ปรับสภาพแวดล้อมพิการสู่ “เมืองความเท่าเทียม”
ไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัว ขณะเดียวกัน เรายังมี “ผู้พิการ” ประชากรกลุ่มเปราะบางที่ต้องการการดูแลพิเศษเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ คำถามคือ สังคมไทยได้เตรียม “สภาพแวดล้อม” เอื้อต่อการใช้ชีวิตของประชากรกลุ่มนี้เพียงพอดีแล้วหรือยัง?
ในวันที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัว (Complete Aged Society) ซึ่งมีการคาดแล้วว่า ในปี 2565 ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ หรือประมาณ 1 ใน 5 ประชากร และอีก 12 ปีข้างหน้า ผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มเป็นร้อยละ 28
ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่ง เรายังมี “ผู้พิการ” ที่มีบัตรประจำตัวคนพิการกว่า 2.09 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 3.21 ของประชากรทั้งประเทศ ในวันที่สังคมกำลังมีประชากรกลุ่มเปราะบางที่ต้องการการดูแลพิเศษเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ลองหันมามองรอบตัวเราในวันนี้ เราอาจต้องตั้งคำถามว่า สังคมไทยได้เตรียม “สภาพแวดล้อม” ที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตของประชากรกลุ่มนี้เพียงพอดีแล้วหรือ?
เมืองพิการ
ปฏิเสธได้ยากว่าสิ่งที่เรากำลังเห็นในวันนี้ คือสภาพสังคมไทยยังถูกจำกัดความเป็น “เมืองพิการ” เพราะหากมองระบบขนส่งสาธารณะของเราในวันนี้ ยังไม่ได้ช่วยให้คนพิการและผู้สูงอายุได้ใช้ชีวิตอย่างมีอิสระ สามารถไปไหนมาไหนได้เช่นเดียวกับคนทั่วไป ถนนหนทาง ริมฟุตบาทประเทศไทยยังห่างไกลคำว่า “อำนวยความสะดวก” สำหรับผู้ที่เดินทางด้วยวีลแชร์ หลายแห่งไม่มีแม้แต่ทางลาด หรือพื้นที่ผิวที่ราบลื่นสำหรับมนุษย์ล้อ ขณะที่ทางเท้าหลายพื้นที่เอง ก็ยังไม่มี “เบรลล์บล็อก" นำทางเพื่อผู้พิการทางสายตา ส่วนห้องน้ำในที่สาธารณะ ก็ยังไม่อาจรองรับให้บริการกลุ่ม “มนุษย์ล้อ” ที่ต้องอยู่บนรถเข็นอย่างเพียงพอได้ ไม่ว่าจะเป็น ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร โรงแรมหรือศูนย์ราชการ โรงพยาบาล ก็ตาม
เอาจริงๆ แล้ว แม้แต่ห้องน้ำในบ้านเราเอง ก็น้อยนักที่จะออกแบบให้เหมาะสมกับสมาชิกผู้สูงอายุหรือผู้พิการในบ้าน คงมิต้องเอ่ยว่า เหล่านี้กำลังบอกกับเราว่า “คนพิการ” มักเป็นคนกลุ่มสุดท้ายที่ถูกนึกถึงเสมอเมื่อจะพัฒนาเมือง
เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ที่สังคมไทยเพิ่งเริ่มคุ้นเคยกับคำว่า “Universal Design” หรือการออกแบบเพื่อทุกคน จึงไม่น่าแปลกใจนัก หากจะได้เห็นว่าความตระหนักต่อเรื่องพื้นที่เพื่อคนพิการในประเทศไทยนั้น เพิ่งอยู่เพียงระยะ “เริ่มต้น” เท่านั้น
Universal Design เป็นการยกระดับสุขภาวะผู้เปราะบาง รวมถึงทุกคนในสังคม สร้างสรรค์ให้พื้นที่เป็นพื้นที่สะดวกและปลอดภัย สำหรับทุกคน ไม่แบ่งแยก ซึ่งหลักสำคัญของการออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อคนทั้งมวลนั้น มีความสากลและเป็นธรรม ไม่เพียงแต่ครอบคลุมกลุ่มประชากรเปราะบาง แต่ยังครอบคลุม “คนทุกคน”
“จากการสำรวจข้อมูล โดยวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2559 พบว่า ประเทศไทยมีสิ่งอำนวยความสะดวก เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุและคนพิการ ได้แก่ โรงพยาบาล คิดเป็น 40% สำนักเขต คิดเป็น 30.8% ห้างสรรพสินค้า คิดเป็น 12.5 % บ้านที่มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม คิดเป็น 7.3% ของประเทศ และยังมีพื้นที่ที่ต้องเร่งผลักดันให้มีสิ่งอำนวยความสะดวก ได้แก่ ตลาดสด ศูนย์บริการสาธารณะสุข สวนสาธารณะ สถานีขนส่ง สถานีรถไฟ ศาสนสถาน และห้องสมุด”
รศ.ไตรรัตน์ จารุทัศน์ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางการออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน ให้ข้อมูลเบื้องต้น ในงานประชุมวิชาการระดับชาติด้านการออกแบบเพื่อทุกคน (Universal design) ที่จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเครือข่ายศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคนทั้ง 12 ศูนย์
The First National Academic Conference on Universal Design: 1st NACUD2022 หรืองานประชุมวิชาการระดับชาติด้านการออกแบบเพื่อทุกคน ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปีนี้ ได้นำเสนอหัวข้อการจัดงาน “Inclusive Environment : A New Normal Life” ซึ่งมีเป้าหมายที่จะให้เป็นงานรวบรวมและถ่ายทอดองค์ความรู้นวัตกรรม ด้านการปรับสภาพแวดล้อม ที่ตอบโจทย์ “การออกแบบเพื่อคนทั้งมวล” หรือ Universal Design (UD) ซึ่งถือเป็นการยกระดับสุขภาวะของประชากรกลุ่มเปราะบางของไทยในอีกด้าน และนัยหนึ่งเพื่อผลักดันนโยบายให้ผู้สูงอายุและคนพิการให้มีสุขภาวะที่ดีกว่าที่ผ่านมา
นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร คณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 2 รองประธานกรรมการกำกับทิศทางการจัดปรับสภาพแวดล้อมและระบบขนส่งสาธารณะ เอ่ยถึงเหตุผลของการจัดงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติครั้งนี้ กำลังสะท้อนให้เห็นว่าภาคีเครือข่ายทั้งหน่วยงานของรัฐและเอกชน ให้ความสนใจต่อสิทธิความเป็นอยู่ในชีวิตของคนพิการและผู้สูงอายุ เพราะอยู่ในกลุ่มเปราะบางที่ต้องเผชิญความยากลำบากในชีวิตประจำวัน เช่น การเข้าถึงบริการสาธารณะ ที่ยังขาดแนวคิดการออกแบบเพื่อทุกคน ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก และความปลอดภัย เพื่อทำให้คนกลุ่มนี้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีศักดิ์ศรี
“ปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่และซับซ้อนเพราะทั้งผู้พิการสองล้านคนและผู้สูงอายุที่กำลังเพิ่มขึ้น สสส. มองเห็นว่า นี่คือการออกแบบในประเด็นเพื่อสร้างความเป็นธรรม ด้วยการยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งจำเป็นต่างๆ เพื่อคนพิการที่เดิมมีความลำบากในการใช้ชีวิตอยู่แล้ว ซึ่งเขาต้องการการอยู่ในสังคมที่มีบริการสาธารณะต่างๆ”
คนไม่ได้พิการ แต่สภาพแวดล้อมพิการ
ในตัวแทนผู้พิการวีลแชร์ กฤษณะ ละไล เผยความรู้สึกตนเองว่า เขาคือหนึ่งในชาวมนุษย์ล้อที่ต้องการใช้ชีวิตเท่าเทียมเหมือนคนทั่วไป แต่หลายสถานที่ในสาธารณะและชุมชน ยังเป็นอุปสรรคในการดำเนินชีวิตอิสระต่างๆ และทำให้ผู้พิการไม่สามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ได้ กฤษณะย้ำว่า ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากความพิการ แต่นี่คือปัญหาของ “สภาพแวดล้อมพิการ”
พร้อมยกตัวอย่างว่า ที่ผ่านมาการก่อสร้างอาคารส่วนใหญ่ หรือแม้แต่วัดวาอาราม ได้ทิ้งคนอีกกลุ่มหนึ่งเอาไว้ข้างหลังเสมอ และไม่ได้คำนึงถึงผู้สูงอายุเลย ทั้งที่เป็นคนกลุ่มหลักที่มาวัด แต่กลับไม่มีการออกแบบที่รองรับความสะดวกสำหรับคนกลุ่มนี้
“ปัจจุบันประเทศไทยมีความตื่นตัว และพัฒนาการในเรื่องแนวคิดการออกแบบเพื่อคนทั้งมวลมากขึ้นและดีขึ้นเป็นลำดับ เรามีกฎหมายฉบับแรกของไทยมาตั้งแต่ปี 2548 ที่ลงลึกรายละเอียดว่า ต้องทำ ปรับปรุงอะไรบ้างเพื่อแก้ปัญหาสภาพแวดล้อมพิการ ล่าสุด ปีที่แล้วได้มีการปรับปรุงให้กว้างขึ้น เช่น การขยายให้มีที่จอดรถสำหรับผู้พิการสัดส่วนไม่น้อย 25 ต่อ 1 ใน ถือเป็นความก้าวหน้ากฎหมายในประเทศไทย”
อย่างไรก็ดี กฤษณะเอ่ยว่า แม้สภาพแวดล้อมโดยรวมมีการพัฒนาบ้างแล้ว แต่ในด้านการเดินทางท่องเที่ยวสำหรับผู้พิการยังติดในปัญหาระบบขนส่งและโรงแรมที่พัก แต่ปัจจุบันก็มีนโยบายจากกระทรวงมหาดไทยได้กำหนดให้เพิ่มห้องพักสำหรับผู้พิการ โดยต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น พื้นที่กว้างในห้องน้ำ สำหรับรถเข็น ราวจับ ซึ่งเดิมมีเพียงร้อยละ 1 ซึ่งไม่ทั่วถึงเพียงพอ มาเป็นร้อยละ 10 ของจำนวนห้องทั้งหมดในโรงแรม ซึ่งทำให้คนพิการมีโอกาสที่จะใช้ชีวิตโดยไม่มีข้อจำกัด และไม่รู้สึกแตกต่างกับคนอื่นได้มากขึ้น
คนต้นแบบ UD
อีกหนึ่งกิจกรรมภายในงานครั้งนี้ ยังมีการมอบรางวัลบทความดีเด่น บุคคลต้นแบบ องค์กรต้นแบบ Universal Design presented by TOTO โดย นายทาคายะสุ ชิมาดะ ประธานบริษัท โตโต้ (ประเทศไทย) จำกัด แก่องค์กรหรือผู้ที่มีผลงานการดำเนินงานด้าน UD หรือที่เกี่ยวข้อง หรือเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือให้การดำเนินงานด้าน UD ประสบผลสำเร็จ สามารถสร้าง Impact ทั้งมีผลงาน ความร่วมมือ ในการดำเนินการของ UDC ตลอดจนมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และมีความกระตือรือร้นในการศึกษา หาองค์ความรู้ใหม่ เพื่อใช้ในการพัฒนาตนเองและปฏิบัติงานที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กร ส่งผลให้กลุ่มเป้าหมายของ UD มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถประยุกต์ใช้ความรู้วิชาชีพร่วมกับหลักการออกแบบเพื่อทุกคน (Universal Design: UD)
กรกฤต พวงมาลี ผู้ประสานงานชุมชนเลิศสุขสม ร่วมแชร์ประสบการณ์การปรับสภาพแวดล้อมสถานที่และบ้าน โดยกล่าวว่าในพื้นที่ชุมชนเป็นพื้นที่ใต้สะพานในเมืองหลวงที่มีการพัฒนาเป็นพื้นที่สุขภาวะ ซึ่งหนึ่งในกิจกรรมการพัฒนาห้องน้ำเพื่อทุกคน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยร่วมปรับสภาพบ้านและพัฒนาพื้นที่ตั้งแต่ปี 2562
ด้าน ชลทิศ ชัยจันทร์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนาทรัพย์สินมีค่าของรัฐ กรมธนารักษ์ กล่าวถึงแนวคิดการพัฒนาออกแบบพื้นที่พิพิธภัณฑ์ 6 แห่งของกรมธนารักษ์ ให้มีการนำแนวคิดออกแบบ Universal Design มีแรงบันดาลใจจากการมีโอกาสไปอบรมพิพิธภัณฑ์เพื่อทุกคน
“พิพิธภัณฑ์เป็นพื้นที่แหล่งเรียนรู้ของทุกคน เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นใครก็ควรมีโอกาสเข้าใช้ประโยชน์ได้ เท่าเทียมกัน ไม่ควรจำกัดเฉพาะคนปกติ เราจึงมีแนวคิดว่าไม่ว่าเป็นใครต้องมีส่วนร่วมหมด ไม่เพียงออกแบบสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับทุกคนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นห้องน้ำ ทางลาด กระทั่งห้องพยาบาล เรายังพัฒนาพิพิธภัณฑ์เพื่อผู้พิการทุกกลุ่ม เช่น มีอักษรเบลและคิวอาร์เบล สำหรับผู้พิการทางสายตา เป็นต้น นอกจากนี้ในทุกปี พิพิธภัณฑ์จะมีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ เกี่ยวกับการบริการผู้พิการด้านต่างๆ”
ร้อยตำรวจเอก ดร.ตรีลุพธ์ ธูปกระจ่าง นายกเทศมนตรี นครรังสิต เล่าถึงแนวคิดการออกแบบเพื่อทุกคน โดยมองว่าไม่ใช่การออกแบบเพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็น “ทุกคน” ได้มีโอกาสใช้เท่าเทียมกัน ทางเทศบาลฯ จึงได้ร่วมมือกับคณะสถาปัตยกรรมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการพัฒนาต้นแบบ เพื่อให้เป็นต้นแบบของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเป็นศูนย์การเรียนรู้เชิงวิชาการ ที่ปฏิบัติได้จริง
มานพ ตันสุภายนต์ รองประธานชมรมผู้สูงอายุ และรองนายกมนตรีเทศบาลตำบลหนองตองพัฒนา อีกหนึ่งบุคคลต้นแบบที่ได้รับรางวัลครั้งนี้ กล่าวว่าในชุมชนหนองตองพัฒนามีผู้สูงอายุขณะนี้ถึงร้อยละ 28.33 และจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30 ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
“ผู้สูงอายุที่มากขึ้นเราจึงให้ความตระหนัก เรามีการจัดงานปอยหลวงหนองตอง หาเงินมาซื้อชักโครกเพื่อผู้สูงอายุ ปรับปรุงบ้านให้ผู้สูงอายุ เนื่องจากมองว่าการพึ่งพิงงบสนับสนุนภาครัฐเพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ ขณะเดียวกันในด้านสุขภาพ จัดให้มีศูนย์บำบัดและฟื้นฟูแก่ผู้สูงอายุในชุมชน”
ผศ.ดร.พญ.ศิรินาถ ตงศิริ คณบดีจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เผยถึงแรงบันดาลใจเกิดจากการต้องการเห็นผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะฟื้นตัวหลังการรักษา ให้ได้รับการส่งเสริมการฟื้นฟูหลังจากเจ็บป่วย เพื่อให้มีสมรรถนะที่เหมือนเดิมได้ ซึ่งองค์ประกอบสำคัญหนึ่งคือ การปรับสภาพแวดล้อมที่เอื้อ จึงได้เชิญชวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานท้องถิ่น รัฐและวิชาการ ร่วมกันออกแบบจัดการทำงานร่วมกันในการออกแบบ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตในชุมชน และส่งเสริมให้ชุมชนเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ นอกจากนี้อยากทำงานส่งเสริมการประสานทรัพยากร เพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิคนพิการและผู้ป่วยแบบยั่งยืน ถึงเราไม่สามารถกำจัดความพิการให้หายไปได้ แต่สังคมไทยสามารถกำจัด “อุปสรรค”ของผู้พิการให้หายไปได้ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นเมือง “เพื่อทุกคน”อย่างแท้จริง