วาบิซาบิ สู่การสร้างธุรกิจอย่างมีคุณค่า | ปรมะ ตันเดชาวัฒน์
ฉบับก่อนๆ ผมเคยชวนคุณผู้อ่านได้ติดตามเรื่องราวของ ความคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) โดยไม่ได้เน้นเพียงทฤษฎีแต่ต้องสามารถนำมาปรับใช้ได้จริง ฉบับนี้ ผมขอชวนอ่านการนำเอาหลักปรัชญาของญี่ปุ่น วาบิซาบิ มาประยุกต์ใช้กันครับ
วาบิซาบิ (Wabi-Sabi) คือ มุมมองในการมองโลกและสิ่งรอบตัวเราว่า “ย่อมมีความไม่สมบูรณ์ โดยธรรมชาติ” ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ มักมีจุดตำหนิหรือข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นได้บนสิ่งของหรือสิ่งมีชีวิต
คำว่า “วะบิ” หมายถึง ความเบิกบานใจไม่ว่าสถานะกาลใดก็ตาม หรือจะกล่าวได้ว่า คือการสื่อถึงชีวิตที่เรียบง่ายโดยไม่เดือดเนื้อร้อนใจต่อการกระทบของสิ่งรอบข้าง “สิ่งโน้นก็ดี สิ่งนี้ก็ย่อมดี” เป็นต้น
ส่วน “ซาบิ” เป็นหลักสำคัญของนิกายเซน ที่มีองค์ประกอบคือ ความสัมพันธ์ ความเคารพ ความบริสุทธิ์ และซาบิ ซึ่งแปลว่า ความสงบนิ่งสงบนิ่งไม่ใช่การนิ่งเฉย แต่เป็นความสงบที่อยู่ภายใน ไม่ใช่ข้างนอกดูสุภาพแต่จิตใจวุ่นวาย สับสน
กล่าวโดยสรุป วาบิซาบิ เป็นแนวคิดที่ต้องการเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ มองเหตุการณ์ความไม่สมบูรณ์ (Imperfect) เป็นเรื่องที่สวยงามและเหมาะสมซึ่งตรงข้ามกับการมองโลกแบบ (Perfectionism) คือทุกอย่างต้องสมบูรณ์แบบไร้ที่ติ
แนวคิดของ Design Thinking ขั้นตอนแรก คือ การเอาใจใส่ (Empathize) โดยเราต้องพยายามทำความเข้าใจถึงสิ่งที่เราจะทำเพื่อหาสาเหตุ หาปัญหา หาถึงจุดที่เป็นตัวเขาหรือของสิ่งนั้นๆ แล้วจึงดึงเอาสิ่งที่เหมาะสมที่สุดออกมา
ความยากของวาบิซาบิและ Design Thinking ไม่ใช่แค่มุมมองต่อโลกว่ามีความสวยงามเพียงใด แต่เป็นการประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดที่ประจักษ์ต่อสายตาผู้บริโภค
วาบิซาบิกับจุดด่างพร้อยที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ผ่านมุมมองธรรมชาติ “ต้นไม้ที่แห้งเหลือแต่กิ่งไม้” “ใบไม้ที่แห้ง” “ต้นหญ้าที่งอกออกมาแซมกระเบื้องหรือพื้นที่แตก” “จานกระเบื้องที่มีรอยร้าว” ไปจนถึงสินค้าที่มีตำหนิที่เกิดจากธรรมชาติ
Golden Journey หรือ Kintsugi เป็นถ้วยชามเครื่องปั้นดินเผาที่ถูกซ่อมแซมด้วยยางไม้ทาสีทอง เป็นตัวอย่างของการดีไซน์แบบวาบิซาบิได้อย่างเรียบง่าย แต่มีคุณค่าในตัวเอง ความสำคัญของวาบิซาบิคือ เรื่องราวที่ถูกบอกเล่า “Story Telling” ผ่านการออกแบบผลิตภัณฑ์นั่นเอง
ผนังที่มีร่องรอยของการเจาะ การกะเทาะของปูนเก่า รอยแตกร้าวของผนังที่เผยให้เห็นถึงเนื้อปูนสีขาว ผู้ประกอบการส่วนใหญ่อาจจะมีการอุดรอย ทาสีให้เหมือนผนังใหม่ แต่หากใช้การดีไซน์แบบวาบิซาบิ อาจใช้การโป๊วสี อย่างหยาบๆ เอาโต๊ะดีไซน์เก่าปูด้วยผ้าลายคลาสสิกและมีต้นไม้ไร้ใบบอกเล่าเรื่องราวความเป็นธรรมชาติ
ผลิตภัณฑ์หลายอย่างเช่น เสื้อที่เกิดจากการนำเอาใบไม้หลากหลายมาสรรแต่ง ขอนไม้เก่าที่ถูกปรับมาใช้เป็นโต๊ะวางของ โต๊ะไม้ที่มีลายไม้ไม่เหมือนกันสีของวาบิซาบิ มักเป็นสีจากธรรมชาติของวัตถุหรือสถานที่นั้นๆ เช่น โลหะที่ขึ้นสนิม ไม้ที่ถูกกะเทาะ ปูนเก่าที่แตกลาย
โดยการนำการตกแต่งมา “ขยายความเป็นธรรมชาติของสิ่งสิ่งนั้นหรือสถานที่นั้น” ควรเป็นสีที่เกิดขึ้นได้จากธรรมชาติ เช่น สีดำ สีเทา น้ำเงินเข็ม เขียวเข็ม สีน้ำตาล โดยรวมจะเน้นสีหม่นๆ ทึมๆ เพื่อมาสร้างองค์ประกอบของการเป็นวาบิซาบิให้สมบูรณ์
สิ่งสำคัญคือ ต้องไม่มีงานออกแบบที่เป็นตามเทรนด์ของยุคใหม่ไปอยู่ในงานออกแบบชิ้นนั้น มิฉะนั้น ธรรมชาติจะถูกดึงความสนใจ
ในความเป็นจริงแล้ว การออกแบบผลิตภัณฑ์หรือบริการใดๆ เราสามารถออกแบบตามแนวคิดของความไม่สมบูรณ์ (Imperfect) หรือแบบสมบูรณ์แบบไร้ที่ติ (Perfection) ก็สามารถพัฒนาธุรกิจของคุณให้เติบโตได้ทั้งนั้น
ยกตัวอย่างสินค้าแบบสมบูรณ์แบบคือ สินค้าประเภท Luxury Brand ทั้งหลาย ต้องไร้ที่ติ ทั้งดีไซน์ที่ต้องเป็นผู้นำเทรนด์ ความเรียบหรูดูมีราคา ไร้จุดบกพร่องแม้แต่รอยตัดเย็บ เช่น แบรนด์ Hermes ,Porsche , Louis Vuitton, Chanel ,Richard Mille เป็นต้น
ทั้งนี้ กลยุทธ์ของการออกแบบเราควรยึดถือแนววิถีชีวิตของผู้บริหารหรือทีมงาน ที่สามารถมีเป้าหมายร่วมกันนั้น จึงจะกลายเป็นกลยุทธ์ที่ดีที่สุด.
คอลัมน์ Business Innovation เพื่อธุรกิจที่ยั่งยืน
ปรมะ ตันเดชาวัฒน์
ผู้เชี่ยวชาญนวัตกรรมเชิงสังคม