“หลักหกโมเดล” ต้นแบบชุมชนสร้างสรรค์โอกาส ฟื้นฟูคุณภาพชีวิต หลังวิกฤติโควิด-19
สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้คนไทยอีกหลายชีวิตต้องเผชิญกับมรสุมชีวิตระลอกแล้วระลอกเล่า พี่น้องประชาชนยังได้รับความเดือดร้อนทั้งด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเหล่านี้ส่งผลให้คุณภาพชีวิตที่ดีลดลง “หลักหกโมเดล” จึงเข้ามาช่วยหนุนเสริมให้สามารถเดินต่อไปได้
ในวันที่คนไทยเราไม่น้อยต้องท้อแท้ หรือเรากำลังเผชิญภาวะที่ยากลำบากดังกล่าว หากมีใครสักคนหยิบยื่นโอกาสและทางออกเข้ามาก็เปรียบเสมือนแสงสว่างปลายอุโมงค์ ที่ช่วยหนุนเสริมให้เราสามารถเดินต่อไปได้
จากความตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และเชื่อว่าพลังใจเล็กๆ น่าจะทำให้ทุกคนสามารถฟันฝ่าปัญหากลับมายืนหยัดได้ด้วยตัวเองได้อีกครั้ง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคี จึงได้ร่วมกันริเริ่มโครงการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะขึ้น ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ในปี 2563 ปัจจุบันได้ต่อยอดเกิดเป็นโครงการย่อยทั่วประเทศกว่า 100 โครงการ
ล่าสุด อีกหนึ่งโครงการต้นแบบนำร่องที่กำลังเกิดขึ้น สสส. เตรียมจัดตั้ง “ศูนย์พัฒนาหลักหก” เป็นศูนย์กลางความช่วยเหลือ-สร้างอาชีพและรายได้-จัดการสิ่งแวดล้อมเอื้อสุขภาวะ ซึ่งครั้งนี้ เป็นการร่วมมือกันระหว่าง สสส. มหาวิทยาลัยรังสิต และอบจ.ปทุมธานี
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า ที่ผ่านมา สสส. ดำเนินการโครงการขับเคลื่อน ร่วมกับภาคี ซึ่งภายใต้หน่วยการจัดการทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง 5 หน่วย ได้แก่ กลุ่มเกษตรในเมือง กลุ่มชายแดนใต้ กลุ่มแรงงานในระบบ กลุ่มแรงงานนอกระบบ และกลุ่มสร้างอาชีพและรายได้ (มหาวิทยาลัยรังสิต) ที่ดำเนินการถึง 33 โครงการ ที่เป็นโครงการนำร่องที่ส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนที่สามารถนำไปต่อยอดในแต่ละชุมชนได้สามารถส่งผลให้ผู้เข้าร่วมโครงการมีทักษะอาชีพที่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ กว่า 1,000 คน
“ในปี 2565 นี้ สสส. ได้ร่วมกับภาคีร่วมกันพัฒนา แผนงานร่วมทุนสนับสนุนการพัฒนาสุขภาวะจังหวัดปทุมธานี โดย สสส. ร่วมทุน ร้อยละ 70 มหาวิทยาลัยรังสิตร่วมทุน ร้อยละ 30 จัดตั้ง ศูนย์พัฒนาหลักหก เป็นหน่วยงานดูแลด้านงบประมาณและการสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่” ดร.สุปรีดา กล่าว
สำหรับการร่วมทุนครั้งนี้ สสส. มุ่งฟื้นฟูคุณภาพชีวิตให้ครอบคลุมทุกคนในพื้นที่ จ.ปทุมธานี ให้เป็นพื้นที่ต้นแบบในการฟื้นฟูคุณภาพชีวิต โดยมีแนวทางพึ่งพาตัวเองสามารถปรับตัวดำรงชีวิตในสภาวะวิกฤต ที่สำคัญคือสร้างการขยายความร่วมมือและผนึกกำลังภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม เข้ามาร่วมเป็นหุ้นส่วนสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อเพิ่มทรัพยากรทั้งทุนด้านงบประมาณ ทุนทางสังคม ทุนบุคลากรและองค์ความรู้ ซึ่งจะช่วยกระจายและการเข้าถึงการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพ นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยในวงกว้างมากขึ้น
ปัจจุบันจังหวัดปทุมธานีมีผู้อาศัยมากถึง 1,176,412 คน ในปี 2564 ประชาชนในจังหวัดปทุมธานี ประสบปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจ มีผู้ว่างงาน กว่า 17,000 คน ขาดรายได้ มีหนี้สิน ด้านสุขภาพจากโรคเรื้อรัง พบมีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง 8,338 คน โรคไต 12,069 คน โรคมะเร็ง 4,658 คน โรคเบาหวาน 18,475 คน โรคอ้วน 34,448 คน และด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งเรื่องน้ำเน่าเสีย การกำจัดขยะ และภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นอย่างอุทกภัย และสภาพสังคมที่ไม่ปลอดภัย
ผศ.ดร.นเรฏฐ์ พันธราธร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ความร่วมมือกับ สสส. พัฒนาแผนงานร่วมทุนสนับสนุนการพัฒนาสุขภาวะจังหวัดปทุมธานี ได้แบ่งการบูรณาการกับทุกภาคส่วนออกเป็น 3 เฟส คือ เฟสที่ 1 พัฒนาพื้นที่ชุมชนหลักหก ร้อยละ 80 และชุมชนใกล้เคียง ร้อยละ 20 เฟสที่ 2 พัฒนาพื้นที่ชุมชนหลักหก ร้อยละ 50 และชุมชนใกล้เคียง ร้อยละ 50 และเฟสที่ 3 จังหวัดปทุมธานีทั้งหมด
เพื่อเร่งยกระดับคุณภาพชีวิตและแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ที่เกิดขึ้นอย่างตรงจุด และคาดหวังว่า “หลักหกโมเดล” จะเป็นอีกตัวอย่างสำคัญการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและสุขภาวะของประชาชนในจังหวัดในระยะยาว
สนใจหรืออยากร่วมเป็นหุ้นส่วนในการสร้างเสริมสุขภาวะ ติดตามได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ สร้างสรรค์โอกาส