ไขข้อสงสัยคดี “แตงโม นิดา” ผู้รู้เฉพาะทาง ช่วยตอบปริศนาคดีความ
กรณีการเสียชีวิตของ “แตงโม นิดา” เป็นคดีที่คนทั้งประเทศมีความรู้สึกร่วม มีข้อสงสัยมากมาย ที่ประชาชนอยากรู้ความจริง และอยากให้คดีนี้ได้รับความยุติธรรมมากที่สุด
คดีของนักแสดงสาว “แตงโม นิดา” ตกเรือเสียชีวิต ยังไม่มีความคืบหน้า แต่ประชาชนก็ยังให้ความสนใจ เพราะเป็นตัวอย่างของการใช้กระบวนการกฎหมายจัดการ ประชาชนกำลังจับจ้องว่า คดีนี้จะได้รับความยุติธรรมหรือไม่...
- การย้ายสถานที่ผ่าพิสูจน์ศพ
ความสงสัยประเด็นแรก ที่ประชาชนต้องการคำตอบคือ “เหตุใดต้องย้ายที่ผ่าพิสูจน์ศพกระทันหัน”
“พื้นที่ทั้งหมดในประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับการผ่าชันสูตรศพอยู่ภายใต้อำนาจของ สำนักงานตำรววจแห่งชาติ การเปลี่ยนแปลงสถานที่ขึ้นอยู่กับ พนง.สอบสวน เป็นหัวหน้าทีมมีอำนาจตัดสินใจเต็มที่ ว่าจะให้ส่งที่ใด ส่วนแพทย์หรือกองพิสูจน์หลักฐานเป็นทีมงาน”
รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวในงานเสวนา "ความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรม : กรณี คดีแตงโม นิดา จมน้ำเสียชีวิต" จัดโดย คณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม ม.มหาวิทยาลัยรังสิต และ องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อสมท.) เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2565
Cr. ศุกร์ภมร เฮงประชากร
สอดคล้องกับ ทนายเดชา กิตติวิทยานันท์ ประธานเครือข่ายทนายคลายทุกข์ ที่กล่าวว่า คดีอาญาอยู่ในอำนาจตำรวจ
“เมื่อเริ่มต้นเป็นคดีอาญา จึงอยู่ในอำนาจตำรวจ ที่ต้องดำเนินงานมาที่นิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม”
- การทำงานคดีนี้ของตำรวจ
ข้อสงสัยอันดับสองที่ประชาชนมีต่อคดีนี้ เหตุเกิดช่วงดึก เช้าวันรุ่งขึ้นมีการแจ้งความ แต่เรียกตัวผู้ต้องสงสัยมาสอบสวนเวลาสองทุ่ม
ทำไมเป็นเช่นนั้น ทนายเดชา กล่าวว่า ตำรวจทำเต็มที่แล้ว ไม่ช้า
“เหตุเกิด 24 ก.พ. 65 เวลา 22:34 น. รับแจ้งเหตุเวลา 23:42 น. ตรวจยึดเรือวันรุ่งขึ้น 25 ก.พ. 65 เวลา 10:00 น. ฝ่ายพิสูจน์หลักฐานเก็บหลักฐาน 10:00 น. ทั้ง 5 คนบนเรือมาพบเวลา 20:00 น.
พบศพวันที่ 26 ก.พ. 65 เวลา 13:00 น. และเวลา 11:00 น. ตรวจเลือด ปอ, เบิร์ต, จ๊อบ ที่ รพ.พระนั่งเกล้า จับกุมเวลา 23:00 น.โดยตั้งข้อหาความผิด ความประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ขับเรือโดยไม่ได้รับอนุญาต ใช้เรือที่ใบอนุญาตหมดอายุ ทั้งหมด 3 ข้อหา
-ประกันตัว 27 ก.พ.65 เวลา 15:25 น.
-ตรวจร่างกายซ้ำ 1 มี.ค. 65 ปอ, เบิร์ต, จ๊อบ ตรวจร่างกาย/ปัสสาวะ, กระติก ตรวจร่างกาย/ปัสสาวะ/ เลือด, แซน ตรวจร่างกาย ไม่ยินยอมให้ตรวจปัสสาวะ พนง.สอบสวน อ้างว่าการตรวจผู้เสียหาย ต้องได้รับความยินยอม”
Cr. ศุกร์ภมร เฮงประชากร
- หากไม่ยินยอมให้ตรวจร่างกาย บังคับตรวจได้ไหม
ข้อสงสัยที่สาม ผู้ต้องสงสัยปฏิเสธการตรวจได้ ขณะที่ประชาชนทั่วไปไม่เคยได้รับการยกเว้น
นพ.วีระศักดิ์ กล่าวว่า กรณีมีผู้ต้องสงสัยที่พนง.สืบสวนส่งมาให้ตรวจร่างกาย สิ่งแรกที่หมอทำ คือ ต้องถามคนไข้ก่อนว่ายินยอมหรือไม่
“การที่เขาไม่ยอมตรวจ ก็ไม่มีผลเลือดไปต่อสู้ทางคดีว่า เขาไม่ได้เมา เป็นผลเสียกับเขามากกว่า ไม่ใช่ไม่ตรวจ ไม่มีผล ทำอะไรไม่ได้ จริง ๆ แล้วในทางกฎหมายยังทำได้อยู่ครับ”
ส่วน รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล นักอาชญาวิทยา ผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายรักษาความสงบเรียบร้อย ประธานคณะกรรมการคณะอาชญาวิทยาและการบริการงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต มีความคิดเห็นว่า
“ในองค์กรตำรวจมีหลายสิ่งที่อยากทำ แต่ไม่สามารถทำได้ เพราะ 1)ติดขัดเรื่องข้อกฎหมาย 2)องค์กรตำรวจถูกแทรกแซงได้ง่าย ขึ้นอยู่กับการเมือง
เราต้องมาดูเรื่องโครงสร้างองค์กรตำรวจ เรื่องอิสระในการทำงาน ไม่ถูกแทรกแซง ไม่ถูกกดดัน ในส่วนข้อกฎหมาย เรื่องอะไรที่ทำได้หรือทำไม่ได้ ในคดีนี้มี 5 คนเท่านั้นที่รู้ว่าเกิดเหตุอะไร ถ้ากฎหมายไม่สามารถทำอะไรได้เลย สังคมก็ไม่สงบสุข
ข้อมูลสถาบันเพื่อความยุติธรรมแห่งประเทศไทยเมื่อปีที่ผ่านมา สำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรมไทย คะแนนเต็ม 5 หลังคดีผู้กำกับโจ้ คะแนนลดลงเหลือ 1.29
Cr. ศุกร์ภมร เฮงประชากร
- สถาบันการยุติธรรมแห่งประเทศไทย มีข้อเสนอว่า
1) ควรปรับปรุงกลไกการสอบสวนของตำรวจในการค้นหาความจริง
2) ควรส่งเสริมบทบาทของพนักงานสอบสวนเป็นวิชาชีพเฉพาะ เป็นอิสระจากสายการบังคับบัญชาปกติ
3)ควรสร้างกระบวนการให้ภาคส่วนต่าง ๆ มีส่วนร่วมกำกับดูแลงานตำรวจ
“ถ้าเป็นตำรวจที่อเมริกาและอังกฤษ ถ้าแซนบอกว่า แตงโมจับขาเธอ เขาจะตรวจลายนิ้วมือที่ขาของคุณแซนว่ามีไหม แล้วแยก ห้าคนมาสอบว่าเกิดอะไรขึ้นบนเรือ
หรือถ้าแยกย้ายกันกลับบ้าน ตำรวจก็จะตามไปหาถึงบ้านเลย ถ้าไม่ยอมอยู่หรือไม่ให้ความร่วมมือกับตำรวจ แสดงว่าผิดปกติ นี่เป็นข้อกฎหมายที่ยังถกเถียงกันอยู่” ดร.กฤษณพงค์ กล่าว
เมื่อคดีความเต็มไปด้วยข้อสงสัย การแก้กฎหมายให้ทันสมัยกับเหตุการณ์จริงจำเป็นแค่ไหน
ทนายเดชา กล่าวว่า กฎหมายไทยทำได้แค่นี้ คดีนี้เต็มไปด้วยข้อสงสัย
“ในบันทึกประจำวัน 25 ก.พ. 65 เวลา 01:37 น. พนง.สอบสวน สภ.เมืองนนทบุรี มีพลเมืองดีแจ้งว่า มีผู้หญิงตกเรือ ทำไมไม่บอกชื่อจริงว่า ใครเป็นคนแจ้ง และคนตกเรือเป็นใคร แสดงว่าคนที่แจ้งเป็นคนบนเรือที่เห็นเหตุการณ์ ฝากสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า เราควรดำเนินคดีกับพฤติกรรมลักษณะแบบนี้หรือไม่”
Cr. วันชัย ไกรศรขจิต
- ในส่วนของการตรวจร่างกาย จะมีหลักฐานเอาผิดอะไรได้หรือไม่
นพ.วีระศักดิ์ บอกว่า ขึ้นอยู่กับระยะเวลา
“จากห้าคนบนเรือที่ต้องมาตรวจ มีผลแน่นอนคือเรื่อง แอลกอฮอล์ ปกติดื่มเข้าไปแล้วปัสสาวะ ปริมาณจะลดลงเรื่อย ๆ 24 ชั่วโมงหลังการดื่มมักตรวจไม่พบ
ส่วนการตรวจสารเสพติด, เลือด, ปัสสาวะ มีปริมาณชั่วโมงที่จำกัด เมื่อเข้าสู่ระบบการไหลเวียนโลหิตในร่างกาย จะถูกขับออกใน 2-3 วัน ถ้าเลยกรอบเวลาจะตรวจไม่เจอ ต้องตรวจเส้นผม เพราะสารที่ติดไปกับเลือดจะไปอยู่ที่เส้นผม แม้จะสระผม ก็ไม่ออก”
- การผ่าพิสูจน์ศพสามารถบอกอะไรได้บ้าง
นพ.วีระศักดิ์ บอกว่า บอกถึงสิ่งที่ภายนอกมองไม่เห็น
“การผ่าตัดดูชั้นใต้ผิวหนัง จะเห็นร่องรอยว่า มีแรงกระแทกยังไง จะมีเลือดออกให้เห็น เราจะตัดชิ้นเนื้อไปทำให้แข็ง แล้วผ่าสไลด์ดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ ใช้เวลา 1-2 สัปดาห์ รายงานผลการผ่าชันสูตรศพอย่างเป็นทางการส่งให้พนักงานสืบสวน ภายใน 45-60 วัน”
Cr. วันชัย ไกรศรขจิต
- ทางออกของปัญหา
ดร. กฤษณพงค์ เสนอว่า ควรนำเอาข้อเสนอแนะของคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจหลาย ๆ ชุดที่ตั้งขึ้นมา ประกอบกับงานวิจัยที่มีการศึกษาโดยเฉพาะเรื่องการสอบสวนที่ถูกแทรกแซง มาเริ่มทำได้แล้ว
“การแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ ก็ต้องมีความเชี่ยวชาญเฉพาะสายงาน ส่วนที่ไม่ได้อาศัยพื้นฐานความรู้ความสามารถ ก็ต้องมีการปรับปรุงแก้ไข
สังคมไทยมีความเหลื่อมล้ำ ส่งผลถึงกระบวนการยุติธรรม สิ่งที่รัฐจะให้ได้คือความยุติธรรม ที่ต้องเสมอภาคและเป็นธรรม
คดีนี้เป็นคนดังถ้ายังไม่ได้รับความเป็นธรรม คนส่วนใหญ่ก็ไม่คาดหวังแล้วว่าจะมีความยุติธรรมเกิดขึ้น”
ส่วน ทนายเดชา กล่าวว่า การประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ถ้ารับสารภาพ บรรเทาโทษ มีการเยียวยาที่เหมาะสม ไม่มีอะไรน่ากลัว
“ศาลจะลงโทษจำคุกเฉลี่ย 3 ปี ปรับประมาณหนึ่งแสนบาท รอการลงโทษสองปี ผมเป็นทนายมา 36 ปี มีคำแนะนำง่าย ๆ 1)ต้องไม่ทำผิดกฎหมาย 2)ต้องช่วยตัวเอง ถ้าขับรถก็ต้องมีกล้องหน้ารถ"
ที่สองจากซ้าย ทนายเดชา, ดร.กฤษณพงศ์, นพ.วีระศักดิ์ Cr.คณะอาชญาวิทยาฯ ม.รังสิต
ทางด้าน นพ. วีระศักดิ์ บอกว่า สังคมเปลี่ยนไปแล้ว เราต้องเปลี่ยนตาม
“คดีนี้ได้รับความสนใจ เพราะเหตุเกิดกับคนรวย มีการปฏิบัติที่แตกต่าง ถ้ามีการตัดสินอะไรที่ทำให้เกิดความเป็นธรรมโดยเร็ว ก็อาจเรียกความเชื่อมั่นกลับมาได้
สังคมเปลี่ยน ความต้องการของสังคมก็เปลี่ยนไป ทุกประเทศทั่วโลกก็ต้องปฏิรูป สหรัฐอเมริกายังต้องปฏิรูป เพราะมีปัญหาเรื่องเชื้อชาติสีผิว เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม
ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำทางกระบวนการยุติธรรม เป็นสิ่งที่ต้องปรับ ถ้าปรับตามไม่ทัน สังคมก็จะกระตุ้นให้หน่วยงานภาครัฐต้องออกมาเปลี่ยนแปลง”