"ตลาดเกิดใหม่" พรมแดนต่อไปของวิกฤติ | ปิยศักดิ์ มานะสันต์

"ตลาดเกิดใหม่" พรมแดนต่อไปของวิกฤติ | ปิยศักดิ์ มานะสันต์

2 บทความก่อนหน้า ผู้เขียนได้เน้นถึงโอกาสการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลกครั้งต่อไป จากต้นทุนการเงินที่สูงขึ้นจากธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ที่ต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมความคาดหวังเงินเฟ้อของประชาชน

รวมถึงจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และการระบาดของไวรัสสายพันธุ์ Omicron ในจีนที่ทำให้ทางการต้อง Lockdown เศรษฐกิจ ซึ่ง 2 ปัจจัยหลังนำไปสู่ปัญหาการผลิตจาก Supply chain disruption ทำให้สินค้าโภคภัณฑ์และวัตถุดิบในการผลิตกลับมาขาดแคลนอีกครั้ง ส่งผลให้เงินเฟ้อทะยานขึ้นและธนาคารกลางต่าง ๆ ต้องขึ้นดอกเบี้ย

แต่ในบทความนี้ จะขอเน้นในจุดเสี่ยงที่สุดของเศรษฐกิจโลก นั่นคือกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ที่เริ่มเผชิญกับ 3 วิกฤติแล้ว อันได้แก่ วิกฤติพลังงาน วิกฤติอาหาร และวิกฤติการเงิน (โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน) และเป็นไปได้ที่จะเผชิญกับ 3 วิกฤติในอนาคต คือ วิกฤติการส่งออก วิกฤติภาคธุรกิจ และวิกฤติการเมือง 
 

ในส่วนแรก วิกฤติพลังงาน เห็นได้ง่ายสุดจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยหลังจากที่รัสเซียบุกยูเครนและถูกสหรัฐและชาติตะวันตกคว่ำบาตรแล้ว ปริมาณการผลิตน้ำมันจากรัสเซียที่ส่งออกสู่โลกภายนอกหายไปกว่า 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน และผลักดันให้ราคาน้ำมันดิบขึ้นไปเกิน 125 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล 

แม้ในปัจจุบันราคาจะปรับลดลงได้บ้างจากความกังวลเศรษฐกิจจีนที่ชะลอลงจากการ Lockdown จะกระทบความต้องการน้ำมันและพลังงานในระยะต่อไป แต่ราคาที่อยู่ระดับสูงก็กระทบต่อประเทศตลาดเกิดใหม่ ที่เป็นผู้นำเข้าน้ำมันและพลังงานสุทธิ 

เช่น เกาหลีใต้ ไทย อินเดีย ชิลี เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ที่เป็นผู้นำเข้าพลังงานสุทธิในระดับ 3.5-5.2% ของ GDP ทำให้หลายประเทศต้องออกมาตรการการคลังมาช่วยบรรเทาผลกระทบของราคาพลังงานที่ปรับเพิ่มขึ้น

ส่วนที่สอง วิกฤติอาหาร โดยรัสเซียและยูเครนรวมกันผลิตธัญพืชกว่า 1 ใน 4 ของกำลังการผลิตโลก สงครามระหว่างสองประเทศทำให้กำลังการผลิตหายไป ทำให้เงินเฟ้อจากราคาอาหารทั่วโลกปรับขึ้นกว่า 33% ในช่วงต้นเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา 
 

ทำให้ประเทศที่ต้องพึ่งพิงการนำเข้าธัญพืช โดยเฉพาะข้าวสาลีและข้าวโพดจาก 2 ประเทศนี้ต้องเผชิญกับวิกฤติอาหารอย่างรุนแรง เช่น อียิปต์ ตูนีเซีย ศรีลังกา ตุรกี เปรู และโคลัมเบีย นำไปสู่การประท้วงและวิกฤติการเมืองในหลายประเทศ 

และเป็นเหตุให้ธนาคารโลกต้องกันเงินกว่า 1.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อช่วยประเทศเหล่านี้ ซึ่งส่วนหนึ่งของเงินนั้นนำมาใช้เพื่ออุดหนุนด้านอาหารให้กับประเทศที่ประสบปัญหา

ส่วนที่สาม วิกฤติการเงิน ที่กระทบกับประเทศตลาดเกิดใหม่ในหลายจุด ทั้งจากการที่บางประเทศต้องนำเข้าพลังงานและอาหารจำนวนมาก ราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นทำให้ประเทศเหล่านี้ต้องจ่ายเงินตราต่างประเทศมากขึ้น 

\"ตลาดเกิดใหม่\" พรมแดนต่อไปของวิกฤติ | ปิยศักดิ์ มานะสันต์

ทำให้ทุนสำรองร่อยหรอลงและเสี่ยงต่อวิกฤติค่าเงิน (ซึ่งในส่วนนี้ ประเทศไทยเสี่ยงมาก จากการที่ไทยต้องนำเข้าพลังงานเป็นสัดส่วนสูงถึง 4.6% ของ GDP ซึ่งจากการคำนวณของผู้เขียน หากราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 10 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ดุลบัญชีเดินสะพัดไทยจะขาดดุลเพิ่มขึ้นกว่า 0.5% ของ GDP ซึ่งจะกดดันค่าเงินบาทในระยะต่อไป)

หรือจะเป็นการที่บางประเทศมีหนี้เป็นเงินตราต่างประเทศค่อนข้างมาก ผลจากนโยบายดอกเบี้ยต่ำทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ประเทศเหล่านี้กู้เงินจำนวนมากเพื่อต่อสู้กับวิกฤติเศรษฐกิจที่เป็นผลจากการ Lockdown เพื่อสู้กับ Covid-19 ในช่วงก่อนหน้า 

ดังนั้น เมื่อดอกเบี้ยสหรัฐเป็นขาขึ้น และทำให้ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นสวนทางกับค่าเงินของตลาดเกิดใหม่ ประเทศตลาดเกิดใหม่เหล่านี้ก็จะเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้มากขึ้นเนื่องจากต้องหาเงินสกุลท้องถิ่นมากขึ้นมาแลกกับดอลลาร์สหรัฐ 

จากการคำนวณของธนาคารโลก มีประเทศตลาดเกิดใหม่กว่า 12 ประเทศที่มีทุนสำรองไม่เพียงพอที่จะชำระดอกเบี้ยของหนี้ต่างประเทศภายใน 12 เดือนข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในเอเชียใต้และแอฟริกา เช่น ปากีสถาน ตูนีเซีย รวมถึงศรีลังกาที่เพิ่งผิดนัดชำระหนี้และเกิดวิกฤติการเมืองในช่วงที่ผ่านมา 

\"ตลาดเกิดใหม่\" พรมแดนต่อไปของวิกฤติ | ปิยศักดิ์ มานะสันต์

โดยประเทศตลาดเกิดใหม่จะต้องหาเงินมาชำระหนี้กว่า 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีนี้ ซึ่งกว่า 60% ของประเทศรายได้น้อยได้ผิดนัดชำระหนี้แล้ว หรือไม่น่าจะมีเงินเพียงพอที่จะชำระหนี้ได้ในอนาคต

ขณะที่ Bloomberg Economics คาดว่า มี 5 ประเทศตลาดเกิดใหม่ที่่มีความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้สูง และเสี่ยงต่อวิกฤติต่อจากศรีลังกา อันได้แก่ เอธิโอเปีย เอล ซาวาดอร์ ตูนีเซีย ปากีสถาน และกานา โดยในปัจจุบัน ดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลของประเทศเหล่านี้ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 6-18% นับจากต้นปี

หากคำนวณความเสี่ยงทั้งหมดจากวิกฤติในปัจจุบัน (อันได้แก่ วิกฤติพลังงาน อาหาร และการเงิน) และนำมาเปรียบเทียบกัน จะพบว่า 10 ประเทศตลาดเกิดใหม่ที่มีความเสี่ยงเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในระยะต่อไปได้แก่ ตุรกี อียิปต์ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ โปแลนด์ เกาหลีใต้ ไทย ชิลี จีน และเปรู 

ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่าง มาเลเซีย อินเดีย และอินโดนิเซีย อยู่ที่อันดับ 11, 12 และ 18 ตามลำดับ

\"ตลาดเกิดใหม่\" พรมแดนต่อไปของวิกฤติ | ปิยศักดิ์ มานะสันต์

ในส่วนของไทยนั้น มีจุดที่น่าสนใจ 3 จุด ได้แก่ 
(1) แม้ไทยจะมีความเชื่อมโยงกับรัสเซียและยูเครนต่ำ รวมถึงมีการนำเข้าธัญพืชน้อย แต่ไทยก็นำเข้าพลังงานเป็นสัดส่วนสูงถึงกว่า 4.6% ของ GDP ทำให้ไทยมีความเสี่ยงติดอันดับ Top Ten 

(2) การคำนวณของ Bloomberg ยังไม่นับรวมถึงความเสี่ยงทางอ้อมอื่น ๆ เช่น การนำเข้าสารเคมีจากรัสเซียและยูเครนเพื่อใช้ในการผลิตปุ๋ย รวมถึงผลกระทบทางอ้อมจากเศรษฐกิจยุโรปที่จะชะลอลงมากหลังวิกฤติรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งหากรวมผลกระทบดังกล่าว ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยอาจเพิ่มขึ้น และ

 (3) หากพิจารณาประเด็นการขาดดุล "แฝด" ของไทย อันได้แก่การขาดดุลการคลังและดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่องเป็นปีที่สอง (ที่ Bloomberg คาดว่าจะขาดดุล 2.3% และ 4.1% ในปีนี้) จะยิ่งเป็นแรงกดดันต่อค่าเงินบาทให้อ่อนค่าลงในปีนี้ด้วยเช่นกัน แม้ไทยจะมีหนี้ต่างประเทศในระดับต่ำก็ตาม

ในส่วนสุดท้าย ผู้เขียนเชื่อว่า ในอนาคต ประเทศตลาดเกิดใหม่โดยรวมจะมีความเสี่ยงวิกฤติการเงินและวิกฤติเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นใน 3 ด้าน อันได้แก่ 
1. ด้านการส่งออก จากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทั่วโลกที่ทำให้ความต้องการบริโภคสินค้าลดลง 

2. วิกฤติภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีหนี้สูง อาจเสี่ยงต่อภาวะล้มละลายจากดอกเบี้ยขาขึ้นตามทิศทางดอกเบี้ยโลก และ 

3. วิกฤติการเมือง อันเป็นผลจากวิกฤติอาหาร พลังงาน และวิกฤติค่าเงินในช่วงก่อนหน้า
พรมแดนวิกฤติใหม่กำลังเปิดขึ้นแล้ว นักธุรกิจและนักลงทุนทุกท่าน โปรดระวัง
  บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่

คอลัมน์ : Global Vision  
ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์
ฝ่ายวิจัยการลงทุน 
บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด
[email protected]