ข่าวดีเศรษฐกิจโลก ข่าวร้ายแก่มนุษยชาติ | ปิยศักดิ์ มานะสันต์
หากพิจารณาจากบทความ Global Vision ของผู้เขียนตั้งแต่ต้นปี เนื้อหาจะเป็นในประเด็นความเสี่ยงทั้งสิ้น ทั้งวิกฤติการเงินโลกที่จะในปีหน้า ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ในปีนี้ รวมถึงวิกฤติตลาดเกิดใหม่ที่อาจเกิดขึ้นระยะถัดไป จนมีเสียงสะท้อนว่า อยากเห็นการมองโลกในเชิงสดใสบ้าง
บทความในฉบับนี้จึงพยายามมองเศรษฐกิจโลกในภาพบวก ว่ามีจุดใดที่จะสะท้อนภาพเช่นนั้นบ้าง ซึ่งต้องยอมรับว่าไม่ง่าย เมื่อพิจารณาจากภาพตลาดเงินตลาดทุนที่สะท้อนความเสี่ยงวิกฤติในปัจจุบัน
เช่นเดียวกับตัวเลขความเชื่อมั่นผู้บริโภคในหลายประเทศ โดยเฉพาะในประเทศเจริญแล้วที่ลดลงมากจากเงินเฟ้อสูงและบั่นทอนกำลังซื้อ
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากตัวเลขเศรษฐกิจจริงที่วัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น ยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม หรือแม้แต่มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของประเทศเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ (ยกเว้นจีนที่เผชิญกับมาตรการปิดเมืองจากนโยบาย Zero Covid)
อาจกล่าวได้ว่ายังขยายตัวได้ต่อเนื่องแม้จะชะลอลง ตัวเลขการจองร้านอาหารทั่วโลกบน OpenTable ยังคงสูงกว่าปกติก่อนเกิดโรคระบาด
ในสหรัฐ ตัวเลขยอดค้าปลีกยังคงเพิ่มขึ้น (แม้ตัวเลขผลประกอบการของผู้ประกอบการด้านการค้าปลีกในสหรัฐ เช่น Target และ Walmart กลับปรับตัวลดลงจากปัญหาต้นทุนการผลิตและค่าจ้างที่สูงขึ้น
ขณะที่ผู้ประกอบการอาจไม่สามารถผลักภาระไปยังผู้บริโภคได้มากนัก บ่งชี้ว่าปัญหาซัพพลายเชนและเงินเฟ้อ อาจเริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะต่อไป)
ขณะที่การเข้าพักโรงแรมยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนในฝั่งของอังกฤษ ดัชนีการใช้จ่ายแบบเรียลไทม์ยังคงขยายตัวต่อเนื่องแม้เริ่มลดลงบ้าง
ภาพเหล่านี้บ่งชี้ว่าผู้บริโภคในกลุ่มประเทศเจริญแล้วในกลุ่ม OECD มีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายต่อไปได้ระยะหนึ่ง แม้ว่าปัญหาเงินเฟ้อจะกดดันกำลังซื้อลงบ้าง แต่ด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ในช่วงโควิด-19 ทำให้ครัวเรือนทั่วทั้ง OECD ยังคงมีเงินออมประมาณ 4 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 8% จีดีพี)
ตามการประมาณการของ The Economist และเม็ดเงินส่วนใหญ่อยู่ในมือชาวรากหญ้าที่มีโอกาสในการจับจ่ายสูง โดยในสหรัฐ วงเงินในบัญชีธนาคารของครอบครัวที่มีรายได้น้อยนั้นสูงขึ้นถึง 65% ณ สิ้นปีที่แล้วเมื่อเทียบกับปี 2562
ในส่วนของภาคธุรกิจ แม้จะได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่สูงขึ้นและกระทบกับผลประกอบการของผู้ค้าปลีกในสหรัฐ แต่การวัดความเชื่อมั่นทางธุรกิจของ OECD ยังคงแข็งแกร่ง ขณะที่ข้อมูลจาก indeed.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์จัดหางานระบุว่าตำแหน่งงานเปิดใหม่ในประเทศพัฒนาแล้วอาจไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่ก็ยังคงสามารถรองรับความต้องการทำงาน
นอกจากนั้น ภาคเอกชนของประเทศพัฒนาแล้วยังคงมีแผนเพิ่มระดับการลงทุนอีกด้วย โดยสำนักวิจัย JPMorgan Chase คาดการณ์ว่าภาคเอกชนทั่วโลกลงทุนเพิ่มขึ้น 7.6% ในไตรมาส 1 ของปี เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่ตัวเลขดัชนีบ่งชี้กิจกรรมปัจจุบัน (Current Activity Indicator) ของสำนักวิจัย Goldman Sachs บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจโลกโดยรวม (ยกเว้นรัสเซียที่ได้รับผลกระทบจากการคว่ำบาตรเศรษฐกิจ และจีนที่ถูกกระทบจากมาตรการ Zero Covid) ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง
ส่วนตัวผู้เขียนเองนั้น แม้เห็นด้วยกับดัชนีชี้นำต่างๆ ของสำนักวิจัยต่างประเทศ แต่ก็เห็นสัญญาณของการชะลอลงค่อนข้างชัดเจน ทั้งในดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศเจริญแล้วที่ชะลอลง การส่งออกในจีนที่ขยายตัวชะลอลงมากเหลือประมาณ 4% จากช่วงก่อนหน้าที่อยู่ประมาณ 20%
ผลทั้งจากความต้องการต่างประเทศที่ชะลอลงและปัญหาการผลิตในประเทศที่ปิดลงจากการล็อกดาวน์ หรือแม้แต่การส่งออกเกาหลีใต้ ที่มองว่าเป็นดัชนีชี้วัดการส่งออกโลก (เพราะเกาหลีเป็นท่าเรือโลกที่สำคัญ) ก็ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 14 เดือน
ด้านเศรษฐกิจไทย ตัวเลขล่าสุดก็เริ่มชะลอลงเช่นกัน ทั้งการบริโภคที่ชะลอจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น การลงทุนที่ชะลอทั้งการลงทุนด้านการก่อสร้างและด้านเครื่องมือเครื่องจักร ด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมเริ่มหดตัวจากปัญหาซัพพลายเชนและความต้องการในตลาดโลกเริ่มชะลอลง
ขณะที่ดัชนี Google mobility ล่าสุดที่แม้ส่งสัญญาณฟื้นตัวขึ้นแต่ก็ยังมีบางส่วน เช่น การเดินทางขนส่งสาธารณะ (Transit) ที่ยังอยู่ระดับต่ำกว่าช่วงก่อนโควิดระบาด มองไปข้างหน้า ผู้เขียนค่อนข้างกังวลกับภาพเศรษฐกิจโลกจากปัจจัยหลายประการ ทั้ง
1) ดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐที่ยังต้องขึ้นจากระดับ 0.75-1% ในปัจจุบัน เป็น 2.5-3% ในปลายปีนี้ต่อต้นปีหน้า จะต้องกดดันสภาพคล่องในสหรัฐและทั่วโลก
2) สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่มีแนวโน้มลากยาวยิ่งขึ้น หลังจากประธานาธิบดีปูตินไม่มีทีท่าว่าจะเข้าสู่โต๊ะเจรจาในเร็ววัน
3) การระบาดของโอมิครอนในจีนที่อาจกลับมาอีก และทำให้ทางการต้องปิดๆ เปิดๆ เมืองอย่างต่อเนื่อง (แม้ว่ามาตการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคการเงินของธนาคารกลางจีนจะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจบ้างก็ตาม) โดย 3 ปัจจัยนี้ จะลากเศรษฐกิจโลกให้ชะลอลงมากในครึ่งปีหลัง
นอกจากนั้น ผู้เขียนยังกังวลวิกฤติมนุษยชาติ (Humanitarian Crisis) จากประเด็นอาหาร โดยจากสถิติขององค์การสหประชาชาติ พบว่า ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ภาวะขาดแคลนอาหารจะเกิดขึ้นทั่วโลก ผู้คนที่อดอยากจะเพิ่มขึ้นอีก 440 ล้านคน เป็น 1.6 พันล้านคน และเกือบ 250 ล้านคนอยู่ในภาวะอดอยาก (Famine) หากสงครามยังไม่ยุติ
ดังที่เราทราบกันดีว่ารัสเซียและยูเครนเป็นดั่ง “ตระกร้าขนมปัง” ของโลก โดยเป็นพื้นที่เพาะปลูกหลักของข้าวสาลีกว่า 28% ข้าวบาร์เลย์กว่า 29% ข้าวโพดกว่า 15% และน้ำมันดอกทานตะวันกว่า 75% ของปริมาณการผลิตโลก สงครามทำให้ปริมาณการนำเข้าธัญพืชกว่าครึ่งหนึ่งเลบานอนและตูนิเซีย และกว่า 2 ใน 3 ของลิเบียและอียิปต์หายไป
นอกจากนั้น ประชาชนกว่า 400 ล้านคนในหลายประเทศในเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ก็ขาดแคลนอาหารอันเป็นผลจากสงครามที่ทำให้มีการปิดกั้นการขนส่งธัญพืชเหล่านี้ผ่านทะเลดำ
ทั้งหมดนี้จะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อคนยากจน โดยเฉพาะในประเทศตลาดเกิดใหม่ที่รายได้กว่า 25-40% หมดไปกับค่าอาหาร ขณะที่รัฐบาลก็ไม่สามารถจ่ายเงินอุดหนุนคนยากจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากประเทศเหล่านั้นต้องนำเข้าพลังงานที่ราคาสูงขึ้นจากภาวะสงครามเช่นกัน
แม้วิกฤติอาหารนี้จะกระทบเศรษฐกิจโลกน้อยกว่า เพราะประเทศที่กระทบส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจเล็ก แต่ก็จะกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษยชาติอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อยในประเทศกำลังพัฒนา
ขณะที่ประชาชนในประเทศพัฒนาแล้วยังคงมีเงินจับจ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจ ผู้คนในอีกซีกโลกหนึ่งกำลังอดตายเพราะพิษแห่งสงครามและความขัดแย้ง
โลกนี้ช่างโหดร้ายเสียจริง
บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่
คอลัมน์ : Global Vision
ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์
ฝ่ายวิจัยการลงทุน
บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด
[email protected]