กลยุทธ์สร้างตราสินค้าให้กับระบบการเมือง | ปรมะ ตันเดชาวัฒน์

กลยุทธ์สร้างตราสินค้าให้กับระบบการเมือง | ปรมะ ตันเดชาวัฒน์

ในนาทีนี้ ไม่มีใครฮอตฮิตเท่า “ผู้ว่ากรุงเทพมหานครที่แข็งแกร่งที่สุด รศ.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ความแข็งแกร่งเริ่มตั้งแต่สมัยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พ.ศ. 2555

จากการที่ลุยพื้นที่ทุกส่วนงาน ซ้อนจักรยานยนต์รับจ้าง โหนรถเมล์ นั่งรถสองแถว โดยสารรถไฟสาธารณะ เพื่อเก็บข้อมูลของผู้ใช้บริการ ลงพื้นที่ตามองค์กรต่างๆ โดยไม่มีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า

ภาพที่จำติดตา คือ คุณชัชชาติ เดินเท้าเปล่า ใส่เสื้อกีฬาแขดกุด กางเกงขาสั้น ถือถุงข้าวแกง จนกระแสโซเชียลนิยามเขาว่า “รัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี

 

กลยุทธ์สร้างตราสินค้าให้กับระบบการเมือง | ปรมะ ตันเดชาวัฒน์

 

ความแข็งแกร่งดังกล่าว ไม่ได้ถูกสร้างมาแบบไร้ข้อมูลอ้างอิง แต่ถูกสร้างจากการใช้ชีวิตประจำวันของคุณชัชชาติเอง คือ ตื่นประมาณตี 4 อ่านหนังสือ ดูข่าว วิ่งออกกำลังเสร็จประมาณ 6 โมงเช้า เวลาที่เหลือคือทำงาน และกลับบ้านเวลา 22.00 น. เรียกว่า มีกิจวัตรประจำวันที่ชัดเจน และมีวินัยที่เข็มข้น

ตอนหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่า กทม. คุณชัชชาติจะพูดสามประเด็นหลัก (ไม่รวมที่ถูกสัมภาษณ์ในหัวข้ออื่นๆ) คือ นโยบาย 200 ข้อ การฟันฝ่าอุปสรรค เพื่อให้ลูกชายที่หูหนวกกลับมาใช้ชีวิตแบบคนปกติอีกครั้ง

และเรื่องที่เคยเป็นผู้บริหารองค์กรต่างๆ ด้วยการไม่นั่งบนหอคอยงาช้าง ลงสำรวจพื้นที่จริงเพื่อหาปัญหา (Pain Point) และวิเคราะห์ความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างถูกต้อง 

โดยคุณชัชชาติ เน้นถึงทฤษฏี Design Thinking ในกระบวนการแรก คือ Empatize (การเข้าใจถึงปัญหาแบบเอาตนเองเข้าไปมีส่วนร่วม) ตอกย้ำการลงมือทำที่มากกว่าคำพูด คือ Teaching by Doing สอนแบบทำให้ดู เพื่อให้ผู้ใต้บังคับบัญชาลงมือทำนั่นเอง

ในระบบการเมืองนั้น Reputation (ชื่อเสียง) เป็นสิ่งที่สำคัญเป็นอันดับแรก หากมองในมุมของประชาชนที่จะเลือกพรรคการเมืองหรือบุคคลทางการเมืองใดๆ เพราะภาพลักษณ์สร้างยาก แต่พังทลายง่าย และใช้งบประมาณมหาศาล แต่อาจจบลงไปด้วยความผิดพลาดแค่ครั้งเดียว

คุณชัชชาติทำตัวติดดิน เข้าถึงง่าย ใช้ชีวิตใกล้เคียงกับประชาชน จึงทำให้ประชาชนนึกถึงได้ง่าย ไม่สูงจนเกินไปกับพ่อค้าแม่ค้าตามตลาดหรือชุมชนต่างๆ

เลือกตั้งครั้งนี้ คุณชัชชาติสมัครลงแบบอิสระ เพราะมีจุดยืนที่ประกาศว่า อยากทำงานโดยอ้างอิงถึงประชาชน ไม่ใช่เพียงประโยชน์ทางการเมืองเพียงอย่างเดียว แม้ว่าหลายคนจะทราบถึงว่า คำว่า อิสระทางการเมืองเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก แต่ประชาชนส่วนใหญ่ก็ยอมปิดตาข้างนึง เพราะเห็นว่าตัวเลือกที่ดีที่สุดนั้น คือ คุณชัชชาติ ในขณะนี้
 

โดยที่ผ่านมา กลยุทธ์การสร้างแบรนด์ (Branding) เริ่มถูกนำมาใช้มากขึ้นในวงการการเมือง นับตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทย ไปจนถึงเพื่อไทยของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร และถูกนำกลับมาปัดฝุ่นใหม่ในสมัยของพรรคอนาคตใหม่ นำโดยคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

กลยุทธ์เรื่องการสร้างภาพลักษณ์ตราสินค้าส่วนใหญ่จะถูกใช้ในธุรกิจ เพื่อสร้างแบรนด์ที่ดีให้กับสินค้าหรือบริการของเรา 

และเป้าหมายสูงสุดของตราสินค้า คือ Brand Loyalty ความจงรักภักดีต่อแบรนด์ เพราะเมื่อสามารถได้ผลลัพธ์ดังกล่าว ไม่ว่าเราจะออกสินค้าประเภทใดก็สามารถขายได้โดยแบรนด์จะแบ่งออกเป็น 6 ประเภทคือ 

  1. Product Brands (แบรนด์ผลิตภัณฑ์) เช่น โค้ก รถยนต์เมอร์ซีเดสเบนซ์ วอลโว่ 
  2. Service Brands (แบรนด์ด้านบริการ) โดยครอบคลุมไปถึงสินค้าที่จับต้องไม่ได้ เช่น สายการบิน Kerry Express ร้านอาหาร
  3. Event Brands (แบรนด์กิจกรรม) เช่น คอนเสิร์ต การแข่งขันกีฬา กิจกรรมปั่นจักรยาน สนามแข่งรถ การแข่งขันโอลิมปิก แบรนด์พรีมีลีก แบรนด์ซุปเปอร์โบวล์ เป็นต้น
  4. Geographical Brands (แบรนด์พื้นที่ทางภูมิศาสตร์) เช่น แบรนด์ประเทศไทย คือ การท่องเที่ยวอาหาร แบรนด์สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ แบรนด์ประเทศญี่ปุ่น เกาหลี ทิเบต เป็นต้น
  5. Corporate Brands (แบรนด์องค์กร) เช่น Microsoft Apple Virgin Playstation พรรคการเมืองไปจนถึงมูลนิธิ
  6. Personal Brands (แบรนด์บุคคล) เป็นการสร้างแบรนด์ของบุคคลให้เป็นที่น่าจดจำ มีคุณค่า และสามารถทำให้บุคคลนั้นกลายเป็นสัญลักษณ์ (icon) ของเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น มารีลีน มอนโรว์ แสดงออกถึงความเซ็กซี่ เดวิดเบ็คแฮม icon ของนักฟุตบอลที่ sport และมีเอกลักษณ์ เป็นต้น

ฉบับหน้า เราจะมาเจาะลึกถึงกลยุทธ์การสร้าง Personal Brands ของคุณชัชชาติกันต่อครับ