตาของภาครัฐ มีการส่งตรวจตามระเบียบไม่ต่างอะไรกับตอนนี้
การเปลี่ยนแปลงกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ไปแตะต้องอะไรในเรื่องคุณภาพความปลอดภัยเลย ทุกอย่างยังคงเดิม และหนำซ้ำยังดีกว่าเดิมด้วยเมื่อเราเอาสิ่งที่ไม่เคยอยู่ในลิสต์การสำรวจ ให้มาอยู่ในระบบ
จากการศึกษา ตัวอย่างในประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ เมื่อเปิดโอกาสให้รายเล็กร่วมผลิตแล้ว ก็จะมีแบรนด์และโรงเบียร์ใหม่เกิดขึ้นเยอะจำนวนหนึ่ง แต่สักพักก็จะล้มหายตายจากไปแบบครึ่งต่อครึ่ง คือมีทั้งที่มั่นคงและคนเจ๊งเยอะ เพราะเมื่อมีทางเลือกมากขึ้น ตลาดก็ไม่ได้ต้อนรับทุกเจ้า แบรนด์ไหนคุณภาพไม่ดี ไม่คุ้มค่ากับราคา ก็ไม่ได้ถูกสนับสนุนต่อ
ถ้าถามเรื่องความพร้อมในแง่วินัยการดื่มของคนไทย การมีทางเลือกที่มาก ไม่ได้หมายถึงการดื่มที่เพิ่มมากขึ้น และทุกวันนี้ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็ทรงตัวมาสักระยะแล้ว คือไม่ได้เติบโตหรือลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ และเรื่องวินัยการดื่ม คนฝ่าฝืนมันเป็นเรื่องเชิงปัจเจก ซึ่งสังคมไทยมีกฎหมายควบคุมอยู่แล้ว ทั้งพ.ร.บ.จราจรทางบก ซึ่งกำหนดโทษของการเมาแล้วขับ หรือ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งกำหนดเวลาการจำหน่าย การจำกัดอายุผู้ซื้อ
- ในการทำกฎหมาย เข้าใจว่าคุณต้องหารือกับคนหลายกลุ่มที่เกี่ยวข้อง คุณช่วยเล่าบรรยากาศในช่วงนั้นได้ไหม พวกเขาเห็นด้วยหรือมีข้อกังวลอะไรบ้าง?
ถ้าเรื่องการเปิดโอกาสผลิตเหล้าเบียร์รายย่อย ผมเชื่อว่าทุกคนเห็นด้วย พราะในประเทศนี้คนที่เป็นรายย่อย และผู้ที่ไม่มีงบประมาณผลิตตามที่กฎหมายเดิมระบุเยอะมาก แทบจะเป็นเอกฉันท์คือการเห็นด้วย แม้กระทั่งเครือข่ายต่อต้านเฝ้าระวังเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากเท่าที่รับฟังเขาก็เห็นด้วยในหลักการ สิ่งที่ผู้คนกังวลคือประเด็นที่กลุ่มทุนใหญ่มีโอกาสยึดตลาด และโหมทำโฆษณาให้เกิดนักดื่มหน้าใหม่เข้ามา
ในการสำรวจของประเทศอื่นๆ พบว่า ถึงจะมีผู้ประกอบการจำนวนมาก มีคราฟท์เบียร์ก็ไม่ได้ทำให้นักดื่มเพิ่มขึ้น และในประเทศไทยสัดส่วนของคราฟต์เบียร์ ก็ไม่ถึง 10% ของมูลค่าตลาดทั้งหมด ผมว่าข้อมูลชุดนี้ ผู้ผลิตรายใหญ่เขาก็รู้ และก็ไม่ได้กังวลว่าคราฟท์เบียร์จะมาแย่งส่วนแบ่งตลาด
หลายๆคนที่อภิปรายในสภาทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทุกคนก็ค่อนข้างเห็นด้วย ที่จะไม่เห็นด้วยและข้อกังวลก็คือวินัยในการดื่ม การเมาแล้วขับ
- ในที่ประชุม หรือในเวทีรับฟังความคิดเห็น ผู้คนพูดอะไรกับคุณในฐานะ ส.ส.ที่ผลักดันเรื่องคราฟท์เบียร์และสุราก้าวหน้า เป็นสัญลักษณ์ของผู้ประกอบการที่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน?
อย่างที่บอกไปว่า ส่วนใหญ่เห็นด้วย และเวลาเราทำร่าง พ.ร.บ. ก็จะมีการพูดคุยนอกรอบ หยั่งเสียงความเห็น บางคนมาสอบถามรายละเอียด ซึ่งเกือบทั้งหมดเห็นด้วยนะ โดยเนื้อหาของการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายเล็กมาทำ มันแทบไม่มีใครไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว แทบจะเป็นเอกฉันท์ แม้กระทั่งคุยกับตัวแทนกลุ่มทุนที่ผลิตสุราหรือเบียร์โดยตรง เขายังบอกกับผมว่าเห็นด้วย
ถ้าใครไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ผมก็อยากทราบเหตุผลว่ามันเพราะอะไร แล้วในฐานะที่เป็น ส.ส. คุณจะอธิบายเรื่องนี้อย่างไร เพราะมันเปิดโอกาสให้คนเล็กคนน้อยได้เข้ามา
- ถ้าทุกคนเห็นด้วยขนาดนั้น ทำไมการเปลี่ยนแปลงถึงยังไม่เกิดขึ้นสักที?
มันมีสิ่งที่เราไม่มีหลักฐานพอจะอธิบายได้ แต่ก็ทำให้เราคิดและเข้าใจไปได้ว่ามีอำนาจทุนที่เกี่ยวข้อง กำหนดทางการเมืองในเรื่องเหล่านี้
ในสังคมไทยเรื่องเหล้าเบียร์มันรวมกันหลายปัญหา เป็นเรื่องบาปบุญคุณโทษ เป็นเรื่องความเท่าเทียมกัน มันเป็นสัญลักษณ์ของการปลดแอก และถ้าเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ได้ ก็จะช่วย Empower ประชาชนที่พร้อมจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องอื่นได้
การแก้กฎหมายบางอย่าง เอาเฉพาะแค่เรื่องนี้ คนธรรมดาเขาไม่คิดว่าจะมีพลังที่จะทำได้ แม้กระทั่งเท่าพิภพ (ชี้ตัวเอง) ทุกคนก็เห็นผมโดนจับในวันนั้น หมดแล้วทุกอย่างในชีวิต โดนยึดของไปหมด อุปกรณ์ที่ซื้อมา สะสมมา วันนั้นผมผิดหวังแต่มาวันนี้ผมทำได้ คนอื่นก็น่าจะเห็นว่า "เท่า" มันยังทำได้ เขาก็ต้องทำได้
สำหรับตัวเอง ผมภูมิใจมาก ที่มีคนกล้าที่จะฝันทำอะไรต่างๆ และเรามีส่วนในการสร้างพลังนั้น ยกตัวอย่างเคยมีอาจารย์ที่คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ที่ผมจบมา บอกว่าเคยสัมภาษณ์เด็ก และถามว่าทำไมถึงเลือกมาเรียนคณะนี้ แล้วเขาบอกว่าพี่เท่าพิภพเป็นไอดอล หรือผมเล่นคลับเฮาส์แล้วมีเด็กจากที่ต่างๆ อยู่ต่างจังหวัด อยู่ม.3 แล้วบอกอยากเป็น ส.ส. เพราะเห็นผมทำได้ สิ่งเหล่านี้มันเป็นอะไรที่คนไม่กล้าฝัน แต่วันนี้มันทำได้
- สำหรับคุณแล้ว การผลักดันกฎหมายลดการผูกขาดเรื่องสุรา กับการทำงานการเมืองมีอะไรที่เหมือนกันบ้าง?
มันเป็นเรื่องการแก้โครงสร้าง และเราต้องเปลี่ยนจากเรื่องนามธรรมให้เป็นรูปธรรมให้ได้ เราตั้งคำถามกับโครงสร้างที่มันเอื้อประโยชน์เฉพาะทุนผูกขาดขนาดใหญ่ เราทำลายโครงสร้างทีละอย่าง ต่อจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็อาจนำไปสู่ธุรกิจที่ผูกขาดอย่างอื่น
วิธีการในการทำงานของเรื่องเหล้าเบียร์ มันคือโมเดลของอนาคตใหม่ก้าวไกลเลยครับ เราลงพื้นที่ไปสัมผัสผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ทั้งคนทำ คนขาย คนดื่ม แม้กระทั่งคนต่อต้าน เราก็ยังไปฟังไอเดียของเขาเพื่อไปหาในจุดร่วมที่เขาจะสนับสนุนเราได้
กฎหมายฉบับนี้ไม่ใช่อยู่ดีๆ อยากทำก็ทำเลย แต่มันสั่งสมตั้งแต่เราเปิดตัวเมื่อ 2 -3 ปีก่อน ได้โอกาสจากคุยกับคนที่เกี่ยวข้อง เป็นนโยบายที่เกิดจากล่างขึ้นบนจริงๆ แล้วเมื่อพรรคสนับสนุนก็เป็นโอกาสดีที่ผลักดัน และระหว่างที่ผลักดันก็ถือโอกาสให้ความรู้และร่วมสร้างสังคมให้เข้าใจถึงเรื่องนี้ เมื่อคราฟท์เบียร์ถูกพูดถึง กฎหมายที่เป็นธรรมถูกพูดถึง ก็เป็นการทำงานทางความคิดไปด้วย ซึ่งเมื่อเดินทางมาถึงจุดนี้ ลองสังเกตดูได้ว่าแทบไม่มีใครต่อต้าน หรือขัดแย้งแบบสุดโต่ง แต่ถ้าอยู่ดีๆ เสนอเลยโดยไม่ได้ผ่านกระบวนการเหล่านั้นมา ก็อาจจะมีคนต่อต้านได้
การที่ผมถูกจับเป็นข่าวมาก่อนเมื่อ 5 ปีก่อน กลายเป็นเรื่องดี บาร์ทุกบาร์ในประเทศไทยช่วยผม คนในวงการช่วยเป็นปากเป็นเสียง สิ่งเหล่านี้มันค่อยๆถูกสร้าง เราทำนโยบายและก็ทำงานด้านความคิดไปด้วย
การทำเรื่องหนึ่งมันเชื่อมโยงไปถึงอีกเรื่อง เช่น กฎหมายที่เกี่ยวกับเสรีการผลิตก็จะเชื่อมไปถึงการแก้ปัญหาผลผลิตการเกษตรราคาต่ำ เมื่อมีเวลาและความเน่าเสียเป็นตัวแปร การแปรรูปจึงเป็นทางออกหนึ่งในการเพิ่มมูลค่า เพิ่มอำนาจต่อรองในการซื้อขาย ลองคิดดูว่าถ้าผลผลิตมันมีอายุนานขึ้นเราก็สามารถมีเวลาที่จะต่อรองได้ เป็นการให้อำนาจเกษตรกร เขามีสิทธิ์ที่จะไม่ขาย ถ้าราคาไม่พอใจ และแม้มันอาจจะไม่ใช่ทุกตัว แต่ก็ช่วยได้ส่วนหนึ่ง ส่วนเรื่องการท่องเที่ยวเราก็อยากให้เรืองเครื่องดื่มท้องถิ่น เป็นความรู้สึกเดียวกับเหมือนตอนเราไปเที่ยว จ.อุบลราชธานี แล้วหาซื้อหมูยอกลับมา มีทางเลือกเยอะๆ มีเส้นทางการทำหมูยอ ส่งเสริมการท่องเที่ยวไปในตัว
- ก้าวต่อไปของแนวทางสุราก้าวหน้าคืออะไร?
เรื่องสุราก้าวหน้าจะมี 3 ประเด็นสำคัญ เรื่องแรกคือปลดล็อคกำลังการผลิตตามมาตรา 153 ใน พ.ร.บ.สรรพสามิตร ให้ไม่มีการกำหนดกฎเกณฑ์จำกัดปริมาณแรงม้า กำลังการผลิต และจำนวนแรงงาน เรื่องที่สองจะปลดล็อคอนุญาตให้ผู้ผลิตสามารถปรุงแต่งสุรา ช่วยส่งเสริมให้โอกาสกับผู้ประกอบการสุราและวัตถุดิบสินค้าเกษตรไทย ในการแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อจำหน่ายและส่งออกไปต่างประเทศได้ และเรื่องที่สามคือการปรับโครงสร้างภาษีให้เป็นธรรมมากขึ้นสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย เช่น การเป็นภาษีขั้นบันได ส่วนลดสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย และยังรวมถึงการใช้สื่อโฆษณาที่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการทุกระดับ
จากนั้นผมอยากเสนอให้มีสถาบันสุราไทยเหมือนกับสถาบันสาเก ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นศูนย์กลางที่จะให้ความรู้ พัฒนางานวิจัย ช่วยกำหนดมาตรฐาน ส่งเสริมการผลิตที่มีมาตรฐาน รักษาภูมิปัญญาไทย เป็นสถาบันสุราไทยที่ให้คำตอบในกระบวนการผลิตได้ ให้คำตอบในเชิงของชีวเคมี (Biochemical) รวมถึงเชื่อมโยงกับการหาตลาดและส่งออกไปต่างประเทศได้