‘เซิร์ฟ’ จะตายเพราะ ‘ทราย’ จะเติม
เมื่อแผนแม่บทพัฒนาชายหาด “เขาหลัก” ด้วยการ “เสริมทราย” อาจหมายถึงความตายของการ “ท่องเที่ยว” ที่เคยมีกีฬา “เซิร์ฟ” ทำให้ที่นี่เป็นหมุดหมายของนักโต้คลื่นจากทั่วโลก
เราอาจต้องตั้งคำถามกับคำว่า “การพัฒนา” กันใหม่ เมื่อมีแผนแม่บทที่กรมเจ้าท่าเตรียม เสริมทราย ด้วยเหตุผลเรื่องการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งและเป็นการสนับสนุนท่องเที่ยวบริเวณ เขาหลัก ถึง แหลมปะการัง จังหวัดพังงา รวมระยะทางตามเป้าหมายคือ 12 กิโลเมตร ครอบคลุมชายหาดตั้งแต่บริเวณเขาหลักซันเซ็ทรีสอร์ททางด้านทิศใต้ ไปจนถึงบริเวณแหลมปะการังด้านทิศเหนือ กินพื้นที่อำเภอตะกั่วป่าและอำเภอท้ายเหมือง
แม้วัตถุประสงค์ของโครงการจะกล่าวถึงข้อดีของการ “เสริมทราย” ว่าป้องกันและแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งจะช่วยด้านการท่องเที่ยวของพื้นที่ แต่ในทางปฏิบัติทั้งนักวิชาการ ชาวบ้าน ผู้ประกอบการร้านค้า โรงแรม ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวอื่นๆ จำนวนมากแสดงความกังวลอย่างมากถึงผลกระทบทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวที่จะเสียหายมากกว่าจะดีขึ้น
- ถ้าเสริมทราย...คลื่นอาจจะเปลี่ยนไปตลอดกาล
กีฬากระดานโต้คลื่น หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า เซิร์ฟ (Surf) เป็นหนึ่งในกีฬาที่กลายเป็นเทรนด์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา “เซิร์ฟ” อาจไม่ได้มีรากเหง้าในไทย แต่ตลอดเวลาที่การโต้คลื่นเข้ามาที่พังงา ก็กลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้นักเซิร์ฟและนักเดินทางมาค้นพบความงามของดินแดนนี้ จนกลายเป็นจุดหมายปลายทางของการเซิร์ฟในทุกซีซั่น
แต่จะน่าเสียดายมาก ถ้าหาก “เซิร์ฟ” ซึ่งเป็นสีสันของทะเลพังงา โดยเฉพาะบริเวณ “เขาหลัก” จะต้องจมหายไปกับการมาของทรายที่จะถูกเติมจนเต็มชายหาด
ต๊ะ - ทวีโรจน์ เอี๋ยวพานิช ประธานชมรมกีฬากระดานโต้คลื่นจังหวัดพังงา เล่าในฐานะคนพังงาแท้ๆ และในฐานะนักเซิร์ฟว่า ต้องยอมรับว่ามีการกัดเซาะจริงๆ โดยเฉพาะบางจุดของหาดบางเนียง ส่งผลกระทบต่อโรงแรมบางแห่งมีการทรุดตัว แต่หลายปีที่ผ่านมาแก้ปัญหาด้วยการสร้างเขื่อนคอนกรีต เมื่อแห่งหนึ่งสร้างอีกแห่งข้างเคียงก็ได้รับผลกระทบ เพราะสิ่งปลูกสร้างที่เป็นโครงสร้างแข็งทำให้เกิดการกัดเซาะในบริเวณรอบๆ มากขึ้นไปอีก จนกลายเป็นทุกแห่งแก้ปัญหาที่ปลายเหตุด้วยการสร้างเขื่อนคอนกรีต จนหาดบางเนียงแทบจะไม่เหลือชายหาดอีกต่อไป
แต่ก็ไม่ใช่ทั้ง 12 กิโลเมตรที่ถูกบรรจุในแผนแม่บทที่จะต้องได้รับการ “เสริมทราย” เพื่อแก้ปัญหานี้ เพราะภูมิประเทศของทะเลเขาหลักเอื้อต่อการเกิดคลื่นที่เหมาะสมสำหรับ “เซิร์ฟ”
“เซิร์ฟเป็นกีฬาที่เกิดจากธรรมชาติ อาศัย Swell คือพลังงานของคลื่น ลม และที่สำคัญคือเกิดจากสันทรายใต้ทะเล ถ้ามีการเสริมทรายโดยไม่มีความรู้ แน่นอนว่าจะกระทบถึงคลื่น ในอนาคตอาจไม่เกิดคลื่น หรือไม่คลื่นก็จะเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งจากปัญหาเรื่องนี้มีคนแสดงความคิดเห็นเป็นวงกว้างเลย เพราะกีฬาเซิร์ฟเกี่ยวข้องกับจิตใจ การพักผ่อน และเป็นอะไรที่ละเอียดอ่อน เนื่องจากเซิร์ฟไม่ใช่แค่กีฬา แต่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต พวกเขาตื่นมาเซิร์ฟ ผูกพันกับธรรมชาติ ทุกคนก็เลยออกมาปกป้องมัน”
เขาอธิบายเพิ่มเติมว่าจากแผนแม่บท จุดประสงค์ของการ “เสริมทราย” คือเพื่อลดคลื่น ผลที่ได้ไม่ว่าจะทำให้คลื่นลดลง หรือเปลี่ยนทิศทางคลื่น หรือเปลี่ยนทิศทางกระแสน้ำ ล้วนทำให้ธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไปโดยไม่มีใครการันตีได้เลยว่าจะดีหรือไม่ดี ถ้าผลคือพลาดก็ใช่ว่าจะแก้ไขได้ง่ายๆ การเสริมทรายแบบปูพรมจึงไม่น่าจะใช่ทางออกที่ดี
“ต้องอย่าลืมว่าพื้นที่บริเวณที่เล่นคลื่นได้ ปัจจุบันไม่ได้มีปัญหาการกัดเซาะใดๆ รวมไปถึงโรงแรมที่อยู่ตรงนั้น ก็ได้ออกมาให้ข้อมูลว่าเขาไม่ได้รับผลกระทบอะไรเรื่องกัดเซาะเลย เขาไม่ได้ต้องการโครงการนี้ แต่เขาห่วงเรื่องการเปลี่ยนแปลงของคลื่นมากกว่า ซึ่งตอนนี้เป็นกิจกรรมที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวจังหวัดพังงา”
- "สายเซิร์ฟ" ไม่ถูกใจสิ่งนี้
จังหวัดที่ขับเคลื่อนด้วยการท่องเที่ยวหลายแห่งไม่ได้เที่ยวได้ตลอดทั้งปี จะมีช่วงไฮซีซั่น โลว์ซีซั่น หรือบางทีอาจเรียกให้ไพเราะว่ากรีนซีซั่น พังงาก็เช่นกัน ในอดีตช่วงฤดูฝนคือกรีนซีซั่นที่นอกจากพังงาจะชุ่มฝนแล้วยังเงียบเหงาด้วย แต่เมื่อการท่องเที่ยวรูปแบบต่างๆ ปลุกให้พังงาเที่ยวได้ทั้งปี เศรษฐกิจของที่นี่จึงเติบโตอย่างมาก
“ฤดูเซิร์ฟ คือฤดูฝนของพังงา ซึ่งปกติไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวเลย หลายโรงแรมเลือกจะปิดมากกว่าเปิด เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนตุลาคม การที่เซิร์ฟเข้ามาช่วยให้ครบไซเคิลพอดี ธุรกิจที่เคยเปิดได้แค่ 6 เดือน กลายเป็นว่าเปิดได้ทั้งปี ปีที่แล้วมีสถิติคนมาเรียนโต้คลื่น 4 เดือน อยู่ที่ประมาณ 8 พันคน ซึ่งถือว่าเยอะมาก เพราะนั้นคือหลังจากมีโควิดแล้ว เขาหลักคนนิยมมาโต้คลื่นมาก ทุกโรงแรมจะเต็มค่อนข้างหมดในวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์”
ลักษณะพิเศษของคลื่นที่ “เซิร์ฟ” ได้ในไทย มีอยู่ 2 แบบ ได้แก่ Beach Break คือคลื่นที่เกิดขึ้นหน้าทะเล เกิดจากระดับความลึกต่างๆ สันทรายต่างๆ คลื่นลักษณะนี้จะเกิดบริเวณ Memories Beach ซึ่งเป็นสถานที่ที่คนมาเรียนเซิร์ฟกันเยอะ
คลื่นอีกแบบคือ Reef Break เกิดจากการกระทบปะการังและหินใต้ทะเล ลักษณะนี้เป็นคลื่นที่นับว่ามีคุณภาพ เกิดที่บริเวณแหลมปะการัง ทวีโรจน์ บอกว่าเป็นจุดที่มีคลื่นสำหรับโต้คลื่นที่ดีที่สุดในไทย เป็นคลื่นขวาที่ยาวที่สุดในไทย และเป็นคลื่นซ้ายที่ยาวที่สุดในไทย
ความไม่แน่นอนของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับ “เซิร์ฟ” เมื่อเกิดการ “เสริมทราย” อาจเป็นความล่มสลายของการโต้คลื่นเขาหลัก หรืออย่างน้อยก็คือเกิดความเปลี่ยนแปลงที่เพียงน้อยนิดก็มากพอจะทำให้เสน่ห์ของ “เซิร์ฟ” ที่ "เขาหลัก" ลดลง
“เราเดาไม่ได้เลยว่าคลื่นจะเล็กลงหรือใหญ่ขึ้น หรือมันจะไม่เกิดขึ้น แต่มันจะส่งผลต่อกิจกรรมที่นี่แน่นอน ยิ่งถ้าเป็นการเสริมทรายตรงบริเวณแหลมปะการัง ทรายจะไปถมหินและปะการัง จะเกิดการเปลี่ยนแปลงกับคลื่นแน่นอน 100 เปอร์เซ็นต์”
- ชีวิตและวิถีที่จะโดนถม
“บริเวณแหลมปะการังเป็นจุดที่ชาวบ้านไปเก็บสัตว์ทะเล เช่น หมึกโวยวาย เป็นหมึกตัวเล็กๆ เป็นอาหารทางภาคใต้ ช่วงโควิดนี้คนก็มาเก็บโวยวายไปประกอบอาหาร และเก็บสัตว์ทะเลต่างๆ จากบริเวณกองหินไปทำกิน ผมเลยมองว่าการเสริมทรายจะกระทบทั้งการโต้คลื่นและวิถีชีวิตของชาวบ้าน” ทวีโรจน์ มองถึงสิ่งที่อาจเกิดขึ้นเป็นวงกว้าง ซึ่งไม่ได้กระทบเพียงชีวิตของคนเท่านั้น แต่กับสัตว์ทะเลหายากก็เช่นกัน อย่างที่ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ประธานคณะทำงานสัตว์ทะเลหายาก เตือนว่าการ “เสริมทราย” อาจรบกวนการวางไข่ของ เต่ามะเฟือง
“เต่ามะเฟืองเป็นเต่าหายากระดับโลก เป็นเต่าทะเลใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นเต่าที่ได้รับการคุกคามจากสถานะใกล้สูญพันธุ์มาก ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย และเต่ามะเหืองเข้ามาวางไข่เฉพาะที่ชายหาดที่เปิดรับลมและค่อนข้างชัน บริเวณที่มีเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่เยอะคือตั้งแต่หาดท้ายเหมืองจนถึงบริเวณเขาหลัก บางเนียง ไล่ไปตามพื้นที่จนถึงแหลมปะการัง มีแวะแถวภูเก็ตบ้าง แต่หลักๆ จะเป็นบริเวณดังกล่าว”
เหตุผลที่เต่าขึ้นมาที่ “เขาหลัก” เพราะธรรมชาติของ “เต่ามะเฟือง” คือไม่วางไข่ที่ชายฝั่งแนวปะการังเหมือนเต่าชนิดอื่น เพราะขนาดตัวใหญ่มากจึงเข้าที่ตื้นไม่ได้ และพื้นที่ดังกล่าวมีชายฝั่งที่ค่อนข้างลึก อาจารย์ธรณ์บอกว่าแต่เมื่อ 5-6 ปีก่อนมีปัจจัยทำให้เต่ามะเฟืองหายไป ไม่มาวางไข่ กระทั่งมีการรณรงค์ผลักดันให้เต่ามะเฟืองเป็นสัตว์สงวนสำเร็จเมื่อปี 2562 และเต่ามะเฟืองกลับมาวางไข่อีกครั้งบริเวณชายหาดคึกคักซึ่งอยู่ในบริเวณ 12 กิโลเมตรตามแผนการ “เสริมทราย”
ซึ่งการ “เสริมทราย” จะทำให้ลักษณะชายหาดมีการเปลี่ยนแปลง คือ เกิดการตื้นเขิน ส่งผลกระทบต่อ “เต่ามะเฟือง” โดยตรง
“ถ้าเต่ามะเฟืองไม่มาวางไข่ เท่ากับสูญพันธุ์จากเมืองไทย เพราะเต่ามะเฟืองเป็นสัตว์ที่วางไข่ยากมาก ไม่ได้เป็นเต่าที่เพาะเลี้ยงกันได้ มีแต่เขาปกป้องกันสุด พื้นที่ไหนในโลกที่มีเต่ามะเฟืองมาวางไข่ ไม่ต้องห่วงหรอก เพราะฉะนั้นเราพยายามคุยกับชาวบ้าน ร่วมกันดูแลเต่า แต่ถ้าเปลี่ยนสภาพชายหาด การที่ขาดเต่ามะเฟืองไปเพียง 1 รัง จะส่งผลกระทบต่อประชากรเต่ามะเฟืองที่มาวางไข่ในประเทศไทยอย่างมหาศาล”
สำหรับข้อเสนอที่ทั้งคนพื้นที่ นักเซิร์ฟ และนักวิชาการแนะนำเอาไว้เป็นทางออกเป็นไปในทิศทางเดียวกันคือควรจะต้องชะลอโครงการ “เสริมทราย” แล้วทบทวนหาจุดที่เหมาะสม อย่างทวีโรจน์ที่เป็นคนพังงา ก็ยืนยันว่าการเสริมทรายไม่ใช้ผู้ร้ายไปเสียหมด แค่คิดให้ถี่ถ้วนก่อนทำ
“โครงการนี้ผมไม่ได้ไม่เห็นด้วยทั้งหมด เพราะมีบางพื้นที่เดือดร้อนจริงๆ เช่น หาดบางเนียง อาจจะต้องทำ แต่ถ้าหาดไหนไม่ได้รับผลกระทบก็ไม่ควรทำ เพราะถ้าทำอาจจะได้รับผลที่แก้ไขไม่ได้”