เปิดนวัตกรรมช่วยลดอาการ "นอนไม่หลับ" ให้คนเมือง
ปีนี้ "วันนอนหลับโลก 2565" ตรงกับวันที่ 18 มีนาคม โดยนับเอาวันศุกร์ในสัปดาห์ที่สอง (เต็มสัปดาห์) ของเดือนมีนาคม เป็นวันเฉลิมฉลองและให้เห็นความสำคัญของการนอนที่มีคุณภาพ
"วันนอนหลับโลก2565" ปีนี้ตรงกับวันที่ 18 มีนาคม โดยนับตามวันศุกร์ในสัปดาห์ที่สอง (เต็มสัปดาห์) ของเดือนมีนาคมในทุกๆ ปี เป็นวันเฉลิมฉลอง "World Sleep Day" เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของการนอนหลับอย่างมีคุณภาพ
โดยสำหรับปีนี้องค์กร World Sleep Day โดย World Sleep Society (WSS) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่ตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกา ได้ตั้งสโกแกนรณรงค์ประจำปีไว้ว่า “Quality Sleep, Sound Mind, Happy World” หรือแปลความได้ว่า “การนอนหลับอย่างมีคุณภาพ ส่งต่อจิตใจแจ่มใส ให้โลกมีความสุข”
เนื่องจากการนอนหลับเป็นปัจจัยหลักของสุขภาพที่ดี และคุณภาพการนอนหลับในแต่ละคืนเป็นสิ่งสำคัญ เพราะไม่เพียงแต่จะส่งผลให้ร่างกายมีพลังงานพร้อมทำกิจกรรมต่างๆ ในแต่ละวันเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อสุขภาพจิตและอารมณ์ระหว่างวันของคุณด้วย
ทั้งนี้ องค์กร WSS เริ่มต้นโดยกลุ่มผู้ให้บริการด้านสุขภาพ มีสมาชิกหลักๆ เป็นแพทย์ที่ทำงานและศึกษาด้านยานอนหลับและการวิจัยด้านการนอนหลับ เป้าหมายของวันนอนหลับโลกในครั้งแรก คือ การรวบรวมเอาแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับมาคุยหารือ แล้วเผยแพร่ข้อมูลการนอนหลับที่มีคุณภาพออกไปทั่วโลก
แล้ว “การนอนหลับ” แบบไหน? เรียกว่าเป็นการนอนหลับที่มีคุณภาพ
เรื่องนี้มีคำตอบจาก อ.พญ.อรพิชญา ไกรฤทธิ์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ที่อธิบายเอาไว้ในบทความวิชาการของ RAMA Channel ระบุว่า โดยปกติวงจรการนอนหลับของคนเราแบ่งออกเป็น 2 วงจร ได้แก่
1. Non-Rem Sleep คือ ช่วงของการหลับตื้นไปจนถึงการหลับลึก
2. Rem Sleep คือ ห้วงการนอนหลับที่กล้ามเนื้อต่างๆ หยุดทำงานหมด ยกเว้น หัวใจ กระบังลม กล้ามเนื้อตา และกล้ามเนื้อเรียบ ซึ่งเป็นช่วงที่คนเรามักจะฝันเป็นเรื่องเป็นราว โดยการนอนแบบนี้จะเกิดขึ้นในช่วงท้ายๆ ของการนอน (ก่อนที่จะตื่นนอน) เป็นเหตุให้ฝันบ่อยๆ ในช่วงเช้ามืด
โดยการนอนที่ดีหรือ "การนอนที่มีคุณภาพ" นั้น จะต้องมีทั้ง 2 ช่วงดังกล่าว สลับกันไปในแต่ละคืน
ทั้งนี้ ระยะเวลาของการนอนที่เหมาะสมสำหรับผู้ใหญ่วัยทำงานนั้น ไม่มีระยะเวลากำหนดที่ชัดเจน แม้มีค่าเฉลี่ยของชั่วโมงการนอนอยู่ที่ประมาณ 6-8 ชั่วโมง แต่บางคนอาจนอนเพียงแค่ 5 ชั่วโมงก็สามารถตื่นเช้าได้อย่างสดชื่น ในขณะที่บางคนอาจใช้เวลานอนถึง 10 ชั่วโมง จึงจะรู้สึกสดชื่นตื่นเต็มตา
แต่สิ่งที่เป็นตัวชี้วัดว่า เรานอนอย่างเต็มที่หรือไม่นั้น คือ การที่เราตื่นมาแล้วรู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่
ส่วนใครที่มีปัญหา “นอนไม่หลับ” หรือนอนหลับได้ไม่เต็มที่ และเมื่อตื่นเช้ามาแล้วรู้สึกไม่สดชื่น ไม่กระปรี้กระเปร่า ไม่มีสมาธิทำงานระหว่างวัน
หากมีอาการแบบนี้อาจต้องหาตัวช่วยเพื่อให้นอนหลับได้ดีขึ้น กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รวบรวมนวัตกรรมที่ช่วยให้การนอนของคุณได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่
1. ที่คาดศีรษะอัจฉริยะ ‘Muse S’
อุปกรณ์นี้เป็นเทคโนโลยีจากแคนาดา ช่วยทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกสงบ มีสมาธิ และช่วยทำให้นอนหลับได้ดียิ่งขึ้น ใช้เทคโนโลยี Electroencephalogram (EEG) ที่สามารถตรวจสอบคลื่นสมองขณะนอนหลับ เก็บข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพการนอนหลับย้อนหลังได้ (เชื่อมต่อกับแอปฯ ในสมาร์ทโฟน)
อีกทั้งยังสามารถปล่อยคลื่นเสียงดนตรี เพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานรู้สึกผ่อนคลาย สามารถนอนหลับได้มีประสิทธิภาพ หากผู้ใช้งานสะดุ้งตื่นขึ้นมากลางคืน ที่คาดหัวอัจฉริยะนี้ก็จะกลับมาทำงานทันที เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าสู่ภาวะนอนหลับได้อีกครั้ง
2. หมอนหลับลึก Alpha Pillow 2
หากต้องการหมอนที่ทำให้หลับง่าย นอนสบาย ไม่สะดุดจนต้องตื่นกลางดึก หลายคนอาจจะสนใจหมอน Alpha Pillow 2 ที่ใช้วัสดุเมโมรีโฟมผสมถ่านไม้ไผ่ ที่มีรูปทรงสอดรับกับสรีระร่างกายขณะนอน ช่วยลดอาการปวดคอ บ่า ไหล่ หลังตื่นนอนตอนเช้าได้อย่างดี
อีกทั้งมีเทคโนโลยี aqua cooling membrane จึงมีคุณสมบัติระบายอากาศได้ดี และผ้าที่ใช้ทำจากเทคโนโลยีเพียวซิลเวอร์ไฟเบอร์ มีคุณสมบัติทำความสะอาดตัวเองได้ ป้องกันการเกาะติดของแบคทีเรีย จึงลดความสกปรกสะสมได้ด้วย
3. Sleepace Sleep Dot
อีกหนึ่งอุปกรณ์ที่จะช่วยติดตามการนอนหลับของคุณได้ เพื่อช่วยพัฒนาและปรับปรุงการนอนให้มีคุณภาพดีขึ้น นั่นคือ Sleepace Sleep Dot โดยมีวิธีการใช้งานได้ง่ายๆ คือ เพียงแค่เสียบตัวอุปกรณ์เข้าไปในปลอกหมอน เพื่อให้ติดตามรอบการนอนหลับและการเคลื่อนไหวของร่างกายในแต่ละคืน รวมถึงสามารถปลุกคุณในตอนเช้าด้วยเสียงและดนตรีที่ผ่อนคลายอีกด้วย
4. Dodow ช่วยปรับจังหวะหายใจ สู่การนอนหลับสนิท
Dodow เป็นนวัตกรรมที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการศึกษาเรื่องการนอนที่มีความสอดคล้องกับสุขภาพหัวใจ ผ่านงานวิจัยจำนวนมากว่า 13,000 ชิ้น
โดยหนึ่งในนั้น คือ ดร.เดวิด โอแฮร์ แพทย์เฉพาะทางการรักษาโรคหัวใจ ที่ให้ข้อมูลว่า การนอนสอดคล้องกับสุขภาพของหัวใจ หากนอนหลับได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะช่วยให้เราจัดการความเครียดและอารมณ์ในด้านลบได้ ส่งผลให้หัวใจทำงานเป็นปกติ
อุปกรณ์ช่วยนอนหลับชิ้นนี้ ได้รับการยอมรับจากสหพันธ์โรคหัวใจฝรั่งเศสมาตั้งแต่ปี 2014 ว่าเป็นอุปกรณ์ที่ใช้งานง่าย และมีประสิทธิภาพมากที่สุดวิธีหนึ่งในการต่อสู้กับความวิตกกังวลและอาการนอนไม่หลับ
หลักการทำงานคือ เมื่อกดปุ่มเปิดใช้งานอุปกรณ์นี้ เครื่องจะแสงสีน้ำเงินปรากฏขึ้นบนเพดาน เมื่อลำแสงขยายให้คุณหายใจเข้า เมื่อลำแสงหดเล็กลงให้หายใจออก ลำแสงทำหน้าที่เป็นแนวทางในการหายใจ ใช้เวลาประมาณ 8 นาที วิธีนี้ช่วยให้คุณหลับได้อย่างเป็นธรรมชาติ และเร็วกว่าการนอนหลับเอง 2.5 เท่า
5. แหวน Circular ติดตามคุณภาพการนอน
ปิดท้ายกับอุปกรณ์ที่ชื่อว่า Circular เป็นอุปกรณ์ติดตามการนอนหลับในรูปแบบแหวน สวมใส่ง่าย ถอดง่าย ใช้งานสะดวกสบาย ตัวเครื่องจะทำการวัดและวิเคราะห์สัญญาณชีวภาพของคุณระหว่างการนอนหลับ เพื่อช่วยให้คุณติดตามพฤติกรรมการนอนและวัดค่า Heart Rate ได้ทุกวัน โดยเชื่อมต่อและแสดงผลผ่านทางแอปฯ บนสมาร์ทโฟน
ผู้ใช้งานจะพบการรายงานผลเกี่ยวกับพารามิเตอร์ในรูปแบบต่างๆ เช็กได้ว่าพารามิเตอร์แบบใดที่ส่งผลต่อการนอนหลับได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีกิจกรรมใดที่สัมพันธ์กันเพื่อช่วยให้นอนหลับง่ายขึ้น โดยจะนำเสนอข้อมูลเชิงลึกที่เข้าใจง่าย และมีคำแนะนำเกี่ยวกับการนอนให้ผู้ใช้งานได้ศึกษาด้วย
--------------------------------------
อ้างอิง : worldsleepday.org, rama.mahidol, sciencefocus, becommon/innovative-sleeping, brandthink