จากหาดกะตะสู่เวิลด์คลาส "แอนนี่” แอนนิสซา ฐิตา ฟลินน์ นางฟ้านักโต้คลื่น

จากหาดกะตะสู่เวิลด์คลาส "แอนนี่” แอนนิสซา ฐิตา ฟลินน์ นางฟ้านักโต้คลื่น

การต่อสู้เดินทางฝ่าคลื่นลม จนเริ่มเป็นตามฝัน “แอนนี่” แอนนิสซา ฐิตา ฟลินน์ ยังมีสิ่งที่อยากเห็นในวงการเซิร์ฟอีกหลายอย่าง

สำหรับนักโต้คลื่น คลื่นทุกลูกคือความท้าทาย แต่สำหรับ “แอนนี่” ยิ่งคลื่นลูกใหญ่ก็เป็นยิ่งกว่าความท้าทาย แต่เป็นความสุขและยิ่งฉายภาพความฝันให้ชัดเจนมากขึ้น

เวิลด์ทัวร์, มีอันดับในรายการแข่งระดับโลก และที่สำคัญคือการได้พาธงชาติไทยไปอยู่ใน WSL ลีกกีฬาเซิร์ฟเบอร์หนึ่งของโลก ล้วนเป็นสิ่งที่ แอนนี่ - แอนนิสซา ฐิตา ฟลินน์ ใฝ่ฝัน แต่ยิ่งไปกว่านั้นคือความหวังว่าระบบการสนับสนุนนักกีฬาในประเทศไทยจะมีมาตรฐานและพานักกีฬาให้ไปได้ไกลสมกับศักยภาพ

วันนี้ “แอนนี่” เดินตามฝันจนล่าสุดได้เข้าร่วมแข่งขันในรายการ WSL: Vans Bali Pro Presented by East Venture ที่บาหลี หนึ่งในสนามแข่งขันเซิร์ฟระดับเวิลด์คลาส

จากหาดกะตะสู่เวิลด์คลาส \"แอนนี่” แอนนิสซา ฐิตา ฟลินน์ นางฟ้านักโต้คลื่น

จุดเริ่มต้นของการเป็นนักเซิร์ฟ?

เริ่มจากที่แอนนี่ย้ายมาที่ภูเก็ต ตอนนั้นคุณพ่อซึ่งเป็นคนออสเตรเลียเขาชอบกีฬาอยู่แล้ว พ่อของแอนนี่สอนเกือบทุกกีฬาเลย แต่ตอนนั้นแอนนี่ไม่ชอบ เช่น แบดมินตัน, ปิงปอง แล้วมีวันหนึ่งแอนนี่ได้ลองเล่นเวคบอร์ด ปรากฏว่าติดใจ ชอบเล่นเวคบอร์ดมาก พ่อปล่อยให้แอนนี่เล่นคนเดียวได้เลย เพราะเล่นได้ทั้งวัน แต่มีครั้งหนึ่งแอนนี่ตกลงมาจากความสูงระดับหนึ่งเลย ทำให้เข่าเริ่มมีปัญหา เลยหาอย่างอื่นทำดีกว่า

ช่วงนั้นพ่อเลยถามว่าลองเล่นเซิร์ฟดูไหม ไหนๆ มันก็กีฬาทางน้ำเหมือนกัน พ่อก็เลยพาไปที่กะตะ ที่นั่นมีร้านชื่อนอติลุสก็เดินเข้าถามว่าเช่าบอร์ดอย่างไร เรียนอย่างไร เจ้าของร้านเขาก็เลยบอกว่าให้ลองลงไปกับน้องๆ ที่เพิ่งฝึก เลยได้ทั้งสังคมและได้เรียนกับเพื่อน หลังจากนั้นก็ติดเลย ตอนนั้นที่เริ่มเล่นอายุประมาณ 7 ขวบ เล่นมาจนถึงตอนนี้อายุ 23 แล้วค่ะ

จากหาดกะตะสู่เวิลด์คลาส \"แอนนี่” แอนนิสซา ฐิตา ฟลินน์ นางฟ้านักโต้คลื่น

ก้าวสู่การเป็นนักกีฬา ตัวแทนประเทศไทย?

จริงๆ แอนนี่ฝึกกับแข่งมาตลอดเลย ตอนแรกเริ่มในภูเก็ต แล้วเริ่มไปทัวร์ของเอเชียมาเรื่อยๆ ทำให้แอนนี่มีชื่อเสียงในวงการโต้คลื่นที่ต่างประเทศ แล้วช่วงโอลิมปิก กีฬาเซิร์ฟมีบรรจุที่โตเกียวโอลิมปิก เพราะกีฬานี้ไม่เคยอยู่ในโอลิมปิกเลย ทำให้หลายคนรับรู้ว่ามีกีฬานี้ด้วย เมืองไทยก็เลยสร้างทีมชาติขึ้นมา เพราะจริงๆ แล้วมันเป็นกีฬาใหม่มากในประเทศไทย แอนนี่เลยเป็นนักกีฬาทีมชาติไทยค่ะ

ผลงานที่ผ่านมา?

สำหรับเซิร์ฟ ได้เหรียญเงินซีเกมส์เมื่อปี 2019 และเป็นแชมป์เอเชียปี 2013 ถ้าเป็น Flowboard ได้ที่หนึ่งของโลกสามสมัย

ถ้าไม่นับรายการที่เป็นตัวแทนทีมชาติไทย คือเราไปแข่งขันเอง?

ใช่ค่ะ ถ้าเป็นโต้คลื่น แอนนี่มีสปอนเซอร์ แต่ถ้าเป็นทีมก็มีซีเกมส์ กับอีกแบบคือแอนนี่ไปเอง

หมายความตอนนี้มีปัญหาเรื่องการสนับสนุนนักกีฬาเพื่อไปแข่งขันในรายการระดับโลก?

ใช่ค่ะ อาจเพราะโต้คลื่นมันใหม่ในประเทศไทยแล้วมันยังไม่มีการสนับสนุน ยังไม่มีคนรู้จักมากว่าการแข่งเซิร์ฟคืออะไร เหมือนทุกคนรู้คร่าวๆ ว่าโต้คลื่นเป็นกีฬาสนุกๆ เป็นกิจกรรม แต่จริงๆ แล้วโต้คลื่นเป็นกีฬาที่ซีเรียสในระดับหนึ่ง แต่เราต้องหาเส้นทางไปให้ได้ เพราะว่าเราไม่ใช่ Surfing Capital เหมือนบาหลี ถ้าเรานึกถึงบาหลีก็จะนึกถึงโต้คลื่น

แต่ทำไมญี่ปุ่นที่เราก็ไม่ได้นึกถึงโต้คลื่น แต่ ณ วันนี้ 10 ที่นั่งของ WSL (World Surf League) ฝั่งของทวีปเอเชียเป็นคนญี่ปุ่นหมดเลย เขาผลักดันกีฬานี้ให้ไปถึงระดับโลกได้แล้ว มันสำเร็จแล้ว แอนนี่เลยอยากให้ผู้ใหญ่ในเมืองไทยมองเห็นประสิทธิภาพในนักกีฬาไทย เพื่อให้ไปถึงจุดที่นักกีฬาญี่ปุ่นไปได้

จากหาดกะตะสู่เวิลด์คลาส \"แอนนี่” แอนนิสซา ฐิตา ฟลินน์ นางฟ้านักโต้คลื่น

กระแสกีฬาเซิร์ฟมีมากขึ้น เป็นสัญญาณที่ดีของกีฬานี้ไหม?

แอนนี่ว่ามันดีขึ้นเยอะเลยจากตอนที่แอนนี่เด็กๆ ถ้าจำไม่ผิด ตอนที่บูมมากจริงๆ คือ 2020 เหมือนว่าทุกคนเบื่อจากโควิด เบื่อจากล็อกดาวน์ พอคลายล็อกทุกคนก็หาอะไรทำ หลายคนเลือกไปทะเล ไปโต้คลื่น ได้ทั้งความสุขและได้รูปเก๋ๆ กลับบ้านด้วย รู้สึกดีที่ community มันโตขึ้น แต่ว่าสิ่งที่แอนนี่อยากเห็นและอยากทำตอนนี้คืออยากให้เป็นอีกเลเวลหนึ่ง เหมือนพอเราเรียนปุ๊บแล้วไปไหนต่อได้บ้าง หนูเป็นนักกีฬาอยู่แล้ว หนูแค่อยากทำให้มันเป็นมาตรฐานสากลมากกว่า

ตอนนี้โต้คลื่นของไทยเหมือนมีก้าวแรก แอนนี่กำลังพยายามต่อยอดให้มันใหญ่ขึ้นให้ได้ ให้มีการสนับสนุนกันมากขึ้นค่ะ

การสนับสนุนที่พูดถึงคืออะไร?

ทุกอย่างที่กีฬาอื่นมีค่ะ นักฟุตบอลเขาจะมี Life Insurance มีเงินเดือน มีทีม มีพาไปแข่ง มีการสนับสนุนที่พัก มีทุกอย่างที่กีฬาอื่นๆ เขามีกัน แต่ตอนนี้กีฬาโต้คลื่นไม่มีเลยค่ะ เราเลยอยากให้มีการสนับสนุนงบประมาณที่จะได้ไปแข่งในต่างประเทศ รวมถึงการฝึกฝนก็ต้องมีโค้ช

คลื่นในประเทศไทยมีแค่ 6 เดือน แต่อีก 6 เดือนถ้าเรามีการสนับสนุน ก็จะพานักกีฬาไปฝึกซ้อมที่ประเทศอื่นได้ เช่น อินโดนีเซียก็ได้ หรือฟิลลิปปินส์ก็ได้ ที่มีคลื่นฝึกได้ทั้งปี

ศักยภาพนักกีฬาเซิร์ฟของไทย ไปได้ถึงไหน?

แอนนี่ตอบรวมไมได้ เพราะวงการโต้คลื่นค่อนข้างที่จะดุระดับหนึ่งเลยค่ะ คนที่เก่งก็จะเก่งมากๆ เลย ณ ตอนนี้มีรุ่นเยาวชนที่กำลังมาแรง แต่ Drive ของแอนนี่คืออยากไปให้ได้ หนูมั่นใจว่าหนูมีประสิทธิภาพในการแข่งที่สูงมาก เราชนะอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์มาแล้ว สองประเทศนี้ในเอเชียมาแรงมาก สองปีที่แล้วถ้าเอเชียนบีชเกมส์เกิดขึ้นแอนนี่ก็จะได้แข่งกับจีนและญี่ปุ่น ซึ่งเป็นอันดับต้นๆ ของ WSL

เป้าหมายในกีฬาเซิร์ฟคืออะไร?

เป้าหมายของแอนนี่คือการได้แข่งใน WSL เป็นลีกที่ใหญ่สุดของโลกแล้ว แอนนี่อยากอยู่บนโพเดี้ยมนั้น อยากเป็นนักกีฬาที่นำเสนอประเทศไทย ไม่ว่าจะตกรอบหรือต้องไปแข่งใหม่ ถ้าได้อันดับก็ดี คือเราอยากสู้ให้ดีที่สุด

เป็นลูกครึ่ง ทำไมถึงภาคภูมิใจในเชื้อชาติไทย?

แอนนี่เกิดที่ออสเตรเลีย ย้ายไปย้ายมาตอนเด็กๆ แต่เวลาโต แอนนี่โตที่เมืองไทย เริ่มเล่นเซิร์ฟก็ที่ภูเก็ต ความสามารถที่เกิดขึ้นทุกอย่างมาจากเมืองไทยหมดเลย ถ้าพูดกันตรงๆ นักกีฬาออสเตรเลียในกีฬาโต้คลื่นคืออันดับหนึ่งของโลก แอนนี่เหมือนกำลังต่อสู้ที่เมืองไทยซึ่งกีฬานี้ยังเริ่มต้น

การฝึกซ้อมจนมาถึงวันนี้หนักหนาแค่ไหน?

แอนนี่ใช้ทั้งชีวิตเลยค่ะ ต้องเล่นทุกวัน หลังเลิกเรียนแอนนี่ก็ตรงไปเล่นเซิร์ฟเลย การฝึกฝนออกกำลังกายก็ทำทุกวัน เราทำทุกอย่างแล้ว ทั้งๆ ที่ไม่มีอะไรตรงตัว อย่างกีฬาอื่นเช่นบาสเก็ตบอล ก็จะฝึกเพื่อเป็นนักบาสของระดับนี้ ระดับนั้น เป็นนักบาสโรงเรียน แล้วขยับเป็นนักบาสทีมที่ใหญ่ขึ้น มันเรียงมาแล้ว แต่การโต้คลื่นมันเหลว มันไม่มีระบบอะไรเลยว่าการเป็นนักกีฬาโต้คลื่นต้องทำอย่างไร แอนนี่ก็เลยเหมือนต้องดูกีฬาอื่น ดูนักกีฬาประเทศอื่น แล้วเอาสิ่งที่เขาทำเขาคิดมาปรับใช้เอาเอง

เหนื่อยมากไหม?

ไม่หนักมากเท่าไรค่ะ เพราะเป็นสิ่งที่แอนนี่รักมากจริงๆ โต้คลื่นเหมือนเป็นชีวิตของแอนนี่แล้ว แอนนี่พร้อมที่จะเหนื่อยไม่ว่าจะขนาดไหนที่มันจะทำให้ความฝันของหนูเป็นจริงได้

จากหาดกะตะสู่เวิลด์คลาส \"แอนนี่” แอนนิสซา ฐิตา ฟลินน์ นางฟ้านักโต้คลื่น

อะไรที่ทำให้รักกีฬาโต้คลื่นได้ถึงขนาดนี้?

หนูว่าทุกคนมี Passion ของตัวเองอยู่แล้ว แต่พอเจอเซิร์ฟ แอนนี่รู้เลยว่าชีวิตนี้เราอยากทำอะไร ชอบทุกอย่างที่เกี่ยวกับมันไปเลย เหมือนเวลาคนโดนคลื่นทุบแล้วเขาจะไม่เอา แต่แอนนี่ชอบทุกอย่างที่เกี่ยวกับเซิร์ฟ ชอบการอยู่ในน้ำ ชอบที่จะตัวเค็ม ชอบที่จะทรายเลอะหัว มันมีเอกลักษณ์ของมัน คลื่นแต่ละคลื่นมันไม่เคยเหมือนกัน เหมือนสนามเราเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ในทุกคลื่น แล้วเราต้องปรับตัวกับมันให้ได้ มันมีความดึงดูดสูงมาก

นอกจากเป็นนักโต้คลื่น ทำอะไรอีกบ้าง?

ตอนนี้หนูไม่ได้มีอาชีพหลัก แต่แอนนี่ทำ Wake Surf และ Flowboard ด้วย จริงๆ แล้วแอนนี่เล่นเซิร์ฟสเก็ตด้วย เพราะมันลงตัวกับกีฬาที่เราเล่นอยู่ ก็มีไปแข่งบ้าง คือเหมือนเราโดดไปโดดมากับกีฬาที่ทำให้หนูมีรายได้เยอะที่สุดค่ะ เพราะการเป็นนักโต้คลื่นมันไม่มีรายได้ หนูก็เลยต้องหาหลายอย่างที่พาหนูไปในเส้นทางที่อยากไปให้ได้ เช่น การทำคอนเทนต์ ถ่ายรูปลงโปรโมชั่น โปรโมทโรงแรม อะไรทำนองนี้ อะไรที่ทำได้แอนนี่ก็จะทำ

ค่าใช้จ่ายจริงๆ ในการเป็นนักกีฬาโต้คลื่นในปีหนึ่งๆ ประมาณเท่าไร?

มันหมดไปเยอะมากเลยค่ะ อยู่ที่ว่าเราไปที่ไหน ยกตัวอย่างคนที่เป็นอันดับหนึ่งของ WSL เมื่อปี 2020 เขาเก็บสนามในเอเชียแค่สนามเดียว ที่เหลือเขาไปแข่งทวีปอื่นหมดเลยเพื่อเก็บคะแนนใน WSL

ค่าใช้จ่ายต่อปี แอนนี่ต้องดูว่าจะไปที่ไหนบ้าง มีค่าใช้จ่าย ค่าเดินทาง และอื่นๆ ซึ่งที่ผ่านมาแอนนี่ก็ไม่มีคะแนนใน WSL ไม่มีอันดับใน World Ranking คือประเทศไทยไม่เคยมีธงชาติแปะอยู่ใน WSL เลย ไม่ว่าจะเลเวลไหน ก็เลยเหมือนว่าแอนนี่ต้องผ่านขั้นแรกให้ได้ คือ ต้องเข้าร่วมให้ได้ก่อน แล้วถ้าติด 1 ใน 6 อันดับคะแนน ก็จะได้ขยับไปอยู่ขั้นที่สอง หมายความว่าประเทศไทยก็จะได้ติดอยู่ใน WSL นั้นด้วยเป็นครั้งแรก

เมื่อเทียบกับต่างประเทศ วงการเซิร์ฟของเราแตกต่างกันอย่างไร?

หนูไม่ค่อยได้มองเลยค่ะ หนูมั่นใจในความสามารถตัวเอง มี่เคยไปเปรียบเทียบว่าเขาพร้อมกว่าเราหรือเขามีเยอะกว่าเรา พอถึงสนามแข่งแล้วแอนนี่พร้อมแข่ง ไม่ค่อยได้ดูเหมือนกันว่าความพร้อมของคนอื่นเป็นอย่างไรบ้าง

แต่ว่าเวลาอยู่ที่เมืองไทย แอนนี่เห็นชัดมากว่าความพร้อมของประเทศอื่นเป็นอย่างไร เขาสนับสนุนเต็มที่มากจริงๆ ค่ะ เหมือนประเทศจีน เขาเอานักกีฬาของเขาไปทิ้งที่บาหลีเลยค่ะ มีเทรนเนอร์ มีที่พัก มีทุกอย่าง ปีหนึ่งเต็มๆ กลับมาก็ตอนแข่ง เขามีงบให้นักกีฬาเขาซ้อมเต็มที่

มีอะไรฝากถึงผู้หลักผู้ใหญ่ คนในวงการกระดานโต้คลื่นบ้าง?

อยากให้ผู้ใหญ่หลายคนหันมามองกีฬากระดานโต้คลื่นเป็นกีฬาจริงๆ ค่ะ ว่าจะทำให้มีนักกีฬาจริงๆ ได้อย่างไรบ้าง เหมือนแค่หันมาดูก็พอแล้ว