"ไม้กลายเป็นหิน" สะท้อน "การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" อย่างไร

"ไม้กลายเป็นหิน" สะท้อน "การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" อย่างไร

กรมทรัพยากรธรณี เตรียมบันทึกสถิติโลก ต้นทองบึ้ง "ไม้กลายเป็นหินยาวที่สุดในโลก" ความยาว 69.7 เมตร อายุกว่า 1.2 แสนปี ทั้งนี้ นอกจากความเก่าแก่แล้ว ปรากฎการณ์ไม้กลายเป็นหิน ยังสะท้อน "การเปลี่ยนแปลงของสภาพภมิอากาศ" ในพื้นที่ที่พบอีกด้วย

หลังจากที่ กรมทรัพยากรธรณี ร่วมกับ สมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย จับมือภาคเอกชน เตรียมบันทึกสถิติโลก Guinness World Records ซากดึกดำบรรพ์ ไม้กลายเป็นหินยาวที่สุดในโลก ยาว 69.70 เมตร อายุราว 1.2 แสนปี ที่อุทยานแห่งชาติดอยสอยมาลัย-ไม้กลายเป็นหิน จังหวัดตาก

 

การบันทึกสถิติโลกในครั้งนี้ เป็นการร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ คือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรธรณี กรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และภาคเอกชน เพื่อขอรับรองสถิติไม้กลายเป็นหินที่ยาวที่สุดในโลกอย่างเป็นทางการกับ Guinness World Records (GWR) คาดว่ากระบวนการขอรับรองสถิติโลกจะแล้วเสร็จเร็วๆ นี้ และมีพิธีรับมอบป้ายในวันที่ 29 เมษายน 2565 ซึ่งจะถือว่าประเทศไทยได้เป็นเจ้าของสถิติใหม่ของ ไม้กลายเป็นที่ยาวที่สุดในโลกอย่างเป็นทางการ

 

ไม้กลายเป็นหิน ความยาว 69.70 เมตร

 

หากย้อนกลับไปในช่วงที่ค้นพบใหม่ๆ จะเห็นว่า ไม้กลายเป็นหินต้นดังกล่าว ซึ่งเป็น "ต้นทองบึ้ง" อายุมากกว่า 1.2 แสนปี มีความยาวอยู่ที่ 72 เมตร ขณะที่ล่าสุด วัดความยาวได้อยู่ที่ 69.70 เมตร 

 

สุวิทย์ โคสุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ที่ปรึกษาทางการบริหารจัดการทรัพยากรธรณี กรมทรัพยากรธรณี ให้สัมภาษณ์กับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ที่ค้นพบในช่วงแรก เป็นการเปิดแค่ผิวดิน ท้ายๆ จะมีเศษไม้ปรากฏให้เห็น แต่พอเราขุดลึกลงไปปรากฏว่า ส่วนนี้เป็นเศษไม้ที่หลุดออกมา แต่พอดูเนื้อไม้จริงๆ พบว่า มีความยาว 69.70 เมตร เนื่องจากตอนแรกไม่ได้ขุดลงไปลึกขนาดเห็นเนื้อไม้ ทั้งนี้ ตามหลักการของ Guinness World Records  คือ ต้องเป็นไม้ทั้งต้น ไม่รวมที่เป็นเศษไม้ตามเงื่อนไขของการบันทึกสถิติโลก

 

\"ไม้กลายเป็นหิน\" สะท้อน \"การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ\" อย่างไร

ไม้กลายเป็นหิน สะท้อน "การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" 

 

เรื่องของไม้กลายเป็นหิน ที่ จ.ตาก เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างมากในพื้นที่นั้นๆ ด้วยไม้ที่ จ.ตาก เป็นไม้ที่ค้นพบมาตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งเป็น “ต้นทองบึ้ง” ในอดีตพื้นที่นี้เป็นป่าดิบชื้น ฝนตกชุกชุมมาก ซึ่งเราพบเห็นในปัจจุบัน คือ ทางภาคใต้ของประเทศไทย มาเลเซีย แถบเกาะสุมาตรา อินโดนีเซีย และเกาะบอร์เนียว ในพื้นที่ป่าดิบชื้น 

 


"หากเปรียบกับปัจจุบัน พื้นที่บ้านตาก เป็นป่าเต็งรัง ร้อนมาก จ.ตาก ในอดีต สมัยพระเจ้าตาก ซึ่งแต่เดิมชื่อ "เมืองระแหง" บ่งบอกว่าแห้งแล้งมาก ดังนั้น สภาพแวดล้อมป่าในปัจจุบัน กับในอดีต ที่มีต้นไม้ทองบึ้ง ซึ่งมีอายุกว่าแสนปี เรื่องของสภาพภูมิอากาศในอดีตกับปัจจุบัน เรียกว่าต่างกันหน้ามือเป็นหลังมือ"  

 

และอีกหนึ่งประเด็น คือ การเกิดความเปลี่ยนแปลงของภูมิประเทศของพื้นที่ ไม้ทองบึ้งต้นนี้ จากหลักฐานพบว่า เกิดมาพร้อมก้อนกรวด ตะกอนแม่น้ำโบราณ ซึ่งอาจะเรียกแม่น้ำปิง แม่น้ำวังโบราณก็ได้ แต่ปัจจุบัน แม่น้ำปิงได้ชิดไปทางตะวันตกกับที่ต้นไม้อยู่ บ่งบอกว่าในอดีตกาล หลายแสนปี พื้นที่ตรงนี้มีแม่น้ำปิงวังโบราณไหลผ่าน และนำพาให้ต้นไม้ต้นนี้เกิดการล้ม และทำให้กรวดแม่น้ำปิดทับ 

 

รวมถึงเรื่องของการยกตัวของพื้นดินในพื้นที่ตรงนั้น ทำให้มีแนวรอยเลื่อนแม่เมยในปัจจุบัน ซึ่งเกิดขึ้นในอดีตเมื่อนานมาแล้ว ตัดผ่านทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในพื้นที่ ส่งผลให้แม่น้ำปิงวังโบราณมีการเปลี่ยนแปลง เกิดไม้กลายเป็นหินในปัจจุบัน 

 

\"ไม้กลายเป็นหิน\" สะท้อน \"การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ\" อย่างไร

นอกจากไทยแล้ว พบไม้กลายเป็นหินที่ไหนบ้าง 

 

ก่อนหน้านี้มีบันทึกสถิติโลกที่ประเทศจีน ความยาวประมาณ 38 เมตร แต่ไม้กลายเป็นหินของไทย ยาวมากกว่า 2 เท่า ณ วันนี้ถือว่ามีไม้กลายเป็นหินที่ยาวที่สุดในโลกอยู่ในประเทศไทย นอกจาก ประเทศจีนแล้ว สหรัฐฯ ออสเตรเลีย และอีกหลายประเทศ ก็มีการค้นพบเช่นกัน รวมถึงมีการทำเป็นสถานที่ท่องเที่ยว เปิดให้ประชาชนเข้าชม 

 

พบไม้กลายเป็นหินอีกกว่า 100 ต้น พื้นที่ 40 ตร.กม.

 

สำหรับใน จ.ตาก นอกจาก "ต้นทองบึ้ง" ที่เตรียมบันทึกสถิติโลกแล้ว ยังมีการค้นพบไม้กลายเป็นหินอีกหลายต้นในพื้นที่ เป็นต้นไม้ใหญ่อีกกว่า 7 ต้น แต่ความจริงมีมากกว่า 100 ต้น กินพื้นที่กว่า 40 ตารางกิโลเมตร อาทิ ต้นมะค่าโมง เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ก็มีการขุดค้นพบต่อไปว่ามีจำนวนเยอะแค่ไหน

 

สำหรับไม้กลายเป็นหินในประเทศไทย นอกจากที่ จ.ตาก ยังพบที่ จ.นครราชสีมา มีพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน ซึ่งทางกรมทรัพยากรธรณี ได้ค้นพบและมอบให้ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาดูแล และ การค้นพบไม้กลายเป็นหิน จ.ขอนแก่น รวมถึงพื้นที่ในภาคใต้อีกด้วย

 

"ไม้กลายเป็นหิน" จ.ตาก แตกต่างจากพื้นที่อื่นอย่างไร 

 

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้ "ไม้กลายเป็นหิน" ที่ค้นพบแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน

  • อันดับแรก คือ อายุของการเกิด ที่อื่นๆ อาจจะมีอายุหลายล้านปี แต่ไม้กลายเป็นหินที่ตาก ณ ปัจจุบันมีความยาวมากที่สุดในประเทศไทย และทั่วโลก แต่ปรากฏว่ามีอายุเพียง 1.2 แสนปี
  • ถัดมา คือ ซิลิกาที่เข้ามาแทนที่ในตัวไม้ ดูลักษณะแล้วแตกต่างจากไม้กลายเป็นหินที่พบในพื้นที่อื่น เช่น จ.นครราชสีมา เป็นเนื้อเก่าแก่นับล้านปี ตัวไม้แข็งแกร่ง ขณะที่ จ.ตาก ด้วยความที่อายุน้อยกว่า ความแข็งแกร่งอาจจะสู้ที่ นครราชสีมาไม่ได้ จึงมีโอกาสผุพังง่ายกว่า นี่จึงเป็นเหตุผลที่เราต้องมีการอนุรักษ์และป้องกันอย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันการแตกหัก

 

เร่งอนุรักษ์ ยืดอายุ ลดการผุพัง 

 

สุวิทย์ อธิบายต่อไปว่า เนื่องจาก ที่ จ.ตาก เป็นไม้กลายเป็นหินที่อายุน้อย 1.2 แสนปี ถือว่าน้อยในธรณีกาล เปรียบเทียบกับไดโนเสาร์ซึ่งมีอายุกว่า 200 ล้านปี ดังนั้น ไม้ที่แต่เดิมถูกปิดทับอยู่ใต้ดิน เมื่อเปิดออกมาสัมผัสอากาศ โดยเฉพาะ จ.ตาก กลางวันร้อน กลางคืนหนาว การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิมีผลทำให้ไม้มีการผุ พัง ได้ง่าย

 

ดังนั้น สิ่งที่เราต้องอนุรักษ์ คือ การซ่อมแซมส่วนที่แตกหักหรือหลุดออกมา ด้วยการเชื่อมด้วยวัสดุทางเคมีให้เหนียวแน่น ยังมีการทาน้ำมันเคลือบให้สัมผัสอากาศน้อยลง ยืดอายุการผุพังไปได้นานขึ้น

 

ประเด็นต่อมา คือ ในพื้นที่ตาก พบว่ามีน้ำใต้ดินซึมเข้ามาตอนฤดูฝน ทำให้ไม้มีผลกระทบเรื่องการผุพังได้ง่ายเพราะมีการเปียกชื้นจากน้ำใต้ดิน สิ่งที่เราทำ คือ การขุดร่องระบายน้ำ ลึกประมาณ 2 เมตร มีระบบสูบทันทีทันใดเมื่อมีน้ำใต้ดินซึมเข้ามาด้วยระบบอัตโนมัติทั้ง 3 ด้าน เพื่อป้องกันไม่ให้ความชื้นมีผลต่อต้นไม้ ไม่ให้ผุพังได้ง่าย

 

"ขณะเดียวกัน ชาวบ้าน ถือเป็นหลักในการร่วมดูแลอนุรักษ์ ช่วงทำรางระบายน้ำ ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้าน นักเรียน เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ ทหารในพื้นที่ช่วยกันลงไม้ลงมือ ขนก้อนกรวด ขุดดิน ช่วยกันอนุรักษ์ ตั้งแต่ค้นพบครั้งแรกในปี 2546 จนถึงปัจจุบัน" 

 

จากท้องถิ่น สู่การผลักดัน อุทยานธรณีโลก 

 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาพื้นที่ดังกล่าว ได้รับการประกาศเป็น อุทยานธรณีไม้กลายเป็นหินตาก ในระดับท้องถิ่นเรียบร้อยแล้ว สุวิทย์ กล่าวต่อไปว่า หลังจากวันที่ 29 เมษายน 2565 ภายหลังจากการประกาศบันทึกสถิติโลก เชื่อว่าจะมีการพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ ทุกคนในท้องถิ่นจะมีส่วนร่วมมากขึ้นและจะมีการพัฒนาจากอุทยานธรณีระดับท้องถิ่น สู่ระดับประเทศ หลังจากนั้นหากมีการพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ ก็มีสิทธิยื่นเป็นอุทยานธรณีโลกได้ด้วย เหมือนกับอุทยานธรณีโลกสตูลที่เคยมีมาแล้ว

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

: เส้นทาง “อุทยานธรณีโลกสตูล” มรดก 500 ล้านปี สร้างรายได้ชุมชน

UNBOX “สตูล” ไขความลับ 500 ล้านปี ที่หลายคน (อาจ) ไม่เคยรู้

 

ทั้งนี้ แนวทางในการอนุรักษ์ สิ่งแรกที่ทางกรมทรัพยากรธรณีทำ คือ การประกาศขึ้นทะเบียนไม้กลายเป็นหินให้เป็นซากดึกดำบรรพ์ตามกฎหมาย เป็นซากดึกดำบรรพ์ที่เป็นสมบัติของชาติที่สำคัญ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งในปี 2565 มีการจัดทำแผนและยื่นของบประมาณ สร้างอาคารเป็นพิพิธภัณฑ์การท่องเที่ยว ควบคุมอุณหภูมิ ควบคุมความชื้น เพื่อพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการอนุรักษ์ เป็นสิ่งที่เราจะดำเนินการต่อไป

 

ปัจจุบัน มีการเปิดให้เข้าชม "ไม้กลายเป็นหิน" ฟรี ซึ่งเริ่มมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยอะขึ้นเรื่อยๆ จากการที่มีการประชาสัมพันธ์ แม้จะยังไม่ถึงเป้าที่เราต้องการ เพราะติดปัญหาเรื่องโควิด-19 แต่เชื่อว่าหลังจากการระบาดของโควิด-19 หรือโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นแล้ว จะมีประชาชนเข้ามาเที่ยวชมมากขึ้นเรื่อยๆ 

 

"ไม้กลายเป็นหินตาก เป็นสิ่งที่ทาง จ.ตาก และ ประชาชนคนไทย ภูมิใจว่ามีไม้กลายเป็นหินที่ยาวที่สุดในโลก นอกจากคนพื้นถิ่นที่ร่วมกันอนุรักษ์แล้ว อยากจะเชิญชวน ประชาชน ที่จะไปเที่ยวทางภาคเหนือแวะชมได้ เพื่อให้เห็นว่า ประเทศไทยเราก็มีทรัพย์แผ่นดินที่จะเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับประชาชนต่อไป" สุวิทย์ กล่าวทิ้งท้าย