"กาแฟขึ้นราคา" ต้นทางปัญหาจาก "วิกฤติสภาพอากาศ" ที่บราซิล

"กาแฟขึ้นราคา" ต้นทางปัญหาจาก "วิกฤติสภาพอากาศ" ที่บราซิล

ปี 2021 เพียงปีเดียว ผลกาแฟในไร่กาแฟบราซิล ได้รับความเสียหายสูงถึง 590 ล้านกิโลกรัม ว่ากันว่าเป็นจำนวนที่ชงกาแฟให้คนอเมริกันทั้งประเทศดื่มได้นานติดต่อกัน 4 เดือนทีเดียว ผู้ประกอบการธุรกิจกาแฟทั่วโลกจึงต้องแบกรับต้นทุนทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้น

หลายวันก่อนมีโอกาสไปตลาดสดแถวถนนศรีนครินทร์ ใกล้ๆ ห้างดังในกรุงเทพมหานคร ผ่านไปเห็นร้านกาแฟสดแห่งหนึ่งติดป้ายหน้าร้านว่า ขอปรับขึ้น ราคากาแฟ ทุกเมนู สอบถามเจ้าของร้านได้ความว่า เหตุที่ต้องขึ้นราคาก็เพราะเมล็ดกาแฟอาราบิก้าคั่วที่ซื้อจากไร่ทางภาคเหนือมีการเพิ่มขึ้นมา 2-3 เดือนแล้ว จนอั้นไม่ไหวอีกต่อไป ไหนจะเจอกับผลกระทบจากปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด-19 จำใจต้องขึ้นราคากาแฟ พร้อมวอนขอให้ลูกค้าเข้าใจและเห็นใจในความจำเป็นของทางร้าน 

ผู้เขียนเองมีเพื่อนหลายคนประกอบอาชีพคั่วกาแฟขายแบบโฮมโรสเตอร์รายเล็กๆ ก็ทราบมาว่า สารกาแฟอาราบิก้า หรือ coffee bean ที่เคยสั่งซื้อจากเจ้าเดิม ล่าสุดปรับราคาขึ้น 20 เปอร์เซ็นต์ ด้วยกัน

\"กาแฟขึ้นราคา\" ต้นทางปัญหาจาก \"วิกฤติสภาพอากาศ\" ที่บราซิล ปัญหาจากบราซิล ส่งผลให้ร้านกาแฟต้องแบกรับภาระต้นทุนเพิ่มขึ้น / ภาพ : Nathan Dumlao on Unsplash

ในปีที่ผ่านมาว่า ผู้ประกอบการธุรกิจกาแฟทั่วโลกน่าจะตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน นั่นคือ การแบกรับต้นทุนทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้น ตามการทะยานขึ้นแบบกระทิงดุของ “ราคากาแฟ” ในตลาดโลกซึ่งทำสถิติสูงสุดในรอบ 10 ปี เนื่องจากความหวั่นวิตกเรื่องกาแฟขาดตลาดโลก หลังจากบราซิล ผู้ผลิตกาแฟรายใหญ่สุด เผชิญกับปัญหาสภาพอากาศแปรปรวน (climate change) ที่เกิดทั้ง “ภัยแล้ง”รุนแรงที่สุดในศตวรรษ และภาวะ “น้ำค้างแข็ง” ปกคลุม (frost) หนักหน่วงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ทำให้ต้นกาแฟตายไปราว 20 เปอร์เซ็นต์ ของทั้งระบบ เกิดปัญหาผลผลิตลดลงฮวบฮวบ นำไปสู่ภาวะกาแฟขาดตลาด ราคาจึงถีบตัวขึ้นพรวดพราด

ปี 2021 เพียงปีเดียว ผลกาแฟในไร่กาแฟบราซิล ได้รับความเสียหายสูงถึง 590 ล้านกิโลกรัม ว่ากันว่าเป็นจำนวนที่สามารถชงกาแฟให้คนอเมริกันทั้งประเทศดื่มได้นานติดต่อกัน 4 เดือนทีเดียว

\"กาแฟขึ้นราคา\" ต้นทางปัญหาจาก \"วิกฤติสภาพอากาศ\" ที่บราซิล ต้นกาแฟจากไร่กาแฟอัลโต้ คาเฟซัล เหี่ยวแห้งตายเพราะพิษน้ำค้างแข็ง / ภาพ : instagram.com/jcgrossiefilhos

 

ภาวะน้ำค้างแข็งปกคลุมหนักสุดในรอบ 40 ปี ที่เกิดขึ้นระหว่างปลายเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคมปีที่แล้ว สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงให้กับไร่กาแฟบราซิลจำนวนถึง 1.25 ล้านไร่ด้วยกัน ครอบคลุมพื้นที่จากรัฐเซา เปาโล ไปถึงเมืองกาแฟที่มีชื่อเสียงระดับโลกอย่าง กวาชูเป้, โนวา เรเซนเด้, มูซัมบินโฮ, คาโบ เวอร์เด และอัลเฟนัส ในตอนใต้ของรัฐมินัสเจอไรส์ ลามไปถึงเมืองฟรังก้าและเปเดรกุยโญในย่านอัลต้า ม็อกเกียน่า รวมไปถึงเมืองปาโตรซินิโอ เมืองกาแฟของย่านเคอร์ราโด้ มิเนโร

ที่สำคัญยิ่งคือ บริเวณนี้ทั้งหมดเป็นพื้นที่ปลูกกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้าถึง 65 เปอร์เซ็นต์ ด้วยกัน

\"กาแฟขึ้นราคา\" ต้นทางปัญหาจาก \"วิกฤติสภาพอากาศ\" ที่บราซิล การเคลื่อนไหวของราคากาแฟตลาดล่วงหน้าในรอบ 45 ปีที่ผ่านมา / ภาพ : www.macrotrends.net/

พื้นที่ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นไร่กาแฟแบบเปิดโล่งที่มองเห็นเป็นเหมือนพรมสีเขียวไกลสุดสายตา พลันกลับกลายเป็นสีน้ำตาล แห้งเหี่ยวตาย ทั้งไร่ ภายในเวลาเพียง 1 วัน หลังจากโดนภาวะน้ำค้างแข็งรุนแรงจู่โจม ซึ่งมาพร้อมกับอุณหภูมิติดลบ 2-4 องศาเซลเซียส

น้ำค้างแข็ง ที่บ้านเราเรียกว่า "เหมยขาบ" หรือ "แม่คะนิ้ง" ใครเคยไปเที่ยวตามดอยสูงๆทางเหนือที่มีอากาศหนาวจัด ก็คงเคยเห็นกันมาบ้างแล้ว เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ เกิดจากไอน้ำในอากาศที่อยู่ใกล้กับพื้นผิวดินมีอุณหภูมิลดลงจนถึงจุดเยือกแข็ง ลักษณะทั่วไปจะเป็นเกล็ดน้ำแข็งสีขาว จับตัวอยู่บนยอดหญ้า, ใบไม้ หรือวัตถุต่างๆ ที่อยู่บนพื้นดิน อาจทำให้พืชผลทางการเกษตรเสียหายได้ ส่วนมากน้อยขนาดไหนก็ขึ้นอยู่กับความแปรปวนของสภาพอากาศ

แน่ละในแต่ละแหล่งปลูกกาแฟจะมีปัจจัยแตกต่างกันไปที่หนุนเสริมส่งให้ราคากาแฟแพงขึ้น แต่สถานการณ์อันเลวร้ายของผู้ส่งออกกาแฟเบอร์หนึ่งของโลกอย่างบราซิลนี่แหละ ถือว่าเป็น ต้นทาง ของปัญหาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ปัญหาน้ำค้างแข็งระดับวิกฤติในบราซิล นำไปสู่การทะยานขึ้นของราคากาแฟในตลาดโลกโดยเฉพาะช่วงปลายปีที่แล้ว ส่งผลให้ร้านกาแฟหลายๆแห่งในยุโรปและสหรัฐพาเหรดกันขึ้นราคากาแฟตามไปด้วยทั้งเมนูร้อนและเย็น อย่างราคา “คาปูชิโน” ซึ่งเป็นกาแฟที่ป๊อปปูล่าที่สุดในอังกฤษ ก็ขยับขึ้นเป็นแก้วละ 3.57 ปอนด์ (155 บาท ) จาก 2.75 ปอนด์ (119 บาท ) ในฝากฝั่งสหรัฐ คาเฟ่ เคโรแอท ร้านกาแฟในรัฐโอไฮโอ ปรับราคาเมนู “ลาเต้” และ ”เอสเพรสโซ” ขึ้นอีก 25 เซนต์ ส่วนร่านคาเฟ่ ดู มองต์ ในนิว ออร์ลีนส์ เพิ่มราคากาแฟเฉลี่ย 5 เปอร์เซ็นต์ ในทุกๆเมนู

ในอิตาลี รากเหง้าวัฒนธรรมกาแฟโลก ราคาของเมนูยอดนิยมอย่างเอสเพรสโซและคาปูชิโน ตามคาเฟ่จำนวนมาก ล้วนปรับตัวขึ้นขานรับ โดยเอสเพรสโซขยับจาก 1 ยูโร (36 บาท) เป็น 1.10 ยูโร (39 บาท) ส่วนคาปูชิโนปรับจาก 1.40 ยูโร (50 บาท) เป็น 1.50 ยูโร (54 บาท) และมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นในปีนี้ หากราคากาแฟยังคงพุ่งสูงขึ้น

แม้ว่ารายใหญ่ๆ จะมีพลังการเงินเอื้ออำนวยต่อการดูดซับผลกระทบจากต้นทุนสินค้าที่เพิ่มขึ้น แต่ก็มีรายงานข่าวจากเว็บไซต์ข่าวธุรกิจ บิสซิเนส เดย์ ของแอฟริกาใต้ ว่า ผู้ค้าปลีกกาแฟรายใหญ่ของโลก อย่างเช่น สตาร์บัคส์ และ เนสท์เล  ต่างก็รีบจัดซื้อกาแฟมาเก็บไว้ในสต๊อก เป็นการบริหารความเสี่ยง สำหรับสตาร์บัคส์เองที่ตอนแรกบอกว่าจะยังไม่ขึ้นราคากาแฟ เพราะปัญหาจากบราซิลนั้น ตอนนี้ก็เห็นข่าวว่าอาจจะอั้นเอาไว้ไม่อยู่เสียแล้ว

เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ คอสต้า ค๊อฟฟี่ เชนกาแฟยักษ์ใหญ่ของอังกฤษ ก็ประกาศขึ้นราคากาแฟอีก 15 เพนนีต่อแก้ว ในร้านสาขา ส่วนกาแฟตามตู้หยอดเหรียญคอสต้า เอ็กเพรส นั้น ขึ้นราคา 10 เพนนี 

ต้นทุนขนส่งก็เป็นอีกปัญหา ฟินด์เลย์ ลีสก์ เจ้าของบริษัทกาแฟ คาเบอร์ ค๊อฟฟี่ ในเมืองอะเบอร์ดีน บอกว่า การส่งสารกาแฟทางเรือเดินสมุทรที่ใช้เวลานานขึ้น ทำให้ต้องจ่ายค่าตู้คอนเทนเนอร์เพิ่มขึ้นไปด้วย อย่างตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 400 ตันที่ใส่สารกาแฟจากโคลอมเบียมายังอังกฤษ ก็ปรับราคาขึ้นจาก 800 ดอลลาร์สหรัฐ มาเป็น 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ

\"กาแฟขึ้นราคา\" ต้นทางปัญหาจาก \"วิกฤติสภาพอากาศ\" ที่บราซิล คอสต้า ค๊อฟฟี่ เชนกาแฟยักษ์ใหญ่อังกฤษ ประกาศขึ้นราคากาแฟ 15 เพนนีต่อแก้ว / ภาพ : instagram.com/costacoffee/

เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ราคากาแฟอาราบิก้าที่มีการซื้อขายในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้าระหว่างประเทศ มีการพุ่งขึ้นถึงระดับ 2.48 ดอลลาร์ต่อปอนด์ ทำสถิติสูงสุดในรอบ 10 ปี ก่อนพุ่งขึ้นแตะ 2.5 ดอลลาร์ต่อปอนด์ ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์  ขณะที่ราคาปิดตลาดเมื่อต้นมีนาคม ชะลอลงมาอยู่ที่ 2.3 ดอลลาร์ต่อปอนด์  นับเฉพาะราคากาแฟอาราบิก้าในปี 2021  ก็พุ่งขึ้นถึง 76 เปอร์เซ็นต์ ทีเดียว ถือเป็นเปอร์เซ็นต์การปรับตัวขึ้นสูงสุดในรอบ 10 ปีเช่นกัน

สาเหตุหลักมาจากปัจจัย 3 ประการด้วยกัน ภาวะคอขวดในธุรกิจขนส่งชิปปิ้ง, การชะงักงันหรือสะดุดของห่วงโซ่อุปทานสินค้าทั่วโลก และปัญหาผลผลิตกาแฟที่ลดลงในบราซิล, โคลอมเบีย และเวียดนาม ทั้ง 3 รายนี้ถือเป็นผู้ผลิตรายใหญ่สุด รวมกันแล้วกินส่วนแบ่งตลาดเกือบๆ 60 เปอร์เซ็นต์ ของการผลิตกาแฟทั่วโลก

ไล่เรียงดูจากปัจจัยลบทั้งหมดแล้ว จะเห็นว่าปัญหาคอขวดในธุรกิจชิปปิ้งและภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานสินค้าที่ถือว่ารุนแรงไม่น้อยเลยทีเดียวในช่วงปลายก่อน เริ่มคลี่คลายลงไปบ้างแล้ว

ปัจจัยที่คาดว่าจะมีผลต่อราคากาแฟตลาดโลกมากที่สุด ก็คงไม่พ้นไปจากปัญหาผลผลิตกาแฟที่ลดลงอย่างมากในบราซิล หลังจากเมื่อปีที่แล้ว เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟแดนแซมบ้าโดนผลกระทบหนักๆ ระดับวิกฤติ จากภาวะแห้งแล้งและปัญหาน้ำค้างแข็ง ที่โจมตีพื้นที่เพาะปลูกกาแฟจนเสียหาย                

นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ฟันธงลงไปว่า ปัจจัยจากบราซิลที่เจอปัญหาเรื่อง น้ำค้างแข็ง ระดับวิกฤติจนทำให้ต้นกาแฟตายลงไปเป็นจำนวนมาก จะมีผลกระทบต่อราคากาแฟในตลาดโลกต่อไปอีกอย่างน้อย 3-4 ปี จนกว่าต้นกาแฟที่ปลูกชดเชยต้นที่ตายไปจะเริ่มผลผลิตและเก็บเกี่ยวได้

แม้จะเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจมาตลอด แต่เรื่องตลาดกาแฟนี่บราซิลใหญ่มากจริงๆ ครองส่วนแบ่งตลาดโลกประมาณ 35 เปอร์เซ็นต์ ปีๆหนึ่งมีกำลังผลิตสูงถึง 50-60 ล้านกระสอบ ซึ่งกระสอบหนึ่งก็ตกประมาณ 60 กิโลกรัม ดังนั้น พอผลผลิตตกลงทีไร ก็มีผลต่อราคาในตลาดโลกเมื่อนั้น เรียกว่า “สะเทือน”กันไปทั้งวงการทั้งผู้ประกอบการ, ร้านกาแฟ, โรงคั่ว และผู้บริโภค 

ในปี 2021 ตัวเลขการผลิตกาแฟของบราซิลคาดว่าลดลงถึง 10-12 ล้านกระสอบ หรือประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ ของผลผลิตทั้งระบบเลยทีเดียว

\"กาแฟขึ้นราคา\" ต้นทางปัญหาจาก \"วิกฤติสภาพอากาศ\" ที่บราซิล ในปี 2021 ตัวเลขการผลิตกาแฟของบราซิลอาจลดลง 10-12 ล้านกระสอบ หรือ 25 เปอร์เซ็นต์

จากวิกฤติน้ำค้างแข็งที่รุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปี ทำให้กระทรวงเกษตรของบราซิล เคยประมาณการไว้ว่า ผลผลิตกาแฟในประเทศประจำฤดูกาล 2022 ซึ่งจะเริ่มขึ้นหลังดอกกาแฟเริ่มบานราวสิ้นเดือนกันยายน คิดเป็นตัวเลขกลมๆ ก็จะหายไปราว 10-12 ล้านกระสอบ ใกล้เคียวกับตัวเลขในปีก่อนหน้า โดยประมาณการนี้พิจารณาบนพื้นฐานของพื้นที่ปลูกกาแฟซึ่งได้รับความเสียหายรุนแรงจากวิกฤติน้ำค้างแข็ง จะยังไม่สามารถกลับมาผลิตกาแฟได้อีกครั้งจนกว่าจะย่างเข้าปี 2024 และ 2025 ประกอบกับภัยแล้งที่อาจเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลกระทบเช่นกัน

รัฐเซา เปาโล เป็นโซนปลูกกาแฟที่สำคัญของบราซิล และก็เป็นบริเวณที่ได้รับความเสียหายรุนแรงเช่นกัน ดาซิโอ โอลิเวียร่า กุยเด็ตติ เจ้าของไร่กาแฟจากย่านเซอร์รา เนกรา  ให้สัมภาษณ์เว็บไซต์เครื่องดื่ม stir-tea-coffee.com ว่า ไร่ของเขาได้รับความเสียหายไปประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ จากปัญหาน้ำค้างแข็งที่ทำลายต้นกาแฟและหน้าดินไป แต่ก็ยังถือว่าไม่มากนัก เพราะเท่าที่รู้ไร่กาแฟส่วนใหญ่ของแถบนี้ ความเสียหายที่เกิดขึ้นอยู่ระหว่าง 60-70 เปอร์เซ็นต์

ที่หนักหน่วงที่สุดก็เห็นจะเป็นเจ้าของไร่กาแฟที่ชื่อ อันโตนิโอ ริเบโร กูลาร์ต อดีตนายธนาคารวัย 70 ต้นกาแฟในไร่ราว 11,000 ต้น ต้องเสียหายและล้มตายไปหลังจากโดนน้ำค้างแข็งเข้าทำลาย จากใบ้ที่เคยเขียมชอุ่มก็เริ่มเปลี่ยนไปเป็นสีน้ำตาลซีดๆ ภายใน 24 ชั่วโมงเท่านั้น

\"กาแฟขึ้นราคา\" ต้นทางปัญหาจาก \"วิกฤติสภาพอากาศ\" ที่บราซิล

เกษตรกรหลายคนคงต้องตัดใจทำเช่นเดียวกับ โฮเซ่ คาร์ลอส กรอสซี่ เจ้าของไร่กาแฟอัลโต้ คาเฟซัล ที่ตัดสินใจนำพื้นที่ปลูกต้นกาแฟที่ได้รับความเสียหายอย่างน้อย 30 เปอร์เซ็นต์ ไปปลูกพืชชนิดอื่นแทน เนื่องจากเห็นว่าการปรับปรุงดินและปลูกต้นกล้ากาแฟขึ้นใหม่ มีค่าใช้จ่ายสูงมาก ไม่คุ้มค่าที่จะเสี่ยง

ปัญหาที่บราซิลมีผลผลิตกาแฟลดลง ก่อเกิดภาวะกาแฟขาดตลาด จนมีผลผูกพันไปถึงราคาในตลาดโลกในปีนี้และปีต่อๆ ไป น่าจะยังไม่จบลงง่ายๆ เพราะกว่าที่บราซิลจะกลับมาผลิตกาแฟชดเชยส่วนที่ขาดหายไปก็ปาเข้าปี 2025 หรืออีก 3 ปีนับจากนี้ นี่ยังไม่นับรวมถึงสภาพอากาศแปรปรวนที่เคยเล่นงานพืชไร่บราซิลจนเสียหายหนักมาแล้ว ทั้งไฟป่า, ภัยแล้ง และพิษน้ำค้างแข็ง ก็ยังเป็นตัวแปรที่สำคัญมากๆ เพราะยังไม่มีใครฟันธงได้พันเปอร์เซ็นต์ว่า สถานการณ์จะทรงตัวหรือทรุดหนักไปอีกในอนาคต