"ฝุ่นPM 2.5" กลับมาแล้ว รวม "ความรู้สู้ฝุ่น" ฉบับอยู่บ้านทำได้เอง
เตรียมทบทวน "ความรู้สู้ฝุ่น" รับมือ “ฝุ่น PM2.5” ที่กำลังกลับมา มีอะไรบ้างที่เราสามารถทำได้เองเพื่อดูแลบ้านและสุขภาพให้อยู่รอดปลอดภัยในวันที่ค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน
ระหว่างที่คนกรุงเทพฯ กำลังใจจดจ่อกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และเตรียมตัวที่จะหยุดยาวในช่วงเทศกาล “สงกรานต์” ที่กำลังมาถึง เวลาเดียวกับนี่เองที่ “ฝุ่นPM 2.5” ได้กลับมารุกรานผู้คน และยึดพื้นที่ความเป็นมลภาวะเบอร์ต้นๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพ
วันที่ 10 เมษายน 2565 ศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในกรุงเทพมหานคร รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน "PM 2.5" ของสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรุงเทพมหานคร พบว่าเกินมาตรฐาน (มาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.) จำนวน 68 พื้นที่
ขณะที่ คำเตือนจากศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) คาดการณ์ถึงแนวโน้ม "ฝุ่น PM 2.5"ว่า ในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะยังพบค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ จึงควรงดกิจกรรมในที่โล่งระหว่าง วันที่ 9 - 11 เมษายน 2565
บรรยากาศในกรุงเทพฯ เมื่อต้องพบกับฝุ่น P.M.2.5 ปกคลุม (จากแฟ้มภาพ Nation Photo)
นั่นหมายความว่า ในช่วงสัปดาห์นี้ ฝุ่น PM 2.5 จะอยู่กับเราสักพัก และในวันที่ชีวิตประจำวันของคนกรุงเทพฯ ต้องเผชิญกับฝุ่น หากจะรอผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ก็คงจะช้าเกินไป หรือการจะรอความพร้อมใจกันลดการก่อสร้าง การออกจากบ้านก็เป็นเรื่องที่ควบคุมได้ยาก ด้วยเหตุนี้คงไม่มีอะไรดีเท่ากับการทบทวน “ความรู้สู้ฝุ่น” ฉบับที่เราสามารถทำได้เองตั้งแต่วันนี้ และเป็นเรื่องที่เคยจำได้ แต่อาจหลงลืมไป
จัดบ้านสู้กับฝุ่น
เมื่อคิดจะพึ่งพาตัวเองในการ สู้ฝุ่น ก็ต้องเริ่มตั้งแต่ที่บ้าน นั่นเพราะบ้านเป็นหน่วยที่พักอาศัยซึ่งใกล้ชิดกับการดำเนินชีวิตประจำวันมากที่สุด
งานเสวนาพิเศษ หัวข้อ “ฝุ่น PM 2.5 จะผ่านไป แล้วไงต่อ?” จัดโดยสภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมแห่งประเทศไทย เคยสรุปไว้ว่า แนวคิดการออกแบบบ้านในเขตเมืองเพื่อรับมือปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 เป็นเรื่องสำคัญสำหรับการจัดการเมืองสมัยใหม่ หรือ Urban Management ที่ผู้ที่อยู่ในเมืองใหญ่ต้องเตรียมรับมือเอาไว้ และการเตรียมบ้านเพื่อสู้กับฝุ่น เริ่มจาก
- ลดช่องลมทิศตะวันออกเฉียงเหนือของบ้าน เนื่องจากฝุ่นละอองจะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของอากาศเย็นปะทะกับอากาศอุ่น ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะที่สภาพอากาศปิด โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว ที่ลมหนาวจะพัดฝุ่นเข้าบ้านจากทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ดังนั้น บ้านที่อยู่ในพื้นที่ฝุ่นละอองหนาแน่น จึงควรลดช่องลมหรือเบี่ยงทิศตัวบ้านให้ออกจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อป้องกันฝุ่นละอองภายนอกพัดเข้าสู่ตัวบ้าน
ภาพประกอบจากสภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย
- เพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในบ้าน การออกแบบงานภูมิทัศน์ หรือการจัดสวนไม้ประดับ ควรเลือกต้นไม้ที่มีลักษณะใบคล้ายใบสน มีใบเล็กแหลมและแน่น โดยเฉพาะในเขตเมืองที่มีฝุ่นเป็นจำนวนมาก หากมีพื้นที่บริเวณบ้านควรปลูกหญ้าคลุมพื้นดินแทนการเทปูน และสามารถนำต้นไม้มาประดับตกแต่งผนังแทนการใช้กระเบื้อง การออกแบบงานภูมิทัศน์ นอกจากช่วยในการดักจับฝุ่นแล้ว ยังช่วยเพิ่มความชื้นในอากาศมากขึ้น
- เลี่ยงวัสดุที่จับฝุ่นง่าย การเลือกใช้วัสดุตกแต่งบ้านและการออกแบบบางประเภทอาจทำให้เกิดฝุ่น เช่น การใช้เหล็กดัดลวดลาย การออกแบบผนังด้วยการเรียงอิฐไม่ฉาบปูน หรือการใช้อิฐโชว์แนว การออกแบบผนังหรือพื้นเป็นปูนพลาสเตอร์ปั้น และหลีกเลี่ยงการใช้วัสดุที่ก่อให้เกิดฝุ่น เช่น ผ้าม่าน ผ้าขนสัตว์ ผ้ากำมะหยี่ พรม เป็นต้น
- ติดตั้งเครื่องกรองและแผ่นกรองอากาศ การติดตั้งเครื่องกรองอากาศเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยลดปริมาณฝุ่นภายในบ้านได้ แต่จำเป็นต้องทำความสะอาดเครื่องกรองและแผ่นกรองเป็นประจำ เนื่องจากเป็นแหล่งสะสมของฝุ่นและเชื้อโรค และหากมีการใช้พรมเช็ดเท้าและพรมปูในบ้าน ควรหมั่นทำความสะอาดเป็นประจำทุกสัปดาห์ เพื่อลดการสะสมของฝุ่นละอองภายในบ้าน
- เลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ให้พอดีกับฝ้าเพดาน เนื่องจากพื้นที่ว่างบริเวณหลังตู้และเพดาน เป็นจุดอับที่ยากต่อการทำความสะอาด และเป็นแหล่งสะสมของฝุ่นละออง ดังนั้น จึงควรเลือกขนาดเฟอร์นิเจอร์ที่มีความสูงให้พอดีหรือติดกับฝ้าเพดาน หรือหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรใช้ผ้าคลุมโต๊ะ ตู้ และวางของบนโต๊ะให้น้อยที่สุด
ต้นไม้ฟอกอากาศ อินเทรนด์ไม่มีเอาท์
เทรนด์การปลูกต้นไม้ เปลี่ยนไปบ้างในแต่ละช่วงเวลา แต่ต้นไม้ฟอกอากาศยังเป็นตัวเลือกลำดับแรกๆ ของผู้ที่คิดจะเลือกต้นไม้สักต้นมาไว้ที่บ้านในยามที่ต้องสู้กับสงครามฝุ่นแบบไม่รู้จบ
หลักการปลูกต้นไม้ประเภทนี้เรียบง่ายมาก นั่นคือความต้องการให้ ต้นไม้เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยในการดักจับสารพิษในอากาศ สามารถป้องกันฝุ่นละออง เพราะส่วนต่าง ๆ ของต้นไม้ โดยเฉพาะใบ สามารถช่วยดักฝุ่นได้ดี ซึ่งฝุ่นละอองที่ลอยอยู่บนอากาศจะผ่านต้นไม้ติดค้างอยู่บนผิวใบ โดยพืชตระกูลสนจะช่วยดักจับฝุ่นได้ เพราะโครงสร้างของใบมีความละเอียดซับซ้อน
เช่นเดียวกับไม้เลื้อยที่มีพื้นผิวใบมากกว่าต้นไม้อื่น ด้วยลักษณะใบที่เรียวเล็ก ชื้น หยาบ มีขน หรือผิวใบที่เหนียวจะทำให้ฝุ่นเกาะติดใบได้ดี ส่วนลำต้น กิ่งก้านที่มีโครงสร้างพันกันอย่างสลับซับซ้อนมีส่วนช่วยดักจับฝุ่นได้เช่นกัน
สำหรับต้นไม้ดักจับฝุ่น ซึ่งกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เคยแนะนำ ได้แก่ ไทรเกาหลี, คริสตินา, โมก, ตะขบ, การเวก, พวงครามออสเตรเลีย, อโศกอินเดีย, สนฉัตร แต่ถึงเช่นนั้นไม่ควรปลูกไม้ผลัดใบเพราะบางช่วงไม่มีใบดักจับฝุ่น ก่อนปลูกจึงต้องเลือกชนิดต้นไม้ให้เหมาะสมกับสภาพหรือบริเวณที่จะปลูก
อโศกอินเดีย ภาพจากวิกิพีเดีย
ต้นคริสติน่า ที่นิยมมาปลูกเป็นแนวรั้วบ้าน
สำหรับไม้ประดับภายในอาคารหรือในบ้านให้เลือกที่สามารถปลูกได้ง่าย อาทิ พลูด่าง ลิ้นมังกร กล้วยไม้พันธุ์หวาย เบญจมาศ เยอบีร่า เสน่ห์จันทร์แดง ที่ช่วยดูดสารพิษได้มาก
How to สู้ฝุ่น
ก่อนที่โควิด-19 จะกลายเป็นวาระลำดับแรกที่ผู้คนให้ความสำคัญ ครั้งหนึ่งฝุ่น PM2.5 ก็เคยเป็นวาระระดับชาติ ซึ่งกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เคยออกคู่มือแนะนำให้ประชาชนเตรียมตัวดูแลสุขภาพตนเองและบุคคลในครอบครัวเพื่อ รับมือกับฝุ่น PM2.5 ดังต่อไปนี้
- การติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศอย่างใกล้ชิดก่อนออกจากบ้าน ได้ที่เว็บไซต์ air4thai.pcd.go.th หรือแอปพลิเคชัน “Air4Thai” ของกรมควบคุมมลพิษ และปฏิบัติตนตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
- สำรองหน้ากากป้องกันฝุ่น เช่น หน้ากากอนามัย หรือหน้ากาก N95
- ดูแลสุขภาพให้ร่างกายแข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำสะอาดให้มาก ๆ
- กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเน้นผัก ผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น แกงจืดตำลึง ผัดผักบุ้ง ฟักทองผัดไข่ ผัดบรอกโคลี กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก แครอทลวก บรอกโคลีลวกจิ้มน้ำพริก เป็นต้น
- ทำความสะอาดบ้าน และอุปกรณ์ภายในบ้าน โดยเฉพาะจุดที่สะสมฝุ่น เช่น แอร์ พัดลม มุ้งลวด เครื่องนอน และเน้นการทำความสะอาดด้วยการใช้ผ้าชุบน้ำ
- หมั่นตรวจเช็กบ้านปิดช่องหรือรู ตามขอบประตูหน้าต่าง เพื่อป้องกันฝุ่น PM2.5 จากภายนอกไม่ให้เข้ามาในอาคารในช่วงฝุ่นสูง
- วันที่ฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน ควรหลีกเลี่ยงการออกไปทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายกลางแจ้งให้เปลี่ยนมาออกกำลังกายภายในอาคารแทน
- สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรสำรองยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- สังเกตตนเองและบุคคลในครอบครัว หากพบอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย หายใจลำบาก หายใจถี่ หายใจไม่ออก หายใจมีเสียงวี้ด แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก ใจสั่น คลื่นไส้ เมื่อยล้าผิดปกติ หรือวิงเวียนศีรษะ ให้รีบไปพบแพทย์
- ช่วยกันลดฝุ่น PM2.5 เช่น ลดการปิ้งย่างที่ใช้เตาถ่าน งดจุดธูปเทียนทั้งภายในและภายนอกอาคาร งดการเผาในที่โล่ง ลดการใช้รถดีเซลที่ปล่อยควันดำ รวมถึงร่วมปลูกต้นไม้ เพื่อช่วยดักฝุ่นละออง
อ้างอิง : กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข