"ดอนแก้วโมเดล" โรงเรียนฮอมสุข พื้นที่แห่งความสุขเพื่อผู้สูงวัยดอนแก้ว
ถอดสูตรความสำเร็จ "ดอนแก้วโมเดล" เปลี่ยนภาพชีวิตคุณตาคุณยายที่เคยเหี่ยวเฉา ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง บนเป้าหมาย "การฮอมสุข" สู่ต้นแบบพื้นที่แห่งความสุขของผู้สูงวัยในชุมชนดอนแก้ว จ.เชียงใหม่
สมัยก่อนภาพที่ชินตาของคนในชุมชน "ดอนแก้ว" คือการเห็นภาพของ คุณยายสังวร ศรีปราชญ์ เป็นคนเก็บตัว ไม่ค่อยสุงสิงกับใคร
"เมื่อก่อนอยู่บ้านไม่ได้ทำอะไร นอนดูทีวีเปิดพัดลม ก็ทำงานบ้านไปบ้าง ถึงเวลาก็ทำกับข้าว รอลูกกลับมา ไม่เคยไปไหนเลย นอกจากไปหาหมอ" คุณยายเล่า
ด้วยความที่คุณยายมีโรคประจำตัวเป็นเบาหวาน ความดัน และวัยที่มากขึ้น ทำให้ไม่สะดวกในการเดินทางไปไหน แต่เมื่อลูกหลานต้องไปทำงานหาเงินเลี้ยงชีพ จำต้องปล่อยให้ คุณยายอยู่แต่ที่บ้าน คนเดียวในเวลากลางวัน
นั่นคือชีวิตประจำวันของคุณยาย วัย 81 ปี เมื่อ 3 ปีก่อน แต่แล้ววันหนึ่ง ศรีนวล วังผาสุข ประธานสภา อบต.ดอนแก้ว เพื่อนบ้านในชุมชน มาชวนให้คุณยายสังวร "ไปโรงเรียน" อีกครั้ง ชีวิตคุณยายเปลี่ยนไป
"ทุกวันนี้ฝ้ารอทุกวันพฤหัสบดี เพราะจะมีรถมารับไปโรงเรียนผู้สูงอายุ" คุณยายกล่าวพร้อมรอยยิ้มน้อยๆ ทันที เมื่อเอ่ยถึง "โรงเรียนฮอมสุข" อีกพื้นที่ที่กลายเป็นพื้นที่แห่งความสุขของผู้สูงวัยในชุมชนดอนแก้วทุกคน ซึ่งหลังได้มาโรงเรียนฮอมสุขแห่งนี้ ดูเหมือนว่า คนในชุมชน และครอบครัวของคุณยายสังวรเองจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลง เมื่อคุณยายกลับมาร่าเริง มีชีวิตชีวาอีกครั้ง
"เดิมคุณยายเป็นคนเก็บตัวไม่ค่อยสุงสิงกับใคร เราเห็นแกเดินมาซื้อกับข้าว ใครถามอะไร แกก็ไม่ค่อยตอบ เราเป็นแกนนำในหมู่บ้าน เห็นว่าแกดูหงอยเหงาเลยชวนแกมา ซึ่งหลังจากเราพาเขามาให้แกทำกิจกรรม แกก็เปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น สดใสร่าเริงขึ้น จากเมื่อก่อนจะเป็นคนเชื่องช้า ทำอะไรถามอะไร กว่าจะตอบจะค่อนข้างช้า ส่วนหนึ่งเพราะแกอยู่คนเดียว ไม่ได้ออกไปไหนทำให้มีภาวะซึมเศร้า แต่เดี๋ยวนี้เก่งแล้ว กล้าออกมารำวงร่วมกับเพื่อนคนอื่น ๆ อีกด้วยนะ" ศรีนวล เล่าพร้อมหัวเราะ
เมื่อถามว่าทำไมถึงชอบมาโรงเรียนผู้สูงอายุ คุณยายสังวรตอบว่า
"ยายได้เรียนเขียนอ่านหนังสือ เราชอบ เพราะเมื่อก่อนเราได้แค่เขียนชื่อเอง แล้วก็ชอบมาเจอคนเยอะ มีเพื่อนๆ วัยเดียวกันมานั่งฟังเขาพูดคุยกันสนุกดี มันมีความสุขขึ้น"
"ศรีนวล" เป็นหนึ่งใน "คนอาสาบ้านดอนแก้ว" และหนึ่งใน CAREGIVER กลไกขับเคลื่อนด้วยบุคคลที่กระจายอยู่ทั่วชุมชนดอนแก้ว ซึ่งจะคอยดูแลทุกข์สุขทั้งกายใจของผู้สูงวัยและคนพิการในชุมชน
"จริงๆ บ้านเดิมอยู่เชียงราย แต่พอแต่งงานแล้วก็ย้ายตามครอบครัวมาอยู่ที่นี่ ที่ผ่านมาไม่ค่อยได้กลับไปบ้านไปเยี่ยมแม่ที่เชียงราย เพราะต้องดูแลครอบครัวและทำงาน สุดท้ายแม่เสียไป ก็มาคิดว่าเสียใจมากที่ไม่ได้มีโอกาสดูแลท่าน ทำให้รู้สึกอยากขอโอกาส อยากคืนกำไรชีวิตทั้งหมดให้กับสังคม จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการมาทำงานอาสา ช่วยเหลือคนในชุมชนทดแทน" ศรีนวล เปิดใจ และเล่าต่อว่า
"เราทำมาตั้งแต่ปี 2550 ก็มีทั้งดูแลคนในหมู่บ้าน แล้วมาดูแลโรงเรียนผู้สูงอายุ บ้านไหนมีผู้สูงอายุ รู้จักหมดใครเป็นยังไง ป่วยอะไร เราจะคอยมองว่าคุณยายบ้านเราคนไหนที่น่าจะมาได้เราก็จะไปชวนไปรับมา บางคนติดปัญหาอยากมาแต่เดินทางไม่สะดวก เราก็จัดรถไปรับทุกวันพฤหัสบดี รวมถึงดูแลผู้พิการ บางทีตีหนึ่งตีสองไม่สบาย โทรมาเรียก เราก็ไปหรือให้คำแนะนำตลอด"
ศรีนวล เล่าว่า เมื่อก่อนผู้สูงอายุไม่ค่อยรู้จักกัน แต่การมีโรงเรียนผู้สูงอายุทำให้บ้านดอนแก้วกลับมามีสีสันอีกครั้ง เพราะไม่เพียงแต่เป็นพื้นที่ให้ผู้สูงอายุในชุมชนมาพบปะเจอกัน แต่ยังเสริมด้วยกิจกรรมต่าง ๆ ที่เน้นการดูแลสุขภาพกายและใจต่อนเอง
"กิจกรรมเราจะเน้นเรื่องการเสริมป้องกันสมองเสื่อมเช่นการสอนให้อ่านหนังสือ หัดเขียนหนังสือ บวกเลข ฝึกใช้สมอง ที่นี่ผู้สูงอายุบางส่วนเป็นข้าราชการที่เกษียณมาแล้วอยู่กับบ้าน ไม่ได้เจอผู้คน ลูกออกไปทำงานหมด ทำให้มีอาการสมองเสื่อม และซึมเศร้า"
นอกจากนี้ ดอนแก้ยังมีการปรับปรุงบ้านสภาพความเป็นอยู่ให้แก่ผู้สูงอายุในชุมชน บ้านไหนที่มีผู้สูงอายุช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ห้องน้ำไม่เหมาะสม จะมีกองทุน หรือมีผู้บริจาคให้การสนับสนุนโดยตลอด
"ตอนนี้ที่อยากพัฒนาเพิ่มคืออยากให้ผู้สูงอายุผู้ชายออกมามากขึ้น ไม่ค่อยกล้าออกมา เพราะส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงที่ออกมา"
ดอนแก้ว มีประชากรผู้สูงอายุ เพิ่มปีละ 1% ในช่วงตลอด 15 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันมีสัดส่วนผู้สูงอายุเฉลี่ย 17.9 % หรือประมาณ 2,917 คน แต่คาดการณ์ว่าในปี 2575 เราจะมีประชากร 28% หรือหากมีคนเดินมา 4 คน หนึ่งในนั้นจะเป็นผู้สูงอายุ
อีกโจทย์คือผู้สูงอายุส่วนใหญ่อยู่คนเดียว ไม่มีคนดูแล ซึ่งในชุมชนมีประมาณ 3.7% ขณะที่สถานการณ์สุขภาพกลุ่มที่ติดบ้านติดเตียงมีถึง 35% อีกประเด็นท้ายสุด แต่สำคัญมากคือ ส่วนใหญ่ฐานะยากจน ไม่มีเงินออมร่วม 50% หากไม่นับข้าราชการบำนาญ ทำให้มองว่าผู้สูงอายุอาจต้องเผชิญกับความลำบากในชีวิตบั้นปลาย
ดร.ศุทธา แพรสี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนตำบลดอนแก้ว ให้ข้อมูลว่าในการทำงานพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุ อบต. ดอนแก้ว มีโมเดลการทำงานที่ออกแบบไว้ทั้ง 4 ด้าน ไม่ว่าจะเป็น ด้านการออม ด้านสังคม ด้านสุขภาพ และด้านสิ่งแวดล้อม
ด้านสุขภาพดอนแก้วมีการจัดบริการสุขภาพในหน่วยบริการ โดยคลินิกโรคเรื้อรัง คลีนิคเคลื่อนที่เพื่อจ่ายยาให้กับผู้ป่วยถึงพื้นที่
"อบต.ต้องสร้างหลักประกันทางสังคมให้กับผู้สูงอายุให้ได้ เราจึงมีการพัฒนาระบบดูแลผู้สูงอายุอย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็นการบริการสาธารณสุข ทั้งแบบบริการเฉพาะ คลินิกพิเศษ ระบบดูแลระยะยาว ในด้านสังคมเราพบว่าผู้สูงอายุเข้าถึงสิทธิ์และสวัสดิการไม่ถึง และบางรายถูกหลอกลวงเราจึงมีฝ่ายกฎหมายให้คำแนะนำ นอกจากจะมีโรงเรียนฮอมสุข เป็นกลไกที่ช่วยให้ผู้สูงอายุดูแลกันและกัน ซึ่งขับเคลื่อนโดยแกนนำผู้สูงอายุที่มีศักยภาพ" ดร.ศุทธาให้ข้อมูลเพิ่มเติม
นอกจากนี้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อนช่วยเพื่อน ตลอดจนกองทุนสวัสดิการต่างๆ อาทิ กองทุนสวัสดิการดูแล อาสาดูแลผู้สูงอายุ ส่วนในด้านเศรษฐกิจยังได้พัฒนาระบบเศรษฐกิจในชุมชนเพื่อหนุนเสริมสมาชิกครอบครัวผู้สูงอายุ ส่งเสริมอาชีพที่เหมาะสม กิจกรรมลดค่าใช้จ่าย เช่น กลุ่มทำเกษตรเขตเมือง เกษตรเกื้อกูล ผลิตผักผลไม้แบ่งปันกันในครัวเรือน การเลี้ยงไส้เดือน เป็นต้น
เสริมด้วยด้านการเมืองที่มี "ข่วงกำกื๊ด" เป็นเวทีรับฟังความเห็นผู้สูงอายุในระดับตำบล มีการขับเคลื่อนการทำงานผ่านชมรมผู้สูงอายุ
อีกหนึ่งในนวัตกรรมการดูแลผู้สูงอายุของดอนแก้ว คือกลไกการจัดตั้ง "มหาวิชชาลัยดอนแก้วสร้างสุข" ที่ดอนแก้วพัฒนาศักยภาพจากศูนย์การเรียนรู้การจัดการสุขภาวะชุมชน จนมาเป็น "มหาวิชชาลัยดอนแก้วสร้างสุข" และเป็นจุดเริ่มต้นการพัฒนานวัตกรรมการดูแลผู้สูงอายุมาตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งยังถูกบรรจุเป็นงานประจำองค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้วอย่างต่อเนื่อง
ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส. กล่าวถึง "ดอนแก้ว" ในลงพื้นที่ดูระบบสร้างเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุพื้นที่ต้นแบบ ที่เทศบาลตำบลสองแคว อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ และองค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ว่า จุดแข็งของ อบต. ดอนแก้ว คือมีการถ่ายโอนพันธกิจแล้วให้ท้องถิ่นดูแลแล้ว ซึ่งการถ่ายโอนการบริหารและงบประมาณให้ท้องถิ่นจัดการตนเอง ทำให้สามารถทำอะไรที่เป็นความต้องการในระบบพื้นที่ได้ จะสังเกตว่าดอนแก้วไม่เคยพูดถึงการต้องการความช่วยเหลือ เพราะทางพื้นที่มีการจัดการงานอย่างเป็นระบบ นั่นคือ คนก็มีที่ทำงานด้วยจิตอาสา เงินก็มีการจัดตั้งส่วนหนึ่งผ่านกลไกกองทุนต่างๆ
"บทบาทของ สสส. คือการลงมาช่วยก่อร่างฐานชุมชนเข้มแข็ง ตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งดอนแก้วก็สามารถไปต่อเองได้ ปัจจุบันเรายังขอให้เขาเป็นพี่เลี้ยงให้เครือข่าย เป็นศูนย์เรียนรู้ ประเด็นหลักคือผู้นำต้องเข้มแข็ง และต้องเป็นคนดี สองคือชุมชนก็ต้องเข้มแข็ง เพราะผู้นำทำงานคนเดียวไม่ได้ ต้องมีการร่วมมือจากทุกภาคส่วนในชุมชน ไม่ว่าจะเป็น รพ.สต. หน่วยงานท้องที่และสมาชิกในชุมชน" ดร.ประกาศิต กล่าว
ดร.ประกาศิต เอ่ยว่า กรณีศึกษาของดอนแก้วโมเดล และสองแควโมเดล ในการทำงานเรื่องผู้สูงอายุ สะท้อนชัดเจนว่าต้องใช้ชุมชนเป็นฐาน
"แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะปล่อยให้ชุมชนดำเนินการเองทั้งหมด ก็คงเป็นไปไม่ได้ ต้องมีองค์ประกอบอื่นๆ ร่วมกัน นั่นคือชุมชนเป็นฐาน ครอบครัวต้องช่วย รัฐบาลต้องสนับสนุนภาครัฐเข้าไปให้ความช่วยเหลือในเรื่องสิทธิและสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่เป็นรายบุคคล แต่ต้องเข้าใจว่าด้วยข้อจำกัดรัฐบาลที่ต้องดูแลคนจำนวนมากทั้งประเทศ จึงต้องเป็นการให้ดูแลในรูปแบบเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข ดังนั้นสิ่งที่รัฐอุดหนุน บางคนอาจเพียงพอเพราะมีฐานอยู่แล้ว รายได้ดี มีลูกเลี้ยง ไม่เดือดร้อนมาก แต่ยังมีบางรายที่อยู่ต่ำกว่าเกณฑ์ หรือการให้ของรัฐอาจไม่เพียงพอ ไม่เข้าถึง ชุมชนจะเข้ามาช้อนได้ ชุมชนสามารถลงลึกไปในลักษณะเฉพาะเจาะจง ที่กลุ่มเป้าหมายโดยตรงได้ในส่วนที่ยังขาด
สสส. เองสามารถช่วยสนับสนุนงบประมาณได้บางส่วน แต่เราไม่มีกำลังพอที่จะสนับสนุนได้ครบองค์การปกครองท้องถิ่นทั่วประเทศทั้งกว่าแปดพันแห่ง แต่อีกโอกาสที่เรามองคือ การเชิญภาคนโยบายมาให้เห็นตัวอย่างที่ดี ซึ่งถ้ารัฐมองว่ามีประโยชน์ ก็มีโอกาสที่จะขยายผลไปทั้งประเทศ แต่ถ้าตัดเรื่องงบประมาณออกไป เรามีชุดความรู้และองค์ความรู้ต่าง ๆ มองว่าเป็นอีกช่องทางที่จะขยายได้ ผ่านกลไกของ "คน" ซึ่งเป็นช่องทางขยายอีกแบบโดยไม่ต้องรอรัฐบาล เพราะฉะนั้น สสส. จึงจัดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากพื้นที่ทั้งประเทศ กลไกทำข้อเสนอแนะข้อร้องเรียนต่อนโยบายมีหลายช่องทางต่อเนื่อง ซึ่งงานของสำนัก 3 สสส. จะเน้นทำงานบนข้อมูล เพราะจะทำให้ชุมชนสามารถออกแบบการบริการและสร้างเสริมสุขภาพรายบุคคลได้" ดร.ประกาศิต ทิ้งท้าย
สำหรับดอนแก้ว บนเป้าหมายการพัฒนาที่เรียกว่า "ฮอมสุข" คือการรวมความสุขทุกด้านให้แก่ผู้สูงอายุในชุมชน