รู้ 5 เรื่องระดับโลกของ "ผู้หญิง" ในไทย ก่อน "ประชุมสุดยอดผู้นำสตรีโลก" 2565
เปิดสถิติ "ผู้หญิง" ในไทย กับ 5 เรื่องระดับโลกเชิงเศรษฐกิจ-สังคม รับบิ๊กอีเวนต์ "การประชุมสุดยอดผู้นำสตรีโลก" มิ.ย.นี้ เน้นบทบาท "สตรี" ร่วมฟื้นเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 กับการมีส่วนร่วมและโอกาสทางเศรษฐกิจ หนุนขับเคลื่อนประเทศ
ประธานการจัดงาน การประชุมสุดยอดผู้นำสตรีโลก 2565 (Global Summit of Women 2022 ) และคณะกรรมการการจัดงานฝ่ายไทย ร่วมกันแถลงข่าว ณ ไอคอนสยาม ถึงความคืบหน้าหลังจาก ประเทศไทย ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพในการจัด "การประชุมสุดยอดผู้นำสตรีโลกครั้งที่ 32" เดือน มิ.ย.2565
นางสาวไอรีน นาทิวิแดท (Irene Natividad) ประธานจัด การประชุมสุดยอดสตรีโลก 2022 กล่าวว่า ประเทศไทยนอกจากจะเป็นประเทศที่มีความงดงามและมีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจแล้ว ยังเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญและส่งเสริม บทบาทของสตรีในภาคธุรกิจและเศรษฐกิจ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก
ก่อนงานใหญ่ การประชุมสุดยอดผู้นำสตรีโลก 2565 (Global Summit of Women 2022) ซึ่งประเทศไทยรับเป็นเจ้าภาพจัดประชุมจะเริ่มในเดือน มิ.ย.ที่ใกล้ถึงนี้
คุณทราบหรือไม่ ผู้หญิง ในประเทศไทย หรือ “สตรีไทย” ติดอันดับโลกเชิงเศรษฐกิจ-สังคมในการเก็บสถิติของคณะผู้จัดประชุมนี้อย่างไรบ้าง
คุณทราบหรือไม่....
- “ประเทศไทย” อยู่ในอันดับต้นๆ (top tier) ของ “ดัชนีช่องว่างระหว่างหญิง-ชายระดับโลก ในมิติของการมีส่วนร่วมและโอกาสทางเศรษฐกิจ” ปี 2021 (2021 Women Economic Global Gender Gap Index for Economic Participation and Opportunity) ข้อมูลจาก “เว็บไซต์ธนาคารโลก” จัดให้ไทยอยู่ในอันดับที่ 22 ของประเทศที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินการเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันทางเพศ จากจำนวนทั้งหมด 157 ประเทศที่มีการเก็บข้อมูล
- “สตรีไทย” 40% สามารถก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง "ผู้บริหารสูงสุด" และ 34% บริหารงานในตำแหน่ง "นักบริหารการเงินอาวุโส" ภายในหลายบริษัทของคนไทย
- “ประเทศไทย” อยู่ในอันดับแรกของโลกที่ สตรีมีการศึกษาขั้นสูง โดย “สตรีไทย” มีการศึกษาสูงกว่าระดับมัธยมศึกษาเมื่อเทียบกับชายไทยในอัตรา 1.41 คนต่อชายไทย 1 คน (2021 WEF Global Gender Gap Report)
- “สตรีไทย” เป็นสตรีกลุ่มแรกๆ ในเอเชียที่ได้รับการยินยอมให้มี “สิทธิ” ในการลงคะแนนเสียงทางการเมืองตั้งแต่ปีพ.ศ.2475
- “สตรีไทย” คิดเป็น 47% ของจำนวน "คนทำงาน" เป็นจำนวนร้อยละสูงที่สุดของสตรีในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
กรุงเทพฯ : สถานที่จัดประชุมสุดยอดผู้นำสตรีโลก 2565
สำหรับหัวข้อของการประชุมผู้นำสตรีในครั้งนี้ จะเน้นในเรื่อง การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หลังจากการเผชิญกับวิกฤต โรคระบาด ซึ่งเป็นตัวเร่งสำคัญที่สร้างความเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ โดยเฉพาะ เทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ถูกนำมาปรับใช้ สร้างความเปลี่ยนแปลงและความเติบโตให้กับธุรกิจผ่าน "อี-คอมเมิร์ซ" ซึ่ง ผู้หญิง มีส่วนร่วมอย่างมาก
“ขณะนี้บรรดาผู้นำทั้งผู้หญิงและผู้ชายจากทั่วโลก ตอบรับการเข้าร่วมประชุม ทั้งจากแอฟริกาใต้ เวียดนาม ฝรั่งเศส สเปน เม็กซิโก เยอรมนี และคาซัคสถาน เป็นต้น ซึ่งบรรดาผู้บริหารระดับสูงเหล่านี้ต่างตื่นเต้นที่จะเข้าร่วมประชุมระดับนานาชาติครั้งแรกในรอบสองปี หลังจากทุกประเทศต่างเผชิญกับผลกระทบจากโควิด-19” นางสาวไอรีน ประธานการจัดงานคณะทำงานฯ กล่าว
ประธานจัดการประชุมสุดยอดสตรีโลกย้ำว่า การประชุมผู้นำสตรีนี้จะเป็นเวทีที่ส่งเสริม ความเท่าเทียมกันของผู้หญิงและผู้ชายในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ และร่วมกันสร้างโอกาสใหม่หลังการเผชิญกับวิกฤติโรคระบาด
“พร้อมกันนี้ยังจะช่วยส่งเสริม เครือข่ายของความร่วมมือระหว่างประเทศ และเปลี่ยนประสบการณ์ ร่วมถึงการสร้างแรงบันดาลให้กับสตรีในการดำเนินธุรกิจในยุคหลังโควิด ไม่ว่าจะเป็นในฐานะพนักงาน เจ้าของธุรกิจ ผู้บริโภค หรือเป็นนักลงทุน โดยย้ำว่า ผู้หญิงจะเป็นพลังที่สำคัญในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ซึ่งตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมานั้น ผู้หญิงมีบทบาทเพิ่มขึ้นในการส่งเสริมเศรษฐกิจโลกให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง”
ศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร, กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร, ไอรีน นาทิวิแดท, นิชาภา ยศวีร์
ขณะที่นาง กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และประธานกรรมการจัดงานของไทย กล่าวว่า คณะกรรมการยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมที่เป็นเวทีที่ยิ่งใหญ่ของผู้นำสตรีในระดับนานาชาติ พร้อมตอกย้ำถึง ความพร้อมในการจัดการประชุม ที่จะสร้างความประทับใจให้กับผู้ร่วมประชุม นอกจากจะส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยแล้ว ยังตอกย้ำ ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจของประเทศ อีกด้วย
“การประชุมผู้นำสตรี 2022 ในครั้งนี้ จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในด้านเศรษฐกิจของไทย ที่ยังคงมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจต่อเนื่องและส่งเสริมการลงทุนใหม่ ดิฉันเชื่อมั่นว่าการประชุมนี้จะก่อเกิดพลังสตรี ส่งเสริมความร่วมมือของคนทุกภาคส่วน สร้างคนรุ่นใหม่ เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจและเพื่อโลกที่ดีขึ้น โดยเนื้อหาตลอดการประชุมทั้ง 3 วัน จะทำให้เห็นภาพของโอกาสทางธุรกิจแห่งอนาคต และสร้างเครือข่ายการส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจร่วมกัน”
นางกอบกาญจน์ ยังให้ความมั่นใจถึงมาตรการการดูแลและควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาอย่างเข้มงวดในการประชุมครั้งนี้
พร้อมกล่าวเสริมด้วยว่า การประชุมครั้งนี้จัดแบบ รักษ์โลก “Carbon Neutral” มีการประเมินปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการประชุม ไม่ว่าจะเป็นการใช้ไฟฟ้า การเดินทางของผู้เข้าร่วมประชุม การจัดเลี้ยงอาหาร การบริหารขยะและของเสียภายในงาน
นอกจากนี้ยัง สนับสนุนกิจกรรมที่ทำให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจก ผ่านการทำกิจกรรมชดเชยคาร์บอนเพิ่มเติม ด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิตจาก โครงการลดก๊าซเรือนกระจก ภายในประเทศ
ในการประชุมจะมีการนำเสนอ สินค้าชุมชนท้องถิ่น จากทั่วประเทศไทย เพื่อสร้างโอกาสให้ชุมชนท้องถิ่นพัฒนาเป็นนักธุรกิจระดับนานาชาติ
อาหารไทย เสน่ห์ดึงดูดด้านการท่องเที่ยวของไทย
ด้าน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) นายศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร รองผู้ว่าการด้านการสื่อสารการตลาด กล่าวถึง ความพร้อมของประเทศ ในการเปิดประเทศรับคณะผู้นำสตรีการประชุมระดับนานาชาติ และนักท่องเที่ยวต่างประเทศ
“ประเทศไทยมีความพร้อมในการต้อนรับนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก หลังจากที่ต้องอยู่ในภาวะชะลอตัวของการท่องเที่ยวจากช่วงเวลาการระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ผ่านมา
อีกทั้งยังเป็นโอกาสในการสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวที่น่าประทับใจให้กับผู้นำสตรีที่เข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำสตรีโลก 2565 ซึ่งในปีนี้ ททท.กำหนดให้เป็นปี Visit Thailand Year 2022 : Amazing New Chapters
ปัจจุบัน ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เนื่องจากมีความสามารถในการหารายได้มากขึ้น อีกทั้งยังเป็นกลุ่มตลาดที่มีศักยภาพสูงในแง่มุมของการท่องเที่ยว เพราะมีความมั่นใจและกล้าตัดสินใจในการเดินทาง”
นายศิริปกรณ์ เชื่อมั่นว่าการประชุมสุดยอดผู้นำสตรีโลกในครั้งนี้จะประสบความสำเร็จด้วยดี เนื่องจากความร่วมมือของหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ของไทย ที่ร่วมพลังในการจัดงานและนำเสนอศักยภาพของไทย ทั้งในด้านการท่องเที่ยว และความพร้อมในการรองรับลงทุน ซึ่งจะช่วย ส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทย ให้เป็น Preferred Destination และเป็น World Destination ได้เป็นอย่างดี
สตรีไทย ในบทบาทการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม soft power
นางนิชาภา ยศวีร์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ ให้ความเห็นว่า งานประชุมผู้นำสตรีโลก นับเป็นงานประชุมนานาชาติ หรือ Convention ระดับโลก ที่สนับสนุน บทบาทและสิทธิสตรีจากผู้นำสตรีบนเวทีระดับโลก ถ่ายทอดเป็นแรงบันดาลใจสู่ประชาคมโลกให้เล็งเห็นความสำคัญของ Gender Equality, Diversity and Inclusiveness ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ของไทย และคาดว่างานในครั้งนี้จะสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศราว 80 ล้านบาท
"แม้ที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดอย่างต่อเนื่อง แต่ อุตสาหกรรมไมซ์ หรือการจัดการประชุมของไทยก็ยังสามารถสร้างการกระจายรายได้ในประเทศได้กว่า 3 หมื่น 3 พันล้านบาท พร้อมยังสร้างงานสร้างอาชีพในตลาดแรงงานได้กว่า 46,000 ตำแหน่ง โดยในปีนี้ยังมีงานประชุมระดับนานาชาติอีกหลายงานที่จะจัดขึ้นในประเทศไทย รวมถึงงานประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค APEC Thailand 2022" นางนิชาภา กล่าว
ตลาดนัดจตุจักร ย่านเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วโลก
สำหรับ การประชุมสุดยอดผู้นำสตรีโลก หรือ Global Summit of Women เป็นเวทีระดับโลกที่มีความสำคัญ เชื่อมนักธุรกิจ นักวิชาชีพ ผู้บริหารทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคสังคมจากทั่วโลก สร้างเครือข่ายความร่วมมือและแบ่งปันประสบการณ์เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจและส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของโลกอย่างยั่งยืน
ปีนี้ที่ประชุมให้ความสำคัญกับ บทบาทของสตรีในการร่วมฟื้นเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 ซึ่งส่งผลต่อความความเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน ทั้งรูปแบบการใช้ชีวิต รูปแบบการดำเนินธุรกิจ
รวมไปถึงการให้ความสำคัญกับ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่เข้ามามีบทบาทอย่างสำคัญในการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้
อย่างไรก็ตามในประชุมยังคง ส่งเสริมความเท่าเทียมกันของผู้หญิงและผู้ชายในบทบาทของการดำเนินธุรกิจและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นสาระสำคัญของการประชุมตลอด 30 ปีที่ผ่านมา
สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมการประชุมระดับโลกที่สำคัญในครั้งนี้ สามารถดูรายละเอียดและลงทะเบียนได้ที่ เว็บไซต์ Global Summit of Women
คณะทำงานฝ่ายไทย, แถวยืน (ซ้ายไปขวา)
1. นิรมาน ไหลสาธิต : รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพฯ
2. ต้องใจ ธนะชานันท์ : ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด สายพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืน บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)
3. ศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร : รองผู้ว่าการด้านการสื่อสารการตลาด ททท.
4. นิชาภา ยศวีร์ : รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ
5. ศิริวงศ์ บวรบุญฤทัย : รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บี.กริม พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน)
แถวนั่ง (ซ้ายไปขวา)
1. ชฎาทิพ จูตระกูล : ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด
2. ขัตติยา อินทรวิชัย : ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย
3. กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร : อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และประธานกรรมการจัดงานของไทย
4. อรีน นาทิวิเดท : ประธานจัดการประชุมสุดยอดผู้นำสตรีโลก 2022
5. ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ : ประธานกรรมการ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน)
6. สุพัตรา จิราธิวัฒน์ : รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด