Future Paradise จุดแข็ง "นักออกแบบไทย" ในงาน Bangkok Design Week 2022
Future Paradise นิทรรศการงานคราฟต์ "นักออกแบบไทย" สมาคม D&O อวดวิญญาณงานออกแบบในอนาคต จัดแสดงในบรรยากาศตึกเก่าสมัยรัชกาลที่ 5 “โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ” ย่านพระนคร
สมาคมผู้ผลิตผลิตภัณฑ์แนวดีไซน์ (Design & Objects Association – D&O) เชื่อว่า การจินตนาการถึงอนาคตเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์และผลักดันให้นักออกแบบมองเห็นความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในหลากหลายมิติ
ดังนั้น หลังการปรึกษาหารือกันในหมู่สมาชิกสมาคม D&O จึงตัดสินใจเข้าร่วมงาน “เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2565” หรือ Bangkok Design Week 2022 ด้วยการจัดแสดงนิทรรศการชื่อ Future Paradise โดยให้สมาชิกของสมาคมฯ ซึ่งเป็น “นักออกแบบไทย” ลองจินตนาการในอนาคตประมาณ 10 ปีข้างหน้า งานออกแบบของสมาชิกแต่ละคนจะเป็นอย่างไร เปรียบเสมือนการเล่าเรื่องอนาคตของแต่ละคนที่มีความหมายต่างกันไปตามความคิดความชอบของแต่ละแบรนด์
คำหนึ่งที่เกิดขึ้นระหว่างพูดคุยกัน คือคำว่า พาราไดซ์ (paradise) และสิ่งที่ทุกคนคาดหวังใน “อนาคต” จึงเป็นที่มาของชื่อนิทรรศการ Future Paradise
“พอพูดถึงอนาคต แต่ละคนนึกถึงสิ่งที่ดูทันสมัย ดูล้ำยุคมากๆ แต่ในมุมมองของกลุ่มพวกเรา สิ่งที่เป็นอนาคตจะมีคุณค่าต่อไปอาจไม่ใช่เรื่องของเทคโนโลยีที่รุ่งเรืองรุ่งโรจน์ แต่จะเป็นเรื่องของงานฝีมือ คุณค่าของสิ่งที่เป็นรากเหง้าของเราทุกคนของคนทำงานออกแบบ” อมรเทพ คัชชานนท์ นายกสมาคมผู้ผลิตผลิตภัณฑ์แนวดีไซน์ (Design & Objects Association) กล่าว
อมรเทพ คัชชานนท์ นายกสมาคมผู้ผลิตผลิตภัณฑ์แนวดีไซน์
ผลงานการออกแบบภายใต้คอนเซปต์ Future Paradise ส่วนใหญ่ที่ออกมา คือการเล่าเรื่องที่เป็นรากเหง้า ภูมิปัญญา การใช้วัสดุที่เป็นเรื่องของการพูดถึงอนาคต แต่ไม่ใช่เรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีที่ส้ำสมัย
“เรามองว่าในยุคที่มีความล้ำสมัยเกิดขึ้น เอไอ (Artificial Intelligence) เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น แต่สิ่งที่นักออกแบบไทยต้องคำนึงถึง และจุดแข็งของเราจริงๆ ไม่ใช่เรื่องเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย แต่เป็นเรื่องของภูมิปัญญา งานฝีมือ งานคราฟต์ต่างๆ นี่ต่างหากคือจุดแข็งที่เราจะสามารถบอกไปในและต่างประเทศได้ว่า จุดแข็งของนักออกแบบไทยคืองานฝีมือ ภูมิปัญญา และรากเหง้าทางวัฒนธรรม” นายกสมาคม D&O กล่าว
เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละแบรนด์ ทุกคนพยายามนึกถึงสิ่งที่ตัวเองมีความผูกพันในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ทุกคนจะไม่ได้มองเรื่องอนาคตอย่างเดียว แต่กลับมาย้อนอดีตของตัวเอง อดีตของรากเหง้า อดีตของแบรนด์ ที่มาของตัวเองที่ชัดเจนขึ้น ว่าในอนาคตต่อไปข้างหน้า แต่ละแบรนด์จะยังมีสิ่งที่เป็นตัวตนของตัวเองมากน้อยแค่ไหน
ผลงานการออกแบบที่ออกมาจึงเป็นเรื่องของการใช้วัสดุที่เหมาะสมต่ออนาคต การใช้วัสดุรียูส (reused) ที่จะทำให้สังคมในอนาคตดีขึ้น การใช้ภูมิปัญญา เทคนิคต่างๆ ที่เกิดจากรากเหง้าของไทยของชาวบ้านที่อยากรักษาไว้ให้อนาคตยังมีอยู่ในงานออกแบบ
สมาคม D&O เป็นที่รวมตัวของ นักออกแบบไทย ทำธุรกิจเป็นแบรนด์สินค้าประเภทเฟอร์นิเจอร์ โคมไฟ ของตกแต่งบ้าน เครื่องประดับ และแฟชั่น รวมตัวกันเพื่อพัฒนาศักยภาพการออกแบบไทย มีสมาชิกราว 60 แบรนด์ แต่ในนิทรรศการ Future Paradise จัดแสดงผลงานการออกแบบของ 21 บริษัท เนื่องจากข้อจำกัดของพื้นที่
Echo ประติมากรรมจากเศษเหล็กเหลือทิ้ง
แบรนด์ PiN นำเสนอแนวคิดในแบบฉบับตัวเองด้วยการออกแบบผลงานชื่อ Echo ใช้เศษเหล็กจากโรงงานที่ครอบครัวทำธุรกิจด้านนี้อยู่แล้วมา reused โดยนำเศษเหล็กเหลือทิ้งสร้างเป็นงานประติมากรรมที่ทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมา นั่นหมายถึงการเล่าเรื่องในอนาคตของแบรนด์ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ใช้วัสดุเหลือทิ้งให้เกิดประโยชน์มากขึ้น
PiN ออกแบบประติมากรรมเป็นรูปทรงคล้ายลำโพง ตั้งใจเล่าเรื่อง เสียงสะท้อนของผืนป่าและแผ่นดิน สื่อความหมายถึง “ชีวิต” ทั้งน้อยใหญ่ ฟังดูว่าธรรมชาติพูดอะไร ก่อนเสียงนั้นจะจางหาย
Pong-Pong / Baum-Baum
แบรนด์ อโยธยา (Ayodhya) ออกแบบเฟอร์นิเจอร์ชื่อ Pong-Pong / Baum-Baum มองเรื่องไลฟ์สไตล์ของคนในอนาคต ว่าอาจอยู่บ้านมากขึ้น ใช้ชีวิตในบ้านมากขึ้น มองสิ่งใกล้ตัว สิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคต อาจเป็นการที่แต่ละคนมีงานอดิเรกของตัวเอง เช่นการนำเศษผ้าในบ้านซึ่งเป็นสิ่งใกล้ตัว อาทิ เสื้อเก่า ผ้าพันคอไม่ใช้แล้ว นำมาสร้างสรรค์เป็นผลงานใหม่ๆ ขึ้นมา ซึ่งเป็นสิ่งที่ในอนาคตอาจเกิดมากขึ้น
เฟอร์นิเจอร์จากไม้ตาลและไม้ไผ่
แบรนด์ Amo Arte เล่าเรื่องการใช้วัสดุท้องถิ่นมาทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มและสร้างสรรค์สิ่งที่แตกต่างในอนาคต ด้วยการนำเสนอผลงานไม้ตาลและไม้ไผ่ที่นำมาออกแบบเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่ดูร่วมสมัยมากขึ้นจากการตกแต่งพื้นผิวสุดท้ายของชิ้นงาน
“คนอาจไม่ชิ้นกับการใช้ไม้ตาล เพราะส่วนใหญ่เป็นไม้ท้องถิ่นทางภาคใต้ แต่เรานำมาทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่บอกเล่าเรื่องราวว่าในอนาคตที่มีการใช้วัสดุหลากหลายมากขึ้น ยิ่งวัสดุใกล้ตัวในท้องถิ่นสามารถพัฒนาได้หลากหลายมากขึ้น โดยใช้ความสร้างสรรค์ที่มี เราอาจไม่จำเป็นต้องใช้แต่ไม้เบญจพรรณที่เคยใช้กันทั่วไป วัสดุต่างๆ ในท้องถิ่นสร้างเป็นผลงานในอนาคตได้เหมือนกัน และมีความยั่งยืนมากขึ้น” นายกสมาคมผู้ผลิตผลิตภัณฑ์แนวดีไซน์ อธิบาย
โคมระย้า Tri-Koon
Future Paradise ของ Touchable แบรนด์เฟอร์นิเจอร์และโคมไฟที่โดดเด่นเรื่องการใช้งาน ดีไซเนอร์ออกแบโคมระย้าชื่อ Tri-Koon (ไตร-คูณ) นำเสนอผลงานคอนเซปต์และฟังก์ชั่นนัล อยากตะโกนบอกไปว่า ต่อให้อนาคตจะไปไกลแค่ไหนเราก็ยังไม่สามารถทิ้งรากเหง้าของตัวเองไปได้ อยากให้เก็บวัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาที่มีคุณค่าส่งต่อไปถึงอนาคตให้ยังคงมีอยู่
ไตร-คูณ คือเครื่องแขวนโคมระย้าที่ได้แรงบันดาลใจจาก “ชฎา” ของตัวนางในนาฏศิลป์ไทย กับดอกไม้ท้องถิ่นภาคอีสานคือ “ดอกคูน” มาห้อยประดับเป็นดอกไม้บนชฎา ด้วยกลิ่นอาจของงานฝีมือหลายแขนง เช่น เทคนิคกลึงไม้ การสานหวาย การประดิษฐ์ดอกไม้ไหว เป็นงานเครื่องแขวนโคมระย้าที่เลียนแบบธรรมชาติ ทำให้ผู้ชมได้รับความรู้สึกเหมือนกำลังดูละครไทยที่ตัวนางกำลังร่ายรำร่วมกับต้นไม้ไหว
ไลติ้งอาร์ตสไตล์ Kitt.Ta.Khon
แบรนด์ Kitt.Ta.Khon (ฆิต-ตา-โขน) ออกแบบ “ไลติ้งอาร์ต” ตอบโจทย์ในอนาคต ว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่มาจากสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีตและปัจจุบัน และมาสร้างฟอร์มใหม่ที่เหมาะสมกับฟังก์ชั่นยุคใหม่มากขึ้น
ไลติ้งอาร์ตชิ้นนี้รวบรวมองค์ประกอบต่างๆ ของเมืองที่พบเห็นได้ทั่วไปในอดีต(และกำลังจะหายไป) มาจัดวางใหม่ในแบบฉบับของ ฆิต-ตา-โขน โดยหวังว่าผู้ชมจะรู้สึกเชื่อมโยงและย้อนคิดถึงวัยเยาว์ได้อีกครั้ง
Raya แรงบันดาลใจจากต้นสร้อยสายเพชร
Saprang (สะพรั่ง) แบรนด์เครื่องประดับ นำเสนองาน “ของตกแต่ง” ชื่อ Raya (ระย้า) ได้แรงบันดาลใจจากธรรมชาติใกล้ตัว นั่นก็คือต้นไม้ ดีไซเนอร์ออกแบบงานชิ้นนี้จากการมองเห็นความงามของต้น “สร้อยสายเพชร” ไม้ยืนต้นทรงพุ่ม สูง 2-3 เมตร ตัดแต่งได้ตามต้องการ
ความสวยงามอันโดดเด่นของ "ต้นสร้อยสายเพชร" อยู่ที่ช่วงเวลาฤดูหนาวที่ไม้ออกดอก ช่อดอกยาวเป็นสายคล้ายกล้วยไม้สกุลหวาย แต่ช่อดอกของสร้อยสายเพชรที่ยาวประมาณ 25 เซนติเมตรทิ้งตัวห้อยเป็นสายลงด้านล่าง แต่ละสายมีดอกสีขาวเล็กๆ เต็มไปหมด ช่อดอกออกตามปลายยอดและกิ่งก้าน เมื่อถึงฤดูออกดอก ต้นสร้อยสายเพชรจึงดูเหมือนห่มไปด้วยสายม่านสีขาว
ฉากกั้นห้อง ออกแบบโดยแบรนด์ Sculpture
แบรนด์ Sculpture (สคัลป์เจอร์) ผู้ออกแบบ Sexy Dining Chair สวยสะดุดตาจนได้รับรางวัล Demark 2020 และ PM Award 2020 รวมทั้งได้รับการนำไปเข้าฉากในภาพยนตร์เรื่อง The Hunger Games : Catching Fire (ปี 2013)
ครั้งนี้ดีไซเนอร์ใช้เทคนิคการทำเก้าอี้ตัวนั้นมาทำเป็น ฉากกั้นห้อง (partition) เพิ่มลูกเล่นด้วยการทำสี และเทคนิคเย็บผ้าสมัยโบราณ มาใช้กับวัสดุสมัยใหม่ผสมกลิตเตอร์ ให้เกิดแสงและเงาในตัวชิ้นงาน ฉากกั้นห้องชิ้นนี้ยืดขยายได้ เป็นประโยชน์ใช้สอยในอนาคตเรื่องการปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้เล็กและใหญ่ได้ตามการใช้งาน
แชนเดอเลียร์รูปทรง Infinity
ดีไซเนอร์แบรนด์ BaanChaan (บ้านฉัน) นำเสนองานสานวัสดุ “หนังเทียม” ที่ถนัด แต่เปลี่ยนรูปทรงเป็นลายอินฟินี้ (Infinity) บ่งบอกว่างานออกแบบไม่มีที่สิ้นสุด สื่อความเป็น Future Paradise ของแบรนด์ ที่จะพัฒนาภูมิปัญญางานสานในอนาคตได้อย่างไม่มีจุดสิ้นสุด ผ่านผลงานการออกแบบชื่อ Infinity Craft –Chandelier แชนเดอเลียร์รูปทรง Infinity
ร่วมสัมผัสงานคราฟต์ท่ามกลางบรรยากาศตึกเก่าในอดีตที่จะพาเรามองไกลไปสู่อนาคตกันได้ที่ นิทรรศการ Future Paradise ณ โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ ถนนบำรุงเมือง ย่านพระนคร ในงาน Bangkok Design Week 2022 ตั้งแต่วันที่ 5-13 กุมภาพันธ์ 2022 เวลา 11.00-22.00 น.
โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ สถานที่จัดนิทรรศการ Future Paradise
นิทรรศการ Future Paradise ภายในโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ