คดี“แตงโม”ต้องใช้“เครื่องจับเท็จ”หรือไม่ ใครเป็นผู้ตัดสิน...
หากเรื่องราวคดี“แตงโม”ตกน้ำ มีหลักฐานไม่เพียงพอในการสืบสวนหาความจริง "เครื่องจับเท็จ" อาจถูกนำมาใช้ เพราะมีเงื่อนงำหลายเรื่องที่พยานในเหตุการณ์ตอบคำถามไม่ตรงกัน
เป็นที่ทราบกันดีว่า คดีแตงโม นิดา พัชรวีระพงษ์ ตกเรือเสียชีวิต ผู้ต้องสงสัยทั้ง 5 บนเรือมีหลายเรื่องส่อพิรุธ และมีการตั้งข้อสงสัยว่า โกหก
คดีแตงโม แม้จะผ่านมาหลายวันแล้ว แต่ความจริงก็ยังไม่เปิดเผย ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังรวบรวมหลักฐาน ทั้งหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ และหลักฐานจากสถานที่เกิดเหตุ ฯลฯ
หากเรื่องนี้มีหลักฐานไม่เพียงพอ มีความเป็นไปได้ไหมที่จะใช้ เครื่องจับเท็จ หรือเครื่องโพลีกราฟ” (Polygraph)
คดีแตงโม ควรใช้เครื่องจับเท็จไหม
เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2565 รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล นักอาชญาวิทยา ผู้ช่วยอธิการบดีและประธานกรรมการ คณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต ที่มีส่วนในการค้นหาความจริงในคดีแตงโม เพื่อให้ข้อมูลกับตำรวจ ให้สัมภาษณ์กรุงเทพธุรกิจ ว่า ถ้าถามว่าคดีนี้ผู้ต้องสงสัยต้องเข้าเครื่องจับเท็จหรือไม่ เรื่องนี้อยู่ที่ดุลยพินิจเจ้าหน้าที่สืบสวน แต่ถ้าคดีนี้เกิดขึ้นที่อเมริกา คงใช้ตั้งแต่แรก
"ถ้าพนักงานสืบสวนเห็นว่า มีพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับความผิดครั้งนี้บ้างแล้ว อาจมองว่า ไม่จำเป็นต้องเข้าเครื่องจับเท็จก็ได้
แต่ถ้าคดีนี้เกิดขึ้นในอเมริกา ผมเชื่อว่า ตำรวจจะต้องเอาเข้าเครื่องจับเท็จตั้งแต่ช่วงแรกครับ แต่กรณีนี้อยู่ที่ว่าจะใช้มาตรฐานแบบไทยหรือมาตรฐานสากล"
เครื่องจับเท็จเคยไขปริศนาคดีดัง
ก่อนหน้านี้เครื่องจับเท็จ ที่สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เคยใช้ไขคดีเมื่อปี 2541 กรณีที่เสริม สาครราษฎร์ ฆ่าหั่นศพแฟนสาวรุ่นพี่
และคดีแท็กซี่กำมะลอ สมพงษ์ เลือดทหาร โกหกว่า เก็บเงินและทรัพย์สินได้สิบล้านบาท รวมถึงคดีน้องชมพู่ ก็มีการใช้เครื่องจับเท็จ จับโกหกคนร้ายมาดำเนินคดีได้
ในด้านกลไกการทำงานเครื่องจับเท็จ อาจารย์กฤษณพงค์ บอกว่า ใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ ดูการเต้นของหัวใจ ความถี่ในการหายใจ และเหงื่อในชั้นผิวหนัง
"คนที่พูดไม่จริง เวลาถูกซักถามด้วยคำถามที่ออกแบบมาแล้ว ถามไปถามมา ถ้าพูดไม่จริง เกิดการสับสนในตัวเอง ปฎิกิริยาในร่างกายจะเกิดขึ้น เช่น หัวใจจะเต้นถี่ขึ้น เหงื่อจะออกตามฝ่ามือมากขึ้น เนื่องจากปฏิกิริยาร่างกายมนุษย์ไม่สามารถควบคุมได้ สั่งการเต้นของหัวใจไม่ได้"
อย่างไรก็ตาม เครื่องจับเท็จเป็นเครื่องมืออีกชิ้นในการจับพิรุธผู้ต้องสงสัย เพื่อค้นหาความเป็นจริงที่เกิดขึ้น เพื่อประกอบรวมกับการใช้หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและพยานบุคคล
อาจารย์กฤษณพงค์ บอกว่า แม้หลักฐานหลายอย่างในสถานที่เกิดเหตุจะลบเลือนไปบ้างแล้ว แต่อย่าลืมว่า ยังมีหลักฐานอื่นๆ ที่ใช้ได้
"เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 65 ผมดูข่าวเหมือนคดีคุณแตงโมคืบหน้าไป 80-90 เปอร์เซ็นต์ รอความเห็นผู้เชี่ยวชาญ ผลตรวจดีเอ็นเอ คราบปัสสาวะ(ถ้าพบ) ผลตรวจสภาพบาดแผลของแตงโมจากใบพัดเรือ คดีนี้ ผมมองว่าคนที่ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ก็คือ คนขับเรือ ก็รู้ตัวแล้ว"
เมื่อถามว่า คดีแตงโมตกน้ำเสียชีวิต จะได้รับความเป็นธรรมหรือไม่
อาจารย์กฤษณพงค์ บอกว่า ไม่เฉพาะคดีของแตงโมที่เป็นดารา เราอยากเห็นความยุติธรรมทุกคดี ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับคนรากหญ้า ดารา คนมีฐานะหรืออะไรก็ตาม ทุกคดีควรได้รับความยุติธรรมเท่าเทียมกัน
"ความเป็นธรรมของหลักฐานมีสองส่วนที่ตำรวจค้นหา มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ นิติวิทยาศาสตร์ พวกลายนิ้วมือบนเรือ เส้นผม รอยเท้าบนพื้นเรือ การสอบพยานบุคคล และหลักฐานทางเทคโนโลยี รวมถึงปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ อีก"
จับโกหกด้วยเครื่องจับเท็จ
คำว่าเครื่องจับเท็จ กลายเป็นกระแสที่คนให้ความสนใจมากขึ้น เป็นอีกทางเลือกในการค้นหาความจริงในคดีแตงโม เพื่อพิสูจน์บุคคลบนเรือทั้ง 5 คนพูดจริงหรือเท็จ
ถ้าอย่างนั้นมาทำความรู้จักเครื่องจับเท็จสักนิด...
เครื่องจับเท็จ เป็นเครื่องมือที่ใช้บันทึกสัญญาณที่ส่งจากตัวรับสัญญาณ หรือเซนเซอร์ จากร่างกายเพื่อส่งต่อไปยังกราฟคอมพิวเตอร์ โดยการบันทึกอัตราการหายใจ การเต้นของชีพจร ความดันโลหิตและการขยายตัวของปอด ที่มักใช้กับผู้ต้องสงสัยที่ไม่พูดความจริง
แม้จะไม่ได้ผลเต็มร้อย แต่ถือว่าเป็นอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพชิ้นหนึ่ง มีความแม่นยำประมาณ 87-90 เปอร์เซ็นต์
การจับเท็จด้วยเครื่องโพลีกราฟ มักใช้ในการสอบสวนคดีอาญา แต่บางครั้งก็นำไปใช้ในกรณีอื่นๆ ได้ด้วย และสามารถนำไปใช้เป็นหลักฐานในชั้นศาลได้ประมาณร้อยละ 60
ดังนั้นเครื่องจับเท็จ จึงเป็นส่วนหนึ่งของอุปกรณ์ค้นหาความจริง โดยวางตัวรับสัญญาณไว้บนร่างกาย 4-6 จุด แล้วให้ผู้ต้องสงสัยตอบคำถาม
เมื่อการทดสอบเริ่มขึ้น ผู้ทดสอบจะถามคำถาม 2-3 คำถามเพื่อตรวจสอบสัญญาณชีพที่จับได้จากผู้เข้ารับการทดสอบ
จากนั้นจะเริ่มถามคำถามจริงที่ใช้ในการจับเท็จ ในระหว่างการถามคำถาม สัญญาณที่จับได้จะถูกบันทึกบนกราฟคอมพิวเตอร์
โดยผู้ทดสอบจะดูอัตราการต้นของหัวใจ ความดันโลหิต อัตราการหายใจ และการเปลี่ยนแปลงกระแสคลื่นไฟฟ้าที่ชั้นผิวหนัง เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับภาวะปกติ
ถ้าเส้นกราฟที่ได้แกว่งขึ้นๆ ลงๆ แตกต่างจากสภาวะปกติมาก ก็อาจชี้ได้ว่าผู้ที่ถูกตรวจสอบในขณะนั้นกำลังโกหก
แม้ประสิทธิภาพเครื่องจับเท็จ จะมีการอ้างอิงว่าแม่นยำถึง 87-90% แต่กฎหมายหลายประเทศก็ไม่ได้นำมาใช้ในชั้นศาลตัดสินผู้ต้องสงสัย เพียงแค่ใช้ในขั้นตอนสืบสวนคดี เช่น สืบพยาน หรือผู้ต้องสงสัย
อย่างไรก็ตาม แม้เครื่องจับเท็จจะเป็นทางเลือกในการสืบสวนค้นหาความจริงในหลายๆ ประเทศ แต่อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ชิ้นนี้ก็ใช่ว่าจะได้ผลเต็มร้อย
หากตอนนั้นผู้ต้องสงสัยตกอยู่ในสภาวะที่กดดันหรือเคร่งเครียด การตรวจสอบเพื่อมองหาการแสดงออกที่ไม่ได้ตั้งใจ ยังมีนัยสำคัญ
กรณีนี้ ดร.บ็อบ ลี (Dr.Bob Lee) อดีตผู้อำนวยการบริหารแอกซ์ไซชัน ซิสเต็ม (Axciton Systems) ผู้ผลิตเครื่องโพลีกราฟ ระบุว่า การตรวจแบบนี้ไม่สามารถชี้ชัดได้หากผู้นั้นโกหกจริง
...........
ข้อมูลบางส่วน : The American Polygraph Association