ร้านกาแฟ "แบนแล็ปท็อป" กรณีตัวอย่างจากต่างประเทศ
การเลือกใช้ "ร้านกาแฟ" เป็นเสมือน co-working space มีมานานแล้ว แต่ระยะหลังเริ่มเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เจ้าของร้านกาแฟขนาดเล็กหลายแห่งตั้งคำถามในใจเอาว่า ความพอดีอยู่ตรงไหน? โดยเฉพาะการนำเอา "แล็ปท็อป" เข้ามานั่งแช่ทำงานในร้านนานๆ หลายชั่วโมงหรือทั้งวัน
นั่งแช่ทำงานในร้าน เคยเป็นประเด็นดราม่าในประเทศไทยหลายครั้งหลายคราด้วยกัน แต่ฝั่งยุโรปและสหรัฐอเมริกาพัฒนาไปไกลกว่า ถึงกับมีการออกกฎกติกาควบคุมกันเลยทีเดียว กลายเป็นข่าวครึกโครมกันหลายระลอกตลอดช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขหรือหาทางออก บางร้านในอังกฤษและสหรัฐถึงกับติดป้ายห้ามหิ้ว แล็ปท็อป เข้าเข้าร้านไปเลยก็มี
การนั่งแช่หรือนั่งนานแต่ออร์เดอร์น้อยของลูกค้าตามคาเฟ่ ที่กลายมาเป็นประเด็นถกเถียงกันมาตลอดว่า "เหมาะหรือไม่เหมาะ"/ "ทำได้หรือไม่ได้" ส่วนมากเป็นเคสการนัดหมายพูดคุยกันทางธุรกิจหรือจัดประชุมกลุ่มย่อยนอกสถานที่ ตามมาด้วยนัดสัมภาษณ์งานและสอนหนังสือแบบหมุนเวียนนักเรียนทั้งวัน ต่างฝ่ายต่างก็มี "เหตุผล" ของตนเอง หลายๆ ครั้งจึงลงเอยด้วยเหตุ "วิวาทะ" ระหว่างลูกค้ากับพนักงานร้านไป
การนั่งแช่ทำงานแต่ออร์เดอร์น้อยตามคาเฟ่ เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมาตลอด / ภาพ : Alizée Baudez on Unsplash
ว่ากันว่านี้คือปัญหายอดฮิตคลาสสิคสำหรับคนทำ "ร้านกาแฟ" ที่ต้องเจอะเจอกันทุกคน ขณะที่ลูกค้าเองก็บอกว่า อ้าว...ก็ร้านไม่ได้ห้ามนี่ แล้วสั่งเครื่องดื่มแล้วด้วยนะ ก็เห็นร้านๆ ว่างอยู่นี่นา ดีกว่าไม่มีคนเข้าร้านไหมล่ะ ท่ามกลางกระแสริวิวในโลกโซเชียลมีเดียที่เต็มไปด้วยสโลแกนทำนองว่า “นั่งทำงานชิลๆ พร้อมจิบกาแฟเพลินๆ”
ในระยะหลังๆ การใช้ร้านกาแฟเป็นสถานที่ทำงานในต่างประเทศ ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบไปสู่อีกมิติหนึ่ง เรียกกันว่า "remote work" ทว่ารูปแบบไม่ต่างกันเท่าไรในแง่ของปัญหาที่เกิดขึ้นหากมองในแง่มุมของผู้ประกอบการร้านค้า นั่นคือ นั่งนาน ไม่สั่งเครื่องดื่มและอาหารเพิ่ม ทำใหัลูกค้ารายอื่นๆ เข้ามาใช้บริการไม่ได้ ส่งผลกระทบต่อรายได้ของร้าน เลยจำเป็นต้องมีกฎกติกาประจำร้านออกมาป้องกันหลากหลายแนวทาง
Remote work รูปแบบการทำงานสมัยใหม่ที่มาพร้อมคอนเซ็ปต์การทำงานที่ไหนก็ได้ / ภาพ : Helena Lopes from Pexels
Remote work ได้รับความนิยมมากในยุโรป, สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย ก่อนขยายตัวเข้าสู่เอเชียในเวลาต่อมา เป็นรูปแบบการทำงานสมัยใหม่ที่มาพร้อมคอนเซ็ปท์การทำงานที่ไหนก็ได้ ด้วยการปรับเปลี่ยนสไตล์การทำงานจากในสำนักงานสู่การทำงานนอกสถานที่ ไม่จำกัดว่าจะต้องทำที่สำนักงานหรือต้องทำงานที่บ้านเท่านั้น แล้วร้านกาแฟที่มีบริการเครื่องดื่มพ่วงอาหารว่าง พร้อมแอร์เย็นฉ่ำ และสัญญาณไวไฟฟรีเสร็จสรรพ คือ ตัวเลือกอันดับแรกของกลุ่มคนทำงานที่ใช้รูปแบบดังกล่าว
เอาเข้าจริงๆ กรณีนั่งแช่ทำงานนานๆตามร้านกาแฟดูจะลดน้อยถอยลงไปมากในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อ “ไวรัสโควิด-19” แต่พอมาตรการคุมเข้มทางสังคมเริ่มผ่อนคลายลง ร้านอาหารและร้านเครื่องดื่มต่างๆ ทยอยกลับมาให้บริการอีกครั้งในรูปแบบที่ใกล้เคียงกับสถานการณ์ปกติ กรณีการใช้ "ร้านกาแฟ" เป็นสถานที่ทำงานก็ปรากฎเป็นข่าวอีกครั้ง
ราวปีค.ศ. 2020 เคยมีข้อมูลจากไซเบอร์ครูว์ บริษัททำวิจัยด้านเทคโนโลยี ประมาณว่า เกือบ 1 ใน 5 ของบริษัทธุรกิจในแดนผู้ดีกำลังปรับเปลี่ยนเข้าสู่การทำงานแบบremote work พร้อมให้ตัวเลขว่า ราว 70 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ประกอบอาชีพที่ใช้ความสามารถเฉพาะทาง (professional ) ในอังกฤษ ปรับตัวไปทำงานนอกสถานที่กัน แล้วก็เลือกใช้ “ร้านกาแฟ” เป็นสถานที่ทำงาน
ล่าสุด เว็บไซต์ข่าวสารในแวดวงกาแฟชั้นนำอย่าง perfectdailygrind.com ได้หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมานำเสนอ พร้อมกับตั้งคำถามว่า ร้านกาแฟควร "แบนแล็ปท็อป" หรือไม่? (Should coffee shops ban laptops?) หรือควรจะมีพื้นที่ประนีประนอมที่สามารถพบกัน"ครึ่งทาง"ระหว่างร้านกับลูกค้าหรือไม่ พร้อมกับไปสอบถามความคิดเห็นในประเด็นนี้จากร้าน "ค๊อฟฟรา ค๊อฟฟี่ โรสเตอร์ส" (Kofra Coffee Roasters) ร้านกาแฟชั้นนำในเมืองนอริช ประเทศอังกฤษ
ที่น่าสนใจยิ่งก็คือ ในอินสตาแกรมของเว็บไซต์กาแฟนี้ที่นำลิงก์บทความไปโพสต์ลง ปรากฎว่ามีคอมเมนต์เข้ามาจำนวนมากทีเดียว ทั้งฝ่ายที่สนับสนุนให้แบนแล็ปท็อป และแน่อนมีฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย
ในพาดหัวเรื่องข้างต้นที่ใช้คำว่า "แล็ปท็อป" นั้น ผู้เขียนเองเข้าใจว่า น่าจะหมายรวมไปถึงโน๊ตบุ๊คด้วย เอาเข้าจริงๆ ตอนหลังอุปกรณ์คอมพิวเตอร์แบบพกพาทั้งสองประเภทมีความใกล้เคียงกันมาก แล้วผู้เขียนก็เคยอ่านเจอมาว่าในต่างประเทศมักเรียกคอมพิวเตอร์แบบพกพาส่วนใหญ่ว่าแล็ปท็อป
ร้านกาแฟค๊อฟฟรา ค๊อฟฟี่ โรสเตอร์ส มีโฮเซ่ เดอ ลีออง กุซมัน เป็นเจ้าของและผู้บริหาร เขาบริหารร้านอยู่ถึง 4 แห่งด้วยกันในเมืองนอริช ตลอด 7 ปีของการทำร้าน ไม่เคยเสนอบริการสัญญาณไวไฟเลย
"เป็นความเชื่อกันมาตลอดว่า ร้านกาแฟที่เต็มไปด้วยผู้คนช่วยดึงดูดให้ลูกค้าเข้าร้านมากขึ้น เพราะความคึกคักของร้านบ่งชี้ได้ว่า กาแฟ, อาหาร และบริการของร้านนั้นมีคุณภาพสูง อย่างไรก็ตาม คาเฟ่ไหนมีแต่คนพร้อมแล็ปท็อปเข้ามานั่งแช่ทำงานนานๆจำนวนมาก มันก็เป็นคนละเรื่องกันโดยสิ้นเชิง เจ้าของร้านกาแฟบางคนมองว่า ความเงียบ, เสียงแตะแป้นพิมพ์คีย์บอร์ดเบาๆ และเสียงพูดคุยฝ่ายเดียวทางวิดีโอคอล ไม่มีเสน่ห์เชิญชวนเท่าเสียงสนทนาของผู้คนที่เข้ามานั่งดื่มกาแฟตามปกติ นี่เป็นสาเหตุให้มีการแบนแล็ปท็อปเกิดขึ้น" โฮเซ่ เจ้าของร้านค๊อฟฟราฯให้มุมมอง
โอเซ่ บอกอีกว่า เป็นเรื่องไม่ยุติธรรมเลยที่จะปฏิเสธลูกค้าอื่นๆโดยยอมให้ผู้ใช้แล็ปท็อปผูกขาดพื้นที่ของร้านไป ธุรกิจขนาดเล็กต้องพึ่งพาลูกค้าที่หมุนเวียนกันมาใช้บริการตลอดทั้งวันเพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจ แต่การใช้ร้านกาแฟเป็นพื้นที่ทำงาน ทำให้การหมุนเวียนของลูกค้าลดลง โดยปกติผู้ใช้แล็ปท็อปจะนั่งในร้านกาแฟครั้งละหลายชั่วโมงในหนึ่งวัน ใช้จ่ายเงินสูงสุดประมาณ 10 ปอนด์ต่อวัน เรื่องนี้นำไปสู่ปัญหา 2 ประการ หนึ่งนั้นคือ กีดกันไม่ให้ลูกค้าอื่นๆ ได้โต๊ะนั่ง สองอาจส่งผลให้เกิดปัญหาทางการเงินสำหรับเจ้าของร้านอิสระขนาดเล็ก
ตัวเลขการใช้จ่ายสูงสุด 10 ปอนด์ไม่ถือว่ามากมายอะไร แค่ราคาคาปูชิโนในอังกฤษแก้วหนึ่งก็ตกเฉียดๆ 3 ปอนด์เข้าไปแล้ว
ปัญหานั่งทำงานนานๆ ส่งผลกระทบต่อร้านกาแฟอิสระขนาดเล็กอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ / ภาพ : Marta Dzedyshko from Pexels
หลายๆ ร้านกลัวว่าลูกค้าจะมีปฏิกริยาด้านลบหากว่ามีการ "แบนแล็ปท็อป" โดยเฉพาะอาจมีปากเสียงกันขึ้นระหว่างลูกค้ากับบาริสต้าอีกด้วย แต่สำหรับโฮเซ่ “ปัจจัยด้านการเงิน” มันสำคัญมากเกินกว่าจะเพิกเฉยได้ เคยมีคนถามเขาถึงเรื่องที่ร้านอาจสูญเสียลูกค้าไป เรื่องนี้โฮเซ่บอกว่า นับตั้งแต่เริ่มแบนแล็ปท็อป รายได้ของค๊อฟฟราฯเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 18 เปอร์เซ็นต์
สำหรับเชนกาแฟขนาดใหญ่ อย่าง สตาร์บัคส์, คอสต้า ค๊อฟฟี่ หรือ ทิม ฮอร์ตันส์ ปัญหาอาจจะไม่รุนแรงเท่าร้านขนาดเล็ก หรืออาจมองว่าไม่ใช่ปัญหาเลยด้วยซ้ำ เนื่องจากได้วางโครงสร้างธุรกิจและคอนเซปท์ของร้านกาแฟให้ลูกค้าเข้ามานั่งแช่ได้นานๆ แล้วก็มีพลังอำนาจทางการเงินสูงกว่าร้านเล็กร้านน้อยมากมายนัก
เจ้าของร้านกาแฟค๊อฟฟราฯ มองอีกว่า ปัญหาด้านการเงินไม่ใช่เหตุผลเดียวที่นำไปสู่การแบนแล็ปท็อป สำหรับเจ้าของร้านที่เน้นความสำคัญกับคุณภาพไม่ว่าจะเป็นกาแฟ อาหาร และการให้บริการลูกค้าแล้ว เจ้าแล็ปท็อปและอุปกรณ์อิเลกทรอนิคส์อื่นๆ อาจทำให้เป้าหมายของร้านถูกเบี่ยงเบนไป พร้อมเสริมว่า "คุณไม่มีทางได้เห็นใครก็ตามนั่งทำงานกับแล็ปท็อปในร้านอาหารติดดาวมิชลินสตาร์”
นี่คือสถานการณ์ของ "ร้านกาแฟ" โดยเฉพาะร้านอิสระขนาดเล็ก ที่ลูกค้าหลายคนอาจมองข้ามไป
หลายๆ ร้านกลัวว่าลูกค้าจะมีปฏิกริยาด้านลบเกิดขึ้นหากมีการแบนแล็ปท็อป / ภาพ : JÉSHOOTS from pexels
ผู้เขียนเห็นว่ามีหลายแนวทางที่เจ้าของร้านนำมาใช้แก้ปัญหา ร้านที่อะลุ้มอล่วยหน่อยก็ขึ้นป้ายให้เห็นกันทั่วไป เป็นต้นว่า ห้ามนั่งแช่ทำงานในวันเสาร์-อาทิตย์ หรือไม่ก็ควบคุมการใช้สัญญาณไวไฟ,ให้รหัสไวไฟแบบจำกัดเวลา, ลดรูเสียบปลั๊กไฟลง และจัดโซนที่นั่งทำงานให้ในแบบจำนวนจำกัด นั่งเต็มแล้วเต็มเลย ห้ามไปใช้โต๊ะอื่นๆ ไปจนถึงมาตรการที่เข้มข้นมากขึ้นอย่างห้ามนำแล็ปท็อปและแท็บเล็ตเข้าร้าน พร้อมขึ้นป้ายหน้าร้านว่า “เขตปลอดแล็ปท็อป” หรือเลิกให้บริการไวไฟไปเลยก็มีในบางร้าน
หลายปีก่อน เว็บไซต์เดอะ การ์เดียน ของอังกฤษ ก็เคยลงข่าวว่า มีร้านกาแฟท้องถิ่น 3 แห่งในเมืองไบรท์ตันประกาศเลิกให้บริการสัญญาณไวไฟภายในร้าน เนื่องจากทนไม่ไหวที่มีบรรดาลูกค้าหิ้วแล็ปท็อปเข้ามานั่งทำงานในร้านนานหลายชั่วโมงติดต่อกัน แต่จ่ายเงินซื้อกาแฟและอาหารนิดเดียวเอง ทำให้ร้านสูญเสียรายได้ที่พึงมีไป
ในช่วงเดียวกันนี้ ก็มีรายงานข่าวว่า ร้านกาแฟชื่อ ออกัส เฟิร์สต์ เบเกอรี่ แอนด์ คาเฟ่ ในรัฐเวอร์มอนต์ สหรัฐอเมริกา ออกระเบียบปฏิบัติ ห้ามพกพาอุปกรณ์ดังต่อไปนี้เข้ามาในร้าน แท็บเล็ต, ไอแพด และอุปกรณ์ที่มีลักษณะคล้ายกัน รวมไปถึงแล็ปท็อปด้วย ยกเว้นโทรศัพท์มือถือที่ไม่ห้าม แน่นอนว่ามีลูกค้าบางรายรู้สึกผิดหวังที่ทางเจ้าของร้านออกกฤกติกาเช่นนี้ แต่เจ้าของร้านก็ยืนยันว่าเป็นเรื่องดี เพราะช่วยกระตุ้นยอดขาย และทำให้ร้านกลับมามีฐานะเป็น “สภากาแฟ” ของชุมชนอีกครั้ง
ข่าวชิ้นนี้เป็นรายงานจาก www.npr.org เข้าใจว่าเป็นเว็บข่าวเกิดใหม่ไม่นานมานี้ แต่สำนวนโวหารยังรักษาซึ่งมาตรฐานอันดุเดือดเลือดพล่านตามสไตล์บริษัทข่าวอเมริกันไว้ครบถ้วน ในเนื้อข่าวข่าวมีทั้งคำว่า "สงคราม" ระหว่างเจ้าของกับผู้ใช้แล็ปท็อป และ "ประกาศิต" จากทางร้าน
ร้านกาแฟเล็กๆบางแห่งในสหรัฐ อนุญาตให้เฉพาะโทรศัพม์มือถือเข้าร้านเท่านั้น / ภาพ : SHVETS production from Pexels
ในเมืองไทย อาจจะยังไม่มีกฎกติกาที่เข้มข้นออกมา ส่วนใหญ่เป็นระเบียบในลักษณะขอความร่วมมือ ประเภทแบนหรือห้ามแล็ปท็อปหรือโน้ตบุ๊คยังไม่พบเห็น อาจเพราะกลัวลูกค้าทั่วไปได้รับผลกระทบ แบบว่าพลอยโดนลูกหลงไปด้วย แต่ที่สหรัฐและอังกฤษ ร้านกาแฟอิสระขนาดเล็กเริ่มนำมาใช้กันหลายเจ้าแล้ว และทำกันมาหลายปีแล้ว
เชื่อว่าหลังจากสถานการณ์เชื้อไวรัสโควิด-19 คลี่คลายลง ร้านรวงต่างๆกลับมาเปิดบริการตามปกติ กรณีการทำงานนอกสถานที่อย่าง remote worker ซึ่งกลายเป็นรูปแบบไปแล้ว กับผลกระทบต่อร้านกาแฟ จะถูกหยิบยกขึ้นมาถกแถลงกันถึงข้อดี/ข้อเสียกันอีกครั้ง...อย่างไม่ต้องสงสัย